2009-01-17

ประวัติหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง





หลวงพ่อแช่ม (พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี) อดีตเจ้าอาวาส วัดฉลอง ภูเก็ต ถึงแม้พระคุณท่านจะได้มรณภาพไปนานแล้วก็ตาม ชื่อเสียงและเกียรติคุณของพระคุณท่านยังตรึงตราตรึงใจอยู่ในความทรงจำของชาว ภูเก็ตและชาวไทยทั่วทุกภาค แม้แต่ประชาชนเพื่อน บ้านใกล้เรือนเคียงยังให้ความเคารพเลื่อมใส ศรัทธายิ่ง ดุจดังเทพเจ้าผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่ง ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์นานัปการ

เมื่อครั้งพระคุณท่านมีชีวิตอยู่มีผู้ศรัทธาและเลื่อมใสท่านมาก ถึงขนาดรุมกันปิดทองที่ตัวท่านจนแลดูเหลืองอร่ามไปทั้งร่าง เฉกเช่นเดียวกับปิดทองพระพุทธรูปบูชา นับเป็นความแปลกประหลาดมัหศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง

ชาติกำเนิด-ประวัติย่อ

"หลวงพ่อแช่ม" วัดฉลอง ภูเก็ต ท่านเกิดที่ตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เมื่อปีกุน พุทธศักราช 2370 ในรัชสมัยของ "พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว"(รัชกาลที่ 3)

(นามโยมบิดา-มารดา) ไม่ปรากฎในประวัติแม้แต่ "หลวงพ่อช่วง" วัดท่าฉลอง ศิษย์เอกของท่านก็ไม่สามารถให้รายละเอียดได้)

หลวงพ่อแช่ม ชาตะ พ.ศ.2370 มรณภาพ พ.ศ.2451

พ่อแม่ส่งให้อยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ก็บวชเป็นสามเณร และ ต่อมาเมื่ออายุถึงที่ จะบวชเป็นพระภิกษุก็บวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดฉลองนี้หลวงพ่อแช่มได้ศึกษาวิปัสนาธุระจากพ่อท่านเฒ่าจนเป็นผู้ที่เชี่ยว ชาญ ทางวิปัสนาธุระเป็นอย่างสูง ความมีชื่อเสียงของหลวงพ่อแช่มปรากฏชัดในคราวที่หลวงพ่อแช่มเป็นหัวหน้าปราบ อั้งยี่ ซึ่งท่านจะได้ทราบ ต่อไปนี้

ปราบอั้งยี่

ในปีพุทธศักราช 2419 กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดย เฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ตก่อเหตุวุ่นวายถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของ จังหวัดเป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้น ไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธรุกไล่ ยิง ฟันชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมากชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเอง และทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลองชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือนปล่อยให้พวกอั้งยี่เผา บ้านเรือนหมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้ จนกระทั้งบัดนี้

ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง เมื่อพวกอั้งยี่รุกไล่ใกล้วัดเข้ามา ต่างก็เข้าไปแจ้งให้หลวงพ่อแช่มทราบ และนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่ม หลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระ และเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้ จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร

เมื่อหลวงพ่อแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งหลวงพ่อแช่มว่า เมื่อท่านไม่หนีพวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็น เครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโผกศีรษะคนละผืน เมื่อได้ของคุ้มกันคนไทยชาวบ้านฉลอง ก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่

พวกอั้งยี่ เที่ยวรุกไล่ฆ่าฟันชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็จะชะล่าใจ ประมาทรุกไล่ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียด จากหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้านก็ถูกชาวบ้านไล่ฆ่าฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็น ชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากลับมายัง วัดฉลอง รับอาสาว่า ถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้หลวงพ่อแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ หลวงพ่อแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่าย ให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า "ข้าเป็นพระสงฆ์จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น" ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งหลวงพ่อแช่มทำให้โพกศีรษะเป็นเครื่องหมาย บอกต่อต้านพวกอั้งยี่

พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพง พระอุโบสถเป็นแนวป้องกัน อั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบกำแพงพระอุปโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลม พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพง เป็นที่น่าอัศจรรย์ ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากหลวงพ่อแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย รบกันจนเที่ยงพวกอั้งยี่ยกธง ขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อนชาวบ้าน แอบดูอยูในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสในขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบน ใครสามารถจับตัวหลวงพ่อแช่มวัดฉลองไปมอบตัวให้จะให้เงินถึง 5,000 เหรียญ

เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า คนไทยชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของหลวงพ่อแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่อ อาวุธ ไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้งๆ ก็ถูกตีโต้กลับไป ในทุกครั้ง จนต้องเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์หลวงพ่อแช่ม โดยไม่มีเงื่อนไข

คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์หลวงพ่อแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานคร มีพระประสงค์ทรงปฏิสันฐานกับหลวงพ่อแช่มด้วยพระองค์เอง หลวงพ่อแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมฌศักดิ์หลวงพ่อแช่ม เป็น พระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญานฌมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสุงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น ในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยาธาราราม

บารมีหลวงพ่อแช่ม

จากคำบอกเล่าของคณะผู้ติดตามหลวงพ่อแช่มไปในครั้งนั้นแจ้งว่ามีพระสนม องค์หนึ่งในรัชกาลที่ 5 ป่วยเป็นอัมพาต หลวงพ่อแช่มได้ทำ น้ำพระพุทธมนต์ให้รดตัวรักษา ปรากฏว่าอาการป่วยหายลงโดยเร็วสามารถลุกนั่งได้ อนึ่ง การเดินทางไปและกลับจากจังหวัดภูเก็ตกับ กรุงเทพมหานคร ผ่านวัดๆหนึ่งในจังหวัดชุมพร หลวงพ่อแช่มและคณะได้เข้าพักระหว่างทาง ณ ศาลาหน้าวัด เจ้าอาวาสวัดนั้น นิมนต์ ให้หลวงพ่อแช่มเข้าไปพักในวัด แต่ หลวงพ่อเกรงใจและแจ้งว่าตั้งใจจะพักที่ศาลาหน้าวัดแล้วก็ขอพักที่เดิมเถิด เจ้าอาวาสและชาวบ้าน ในละแวกนั้นบอกว่า การพักที่ศาลาหน้าวัดอันตรายอาจเกิดพวกโจร จะมาลักเอาสิ่งของของหลวงพ่อแช่มและคณะไปหมด หลวงพ่อแช่ม ตอบว่าเมื่อมันเอาไปได้ มันก็คงเอามาคืนได้ เจ้าอาวาสวัดและชาวบ้านอ้อนวอน หลวงพ่อแช่มก็คงยืนยันขอพักที่เดิม เล่าว่า ตกตอนดึก คืนนั้น โจรป่ารวม 6 คน เข้ามาล้อมศาลาไว้ ขณะคนอื่นๆ หลับหมดแล้ว คงเหลือแต่หลวงพ่อแช่มองค์เดียว พวกโจรเอื้อมเอาของไม่ถึง หลวงพ่อแช่มก็ช่วยผลักของให้สิ่งของส่วนมากบรรจุปิ๊บใส่สาแหรก พวกโจรพอได้ของก็พากันขนเอาไป

รุ่งเช้าเจ้าอาวาสและชาวบ้านมาเยี่ยม ทราบเหตุที่เกิดขึ้นก็พากันไปตามกำนันนายบ้านมาเพื่อจะไปตามพวกโจร หลวงพ่อแช่มก็ห้าม มิให้ตามไป ต่อมาครู่หนึ่ง พวกโจรก็กลับมา แต่การกลับมาคราวนี้หัวหน้าโจรถูกหามกลับมาพร้อมกับสิ่งของซึ่งลักไปด้วย กำนันนายบ้าน ก็เข้าคุมตัว หัวหน้าโจรปวดท้องจุดเสียดร้องครางโอดโอย ทราบว่าระหว่างที่ขนของซึ่งพวกตนขโมยไปนั้น คล้ายมีเสียงบอกว่า ให้ส่งของ กลับไปเสีย มิฉะนั้น จะเกิดอาเพทพวก โจรไม่เชื่อขนของต่อไปอีก หัวหน้าโจรจึงเกิดมีอาการจุกเสียดขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เลยปรึกษากันตกลงขนสิ่งของกลับมาคืนหลวงพ่อแช่มสั่งสอนว่า ต่อไปขอให้เลิกเป็นโจรอาการปวดก็หาย กำนันนายบ้านจะจับพวกโจร ส่งกรมการเมืองชุมพร แต่หลวงพ่อแช่มได้ขอร้องมิให้จับกุมขอให้ปล่อยตัวไป

ไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้นที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์หลวง พ่อแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนชาวจังหวัดต่างๆ ในมาเลเซีย เช่น ชาวจังหวัดปีนัง เป็นต้นต่างให้ความคารพนับถือในองค์หลวงพ่อแช่มเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในจังหวัดปีนัง ยกย่องหลวงพ่อแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนังด้วย

การปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น เมื่อพวกอั้งยี่แพ้ศึกแล้วก็หันมาเลื่อมใสให้ความเคารพนับถือต่อหลวงพ่อแช่ม เป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ซึ่งนับถือ ศาสนาอื่นก็มีความเคารพเลื่อมใสต่อหลวงพ่อแช่ม เกิดเหตุอาเพทต่างๆในครัวเรือนต่างก็บนบานหลวงพ่อแช่มให้ช่วยขจัดปัดเป่าให้

ชาวเรือพวกหนึ่งลงเรือพายออกไปหาปลาในทะเลถูกคลื่น และพายุกระหน่ำจนเรือจวนล่มต่างก็บนบานสิ่งศักดิ์ต่างๆ ให้คลื่นลมสงบ แต่คลื่นลมกลับรุนแรงขึ้น ชาวบ้านคนหนึ่งนึกถึงหลวงพ่อแช่มได้ ก็บนหลวงพ่อแช่มว่าขอให้หลวงพ่อแช่มบรรดาลให้คลื่นลมสงบเถิด รอดตายกลับถึงบ้านจะติดทองที่ตัวหลวงพ่อแช่มคลื่น ลมก็สงบ มาถึงบ้านก็นำทองคำเปลวไปหาหลวงพ่อแช่ม เล่าให้หลวงพ่อแช่ม ทราบและขอปิดทองที่ตัวท่าน หลวงพ่อแช่มบอกว่าท่านยังมีชีวิตอยู่จะปิดทองยังไง ให้ไปปิดทองที่พระพุทธรูป ชาวบ้านกลุ่มนั้น ก็บอกว่าถ้าหากหลวงพ่อไม่ให้ปิดหากแรงบนทำให้เกิดอาเพทอีก จะแก้อย่างไรในที่สุดหลวงพ่อแช่มก็จำต้องยอมให้ชาวบ้าน ปิดทองที่ตัวท่านโดยให้ปิดที่แขนและเท้า ชาวบ้านอื่นๆก็บนตามอย่างด้วยเป็นอันมาก พอหลวงพ่อแช่มออกจากวัดไปทำธุระในเมือง ชาวบ้านต่างก็นำทองคำเปลวรอคอยปิดที่หน้าแขนของหลวงพ่อแทบทุกบ้านเรือนจนถือ เป็นธรรมเนียม เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุถาพ เสด็จมาจังหวัดภุเก็ตนิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มไปหา ก็ยังทรงเห็นทองคำเปลวปิดอยู่ที่หน้าแข้งของหลวงพ่อแช่ม นับเป็นพระภิกษุองค์แรก ของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้งๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่

แม้แต่ไม้เท้าของหลวงพ่อแช่ม ซึ่งท่านถือประจำกายก็มีความขลัง ประวัติความขลังของไม้เท้ามีดังนี้ เด็กหญิงรุ่นสาวคนหนึ่ง เป็นคนชอบพูดอะไรแผลงๆ ครั้งหนึ่งเด็กหญิงคนนั้นเกิดปวดท้องจุดเสียดอย่างแรง กินยาอะไรก็ไม่ทุเลา จึงบนหลวงพ่อแช่มว่า ขอให้อาการปวดท้องหายเถิด ถ้าหายแล้วจะนำทองไปปิดที่ของลับของหลวงพ่อแช่ม อาการปวดท้องก็หายไป เด็กหญิงคนนั้น เมื่อหายแล้วก็ไม่สนใจ ถือว่าพูดเล่นสนุกๆ ต่อมาอาการปวดท้องเกิดขึ้นมาอีก พ่อแม่สงสัยจะถูกแรงสินบนจึงปลอบถามเด็ก เด็กก็เล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จึงนำเด็กไปหาหลวงพ่อแช่มหลวงพ่อแช่มกล่าวว่าลูกมึงบนสัปดนอย่างนี้ ใครจะให้ปิดทองอย่างนั้นได้ พ่อแม่เด็กต่างก็อ้อนวอนกลัวลูกจะตายเพราะไม่ได้แก้บน ในที่สุดหลวงพ่อแช่มคิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยเอาไม้เท้านั่งทับ สอดเข้าให้เด็กหญิงคนนั้นปิดทองที่ปลายไม้เท้า กลับบ้านอาการปวดท้องจุดเสียดก็หายไป ไม้เท้านั่งทับของหลวงพ่อแช่มอันนี้ ยังคงมีอยู่ และใช้เป็นไม้สำหรับจี้เด็กๆ ที่เป็นไส้เลื่อน เป็นฝีเป็นปาน อาการเหล่านั้นก็หายไปหรือชงัดการลุกลามต่อไป เป็นที่น่าประหลาด

หลวงพ่อแช่มมรณภาพในปี พ.ศ.2451

เมื่อมรณภาพบรรดาศิษย์ได้ตรวจหาทรัพย์สินของหลวงพ่อแช่ม ปรากฏว่าหลวงพ่อแช่มมีเงินเหลือเพียง 50 เหรียญเท่านั้น ความทราบถึงบรรดาชาวบ้านปีนังและจังหวัดอื่นในมาเลเซีย ต่างก็นำเงิน เอาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น มีข้าวสาร มีคนมาช่วยเหลือหลายเรือสำเภา

งานศพของหลวงพ่อแช่มจัดได้ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในจังหวัดภูเก็ต หรืออาจจะกล่าวได้ว่า มโหฬารที่สุดในภาคใต้บารมีของหลวงพ่อแช่มก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

พระคาถา ของ หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง ภูเก็ต

พระอรหัง สุคโต ภควา น เมตตาจิต



ประวัติ วัดไชยธาราราม หรือ วัดฉลอง ภูเก็ต
หลวงพ่อแช่ม กับตำแหน่ง สังฆปาโมกข์
เหรียญหลวงพ่อแช่ม พิมพ์สี่เหลี่ยม พ.ศ. 2473
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง พิมพ์ยันต์วรรค พ.ศ.2486
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง พิมพ์บล็อคแตก พ.ศ.2486
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง พิมพ์สายฝน พ.ศ. 2486
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง หลังหลวงพ่อช่วง พ.ศ. 2497
เหรียญหลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง หลังมียันต์ พ.ศ. 2497

ที่มา : ศูนย์พระดอทคอม

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ