2010-03-25

อวิชชา

อวิชชา ความไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริงของธรรม ตลอดจนการปฏิบัติให้สติรู้เท่าทัน และรู้ตามความเป็นจริงในสภาวธรรม(ธรรมชาติ)ของการ เกิดขึ้นของทุกข์และการดับไปของทุกข์ อันคือ ปัญญาญาณ

อวิชชา ๘

๑. ความไม่รู้ใน"ทุกข์" ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้รู้ และให้ดับสนิทหมายถึงอุปาทาน ทุกข์หรืออุปาทานขันธ์๕, และมีสติรู้เท่าทันอุปาทานทุกข์ที่ เกิดขึ้นเหล่านั้น ที่ล้วนเกิดขึ้นมาจากเหล่าทุกขอริยสัจและทุกขเวทนาที่เป็นสภาวธรรม(ธรรมชาติ)หนึ่งของชีวิต ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว แล้วต้องปฏิบัติอย่างไรจึงไม่เป็นเวทนูปาทานขันธ์ อันเป็นอุปาทานทุกข์ที่แสนเร่าร้อนเผาลน คงเป็นเพียงทุกข์ธรรมชาติ, และทุกข์นี้ มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญายิ่ง คือ เป็นสิ่งที่ควร " รู้ "

๒. ความไม่รู้ใน"สมุทัย" เหตุให้เกิดทุกข์มาจากตัณหา ๓ (กาม ตัณหา-อยากในกามหรือในทางโลกๆ, ภวตัณหา-ความอยาก, วิภวตัณหา-ความไม่อยาก, อยากดับสูญ) อันจักเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดอุปาทานขันธ์ ๕ อันเป็นอุปาทานทุกข์, สมุทัย มีกิจ จญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควร " ละ "

๓. ความไม่รู้ใน"นิโรธ" เป็นเช่นใด ไม่เคยสัมผัส หรือไม่เข้าใจสภาวะนิโรธอันว่างจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน อันล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กันอันยังให้เกิดอุปาทานทุกข์ ทําให้ไม่ทราบว่าดับทุกข์ได้แล้ว จักเป็นสุขสงบ หรือดับร้อน เยี่ยงใด? คุ้มค่าให้ปฏิบัติไหม? มีจริงหรือเปล่า? หรือเข้าใจผิดไปจับสภาวะผลอันสงบเย็นของสมาธิหรือฌานเป็นสภาวะ นิโรธ! ทําให้จริงๆแล้วยังคงมีความสงสัยอยู่ลึกๆในจิต(วิจิกิจฉา), นิโรธ มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควร " ทำให้แแจ้ง "

๔. ความไม่รู้ใน"มรรค" การปฎิบัติในการดับทุกข์ ควรปฏิบัติอย่างไร? ศึกษาแล้วยังไม่เข้าใจ ปฏิบัติไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน? วิธีใด? ของใครถูกแน่? (อ่านรายละเอียดในอริยสัจ ๔), มรรค มีกิจจญาณหรือกิจอันควรกระทำที่ประกอบปัญญา คือ เป็นสิ่งที่ควร " ปฏิบัติ "

๕. ความไม่รู้ใน"ความไม่รู้อดีต" การไม่รู้ระลึกชาติ หรือภพที่เคยเกิดเคยเป็นในภพชาติต่างๆในปัจจุบันชาติ หมายถึงการ ย้อนระลึกขันธ์๕หรืออุปาทานขันธ์๕ที่เคยเกิดเคยเป็น กล่าวคือไม่รู้ไม่เข้าใจขันธ์ ๕ ที่เคยเกิดๆดับๆ อันก่อให้เกิดอุปาทานทุกข์นั้นเกิดแต่เหตุปัจจัย และเหตุปัจจัยอะไร? เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติ เครื่องรู้ เครื่องระลึก อันก่อให้เกิดปัญญาญาณ และนิพพิทาญาณ อันยังให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในการดับทุกข์ (โยนิโสมนสิการปฏิจจสมุปบาทเรื่องภพ เรื่องชาติ จบแล้ว ลองย้อนมาพิจารณาอีกครั้ง)

๖. ความไม่รู้ใน"ความไม่รู้อนาคต" การไม่รู้อนาคต คือไม่รู้ไม่เข้าใจในการอุบัติ(เกิด) การจุติ(ดับ) ของขันธ์ทั้ง๕ว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัยจึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามเหตุปัจจัย นั้น เช่น กรรมคือตามการกระทําที่ มีเจตนาทั้งสิ้น และอนาคตนั้นก็จักเป็นไปตามเหตุปัจจัยอันคือกรรมการกระทํานั่นเอง ดังนั้นความทุกข์ในภายหน้าหรือชาติหน้าก็ล้วนเกิดดับอันเกิดแต่กรรมการกระทํา อันจักยังให้เกิดอุปาทานขันธ์๕เช่นเดิมหรือเกิดความทุกข์ขึ้นเฉกเช่นเดียว กับอดีต ดังนั้นเพราะความไม่รู้ จึงประมาท จึงมิได้แก้ไขเยี่ยงไร เพื่อไม่ให้ทุกข์จะเกิดขึ้นมาได้อีก กล่าวคือการรู้อนาคตเพราะรู้ การเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั่นเอง คือเมื่อเหตุเป็นเช่นนี้ ผลเยี่ยงนี้จึงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อัน เกิดขึ้นจากความเข้าใจในสภาวะธรรมอย่างถ่องแท้

๗. ความไม่รู้ในทั้ง"อดีตและอนาคต" จึงไม่เกิดการยอมรับและเข้าใจในเหตุปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง จึงไม่มีทั้งเครื่องระลึก เครื่องเตือนสติจากการระลึกอดีต, และเกิดความประมาท ขาดการป้องกันจากการไม่รู้ทั้งอดีตและอนาคต

๘. ความไม่รู้ใน"ปฏิจจสมุปบาท" ไม่ทราบ,ไม่รู้ กระบวนการเกิดขึ้นของทุกข์ และกระบวนการดับไปของทุกข์ จึงไม่รู้จักอาสวะกิเลส ตลอดจนตัณหาและอุปาทานที่แอบซ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิตหรือในอวิชชา เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจจึงไม่สามารถดับ ทุกข์ ที่เหตุปัจจัยได้อ ย่างเข้าใจและถูกต้องตามจริง

ที่มา : http://www.nkgen.com

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ