ปางปฐมเทศนา เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะ นั่งขัดสมาธิ หรือ นั่งห้อยพระบาท (เช่นนั่งเก้าอี้) ลักษณะสำคัญคือพระหัตถ์เบื้องขวาทำนิ้วพระหัตถ์กรีดเป็นวงกลม เป็นเครื่องหมายว่าพระธรรมจักร ส่วนพระหัตถ์เบื้องซ้ายนั้นทำประคองพระหัตถ์เบื้องขวา หรือ วางบนพระเพลา หรือ ถือชายจีวร มีเครื่องประกอบทำเป็นรูปวงล้อ (ธรรมจักร) กับรูปกวางไว้ตรงพุทธบัลลังก์ และบางทีมีพระเบญจวัคคีกับรูปเทวดาด้วย (พระพุทธรูปปางนี้ที่ไทยเราเอามาสมมุติเรียกว่า พระคันธารราฐสำหรับขอฝน)
ประวัติความเป็นมาของปางปฐมเทศนา
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหปุณมี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ มีใจความสำคัญดังนี้ คือ
ทรงให้งดเว้นทางสุดโต่ง 2 สาย คือ กามสุขขัลลิกานุโยค ได้แก่ การประกอบตนให้หมกมุ่นในกาม และอัตตกิลมถานุโยค คือ ทำตนเองให้ลำบาก ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ และอริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
และเมื่อแสดงธรรมจบลง โกณฑัญญพราหมณ์ (พระอัญญาโกณฑัญญะ) หนึ่งในปัญจวัคคีย์ได้ดวงตาเห็นธรรม (สำเร็จเป็นพระโสดาบัน)ในวันนั้น เป็นบุคคลแรกในพุทธศาสนาที่ได้สำเร็จเป็นอริยบุคคล
ความเชื่อและคตินิยม
* สร้างเป็นที่ระลึกถึงการเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าต่อมหาชน
* เป็นพระพุทธรูปประจำเดือน 8
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
No comments:
Post a Comment