2009-03-14

ศีล ในพระพุทธศาสนา

ศีล แปลได้หลายความหมาย ซึ่งในอรรถกถา นิยมให้ความหมายว่า สีลนะ แล้วให้คำจำกัดความของคำว่า สีลนะ ไว้ ๒ ข้อหลัก คือ

1. สมาทานํ - การสำรวมกายวาจาไว้เรียบร้อยดี
2. อุปธารณํ - รองรับการทำบุญชั้นสูงกว่าศีลขึ้นไป ได้แก่ รองรับการรักษาธุดงค์ การทำสมาธิ การทำวิปัสสนา.

กล่าวโดยสรุป ศีล จึงหมายถึง ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจา ให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่สะอาดปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; และยังมักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า "อธิศีลสิกขา" ด้วย.

ศีลในทางพระพุทธศาสนามี่อยู่หลายอย่างด้วยกัน.
1. ปัญจศีล (ศีล ๕) หรือเรียกว่านิจจศีล(คือถือเนื่องนิจจ์)

ศีลห้า หรือ เบญจศีล เป็นศีลในลำดับเบื้องต้นในพุทธศาสนา ที่ศาสนิกชนพึงถือ ไม่เฉพาะแต่เหล่าสงฆ์เท่านั้น ศีลห้าจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 'นิจศีล' นั่นคือ ศีลที่ยึดถือป็นนิจ (นิตย์) ด้วยเหตุนี้ ในพิธีกรรมทั้งปวงในพุทธศาสนา หลังจากกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแล้ว พุทธศาสนิกพึงอาราธนาศีล และรับศีลห้าก่อนเสมอ

ศีลห้ามีด้วยกัน 5 ข้อ ดังนี้
1. ปาณาติปาตา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ) - เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งปวง รวมถึงการทำร้ายสัตว์ หรือมนุษย์ด้วย แม้แต่คิด หรือวางแผน ก็ถือว่าผิดศีลข้อนี้แล้ว
2. อทินฺนาทานา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ) - เว้นจากการลักทรัพย์ เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ รวมถึงการเบียดบัง ฉ้อราษฎร์บังหลวง เอาเปรียบคนอื่นด้วย แม้แต่คิด หรือวางแผน ก็ถือว่าผิดศีลข้อนี้แล้ว
3. กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ) - เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ข้อนี้เพียงแค่คิดก็ผิดแล้ว
4. มุสาวาทา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ) - เว้นจากการพูดเท็จ คำหยาบ หรือพูดส่อเสียด รวมถึงการพูดให้คนแตกสามัคคีกันด้วย
5. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี (สิกฺขาปทํสมาทิยามิ) - เว้นจากการดื่มน้ำเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

คำอาราธนาศีล 5 คำสมาทานศีล 5

2. อาชีวัฏฐมกศีล (ศีลกุศลกรรมบท ๑๐) หรือเรียกว่าอาทิพรหมจริยาศีล(หรือเรียกอีกอย่างว่า นวศีล)
อาชีวัฏฐมกศีล แปลว่า ศีลมีอาชีวะเป็นอันดับที่ 8 ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคเรียก ไว้อีกชื่อหนึ่งว่า อาทิพรหมจริยกะศีลโดยอธิบายว่าเพราะเป็นเบื้องต้นของมรรคพรหมจรรย์ซึ่งผู้ ปฏิบัติพึงรักษาให้บริสุทธิ์ในเบื้องต้น สมด้วยพุทธดำรัสว่า "ปุพฺเพ ว โข ปนสฺส กายกมฺมํ วจีกมฺมํ อาชีโว สุปริสุทฺโธ โหติ" แปลว่า ด้วยว่า กายกรรม (3) วจีกรรม (4) อาชีวะ (1) ของเขาผู้นั้น บริสุทธิด้วยดี ตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว

อาชีวัฏฐมกศีลนิยมแพร่หลายในประเทศพม่า ในประเทศไทยไม่สู้นิยม เป็นศีลตามแนวอริยมรรคมีองค์ 8 และกุศลกรรมบถ 10
อาชีวัฏฐมกศีล คือศีลมีอาชีพเป็นที่ 8 คือ

-1. เว้นจากการฆ่าสัตว์
-2. เว้นจากการลักทรัพย์
-3. เว้นจากการพูดเท็จ
-4. เว้นจากการพูดส่อเสียด
-5. เว้นจากการพูดคำหยาบ
-6. เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
-7. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
-8. เว้นจากอาชีพที่ผิด

3. อัฏฐศีล (ศีล ๘) หรือเรียกว่าอุโบสถศีล (ศีลอุโบสถ)
ศีลแปด หรือ อุโบสถศีล เป็นศีลของคฤหัสถ์ หมายถึง อุบาสกอุบาสิกาทั่วไป มิใช่สงฆ์ (ซึ่งมีศีลเฉพาะตนอยู่แล้ว) โดยมักจะรับศีลแปดในวันพระ นิยมรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน หรือ 3 วัน

โดยปกติผู้รักษาศีลจะเปล่งวาจาอธิษฐาน ที่จะขอสมาทานศีลตั้งแต่เช้าของวันนั้น หากรักษาศีลแปดเป็นเวลา 1 วัน เรียกว่า "ปกติอุโบสถ" และหากรักษา 3 วัน เรียกว่า "ปฏิชาครอุโบสถ"
"ความเหมือนและความแตกต่างระหว่างอุโบสถศีลกับศีล 8"

1. อุโบสถศีล กับ ศีล 8 มีข้อห้าม 8 ข้อเหมือนกัน
2. คำอาราธนา (ขอศีล) แตกต่างกัน
3. อุโบสถศีล มีวันพระเป็นแดนเกิด สมาทานรักษาได้เฉพาะ วันพระเท่านั้น ส่วนศีล 8 สมาทานรักษาได้ทุกวัน
4. อุโบสถศีล มีอายุ 24 ชั่วโมง (วันหนึ่งคืนหนึ่ง) ส่วนศีล 8 ไม่มีกำหนดอายุในการรักษา
5. อุโบสถศีล เป็นศีลสำหรับชาวบ้านผู้ครองเรือน หรือเป็นศีล ของชาวบ้านผู้บริโภคกาม (กามโภคี) ส่วนศีล 8 เป็นศีลสำหรับ ชาวบ้านผู้ไม่ครองเรือน เช่น แม่ชี

คำอาราธนาศีล 8 คำสมาทานศีล 8

อานิสงส์ของการรักษาอุโบสถศีล

4. ทสศีล (ศีล ๑๐)
ศีล 10 หรือ ทสศีล สำหรับสามเณร แต่ผู้ใดศรัทธาจะรักษาก็ได้ หัวข้อเหมือนศีล 8 แต่แยกข้อ 7 เป็น 2 ข้อ เลื่อนข้อ 8 เป็น 9 และเติมข้อ 10
รายละเอียดเพิ่มเติม ศีล 10 ข้อ

ศีล 10 นี้ เป็นข้อปฏิบัติของ สามเณร สามเณรี และสิกขมานา (ผู้ที่ขอบวชเป็นภิกษุณี ซึ่งต้องบวชเป็นสามเณรี และไม่ผิดศีลข้อ1 ,2,3,4,5,6 เป็นเวลาถึง 2ปีโดยไม่ขาดศีลทั้ง 6 ข้อโดยไม่ขาดเลย แต่ข้อ7,8,9,10ขาดได้บ้าง รวมทั้งเป็นข้อปฏิบัติของสมณะ นักบวชนอกพระศาสนา ก็ถือศีล10 มาก่อน เป็นศีลของพระอรหันตเจ้า เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายมีปกติไม่ผิดศีลข้อ1 ถึงข้อ 9 ตลอดชีวิต และมีปกติรักษาศีลข้อ10 เพราะผู้ผิดศีลข้อ10 ย่อมเสื่อมจากวิชชา (อริยสัจจ์)และจรณะ(โพชงค์)ถ้าพระอรหันต์มีปกติผิดศีลข้อ10 หรือครองเพศฆราวาสอันมิใช่สมณะเพศย่อมละสังขารนิพพานไป เพื่อรักษาธรรม คือ วิชชาและ จรณะมิให้เสื่อม

5. ภิกษุณีวินัย (ศีล ๓๑๑)
ภิกษุณี เป็นคำใช้เรียก "นักบวชหญิง" ในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ คู่กับ ภิกษุ (นักบวชชาย) คำว่า ภิกษุณี เป็นศัพท์เฉพาะในพระพุทธศาสนา เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้เรียกนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ไม่สาธารณะทั่วไป

ภิกษุณีไม่เหมือนกับแม่ชี เพราะแม่ชีเป็นเพียงอุบาสิกา(พุทธศาสนิกชนผู้หญิง) ซึ่งถือศีล 8 ข้อ อย่างชาวพุทธทั่วไปที่เคร่งครัด ปัจจุบันในฝ่ายคณะสงฆ์เถรวาท นับถือกันโดยพฤตินัยว่าการบวชเป็นแม่ชีที่โกนศีรษะนุ่งขาวห่มขาว ถือศีล 8 เป็นการผ่อนผันผู้หญิงที่ศรัทธาจะออกบวชเป็นภิกษุณีเถรวาท แต่ไม่สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีเถรวาทได้ โดยจะให้ถือปฏิบัติศีล 8 (อุโบสถศีล) แทน

ปัจจุบัน ภิกษุณีในสายเถรวาทซึ่งสืบวงศ์มาแต่สมัยพุทธกาลด้วยการบวชถูกต้องตามพระวินัยปิฎกเถรวาท จากสงฆ์ทั้งสองฝ่าย (ทั้งภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์) ขาดสูญวงศ์ (ไม่มีผู้สืบต่อมานานแล้ว) คงเหลือแต่ภิกษุณีฝ่ายมหายาน (อาจริยวาท) ที่ยังสืบทอดการบวชภิกษุณีมาจนปัจจุบัน

ในปัจจุบัน ไม่ปรากฏว่ามีภิกษุณีเถรวาทในประเทศไทย แต่ยังมีพบอยู่ในจีน (มหายาน) และศรีลังกา (เถรวาท ซึ่งรับการบวชกลับมาจากภิกษุณีมหายานของจีน)

ศีล ๓๑๑ ข้อ ของภิกษุณี

6. ภิกษุวินัย (ศีล ๒๒๗)
ภิกษุ หรือ พระภิกษุ เป็นคำใช้เรียก "นักบวชชาย" ในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ คู่กับภิกษุณี (นักบวชหญิง) คำว่า ภิกษุ เป็นศัพท์เฉพาะในพระพุทธศาสนา เป็นศัพท์บัญญัติที่ใช้เรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะไม่สาธารณะทั่ว ไป คำว่า ภิกษุ แปลว่า ผู้ขอโดยสงบ ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ ผู้ใช้สอยผ้าที่ถูกทำลายแล้ว เป็นต้น

การบวชเป็นภิกษุ
ผู้ที่จะเป็นภิกษุได้จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านการพิธีอุปสมบทโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัยก่อน เช่น ต้องมีอายุ ๒๐ ปี ไม่มีโรคร้ายแรง ต้องมีอุปัชฌาย์รับรอง ต้องทำพิธีในอุโบสถ

ศีล 227 ของพระภิกษุ

ศีล แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือจุลศีล (ศีลอย่างน้อย) ได้แก่ คหัฏฐศีลทั้ง ๒ คือ ศีล ๕ และอาชีวัฏฐมกศีล มัชฌิมศีล (ศีลอย่างกลาง)ได้แก่ บรรพชาศีลทั้ง ๒ คือได้แก่อัฏฐศีล และทสศีล มหาศีล(ศิลอย่างสูง) ได้แก่ อุปสมบททั้ง๒ คือ ภิกษุณีวินัย และภิกษุวินัย

ศีล คือ หลักในการปฏิบัติเพื่อที่จะให้ผู้ปฏิบัติมีกาย วาจา ใจ เป็นอิสระ จากเครื่องเหนี่ยวรั้งทั้งปวง และปกป้องตัวเองจากความเสื่อมทั้งหลาย และพ้นจากกรรมชั่ว ที่จะกลับมาสนองกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติในศีล

อานิสงส์ของการรักษาศีลแต่ละชั้นย่อมแตกต่างกันไป ตอนนี้ขอกล่าวถึงอานิสงส์กว้างๆ จากการรักษาศีล คือ ทำให้กาย วาจา ใจ สงบไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทำให้สามารถที่จะทำให้จิตสงบได้ง่ายในการทำสมาธิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ