2009-02-04

วัดประจำรัชกาล

วัดประจำรัชกาล

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติไทย ที่เติบโตเจริญรุ่งเรืองในเมืองไทยมากว่า 2000 ปี นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเหตุผลสำคัญข้อหนึ่ง ที่พุทธศาสนาสามารถดำรงอยู่ได้มาเป็นเวลานานเช่นนี้ ย่อมเนื่องมาจากการทำนุบำรุงศาสนาของเจ้าแผ่นดิน หรือกษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้นำประเทศ

ตลอดยุคสมัยต่างๆ ที่ผ่านมา กษัตริย์ในแผ่นดินไทยแต่ละพระองค์ต่างก็ทรงมีความเลื่อมใส และให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างวัดต่างๆ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางและศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นมากมาย

สำหรับในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ก็เช่นกัน กษัตริย์แต่ละพระองค์ก็ได้ทรงสร้างหรือบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในภายหลัง เราจึงยกย่องให้วัดซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีความผูกพันเหล่านี้เป็นวัดประจำ รัชกาลของแต่ละพระองค์

เหตุผลของการยึดถือวัดใดวัดหนึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลนั้น จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา ประธานชมรมสยามทัศน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้ให้เหตุผลไว้ว่า

“วัดซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลนั้น มักจะเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ท่านทรงสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ และให้ความสนใจกับวัดนี้เป็นพิเศษ หรือมีความผูกพันกับวัดนี้มากๆ เมื่อพระองค์สวรรคต พระบรมอัฐิก็จะถูกนำไปบรรจุอยู่ที่ฐานของพระประธาน แต่การประกาศว่าวัดไหนเป็นวัดประจำรัชกาลนี้ ไม่ได้มีการประกาศออกเป็นทางการ เพียงแต่เกิดจากการที่คนพูดกันว่าวัดนี้เป็นวัดประจำรัชกาลนี้ๆ และดูจากความผูกพันที่พระองค์ท่านทรงมีให้กับวัดนั้นๆ มากกว่า”

1. วัดประจำรัชกาลที่ ๑ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
* ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวัง แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
* ความสำคัญ : พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร 1 ใน 6 ของไทย และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1

2. วัดประจำรัชกาลที่ ๒
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
* ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
* ความสำคัญ : พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร 1 ใน 6 ของไทย และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2

3. วัดประจำรัชกาลที่ ๓
วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร
* ถนนเอกชัย แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150
* ความสำคัญ : พระอารามหลวง ชั้นเอก เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 3

4. วัดประจำรัชกาลที่ ๔ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
* ถนนสราญรมย์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
* ความสำคัญ : พระอารามหลวง ชั้นเอก เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4

5. วัดประจำรัชกาลที่ ๕ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
* ถนนเฟื่องนคร แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
* ความสำคัญ : พระอารามหลวง ชั้นเอก วัดประจำรัชกาลที่ 5 และ วัดประจำรัชกาลที่ 7
* พระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจุที่ฐานพระพุทธชินราช(จำลอง) ในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และใต้ฐานพระพุทธอังคีรสในพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพราะได้ทรงตั้งใจก่อสร้างไว้อย่างสวยงาม

6. วัดประจำรัชกาลที่ ๖ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงมีวัดประจำรัชกาล โดยมีพระราชดำริว่า พระอารามหลวงมีอยู่มากเกินที่จะรักษาให้ดีได้ เห็นควรบูรณะทั้งในพระนคร และหัวเมืองที่ชำรุดทรุดโทรมให้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังทรงเห็นว่า สถานศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น ควรเปลี่ยนประเพณีสร้างวัดเป็นสร้างโรงเรียนแทน มีพระบรมราชโองการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทนวัดประจำรัชกาล
* พระบรมราชสรีรางคาร : รัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจุที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม และฐานพระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ตามที่มีพระบรมราชโองการสั่งไว้ในพระราชพินัยกรรม
ดังนั้นจึงถือวัดวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เป็นวัดประจำรัชการที่ ๖

7. วัดประจำรัชกาลที่ ๗ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
ในสมัยของรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้มีการสร้างวัด แต่พระองค์ท่านได้ปฏิสังขรณ์วัดของพระราชบิดา หรือรัชกาลที่ 5 แทน จึงถือว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำทั้งรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 เช่นกัน
* พระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจุที่ฐานพระพุทธอังคีรส ในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพราะเคยได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหญ่

8. วัดประจำรัชกาลที่ ๘ วัดสุทัศนเทพวราราม
* พระบรมราชสรีรางคาร รัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระอัฐมรามาธิบดินทร บรรจุที่ฐานพระศรีศากยมุนี ในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม เพราะเคยเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร แล้วมีพระราชดำรัสว่าวัดนี้สงบน่าอยู่จริง จึงมีผู้เห็นว่าว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8

มาถึงวัดประจำรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขณะนี้ยังไม่มีความแน่ชัด แต่คาดเดากันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในสามวัดนี้ คือ วัดพระราม 9 กาญนาภิเษก กรุงเทพ วัดโสธรวราราม วรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา และวัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร จังหวัดชลบุรี

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ และ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ