2008-11-14

การจัดโต๊ะหมู่บูชา

การจัดโต๊ะหมู่บูชา เป็นวัฒนธรรมประจำชาติไทยมานาน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีมาแต่สมัยใด ปัจจุบันในพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ในพระราชพิธี รัฐพิธี หรือราษฎร์พิธี จะเป็นงานมงคล หรืองานอวมงคลก็ตาม นิยมตั้งโต๊ะหมู่บูชาทั้งสิ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พร้อมเครื่องบูชาตามคตินิยมของชาวพุทธ เท่าที่ปรากฏในสมัยพุทธกาล พุทธบริษัทมีความประสงค์จะบำเพ็ญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง นิยมนิมนต์พระสงฆ์มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นประมุขในงานกุศลนั้นๆ เพื่อต้องการให้พระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พร้อมบริบูรณ์


ศาสนพิธีต่างๆ ทางพุทธศาสนาจึงนิยมอัญเชิญพระพุทธรูปเป็นนิมิตรแทนองค์พระพุทธเจ้ามา ประดิษฐานไว้ในพิธีเพื่อให้พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ดังกล่าวแล้ว แต่การอัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานนั้นควรทำสถานที่ให้เหมาะสม ในชั้นแรกสันนิษฐานว่า อาจใช้โต๊ะธรรมดาเป็นที่ประดิษฐานต่อมาได้มี วิวัฒนาการเป็นโต๊ะหมู่บูชาขึ้นดังปรากฏในปัจจุบันนี้มีหลายรูปแบบนับเป็น เอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย

ปัจจุบัน การตั้งโต๊ะหมู่บูชานิยมตั้งใน ๒ กรณี คือ
๑. ในพิธีทางพุทธศาสนา เช่น การทำบุญ ฟังเทศน์ เป็นต้น
๒. ในพิธีถวายพระพร หรือตั้งรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ พระบรมราชินีนาถ


การจัดโต๊ะหมู่บูชาในบางพิธีของราชการ
การจัดโต๊ะหมู่บูชาในพิธีบางพิธีของทางราชการ เช่น การประชุม อบรม สัมมนา เป็นต้นที่มิใช่พิธีเกี่ยวกับนานาชาติและการประชุมปกติของคณะกรรมการ นิยมตั้งธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร่วมกับโต๊ะหมู่บูชาเพื่อให้ครบทั้ง ๓ สถาบันคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มีหลักในการจัดคือ ตั้งโต๊ะหมู่บูชาไว้ตรงกลาง ตั้งธงชาติไว้ทางด้านขวาของโต๊ะหมู่ และตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ หรือพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ไว้ทางด้านซ้ายของโต๊ะหมู่ ดังภาพ


ในพิธีส่วนตัว เช่นทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญอัฐิ หรือทำบุญใดๆ เฉพาะตน ในกรณีที่มีพื้นที่ในการใช้อย่างจำกัดและแคบเกินไป หรือหาโต๊ะหมู่ตามกำหนด ไม่ได้ และมีทุนในการจัดอย่างจำกัด อาจดัดแปลงเครื่องบูชาและรูปแบบการจัดก็ได้ โดยยึดหลักในการจัดคือ
๑. พระพุทธรูปจะต้องอยู่สูงกว่าเครื่องบูชาทุกชนิด
๒. เครื่องบูชาอย่างน้อยที่สุด คือ แจกันดอกไม้ ๑ คู่ เชิงเทียน ๑ คู่ และกระถางธูป ๑ กระถาง (พานดอกไม้จะมีหรือไม่มีก็ได้)

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (www.culture.go.th)

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ