ความหมายเครื่องบูชาบนโต๊ะหมู่
เครื่อง สักการะบูชาพระรัตนตรัยที่ชาวพุทธทั้งหลายได้เอามาบูชานั้น ล้วนแต่มีความหมายและแฝงไว้ซึ่งปรัชญา แต่ชาวพุทธอีกจำนวนมากไม่ทราบเลยว่า ทำไมจึงต้องมีสิ่งเหล่านี้ และมีไว้เพื่ออะไร ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเข้าเรื่อง “ความหมายเครื่องบูชาบนโต๊ะหมู่” เพื่อความเข้าใจอันดีและถูกต้องตามความหมาย จึงใคร่ของนำมาเสนอแนะ ดังต่อไปนี้
ธูป สำหรับบูชาพระพุทธเจ้า นิยมจุดครั้งละ ๓ ดอก หมายความว่า พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้น พระองค์มีพระคุณมากมายสุดที่พรรณนาได้ แต่เมื่อจะย่อลงให้น้อยที่สุดก็เหลือเพียง ๓ ประการ คือ ๑. พระปัญญาคุณ ๒. พระบริสุทธิคุณ ๓. พระมหากรุณาธิคุณ
ธูปที่บูชาบนโต๊ะหมู่ จึงหมายถึงพระคุณทั้ง ๓ ประการนี้ บรรดากลิ่นหอมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นที่ยั่วยุกามารมณ์ให้กำเริบ กลิ่นธูปเป็นกลิ่นที่น่าอัศจรรย์ คือเป็นกลิ่นหอมและกลิ่นอันสามารถทำจิตใจให้สงบได้ แต่กลิ่นของศีลนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า เป็นกลิ่นที่ทวนลมและเป็นกลิ่นตามลม ที่เหล่าเทพยดาทั้งหลายทรงสรรเสริญและยกย่อง แม้พระองค์ทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปนานกว่า ๒๕๐๐ ปีเศษ กลิ่นแห่งศีลของพระองค์ก็ยังตรึงใจของเหล่าชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา
เทียน เทียนที่นิยมใช้จุดบูชานั้น มี ๒ เล่ม เป็นอย่างน้อย หมายความว่า บรรดาคำสอนที่เป็น “สัตถุศาสน์” คือ คำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อแยกประเภทออกแล้วมีอยู่ ๒ ประเภทด้วยกัน คือ
๑. พระวินัย สำหรับฝึกหัดกาย วาจา ให้เรียบร้อย
๒. พระธรรม สำหรับฝึกใจให้สงบเพื่อจะได้พบความสุข
ดัง นั้น เทียน ๒ เล่ม จึงเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมวินัย หรือ ที่เราเข้าใจกันว่า ศีลธรรมนั่นเอง จะเป็นศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐, ศีล ๒๒๗, ศีล ๓๑๑ ก็ตาม ล้วนแต่อยู่ในความหมายนี้ และอีกอย่างหนึ่ง เทียนนี้ท่านผู้รู้ได้เปรียบเหมือนมารดาและบิดาผู้ให้กำเนิดแก่บุตรธิดา เพราะเทียนนั้นเมื่อจุดแล้วให้แสงสว่างแก่ผู้จุด แต่เทียนนั้นก็ค่อย ๆ หมดไปเหมือนมารดาและบิดาผู้เลี้ยงดูบุตรธิดาให้เติบโต และให้ได้รับการศึกษาวิชาความต่าง ๆ ส่วนสภาพ ร่างกายนั้นก็เหี่ยวแห้งลงตามลำดับ ฉันใด เทียนที่จุดแล้วให้ความแสงสว่าง และตัวเองก็ค่อย ๆ หมดไปฉันนั้น
พระธรรมไม่ว่าจะเป็นธรรมขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง หรือขั้นสูงสุด ก็รวมอยู่ในความหมายนี้เช่นกัน ผู้ที่จุดเทียนในที่มืดไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม ย่อมจะทำที่นั้นให้สว่าง สามารถมองเห็นทางเดินได้อย่างชัดเจน ฉันใด พระธรรมและพระวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้น ผู้ใดทำให้เกิดมีขึ้นในใจมากเท่าใด ก็จะเป็นแสงประทีปนำทางของผู้นั้นให้ได้พบความสว่างและความสงบ มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างที่ไม่เคยมีปัญญาใด ๆ ในโลกจะมาเทียบได้
ดัง นั้น การบูชาทุกครั้งจึงต้องจุดเทียนก่อนเสมอ เพื่อแสดงให้เห็นว่าศีลทุกคนจะต้องรักษาเพื่อดัด กาย วาจา ของตนให้ละเอียดประณีตขึ้น และธรรมทุกคนจะต้องประพฤติเพื่อความอยู่เป็นสุขใจสังคมมนุษย์ อย่างน้อยที่สุดต้องมีความรักความเอ็นดู ความสงสาร และการไม่เบียดเบียนกันและกัน โลกจึงจะสงบสุข พบกับสันติภาพ
ดอกไม้ การนำดอกไม้มาบูชานั้นมีความหมายว่า อันธรรมดาว่าดอกไม้นานาพันธุ์ที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติ ย่อมมีความสวยงามตามสมควรแก่สภาพของมัน แต่พอบุคคลนำมากองไว้ปะปนกัน โดยมิได้จัดให้มีระเบียบ ย่อมไม่สวยงามไม่น่าดูไม่น่าชม แต่ถ้านายมาลาการคือช่างดอกไม้ นำมาร้อยจัดสรรให้เป็นระเบียบเสียบไว้ในแจกัน หรือใส่พานประดับแต่งให้มีระเบียบแล้ว ย่อมจะแลดูสวยงาม น่าดู น่าชม ข้อนี้ฉันใด เหล่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธ องค์ คราวที่ท่านอยู่ครองฆราวาส มีกิริยามารยาท ทางกาย วาจาและใจงามเหมาะสมตามควรแก่ตระกูลของตน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง ละเอียดบ้างอันไม่เท่ากัน แบ่งชั้นวรรณะกันไปตามตระกูลวงศ์ มีอัธยาศัยต่าง ๆ กันไป เมื่อมีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวชรวมกันอยู่ ถ้าไม่มีระเบียบข้อวัตรปฏิบัติให้เป็นอันเดียวกันก็ไม่ต่างอะไรกับดอกไม้ที่ นำมากองไว้ ไม่มีระเบียบ ไม่น่า เลื่อมใส ไม่น่าเคารพบูชาแก่ผู้ที่พบเห็น ครั้นพระพุทธเจ้าผู้เป็นเสมือนนายช่างดอกไม้ผู้ฉลาด พระองค์ได้ทรงวางระเบียบปฏิบัติคือ พระธรรมและพระวินัยไว้เป็นแบบแผนปฏิบัติ จัดสรรพระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในระเบียบเดียวกัน จึงเกิดมีระเบียบเรียบร้อย น่าเคารพ น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่บรรดาผู้ที่ได้พบเห็นฉันนั้น
ดอกไม้ ที่เลือกสรรมาบูชานั้น ชาวพุทธส่วนมากนิยมนำดอกไม้ที่มีคุณลักษณะที่ดีงามมาบูชา คือเป็นดอกไม้ที่กำลังแรกแย้ม มีกลิ่นหอม และมีสีสวยสด ไม่นิยมนำดอกไม้เหี่ยวแห้งมาบูชาหรือดอกไม้ ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ เช่นดอกไม้ที่ทำด้วยพลาสติกเป็นต้น เพราะเชื่อกันว่าผู้บูชาด้วยดอกไม้ที่มีสีสวยมีกลิ่น หอม และเป็นดอกไม้แรกแย้มแล้ว เมื่อคราวจะได้อะไร ก็จะได้แต่ของที่ใหม่สดเสมอ ไม่เป็นมือสองรองจากใคร ดุจตาชูชกผู้มีอายุแก่คราวปู่ได้นางอมิตตา ซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นมาเป็นเมีย ส่วนผู้ที่บูชาด้วยดอกไม้ ที่เหี่ยวแห้ง เช่นดอกไม้ที่ทำด้วยสิ่งประดิษฐ์ด้วยพลาสติก อาจมีสีสวยแต่ไม่มีกลิ่นหอม เข้าทำนองที่ว่า สวยแต่รูปจูบไม่หอม ผู้นั้นเวลาจะได้อะไรก็มักจะได้ของที่ไม่ดี ไม่สวยเป็นที่พอใจ ตัวอย่างนางอมิตตาได้ ตาชูชก ซึ่งแก่คราวปู่มาเป็นสามี
อย่างไรก็ตาม การบูชาด้วยดอกไม้นั้นนิยมนำดอกบัวตูมมาถวายพระหรือบูชาพระ เพราะลักษณะคล้ายรูปหัวใจ มีความหมายว่า ดอกบัวนั้น มีถิ่นกำเนิดในเปลือกตมไม่สะอาดแต่พอพ้นน้ำแล้วบาน สะพรั่งสวยงามเปรียบได้กับพระสงฆ์สาวกที่ออกจากเปลือกตม คือ กิเลส เบ่งบานด้วยรสพระธรรม ตัดความอาลัยคือ กามคุณห้าได้แล้ว เป็นพระอริยบุคคล (การบูชาด้วยดอกบัวนั้น จะให้มีความหมายที่ถูกต้องแล้ว ต้องบูชาให้ครบ ๘ ดอก ซึ่งหมายถึง พระอริยบุคคล ๘ จำพวก มีพระโสดาบันเป็นต้น)
สรุปได้ความว่า ธูป ๓ ดอก ที่จุดบูชานั้น หมายถึงพระพุทธคุณทั้ง ๓ ประการ คือ
๑. พระปัญญาคุณ (ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงด้วยพระองค์เองโดยไม่มีใครสอน)
๒. พระบริสุทธิคุณ (ความบริสุทธิ์หมดจดสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ)
๓. พระมหากรุณธิคุณ (มีเมตตาสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามความเป็นจริง)
เทียน ๒ เล่ม หมายถึงจุดเพื่อบูชาคุณของศีลและธรรม ซึ่งเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา ที่พระองค์ทรงค้นพบด้วยปัญญาของพระองค์เอง
๑. เทียนเล่มซ้ายมือผู้จุด หมายถึงพระวินัยคือศีลทั้งหมด
๒. เทียนเล่มขวามือผู้จุด หมายถึงพระธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบแล้วทรงสั่งสอนหมู่มนุษย์และ เทวดาให้มีจิตใจอ่อนโยน
เวลา จุดเทียนต้องจุดเล่มซ้ายมือของเราก่อน เพราะหมายถึง ศีลซึ่งกำจัดกิเลสอย่างหยาบ ปรกติเมื่อจะทำบุญใด ๆ (ทำความดี) ก็ตามจะต้องรับศีล
การจุดเทียนเล่มขวามือของเรานั้น หมายถึงพระธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด และรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมิให้ตกไปทางที่ชั่ว
ดอกไม้ที่นำมา บูชาพระบนโต๊ะหมู่นั้น หมายถึงพระสงฆ์ที่ท่านออกจากบ้านเรือนมาบวชแล้วตั้งอยู่ในศีลธรรม ทั้งที่เป็นพระอริยสงฆ์ และพระกัลยาณะ สมมติสงฆ์ เมื่อเราทราบความหมายดังนี้แล้ว จึงควรที่เราทั้งหลายมาช่วยกันรักษาและกราบไหว้ให้ถูกต้อง และสั่งสอนบุตรหลานทั้งหลายให้เขาเข้าใจในความหมายเหล่านี้ เมื่อเขาเข้าใจดีแล้ว ก็จะได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยาวนานสืบต่อไป.
ที่มา : www.watbk.org
No comments:
Post a Comment