ปาจิตติยกัณฑ์
ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๙ รตนวรรค
สิกขาบทที่ ๒ เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง
[๗๓๘] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอาราม ของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งอาบน้ำอยู่ในแม่น้ำอจิรวดี แม้พราหมณ์คนหนึ่งวางถุงเงินประมาณ ๕๐๐ กษาปณ์ไว้บนบก แล้วลงอาบน้ำในแม่น้ำอจิรวดี เสร็จแล้วได้ลืมถุงทรัพย์นั้นไว้ ไปแล้ว จึงภิกษุนั้นได้เก็บไว้ด้วยสำคัญว่า นี้ถุงทรัพย์ของพราหมณ์ นั้น อย่าได้หายเสียเลย ฝ่ายพราหมณ์นั้นนึกขึ้นได้ รีบวิ่งมาถามภิกษุนั้นว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระคุณเจ้าเห็นถุงทรัพย์ของข้าพเจ้าบ้างไหม? ภิกษุนั้นได้คืนให้พร้อมกับกล่าวว่า เชิญรับไปเถิด ท่านพราหมณ์. พราหมณ์ฉุกคิดขึ้นได้ในขณะนั้นว่า ด้วยอุบายอย่างไรหนอ เราจึงจะไม่ต้องให้ค่าไถ่ ร้อยละห้าแก่ภิกษุนี้ จึงพูดเป็นเชิงขู่ขึ้นว่า ทรัพย์ของข้าพเจ้าไม่ใช่ ๕๐๐ กษาปณ์ ของข้าพเจ้า ๑,๐๐๐ กษาปณ์ ดังนี้ แล้วปล่อยตัวไป ครั้นภิกษุนั้นไปถึงพระอารามแล้ว ได้แจ้งเรื่องนั้นแก่ภิกษุ ทั้งหลาย. บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ภิกษุจึงได้เก็บ เอาสิ่งรตนะเล่า ... แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.-----------------------------------------------------ทรงสอบถาม พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรภิกษุ ข่าวว่า เธอเก็บเอารัตนะไว้ จริงหรือ? ภิกษุรูปนั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้เก็บเอารัตนะเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความ เลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระบัญญัติ ๑๓๓. ๒. อนึ่ง ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะ ก็ดี ซึ่งของที่ สมมติว่ารัตนะก็ดี เป็นปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้เรื่องภิกษุรูปหนึ่ง จบ. เรื่องนางวิสาขามิคารมาตา [๗๓๙] สมัยต่อมา ในพระนครสาวัตถี มีมหรสพ ประชาชนต่างประดับประดาตกแต่ง ร่างกาย แล้วพากันไปเที่ยวชมสวน แม้นางวิสาขามิคารมาตาก็ประดับประดาตกแต่งร่างกายออก จากบ้านไปด้วยตั้งใจว่า จักไปเที่ยวชมสวน แล้วหวนคิดขึ้นว่า เราจักไปสวนทำไม เราเข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาคดีกว่า ดังนี้แล้วได้เปลื้องเครื่องประดับออก ห่อด้วยผ้าห่มมอบให้แก่ทาสี สั่งว่า แม่สาวใช้ เธอจงถือห่อเครื่องประดับนี้ไว้ ครั้นแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นางวิสาขามิคารมาตาผู้นั่งเรียบร้อยแล้ว เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา. ครั้นนางวิสาขามิคารมาตาอันพระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว. ฝ่ายทาสีคนนั้น ได้ลืมห่อเครื่องประดับนั้นไปแล้ว ภิกษุทั้งหลายพบเห็น จึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น พวกเธอจงเก็บ เอามารักษาไว้.พระพุทธานุญาตพิเศษให้เก็บรัตนะ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บ หรือใช้ให้เก็บ ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ แล้วรักษาไว้ ด้วยหมายว่า ของผู้ใด ผู้นั้น จะได้นำไป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๑ ๑๓๓. ๒. ก. อนึ่ง ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของ ที่สมมติว่ารัตนะก็ดี เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ เป็นปาจิตตีย์. ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการ ฉะนี้.เรื่องนางวิสาขามิคารมาตา จบ. เรื่องคนใช้ของอนาถบิณฑิกคหบดี [๗๔๐] ก็โดยสมัยนั้นแล อนาถบิณฑิกคหบดี มีโรงงานอยู่ในกาสีชนบท และคหบดี นั้นได้สั่งบุรุษคนสนิทไว้ว่า ถ้าพระคุณเจ้าทั้งหลายมา เจ้าพึงแต่งอาหารถวาย. ครั้นต่อมา ภิกษุ หลายรูป ไปเที่ยวจาริกในกาสีชนบท ได้เดินผ่านเข้าไปทางโรงงานของอนาถบิณฑิกคหบดี บุรุษ นั้นได้แลเห็นภิกษุเหล่านั้นเดินมาแต่ไกลเทียว ครั้นแล้วจึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้น กราบไหว้แล้ว ได้กล่าวอาราธนาว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าทั้งหลาย จงรับนิมนต์ฉันภัตตาหารของท่านคหบดี ในวันพรุ่งนี้. ภิกษุเหล่านั้นรับนิมนต์ด้วยอาการดุษณีภาพ. จึงบุรุษนั้น สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยว ของฉัน อันประณีตโดยล่วงราตรีนั้นแล้วให้คนไป บอกภัตตกาล แล้วถอดแหวนวางไว้ อังคาสภิกษุเหล่านั้นด้วยภัตตาหาร แล้วกล่าวว่า นิมนต์ พระคุณเจ้าฉันแล้วกลับได้ แม้กระผมก็จักไปสู่โรงงานดังนี้ ได้ลืมแหวนนั้น ไปแล้ว. ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้ว ปรึกษากันว่า ถ้าพวกเราไปเสีย แหวนวงนี้จักหาย แล้วได้ อยู่ในที่นั้นเอง. ครั้นบุรุษนั้นกลับมาจากโรงงาน เห็นภิกษุเหล่านั้นจึงถามว่า เพราะเหตุไร พระคุณเจ้า ทั้งหลายจึงยังอยู่ในที่นี้เล่า ขอรับ. จึงภิกษุเหล่านั้นได้บอกเรื่องราวนั้นแก่เขา ครั้นเธอไปถึงพระนครสาวัตถีแล้ว ได้เล่า เรื่องนั้นแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.พระพุทธานุญาตพิเศษ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เก็บเอาก็ดี ใช้ให้ เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี แล้วเก็บ รักษาไว้ด้วยหมายว่า เป็นของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-พระอนุบัญญัติ ๒ ๑๓๓. ๒. ข. อนึ่ง ภิกษุใด เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของ ที่สมมติว่ารัตนะก็ดี เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี เป็นปาจิตตีย์. และภิกษุ เก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี แล้วพึงเก็บไว้ด้วยหมายว่า ของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป นี้เป็นสามีจิ- *กรรมในเรื่องนั้น.เรื่องคนใช้ของอนาถบิณฑิกคหบดี จบ. สิกขาบทวิภังค์ [๗๔๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ... บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรง ประสงค์ในอรรถนี้. ที่ชื่อว่า รัตนะ ได้แก่ แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง แก้วทับทิม แก้วลาย นี้ชื่อว่ารัตนะ. ที่ชื่อว่า ของที่สมมติว่ารัตนะ ได้แก่ เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค ของมวลมนุษย์ นี้ชื่อว่าของที่สมมติว่ารัตนะ. คำว่า เว้นไว้แต่ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี คือ ยกเว้นแต่ภายในวัดที่อยู่ ภาย ในที่อยู่พัก. ที่ชื่อว่า ภายในวัดที่อยู่ คือ สำหรับวัดที่มีเครื่องล้อม กำหนดภายในวัด สำหรับ วัดที่ไม่มีเครื่องล้อม กำหนดอุปจารวัด. ที่ชื่อว่า ภายในที่อยู่พัก คือ สำหรับที่อยู่พักที่มีเครื่องล้อม ได้แก่ ภายในที่อยู่พัก สำหรับที่อยู่พักที่ไม่มีเครื่องล้อม ได้แก่อุปจารที่อยู่พัก. บทว่า เก็บเอา คือ ถือเอาเอง ต้องอาบัติปาจิตตีย์. บทว่า ให้เก็บเอา คือ ให้คนอื่นถือเอา ต้องอาบัติปาจิตตีย์. [๗๔๒] คำว่า และภิกษุเก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติ ว่ารัตนะก็ดี ในวัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี แล้วพึงเก็บไว้ นั้น ความว่า ภิกษุพึงทำ เครื่องหมายตามรูปหรือตามนิมิตเก็บไว้ แล้วพึงประกาศว่าสิ่งของ ของผู้ใดหาย ผู้นั้นจงมารับไป ถ้าเขามาในที่นั้น พึงสอบถามเขาว่า สิ่งของของท่านเป็นเช่นไร ถ้าเขาบอกรูปพรรณหรือตำหนิ ถูกต้อง พึงให้ไป ถ้าบอกไม่ถูกต้อง พึงบอกเขาว่า จงค้นหาเอาเอง. เมื่อจะหลีกไปจากอาวาส นั้น พึงมอบไว้ในมือของภิกษุผู้สมควรที่อยู่ในวัดนั้น แล้วจึงหลีกไป ถ้าภิกษุผู้สมควรไม่มี พึง มอบไว้ในมือของคหบดีผู้สมควรที่อยู่ในตำบลนั้น แล้วจึงหลีกไป. คำว่า นี้เป็นสามีจิกรรมในเรื่องนั้น ความว่า นี้เป็นมารยาทที่ดียิ่งในเรื่องนั้น.อนาปัตติวาร [๗๔๓] ภิกษุเก็บเอาก็ดี ให้เก็บเอาก็ดี ซึ่งรัตนะก็ดี ซึ่งของที่สมมติว่ารัตนะก็ดี ใน วัดที่อยู่ก็ดี ในที่อยู่พักก็ดี แล้วเก็บไว้ด้วยหมายว่า ของผู้ใด ผู้นั้นจะได้นำไป ดังนี้ ๑ ภิกษุ ถือวิสาสะของที่สมมติว่ารัตนะ ๑ ภิกษุถือเป็นของขอยืม ๑ ภิกษุเข้าใจว่าเป็นของบังสุกุล ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑ ไม่ต้องอาบัติแล.รตนวรรค สิกขาบทที่ ๒ จบ.
ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=02&A=14202&Z=14316
No comments:
Post a Comment