2011-11-28

เหวัชระ (Hevajra)

เหวัชระจัดอยู่ในกลุ่มยิดัมหรือเทพผู้พิทักษ์พุทธศาสนามหายาน ซึ่งปรากฏขึ้นในสมัยพุทธตันตระ มีหน้าที่ในการปราบภูตผีปิศาจสิ่งชั่วร้ายต่างๆ ไม่ให้ทำอันตรายมนุษย์ พระสงฆ์ในนิกายมหายานตันตระทุกรูปจะต้องมียิดัมประจำตัวสำหรับบูชาโดยเฉพาะ ยิดัมมีอยู่ด้วยกันหลายตน เช่น เหวัชระ คุหยสมาช มหามายา สังวร กาลจักร ชัมภล ซึ่งแต่ละตนมีลักษณะดุร้ายน่ากลัว

เหวัชระถือเป็นยิดัมหรือเทพผู้พิทักษ์ตนหนึ่งที่ได้รับการนับถืออย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้นิยมพุทธตันตระ ดังปรากฏรูปเคารพจำนวนมากทั้งในรูปเดี่ยวและร่วมกับศักติหรือบุคคลอื่น

ลักษณะทางประติมานวิทยาของเหวัชระที่สังเกตได้คือ วรรณะ (ผิวกาย) สีฟ้า สวมเครื่องทรงแบบพระโพธิสัตว์หรือธรรมบาล (ธรรมบาลมีตำแหน่งเทียบเท่าพระโพธิสัตว์ มีอยู่ด้วยกัน ๘ องค์ มีหน้าที่ทำสงครามปราบปรามปีศาจและยักษ์มารต่างๆ ซึ่งเป็นศัตรูของพุทธศาสนา) มักปรากฏกายในรูปตันตระ คือ มี ๘ เศียร ๑๖ กร ๔ บาท

เศียรทั้ง ๘ จัดเรียงกันโดยมีเศียร ๓ เศียรอยู่ด้านข้างทั้งสองของเศียรกลาง และเศียรที่ ๘ อยู่บนเศียรกลาง แต่ละเศียรจะมีสามเนตร กรทั้ง ๑๖ กรถือหัวกะโหลก โดยแปดถ้วยข้างขวาบรรจุสัตว์โลกต่างๆ มีช้าง ม้า ลา โค อูฐ มนุษย์ กวาง และแมว ส่วนถ้วยด้านซ้ายบรรจุเทพประจำแผ่นดิน น้ำ ลม ไฟ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระพรหม และท้าวไวศรวรรณ (ท้าวชัมภลหรือกุเวร)

พระบาททั้ง ๔ นั้น สองบาทหน้าเหยียบร่างมนุษย์ (หรือซากศพ) ไว้ ส่วนอีกสองบาทหลัง เต้นรำท่าอรรธปรยังก์ โดยงอพระชงฆ์ซ้ายและพับพระชงฆ์ขวาขึ้นไว้ใต้พระเพลาซ้าย

(ยิดัม คือเทพผู้พิทักษ์ที่เห็นพระพุทธรูปอุ้มสตรีในทิเบต หรือในภูฏาน ยิดัมนี้อาจจะเป็นธยานิโพธิสัตว์อวตารมาเพื่อปราบปีศาจร้ายก็ได้ หรือเป็นปีศาจร้ายที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนาแล้วเลื่อนมาเป็นยิดัม ลามะชั้นสูงบางรูปอาจจะมียิดัมคอยอารักษ์ ลามะอาจเชิญมาพิทักษ์เอง หรือยิดัมปรากฏให้เห็นขณะทำภาวนาอยู่ก็ได้ ส่วนฆราวาสที่อยากมียิดัมคอยพิทักษ์ ต้องให้ลามะเชิญเท่านั้น อีกนัยหนึ่ง ยิดัม คือพระโพธิสัตว์อุ้มตำรา หรือแม้แต่พระพุทธรูปอุ้มศักติ)

เหวัชระมีเทพสตรีหรือที่เรียกว่านางโยคินีแปดตนเป็นบริวาร นางโยคินีเหล่านี้มีหน้าที่ทำลายล้างอวิชชาหรือสิ่งชั่วร้ายและรักษาทิศทั้งแปดของจักรวาล ถือกำเนิดขึ้นจากญาณของเหวัชระเรียงกันตามลำดับทิศหลักและทิศรอง โดยเริ่มจาก

Gauri กำเนิดขึ้นเป็นตนแรกทางทิศตะวันออก มีผิวกายสีดำ สัญลักษณ์ประจำตัวคือ มีดและปลา ซึ่งถืออยู่ในกรขวาและซ้ายตามลำดับ
Cauri กำเนิดขึ้นทางทิศใต้ มีผิวกายสีแดงราวกับพระอาทิตย์ สัญลักษณ์คือกลองและหมี หรือหมูป่า (Boar)
Vetali กำเนิดขึ้นทางทิศตะวันตก มีผิวกายสีทองสุกสว่าง สัญลักษณ์คือเต่าและหัวกะโหลก
Ghasmari กำเนิดขึ้นทางทิศเหนือ มีผิวกายสีเขียวมรกต สัญลักษณ์คืองูและชาม
Pukkasi กำเนิดขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีผิวกายสีคราม (Sapphire) สัญลักษณ์คือสิงโตและขวาน
Savari กำเนิดขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีผิวกายสีขาว (Moonstone) สัญลักษณ์คือพระ (นักบวช) และพัด
Candali กำเนิดขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีผิวกายสีดำหมอกเมฆ สัญลักษณ์คือจักร (Wheel) และคันไถ (Plough)
Dombi กำเนิดขึ้นเป็นคนสุดท้ายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีผิวกายสีทอง สัญลักษณ์คือวัชระในกรขวา ส่วนกรซ้ายแสดงอาการชี้นิ้ว



องค์กลางคือพระเหวัชระ ในปางปาฎิหารย์คือมีพระกรมากมาย ถืออาวุธต่าง ๆ พระเหวัชระมีพระกรมาก มีหลายพระพักตร์ ซึ่งแสดงถึงความยิ่งใหญ่และมีฤทธิ์เดชมาก ซ้ำยังกำลังร่ายรำเหยียบย้ำอยู่บนกองซากศพ ซึ่งหมายถึงพญามาร สื่อแสดงว่าเป็นการ " ชนะมาร "

พระพิมพ์นี้ เป็นพิมพ์ปางตรัสรู้ตามความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน

องค์ซ้ายคือ พระพุทธเจ้า ขณะทรงบำเพ็ญเพียรภาวนา ตากแดดตากฝนอย่างไม่ย่อท้อ จนกระทั่งพญานาคเจ็ดเศียร มาแผ่แม่เบี้ย บังแดดให้ด้วยศรัทธา ในขณะที่มีมารต่าง ๆมาผจญ ทางหินยานเชื่อว่ามีพระแม่ธรณี มาบีบน้ำออกจากมวยผม ท่วมกองทัพพญามารให้ต้องพ่ายแพ้ไป แต่ส่วนในความเชื่อของขอม คือ ชัยวรมันที่ ๗ หรือทางหินยาน พระเหวัชระ เป็นผู้ปราบพญามารและกองทัพภูติผีปีศาจ ให้ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด

และเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว มีความรู้แจ้งเห็นจริง คือ อริยสัจสี่ และมีความรู้เจนจบไตรภพ รูปแสดงเป็นพระนางอมิตตาปารมี เทวีผู้เปี่ยมไปด้วยความรอบรู้ทั้งหลายทั้งปวงจึงปรากฏอยู่ทางเบื้องขวาของพระพิมพ์นี้

ซึ่งการสร้างในสมัยโบราณนั้น เชื่อว่าต้องเป็นการสร้างโดยชนชั้นระดับพระมหากษัตริย์ ส่วนที่มีการนำมาบรรจุกรุ หรือฝังเอาไว้ เป็นไปตามแนวความเชื่อทางไสยเวทย์ วัตถุประสงค์เพื่อสยบและเพื่อให้ปกครองได้อย่างสงบราบรื่น ปางตรัสรู้ ปางชนะมาร ก็คืออีกอาถรรพ์วัตถุ ที่นำมาฝังกรุไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อเพิ่มอำนาจในการปกครองและอำนวยให้พ้นอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งสยบเหล่าภูติผีปีศาจ หรือสิ่งอาถรรพ์ต่างๆ ที่คนโบราณเชื่อถือว่าเป็นวัตถุมงคลที่สำเร็จด้วยกฤตานุภาพในองค์พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ หรือทางพุทธมหายาน เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานที่อยู่เหนือสิ่งที่วิสัยเยี่ยงมนุษย์ จักจัดการได้ คือการ ขอพึ่งพุทธคุณและพระบารมีของพระองค์ท่านเพื่อให้ประสพความสำเร็จ

ที่มา : จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, www.pramuangnue.com, www.muangboranjournal.com

...

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ