2010-11-16

พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง สุพรรณบุรี

พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง ต.ศรีประจันต์ อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ถือเป็นพระกรุโบราณ มีอายุการสร้าง มาหลายร้อยปี ความงดงามของพุทธศิลปะ ที่โดดเด่นและพุทธคุณที่เลิศล้ำ ทั้งเมตตา มหานิยม มหาเสน่ห์ ตลอดจน คงกระพันชาตรี ยากที่จะหาพระพิมพ์ใดเสมอเหมือน จัดเป็นพระยอดนิยมชั้นแนวหน้าของวงการ มานาน และที่สำคัญ ยังมีความเชื่อด้วยว่าเป็นพระเครื่องที่น่าจะสร้างขึ้นโดย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ อีกด้วย

พระขุนแผน วัดบ้านกร่าง จ.สุพรรณบุรี นี้ เป็นพระเครื่องเนื้อดินเผา ประกอบด้วยพิมพ์มากมายหลายพิมพ์ที่ถูกบรรจุไว้ในเจดีย์ หลังวิหารเก่าในวัดบ้านกร่าง ต่อมาเมื่อมีการบูรณะเจดีย์ จึงได้นำพระจำนวนมากเหล่านี้ มากองสุมไว้ที่โคนต้นโพธิ์ใกล้กับพระวิหาร และอีกส่วนหนึ่งได้กองไว้ในพระวิหารจนสูงท่วมฐานชุกชี จึงเป็นจุดที่ทำให้พระขุนแผนกรุวัดบ้านกร่างนี้ ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชน เมื่อกาลเวลาผ่านมาได้มีผู้นำพระขุนแผน อาราธนาติดตัว จนมีประสบการณ์ทั้งทางด้านคงกระพันชาตรี แคล้วคลาด โดยเฉพาะประสบการณ์ทางด้านเมตตามหานิยม จนพระเครื่องกรุวัดบ้านกร่างชุดนี้ถูกขนานนามว่า "พระขุนแผน"

พระขุนแผน วัดบ้านกร่างนี้ เป็นพระปางประทับนั่ง มีทั้งปางมารวิชัย และปางสมาธิ ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว มีใบระกาประดับด้านบน มีการแบ่งเป็นพิมพ์หลัก คือ

- พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลใหญ่ จัดได้ว่าเป็นพระขนาดใหญ่ของพระพิมพ์ขุนแผน กว้างประมาณ ๓.๕ ซม. สูงประมาณ ๖ ซม. เป็นพระปางสมาธิ ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว

- พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลเล็ก มีลักษณะคล้ายกับพระพิมพ์ทรงพลใหญ่ คือเป็นพระปางสมาธิ ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว แต่มีขนาดเล็กกว่าพิมพ์ทรงพลใหญ่ คือ กว้างประมาณ ๒.๘ ซม. สูงประมาณ ๔ ซม.

- พระขุนแผน พิมพ์อกใหญ่ จัดได้ว่าเป็นพิมพ์ที่นิยมมาก และมีความสวยงามเป็นอันดับต้นๆ ของพระกรุบ้านกร่างนี้ มีลักษณะเป็นพระปางมารวิชัย ประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว มีใบระกาประดับด้านบน มักตัดขอบพระเป็นทรงห้าเหลี่ยม จนได้อีกชื่อหนึ่งว่า "ขุนแผน ห้าเหลี่ยม" และที่สำคัญพระพิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่นี้ ยังถูกพบเป็นแบบลักษณะพิมพ์เดียวกันที่กรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา ที่เป็นเนื้อปูนขาว มีน้ำเคลือบสีเหลืองอ่อนเคลือบอยู่ด้านหน้า หรือเราเรียกว่า "ขุนแผนเคลือบ ของวัดใหญ่ อยุธยา" ขนาดองค์พระกว้างประมาณ ๓ ซม. สูงประมาณ ๕ ซม.

- พระขุนแผน พิมพ์อกเล็ก มีพุทธลักษณะคล้ายกับพิมพ์อกใหญ่มาก เพียงแต่ขนาดของหน้าอกองค์พระไม่ใหญ่ และใบหน้าตอบเล็กกว่าพิมพ์อกใหญ่เล็กน้อย

- พระขุนแผน พิมพ์แขนอ่อน เป็นพระพิมพ์สำคัญอีกพิมพ์หนึ่ง เป็นพระปางมารวิชัย ประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว มีลักษณะเด่นคือลายเส้นขององค์พระ มีขนาดเล็กดูอ่อนช้อย โดยเฉพาะที่แขนขององค์พระจะโค้งไปตามองค์พระขนานไปกับเข่าจนดูอ่อนช้อย มากกว่าพิมพ์อื่นๆ ขนาดองค์พระกว้างประมาณ ๓ ซม. สูงประมาณ ๕ ซม. มีพระพิมพ์นี้เป็นพิมพ์ขุนแผนเคลือบ ที่วัดใหญ่ชัยมงคล อยุธยา อีกหนึ่งพิมพ์

- พระขุนแผน พิมพ์พลายเดี่ยว เป็นพระบ้านกร่างปางมารวิชัย ประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว มักตัดขอบเป็นทรงกลีบของใบไม้ไม่เป็นทรงเหลี่ยมๆ มีความกว้างประมาณ ๒.๕ ซม. สูงประมาณ ๔.๕ ซม.

- พระขุนแผน พิมพ์พลายคู่ เป็นพระที่ถือได้ว่าเป็นพระเครื่องที่มีเอกลักษณ์เด่นที่สุดของพระเครื่อง ทุกพิมพ์ของวัดบ้านกร่างเลย คือ เป็นพระประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้วติดกันสององค์ (มีลักษณะของแต่ละองค์คล้ายพิมพ์พลายเดี่ยว) บ้างนิยมมาแบ่งเป็นสององค์เพื่อสะดวกในการแขวนบูชา เราจะเรียกกันว่า "พระพลายคู่ตัดเดี่ยว"

พระกรุวัดบ้านกร่างนี้ ยังมีพิมพ์ปลีกย่อยอีกมากมายหลายพิมพ์ที่ไม่ได้ กล่าวถึง เช่น พิมพ์เถาวัลย์เลื้อย ,พิมพ์ใบไม้ร่วง  แต่พระทั้งหมดเป็นพระเนื้อดินเผาคล้ายกระเบื้องหลังคาโบสถ์ ปรากฏ แร่ เม็ดทรายให้เห็นในเนื้อพระ เมื่อหักดูจะปรากฏเนื้อเป็นชิ้นๆ คล้ายแผ่นหินชนวน (ดูจากรอยหักของพิมพ์พลายคู่ตัดเดี่ยวจะเห็นได้ชัดเจน

ในวงการพระเครื่องให้ความเห็นและมีความเชื่อว่าเป็นพระที่ถูกสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ จากเหตุผลดังนี้

๑. พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง มีปริมาณพระและพิมพ์ทรงที่มากมายและงดงามมากเกินกว่าประชาชนธรรมดาในยุคนั้น จะสร้างได้ โดยเฉพาะ อ.ศรีประจันต์ ในยุคกรุงศรีอยุธยานั้นต้องเป็นป่าอย่างไม่ต้องสงสัย

๒. พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง จริงๆ แล้วเป็นการจำลองแบบมาจากพระพุทธชินราช พิษณุโลก โดยดูจากลักษณะของซุ้มเรือนแก้ว ใบระกา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระนเรศวร และพระเอกาทศรถให้ความนับถืออย่างที่สุด และเป็นพระประจำเมืองที่ท่านประทับก่อนครองอยุธยา

๓. พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง เป็นพระเครื่องพิมพ์เดียวที่มีการสร้างเป็นพระสององค์ประทับนั่งติดเคียง ข้างกันเปรียบเสมือนพระนเรศวรและพระเอกาทศรถ

๔. พระขุนแผน กรุวัดบ้านกร่าง พิมพ์ห้าเหลี่ยมอกใหญ่ และพิมพ์แขนอ่อนมีการสร้างเป็นขุนแผนเคลือบที่เป็นเนื้อดินขาว มีน้ำเคลือบ บรรจุไว้ในกรุวัดใหญ่ชัยมงคล จ.อยุธยา ซึ่งเป็นวัดประจำรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ นั่นเอง

จากเหตุผลเหล่านี้ในวงการพระเราจึงเชื่อว่า พระชุดบ้านกร่าง นี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงสร้างไว้เพื่อระลึกถึงการทำยุทธหัตถีของท่านกับพระมหาอุปราชในบริเวณหนอง สาหร่าย ซึ่งไม่ห่างจากที่พบพระบ้านกร่าง (ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าเป็นบริเวณใดแน่นอน) ทั้งรูปแบบศิลปะที่งดงาม พุทธคุณที่โด่งดัง รวมถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของพระกรุวัดบ้านกร่างนี้ ทำให้พระเครื่องกรุนี้ได้รับความนิยมมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน แล้วท่านล่ะมีพระกรุวัดบ้านกร่างนี้ไว้บ้างหรือยัง

ที่มา : นสพ. คม ชัด ลึก

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ