2010-09-09

ปาจิตติยกัณฑ์ ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๕. อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๕ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร

พระวินัยปิฎก เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ทุติยภาค  
ปาจิตติยกัณฑ์  
ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๕. อเจลกวรรค
สิกขาบทที่ ๕ เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร


[๕๔๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตรไปสู่เรือนของ
สหายแล้ว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภรรยาของเขาหนึ่งต่อหนึ่ง จึงบุรุษสหายนั้นเพ่งโทษ ติเตียน
โพนทะนาว่า ไฉน พระคุณเจ้าอุปนันทะจึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับกับภรรยาของเราหนึ่งต่อหนึ่งเล่า
ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่าง
ก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตร จึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับกับ
มาตุคาม หนึ่งต่อหนึ่งเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค ...
ทรงสอบถาม
พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามท่านพระอุปนันทะว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า เธอสำเร็จการนั่ง
ในที่ลับกับมาตุคามหนึ่งต่อหนึ่ง จริงหรือ?
ท่านพระอุปนันทะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.
ทรงติเตียนแล้วบัญญัติสิกขาบท
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงได้สำเร็จการนั่งในที่ลับ
กับมาตุคามหนึ่งต่อหนึ่งเล่า การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่
เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-
พระบัญญัติ
๙๔. ๕. อนึ่ง ภิกษุใด ผู้เดียว สำเร็จการนั่งในที่ลับกับมาตุคามผู้เดียว
เป็นปาจิตตีย์.
เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร จบ.
สิกขาบทวิภังค์
[๕๔๔] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด ...
บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ ... นี้ ชื่อว่า ภิกษุ ที่
ทรงประสงค์ในอรรถนี้.
ที่ชื่อว่า มาตุคาม ได้แก่หญิงมนุษย์ ไม่ใช่หญิงยักษ์ ไม่ใช่หญิงเปรต ไม่ใช่สัตว์
ดิรัจฉานตัวเมีย เป็นหญิงที่รู้เดียงสา สามารถทราบถ้อยคำที่เป็นสุภาษิต และทุพภาษิต ที่ชั่ว
หยาบและไม่ชั่วหยาบ.
บทว่า กับ คือ ร่วมกัน.
บทว่า ผู้เดียว ... ผู้เดียว คือ มีภิกษุ ๑ มาตุคาม ๑
ที่ชื่อว่า ที่ลับ ได้แก่ ที่ลับตา ๑ ที่ลับหู ๑
ที่ชื่อว่า ที่ลับตา ได้แก่ สถานที่ซึ่งมีภิกษุหรือมาตุคาม ขยิบตา ยักคิ้ว หรือชะเง้อ
ศีรษะ ไม่มีใครสามารถจะแลเห็นได้.
ที่ชื่อว่า ที่ลับหู ได้แก่ สถานที่ซึ่งไม่มีใครสามารถจะได้ยินถ้อยคำที่สนทนากันตาม
ปกติได้.
คำว่า สำเร็จการนั่ง ความว่า เมื่อมาตุคามนั่งแล้ว ภิกษุนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ต้อง
อาบัติปาจิตตีย์.
เมื่อภิกษุนั่งแล้ว มาตุคามนั่งใกล้หรือนอนใกล้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
ทั้ง ๒ นั่งก็ดี ทั้ง ๒ นอนก็ดี ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์.
บทภาชนีย์
ติกะปาจิตตีย์
[๕๔๕] มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับ หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
มาตุคาม ภิกษุสงสัย สำเร็จการนั่งในที่ลับ หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติปาจิตตีย์.
มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม สำเร็จการนั่งในที่ลับ หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติ
ปาจิตตีย์.
ติกะทุกกฏ
ภิกษุสำเร็จการนั่งในที่ลับ กับหญิงยักษ์ หญิงเปรต บัณเฑาะก์ หรือสัตว์ดิรัจฉาน-
*ตัวเมียมีกายดังมนุษย์ หนึ่งต่อหนึ่ง ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่ามาตุคาม ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.
ไม่ต้องอาบัติ
ไม่ใช่มาตุคาม ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่มาตุคาม ... ไม่ต้องอาบัติ.
อนาปัตติวาร
[๕๔๖] ภิกษุมีบุรุษผู้รู้เดียงสาคนใดคนหนึ่ง อยู่เป็นเพื่อน ๑ ภิกษุยืน ไม่ได้นั่ง ๑
ภิกษุไม่ได้มุ่งที่ลับ ๑ ภิกษุนั่งส่งใจไปในอารมณ์อื่น ๑ ภิกษุวิกลจริต ๑ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ๑
ไม่ต้องอาบัติแล.
อเจลกวรรค สิกขาบทที่ ๕ จบ.
-----------------------------------------------------


ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=02&A=11423&Z=11482

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ