2010-06-30

กรุแตกพระเครื่องอายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี จำนวนนับพันองค์ในวัดปัจจันตคาม พังงา

กรุแตกพบพระเครื่องอายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี จำนวนนับพันองค์ในวัดปัจจันตคาม โดยขุดพบที่ฐานองค์พระพุทธรูปใหญ่ที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๑๑

เมื่อเวลา ๑๑.๐๐ น.วันที่ ๒๔ มิ.ย.๒๕๕๓ นายเสริมพงษ์ สฤษ์ดิสุข สจ.เขต เมืองพังงา แจ้งว่า ที่บริเวณวัดปัจจันตคาม หมู่ที่ ๑ ต.ทุ่งคาโงก อ.เมือง จ.พังงา ได้มีการขุดพบพระเครื่องจำนวนมาก ในบริเวณลานวัดที่ เคยมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ และพบพระสงฆ์พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดปัจจันตคาม หมู่ที่ ๑ ต.ทุ่งคาโงก อ.เมือง จ.พังงา กำลังใช้เหล็กสกัดองค์พระสมัยโบราณออกมาจากฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ จากบริเวนลานวัด ใกล้ๆกันมีรถแบ็คโฮขุดฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่เพื่อจะก่อสร้างอุโบสถ พบพระเครื่องหลากลายรุ่นและชนิดจำนวนร่วม ๑,๐๐๐ องค์ ที่สามารถสกัดขึ้นมาเรียบร้อยแล้วและที่ยังขุดเพิ่มเติมต่อไปอีก สร้างความตื่นเต้นให้แก่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง แห่กันมาดูพระ ในขณะที่ทางพระสงฆ์ และกรรมการวัดพยายามแกะสลัก เพื่อไม่ให้องค์พระที่มีทั้ง เป็นแบบไม้ แบบโลหะ และแบบแก้ว เสียหาย ออกมาให้สมบูรณ์มากที่สุด

เบื้องต้นที่ใต้ฐานที่ ขุดพบ ระบุการก่อสร้างใน พ.ศ.๒๔๗๘ ชาวบ้านสันนิษฐานว่าพระที่ขุดพบอายุไม่ต่ำ กว่า ๑๐๐ปี ที่ผ่านมา และมีการยืนยันว่าทางกรมศิลปากรดูประวัติการ ขึ้นทะเบียนของการก่อสร้างองค์พระพุทธรูปดังกล่าวเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ และมีการบูรณะในปี ๒๔๗๘ ทำให้เป็นที่สนใจของ เซียนพระเป็นจำนวนมาก

นายเสริม การวิจิตร อายุ ๖๕ ปี คณะกรรมการวัดปัจจันตคาม กล่าวว่า ทางวัดมีแนวคิดที่จะก่อสร้างอุโบสถ ที่องค์พระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ บริเวณลานวัดทางคณะกรรมการจึงเห็นร่วมกันว่า ต้องเคลื่อนย้ายไว้ประดิษฐานภายในโรงธรรมของวัด และต้องทุบฐานที่ประดิษฐานองค์พระเดิม ซึ่งตนเองสังเกตเห็นว่าปูนซีเมนต์มีองค์พระเครื่อง และพระพุทธรุปจำนวนหลาย องค์ฝังอยู่จึงตัดสินใจร่วมกับคณะกรรมการวัด และเจ้าอาวาสวัดปัจจันตคาม ให้นำแบ็คโฮมาขุดขึ้นมาดู พบว่าภายในปูนของฐานมีพระเครื่อง และพระพุทธรูป จำนวนหลายองค์จึงช่วยกันแกะสกัดซึ่งยอมรับว่าเสียหายไปหลายองค์ โดยทางวัดพร้อมที่จะเก็บรักษาในวัด หรืออาจจะใส่รวมกับฐานอุโบสถที่จะก่อสร้างใหม่

ส่วนนางอุทัย พัฒนพิชัย วัฒนธรรมจังหวัดพังงา กล่าวว่าหลังจากทราบข่าวก็ได้เดินทางไปดูร่วมกับนายปัญญา พูลศิริ นายช่างศิลปากรที่ ๑๕ จังหวัดภูเก็ต จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยช่างฝีมือ พื้นบ้านในท้องถิ่น ให้ทางวัดเก็บรักษาไว้ก่อน และให้หยุดสกัดจากกรุหินปูน เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายแก่องค์พระได้ โดยจะให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานศิลปากรที่ ๑๕ เข้ามาดำเนินการศึกษา และเก็บรวบรวม

ที่มา : ข้อมูลจาก :: เสรี นาวงศ์ ส.ปชส.พังงา วันที่ :: 24/6/2553

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ