2009-11-15

สังฆาทิเสส

อาบัติสังฆาทิเสสเป็นอาบัติหนักแต่แก้ไขได้โดยสงฆ์ คือ จะปลงอาบัติกับภิกษุ เพียงรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้ ต้องอาศัยสงฆ์ในการประพฤติเพื่อการออกจากอาบัตินั้น เช่น การให้ปริวาส ให้มานัต ต้องอาศัยสงฆ์อย่างน้อย ๔ รูปขึ้นไป แต่ถ้าการอัพภาน คือการเรียกเข้าหมู่เป็นผู้พ้นจากอาบัติหนักและเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องอาศัยพระสงฆ์ ๒๐ รูปขึ้นไป

อนึ่ง ปริวาสและมานัต เป็นชื่อวัตรปฏิบัติของผู้ต้องอาบัติหนัก(สังฆาทิเสส)

ปริวาสแปลว่า อยู่ใช้ คือ เมื่อต้องอาบัติแล้วไม่ยอมบอกให้เพื่อนภิกษุทราบปิดไว้กี่วัน ก็ต้องอยู่ปริวาสเท่านั้น เช่น ปิดไว้ ๑๐ วัน ต้องอยู่ปริวาส ๑๐ วัน ปิดไว้ ๑ ปี ต้องอยู่ปริวาส ๑ ปี ขณะที่อยู่ปริวาสต้องประพฤติวัตรเหมือนคนติดคุก ไม่มีความเป็นอิสระ

มานัต ตามศัพท์แปลว่าการนับราตรี ต้องประพฤติวัตรที่เข้มงวดกว่าการอยู่ปริวาส

สังฆาทิเสส ประกอบด้วย ๑๓ ข้อโดยย่อ ดังนี้

๑. ภิกษุแกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน ต้องสังฆาทิเสส.

๒. ภิกษุมีความกำหนดอยู่ จับต้องกายหญิง ต้องสังฆาทิเสส.

๓. ภิกษุมีความกำหนดอยู่ พูดเกี้ยวหญิง ต้องสังฆาทิเสส.

๔. ภิกษุมีความกำหนัดอยู่ พูดล่อให้หญิงบำเรอตนด้วยกาม ต้องสังฆาทิเสส.

๕. ภิกษุชักสื่อให้ชายหญิงเป็นผัวเมียกัน ต้องสังฆาทิเสส.

๖. ภิกษุสร้างกุฎีที่ต้องก่อและโบกด้วยปูนหรือดิน ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ จำเพาะเป็นที่อยู่ของตน ต้องทำให้ได้ประมาณ โดยยาวเพียง ๑๒ คืบพระสุคต โดยกว้างเพียง ๗ คืบ วัดในร่วมใน และต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก็ดี ทำให้เกินประมาณก็ดี ต้องสังฆาทิเสส.

๗. ถ้าที่อยู่ซึ่งจะสร้างขึ้นนั้น มีทายกเป็นเจ้าของ ทำให้เกินประมาณนั้นได้ แต่ต้องให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ถ้าไม่ให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน ต้องสังฆาทิเสส.

๘. ภิกษุโกรธเคือง แกล้งโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิกไม่มีมูล ต้องสังฆาทิเสส.

๙. ภิกษุโกรธเคือง แกล้งหาเลสโจทภิกษุอื่นด้วยอาบัติปาราชิก ต้องสังฆาทิเสส.

๑๐. ภิกษุพากเพียรเพื่อจะทำลายสงฆ์ให้แตกกัน ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส

๑๑. ภิกษุประพฤติตามภิกษุผู้ทำลายสงฆ์นั้น ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.

๑๒. ภิกษุว่ายากสอนยาก ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.

๑๓. ภิกษุประทุษร้ายตระกูล คือประจบคฤหัสถ์ สงฆ์ไล่เสียจากวัด กลับว่าติเตียนสงฆ์ ภิกษุอื่นห้ามไม่ฟัง สงฆ์สวดกรรมเพื่อจะให้ละข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าไม่ละ ต้องสังฆาทิเสส.

พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ 606

วิเคราะห์สังฆาทิเสส

[๑,๐๓๖] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า สังฆา
ทิเสส ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว
ต่อไป สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาส ชักเข้าหา
อาบัติเดิมให้มานัต อัพภาน เพราะเหตุนั้น
เราจึงเรียกอาบัตินั้นว่า สังฆาทิเสส.

พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ 619

คำอธิบายจากอรรถกถา

[วิเคราะห์สังฆาทิเสส]

ก็ในบทว่า สงฺฆาทิเสโส เป็นอาทินี้ มีเนื้อความดังต่อไปนี้:-
การออกจากอาบัตินั้นใด ของภิกษุผู้ต้องอาบัตินี้แล้วใคร่จะออก สงฆ์
อันภิกษุนั้นพึงปรารถนา ในกรรมเบื้องต้นแห่งการออกจากอาบัตินั้น เพื่อ
ประโยชน์แก่การให้ปริวาส และในกรรมที่เหลือจากกรรมเบื้องต้น คือใน
ท่ามกลาง เพื่อประโยชน์แก่การให้มานัต หรือเพื่อประโยชน์แก่การให้มานัตต์
กับมูลายปฏิกัสสนะ และในที่สุดเพื่อประโยชน์แก่อัพภาน. ก็ในกรรมทั้งหลาย
มีปริวาสกรรมเป็นต้นนี้ กรรมแม้อย่างหนึ่ง เว้นสงฆ์เสีย อันใคร ๆ ไม่อาจ
ทำได้ ฉะนี้แล.

สงฆ์อันภิกษุพึงปรารถนาในกรรมเบื้องต้น และในกรรมที่เหลือแห่ง
กองอาบัตินั้น เหตุนั้น กองอาบัตินั้น ชื่อว่าสังฆาทิเสส.

ที่มา : บ้านธรรมะ / มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (www.dhammahome.com)

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ