ลักษณะพระพุทธรูปปางมารวิชัย (พระพุทธชินราช ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย)
ปางมารวิชัย เป็นชื่อเรียกของพระพุทธรูปลักษณะนั่งขัดสมาธิราบ (เหมือนปางสมาธิหรือปางตรัสรู้)หรือ ขัดสมาธิเพชร เหมือนปางขัดสมาธิเพชร แต่พระหัตถ์เบื้องขวาคว่ำที่พระเพลา ปลายนิ้วพระหัตถ์ชี้ลงแผ่นดิน หมายถึงเรื่องพระพุทธประวัติเมื่อทรงอ้างพระธรณีเป็นพยานแก่พระยามาร เครื่องประกอบมักทำเป็นรูปยักษ์มาร และนางแม่พระธรณีบีบมวยผม
ความเป็นมาของปางมารวิชัย
พระบรมโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าก่อนบรรลุธรรม)ได้เสด็จไปประทับใต้ต้นมหาโพธิ์ในเวลาเย็น และนั่งสมาธิกำหนดจิตเจริญสมาธิภาวนา เพื่อการบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ แต่จิตของพระองค์ แทนที่จะคิดไปในทาง โลกุตตรธรรม กลับหันไปคิดถึง โลกิยสุข แต่เมื่อครั้งอยู่ครองเรือน ในหนหลัง และผู้แต่งปฐมสมโพธิกถา ได้แสดงการผจญในโลกิยสุขของพระบรมโพธิสัตว์โดยใช้การผจญของมารเป็นสัญญลักษณ์ ดังนี้ว่าเป็น พระยาวัสสวดีมารซึ่ง คอยติดตามพระองค์อยู่ จึงเข้าขัดขวาง โดยขี่ช้างคิรีเมขละ นำเหล่าเสนามารจำนวนมากเข้ามารบกวน หวังให้พระองค์เกรงกลัวจะได้ลุกขึ้นเสด็จหนีไป แต่พระองค์ก็ยังประทับนิ่งเป็นปกติโดยมิได้ทรงหวั่นไหว พระยามารจึงโกรธมาก สั่งให้เสนามารกลุ้มรุมกันประหารพระองค์ พระองค์จึงทรงนึกถึงบารมี 30 ทัศ ที่ทรงบำเพ็ญสั่งสมมาทุกชาติ โดยขอให้นางแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีจึงผุดขึ้นมาจากพื้นดิน แล้วบิดมวยผมจนน้ำท่วม กระแสน้ำก็พัดพาพวกเสนามารไปหมดสิ้น พระยาวัสสวดีมารจึงยอมแพ้หนีไป
ความเชื่อและคตินิยม
* เป็นพระพุทธรูปประจำเดือนหก
* พระปางนี้นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ เป็นคติที่พระองค์ทรงพิชิตพระยามาร
* บ้างเรียกว่าปางผจญมาร, ปางมารสะดุ้ง (ภายหลังผิดเพี้ยนเป็นปางสะดุ้งมาร)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
No comments:
Post a Comment