ปัจจุบันในประเทศไทย มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทำบุญด้วยการถวายสังฆทานมาก โดยส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าสิ่งของที่จะนำมาถวายสังฆทานนั้นต้องซื้อเป็นชุด ไทยธรรมถังสีเหลืองสำเร็จรูปที่บรรจุสิ่งของจากร้านสังฆภัณฑ์ หรือจะต้องนำสิ่งของที่ตนตั้งใจถวายใส่บรรจุภัณฑ์หรือภาชนะที่มีสีเหลือง แล้วนำสิ่งเหล่านั้นไปถวายพระสงฆ์แล้วจะเป็นสังฆทานที่ถูกต้อง
ปรากฏการณ์ถังสีเหลือง
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการถวายสังฆทานในปัจจุบัน มีผู้กล่าวว่าเกิดจากปรากฏการณ์ "ถังสีเหลือง" โดยกล่าวว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวมีที่มาจากการที่ร้านค้าสังฆภัณฑ์จัดสินค้า เป็นถังไทยธรรมที่บรรจุสิ่งของเครื่องใช้นำมาวางจำหน่ายโดยมีการใช้บรรจุ ภัณฑ์สีเหลืองเพื่อให้เป็นที่ติดตาของผู้ซื้อ และบางร้านมีการติดสัญลักษณ์ร้านค้าบนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจใน คุณภาพของถังสีเหลืองให้แก่ผู้ซื้ออีกด้วย โดยเรียกถังสีเหลืองดังกล่าวว่าเป็น "ถังสังฆทาน" และปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนนิยมซื้อสินค้าดังกล่าวนำไปถวายพระสงฆ์ เพราะมีความสะดวกที่ไม่ต้องไปจัดหาสิ่งของด้วยตนเอง และความสวยงามของการจัดรูปแบบสิ่งของในตัวบรรจุภัณฑ์
และเนื่องจากการที่ถังสีเหลืองดังกล่าวมีผู้นิยมซื้อเพื่อนำไปถวายพระ สงฆ์ จึงทำให้สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าสำคัญของร้านค้าต่าง ๆ ห้างดิสเคาท์สโตร์ หรือแม้ในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ จนในระยะหลังเริ่มมีร้านค้าบางร้านเอาเปรียบผู้ซื้อโดยจัดสิ่งของในถังสี เหลืองที่ไม่ได้คุณภาพหรือน้อยกว่าความเป็นจริง เช่น การทำให้สิ่งของดูมีจำนวนมากโดยใส่ขวดน้ำหรือกระดาษลังในก้นถังเพื่อถ่วง น้ำหนัก และปรากฏว่ามีการกระทำเช่นนี้มานานแล้วนับสิบปีโดยไม่มีผู้ออกมาร้องเรียน (เนื่องจากสินค้าถังสีเหลืองส่วนใหญ่จะนำไปถวายพระสงฆ์ โดยที่ผู้ซื้อไม่เคยแกะถังสีเหลืองเพื่อตรวจสอบ)
จนในช่วงปี 2548 เริ่มมีรายการโทรทัศน์ออกข่าวเปิดโปงการเอาเปรียบดังกล่าวและมีสื่อมวลชนและ องค์กรต่าง ๆ เสนอข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นระยะ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก เพื่อควบคุมชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมที่ขายตามรานค้าและร้านสังฆภัณฑ์ต่าง ๆ ให้มีคุณภาพต่อไป แต่ก็ยังคงมีผู้ค้าบางรายแอบนำสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาใส่ในถังเหลืองเพื่อ จำหน่ายอยู่บ้าง
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสังฆทานในปัจจุบัน
ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ "ถังสีเหลือง" เป็นสิ่งของแรก ๆ ที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่คิดถึง เมื่อจะไปทำบุญถวายจตุปัจจัยตามวัดต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า "การทำบุญด้วยถังสีเหลือง" เป็นสิ่งคู่กันอย่างแยกไม่ออก และมักเรียกรวมกันว่า การถวายถังสังฆทาน ซึ่งยังคงก่อปัญหาความลำบากใจให้แก่พระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ อยู่จนถึงปัจจุบัน เพราะยังคงมีร้านค้าบางร้านใช้สินค้าราคาถูกหรือไม่ได้คุณภาพบรรจุลงในถัง เหลืองออกจำหน่ายอยู่ ดังนั้นการทำบุญให้เป็นสังฆทานที่มีคุณภาพโดยแท้จริงควรซื้อหาสินค้าที่จะนำ ไปถวายโดยพิจารณาจากความต้องการและประโยชน์ของพระสงฆ์ มากกว่าประโยชน์คือความสะดวกของผู้ถวาย ดังที่มีผู้แนะนำการถวายสังฆทานว่าควรประกอบไปด้วย
1. ปุพพเจตนา หรือ มีความตั้งใจในการทำบุญโดยการเลือกซื้อสิ่งของที่เป็นประโยชน์แท้จริงแก่พระสงฆ์ เช่นของมีคุณภาพ หรือสิ่งของที่พระสงฆ์ต้องการ
2. มุญฺจเจตนา คืออาการที่ถวายเป็นสังฆทานถูกต้อง เช่น ถวายเข้ากองกลางของวัด หรือถวายแก่ตัวแทนของพระสงฆ์เพื่อนำสิ่งของไปแจกจ่าย หรือเผดียงสงฆ์ไม่เลือกระบุตัวพระสงฆ์ผู้รับ โดยการถวายดังกล่าวควรทำเจตนาในการถวายให้มุ่งตรงต่อหมู่สงฆ์ ไม่ใช่ถวายแก่บุคคล
3. อปราปรเจตนา เมื่อถวายแล้วก็ทำจิตใจให้เป็นบุญ นึกถึงการถวายสังฆทานดังกล่าวเมื่อใดก็มีความยินดีไม่เกิดความเสียดาย
สังฆทาน "เวียนเทียน"
นอกจากปัญหาเรื่องสังฆทานถังเหลืองที่มีแต่ของหมดอายุแล้ว เรื่องของ "บริขาร" ที่ถวายมากับสังฆทานนั้นเริ่มจะล้นวัด เพราะความที่ฆราวาสนิยมถวายสังฆทานกันเป็นจำนวนมากนั่นเอง
จึงเกิดปรากฏการณ์ถังสีเหลืองที่ใช้บรรจุเครื่องบริขารต่าง ๆ วางอยู่เต็มวัดจนพระนำไปใช้ไม่ทัน รวมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคกองเรียงรายจนบางวัดเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตเข้าไปทุกที
มีบางวัดหรือพระบางองค์ที่รับสังฆทานอยู่เป็นประจำจนของล้นวัด ก็จะนำไปมอบให้กับวัดที่กันดารต่างจังหวัดเพื่อเป็นการทำบุญตามความประสงค์ของฆราวาส รวมทั้งระบายของไปด้วย
ขณะที่บางวัดจะใช้วิธีทำ "สังฆทานเวียนเทียน" คือการนำถังสังฆทานที่ฆราวาสถวายแล้วมาให้ญาติโยมนำมาถวายต่อ วัดประเภทนี้จะมีการจัดทำบุญถวายสังฆทานโดยเฉพาะ และจัดคิวถวายเป็นรอบ ๆ ไป ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ผู้ทำบุญว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่
พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า "จะต้องไปดูก่อนว่าวัดนั้นทำอะไรอยู่บ้าง เช่นบางวัดกำลังสร้างโบสถ์ มีโรงเรียนสอนศาสนา หรือมีกิจกรรมอื่น ๆ ของวัด ซึ่งเงินที่ญาติโยมบริจาคซื้อสังฆทานเวียนเทียนนี้จะนำไปใช้ในกิจกรรมเหล่านี้ ก็ดีกว่าซื้อสังฆทานมาถวายแล้วพระใช้ไม่ทันก็จะเหลือเต็มวัดอีก"
ขณะที่พระนิวาสน์ ภทฺทจารี วัดงาแมง จ.เชียงใหม่ เคยแสดงความคิดเห็นว่า "อาตมาภาพเห็นว่าการถวายทานแบบนี้มีทั้งดีและไม่ดี ส่วนที่ว่าดีนั้น เพื่อนำเงินที่ได้มาไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในด้านต่างๆ หรือไปใช้ประโยชน์แก่ส่วนรวมตามความเหมาะสม ญาติโยมจะได้บูชาสังฆทานที่ราคาถูก ส่วนที่ไม่ดี คือ อาจจะเป็นช่องว่างให้พวกที่เห็นแก่ได้ปลอมเข้ามาบวช เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เช่น กักตุนสังฆทานแล้วนำไปขายให้ร้านค้า นำเงินมาใช้ประโยชน์สำหรับตนเอง"
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
No comments:
Post a Comment