พระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์
อัตโนประวัติ
“พระอริยเวที” หรือ “หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล” เป็นพระเถราจารย์ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เป็นที่น่าเคารพสักการบูชาของบรรดาศิษยานุศิษย์ฯ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า รวมทั้ง เป็นเพื่อนสหธรรมิกกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) และพระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ตั้งแต่ครั้งสมัยที่ท่านทั้งสามยังมีอายุพรรษาไม่มากนัก
หลวงปู่เขียน มีนามเดิมว่า เขียน ภูสาหัส เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ.2456 ตรงกับวันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12 ปีฉลู ณ บ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายสังข์ และนางค้อม ภูสาหัส
การบรรพชาและอุปสมบท
เมื่ออายุครบ 15 ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2470 ณ วัดบ้านโพน ต.โพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์
ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2477 ณ พัทธสีมาวัดสุทธจินดา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
พ.ศ.2485 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในสังกัดสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
งานด้านการศึกษาสงฆ์
พ.ศ.2478–2481 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดสุทธจินดา และวัดศาลาทอง อ.เมือง จ.นครราชสีมา
พ.ศ.2482 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร และสำนักเรียนวัดพระศรีมหาธาตุ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.2485 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสังฆสภา
พ.ศ.2489 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2490 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา จ.นครราชสีมา
พ.ศ.2494 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา
ลำดับสมณศักดิ์
พ.ศ.2490 ได้รับพระราชทางแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระอริยเวที”
ปฏิปทา
ปี พ.ศ.2487 หลวงปู่เขียนได้เข้ากราบฟังธรรม ปฏิบัติธรรม และถวายตัวเป็นศิษย์ในสำนักของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลังจากที่จบเปรียญธรรม 9 ประโยคใหม่ๆ โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) นำไปฝาก ทั้งนี้ เพื่อประสงค์ให้ท่านได้เป็นศาสนทายาทที่มีความหนักแน่นมั่นคง ทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พระภิกษุสามเณรในภายภาคหน้า เมื่อได้ฟังธรรม และรับคำแนะนำในการปฏิบัติเป็นอย่างดีแล้ว จึงได้ออกเดินธุดงค์กัมมัฏฐานไปตามป่าเขาลำเนาไพรในจังหวัดต่างๆ จนออกไปถึงประเทศลาว และแวะเวียนมา กราบฟังธรรมเป็นระยะๆ
ด้วยผลานิสงส์แห่งการปฏิบัติธรรมจากสำนักของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ทางด้านวิปัสสนาธุระของประเทศไทย หลวงปู่เขียนได้กล่าวปฏิญาณตนอย่างเด็ดเดี่ยวต่อหน้าพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ว่า
“ขอมอบกายถวายชีวิตทั้งหมดนี้ให้แก่พระพุทธศาสนา สาสเน อุรํ ทตฺวา ขอให้ท่านอาจารย์โปรดเป็นสักขีพยานด้วยเถิด”
การมรณภาพ
ต่อมา หลวงปู่เขียน ได้ลาออกจากหน้าที่บริหางานคณะสงฆ์ คือตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา และตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา แล้วออกธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างจริงจังอยู่ในป่าในถ้ำ จนเป็นที่พอแก่กาลแล้ว จึงกลับมาสู่มาตุภูมิและสร้างวัดรังสีปาลิวันในปัจจุบัน เพื่อนำพระภิกษุสามเณร ประชาชนศึกษาธรรมและประพฤติธรรมจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ท่านได้เริ่มเจ็บป่วยเป็นอัมพาต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 จนกระทั่งละสังขารมรณภาพ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 สิริรวมอายุ 90 พรรษา 68
ทั้งนี้ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) ได้มีเมตตานุเคราะห์เป็นอเนกประการ นับแต่เป็นประธานสรงน้ำศพ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546, เป็นประธานจัดงานจัดงานประชุมเพลิงศพ แสดงพระธรรมเทศนา และรับผ้าป่าช่วยชาติ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2546 และเป็นประธานวางศิลาฤกษ์เจดีย์พิพิธภัณฑ์ฯ แสดงพระธรรมเทศนา และรับผ้าป่าช่วยชาติ ในงานวันทำบุญครบ 1 ปี แห่งการมรณภาพ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2547
ที่มา : amulet.in.th
No comments:
Post a Comment