2009-02-03

วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๓

วัดราชโอรสาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง ชั้นเอก วัดประจำรัชกาลที่ ๓



วัดราชโอรสาราม หรือ วัดราชโอรส ตั้งอยู่ริมคลองสนามไชย ฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) และติดคลองบางหว้า ทางด้านทิศเหนือของวัด ตั้งอยู่เลขที่ ๒๕๘ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร

วัดราชโอรสเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๓ แห่งบรมราชวงศ์จักรี เป็นวัดโบราณมีมาก่อนสร้างกรุงสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ คือ เป็นวัดราษฎร์ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมเรียกว่า "วัดจอมทอง" บ้าง "วัดเจ้าทอง" บ้าง หรือ "วัดกองทอง" บ้าง

ในสมัยราชกาลที่ ๓ พ.ศ. ๒๓๖๓ มีข่าวว่าพม่าตระเตรียมกำลังจะยกเข้ามาตีประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓) ทรงเป็นแม่ทัพคุมพลไปขัดตาทัพพม่าทางเจดีย์ ๓ องค์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เสด็จประทับแรมที่หน้าวัดจอมทองนี้ และทรงทำพิธีเบิกโขลนทวาร ตามลักษณะพิชัยสงคราม ทรงอธิษฐานให้ประสบความสำเร็จกลับมาโดยสวัสดิภาพ แต่พม่าไม่ได้ยกทัพมาตามที่เล่าลือกันและเมื่อพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงเลิกทัพเสด็จกลับพระนครแล้ว จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดจอมทองใหม่ทั้งวัด และถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดราชโอรส"

ถึงแม้ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสถาปนาวัดนี้ ในขณะที่ทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอก็ตาม แต่เนื่องจากทรงสถาปนาเป็นการส่วนพระองค์ จึงทรงพระราชดำริเปลี่ยนแปลงแบบอย่างศิลปกรรมตามความพระราชหฤทัย

ดังนั้น วัดราชโอรสจึงตกแต่งด้วยศิลปะจีนเป็นส่วนมาก นับเป็นวัดแรกที่เป็นวัดที่คิดสร้างออกนอกแบบอย่างวัด ซึ่งสร้างกันอย่างสามัญ ศิลปกรรมไทยที่มีอยู่ในวัดนี้ พระองค์ทรงสร้างได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนงดงามยิ่งนัก อย่างหาที่ติมิได้ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่หลังคาโบสถ์เป็นกระเบื้องเคลือบแบบไทย กุฏิพระสงฆ์เป็นอาคารตึกแทนเรือนไม้แบบของเดิมการประดับตกแต่งต่างๆ เป็นแบบจีนผสมไทย เช่น บานประตูหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ประดับด้วยเสี้ยวกางแทนลายเทพนม หรือลายไทยแบบของเดิม หน้าบันพระอุโบสถ และพระวิหารประดับพระเบื้องเคลือบสี จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการประยุกต์ศิลปกรรมได้อย่างประณีต เหมาะสม เป็นสัญลักษณ์แห่งศาสนสถานได้อย่างสง่า และงดงาม



ที่มา : dhammathai.org

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ