2009-02-04

วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๖

ตามพระราชประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบกันมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใดเสด็จสวรรคต ก็จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรังคารไปประดิษฐานไว้ที่วัดใดวัดหนึ่ง อันทรงสร้างหรือทรงเกี่ยวข้อง และถือเป็นวัดประจำรัชกาล

อย่างใดก็ตามในทางนิตินัย วัดประจำรัชกาลได้สิ้นสุดลง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โดยได้มีพระราชดำริว่า พระอารามหลวงในกรุงเทพฯ มีเป็นจำนวนมากแล้ว และการสร้างวัดนั้นก็เพื่อประโยชน์ในทางศึกษาของเยาวชนด้วย เพราะการศึกษาของไทยแต่โบราณกาลมาก็เริ่มที่วัด ดังนั้น จึงทรงสถาปนา โรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือในปัจจุบันคือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ขึ้นเพื่อแทนการสร้างวัดประจำรัชกาล และให้ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลของพระองค์

การกำหนดว่าวัดใดเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ และรัชกาลที่ ๘ เพื่ออาราธนาเจ้าอาวาสวัดนั้น มาในงาน พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ จึงเป็นการกำหนดโดยทางพฤตินัยเท่านั้น



สำหรับประวัติของวัดบวรนิเวศวิหาร วัดประจำรัชกาลที่ ๖ นั้นวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ฝ่ายธรรมยุต ตั้งอยู่ต้นถนนตะนาวและถนนเฟื่องนคร เขตพระนคร กรุงเทพฯแต่เดิมวัดแห่งนี้ ชื่อว่า “วัดใหม่” ตั้งอยู่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาสโดย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงสร้างขึ้นใหม่ด้วยศิลปะไทยผสมจีน โดยทรงผูกพัทธสีมาเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๗๒ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยุบวัดรังษีสุทธาวาสมารวมกับวัดบวรนิเวศวิหาร




วัดบวรนิเวศวิหารได้รับการทะนุบำรุงและสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ขึ้น จนเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง โดยเฉพาะในสมัยปลายรัชกาลที่ ๓
ครั้นเมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสของวัดว่างเว้นลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงอาราธนา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฏ สมมุติเทวาวงศ์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔) ที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุและจำพรรษาอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ให้เสด็จมาครองและทรงเป็นเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕ แล้วจึงพระราชทานนามวัดแห่งนี้ใหม่ว่า “วัดบวรนิเวศวิหาร” ซึ่งอาจเป็นการแสดงนัยว่าพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏฯ นั้น ทรงเทียบได้ว่าอยู่ในพระสถานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่มีสิทธิ์ที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติสืบราชสันตติวงศ์ต่อไป ทำให้วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ และเสริมสร้างสิ่งต่างๆ
ขึ้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นพระราชาคณะ ในระหว่างที่เสด็จประทับที่วัดแห่งนี้อยู่นั้น ได้ทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้น โดยทรงปรับปรุงและ วางหลักเกณฑ์วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย มีพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นจำนวนมาก วัดบวรนิเวศวิหารจึงเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีคณะสงฆ์เป็นธรรมยุติกนิกาย



อีกทั้งได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นหลายอย่าง พร้อมทั้งได้รับพระราชทานพระตำหนักจากรัชกาลที่ ๓ ด้วย

ในสมัยต่อมาวัดแห่งนี้เป็นวัดที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เมื่อทรงผนวชหลายพระองค์ เช่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน จึงทำให้วัดนี้ได้รับการทะนุบำรุงให้คงสภาพดีอยู่เสมอ

วัดบวรนิเวศวิหาร หรือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ได้ทรงมีพระดำริโปรดให้สร้างขึ้น เป็นที่ประทับของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกและเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
www.watbowon.org
www.watbowon.com

บางคนก็แย้งว่า วัดประจำรัชกาลที่ 6 ควรจะเป็นวัดพระปฐมเจดีย์ เพราะ พระบรมอัฐิส่วนหนึ่งของพระองค์ท่านบรรจุอยู่ที่นั่น โดยในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวงของวัดพระปฐมเจดีย์ มีการเขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ผนัง และได้รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐาน “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร” พระ พุทธรูปที่ขุดพบในเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าในพระราชพินัยกรรม ให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ไว้ใต้ ฐานพระนี้ด้วย (manager.co.th)


ที่มา : dhammajak.net

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ