2009-02-20

กองกรรมฐาน ๔๐

กองกรรมฐาน ๔๐ อย่าง

การฝึกกรรมฐานนั้น ควรพิจารณาในเบื้องต้นว่าตัวเราเองถูกจริตกับกรรมฐานของไหนมากที่สุด ก็ให้ใช้สิ่งนั้นเป็นตัวกำหนดเพิจารณา หรือถ้าอยากจะลองหลายๆ อย่างก็ได้ เพื่อดูว่าสิ่งใดเหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด ที่ว่าเหมาะสมก็คือ การที่เราเพิ่งพิจารณาแล้ว ทำให้เรามีใจที่สงบ เห็นสภาพตามความเป็นจริงในสิ่งที่นำมาพิจารณานั้นโดยเนื้อแท้ แต่ถ้าจะให้ดีควรจะลองให้มากกว่า ๑ อย่างขึ้นไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ทั้งหมดนี้ก็คืออุบายในการโน้มใจเราให้เข้าถึงธรรมชาติ เกิดความเบื่อหน่ายในสภาพร่างกายที่เป็นอยู่ และเห็นธรรม เกิดปัญญารู้แจ้ง เห็นตามความเป็นจริงตามสภาพของวัตถุธาตุและกระบวนการของขันธ์ ๕ นั่นเอง รวมแล้วมี ๔๐ อย่างดังนี้

๑. วัตถุที่ใช้เพ่งรวมจิตให้สงบนิ่ง (กสิณ ๑๐)
๒. สิ่งที่ไม่สวยงาม ของเน่าเสีย (อสุภะ ๑๐)
๓. ใช้การระลึกถึง (อนุสติ ๑๐)
๔. ธรรมที่ใช้สำหรับดำเนินชีวิตอันประเสริฐ (อัปปมัญญา ๔)
๕. อาหารที่ต้องเน่าเสีย (อาหาเร ปฏิกูลสัญญา)
๖. ใช้การพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ในกาย (จตุธาตุววัฏฐาน)
๗. ใช้สิ่งที่ไม่มีรูป จับต้องไม่ได้เป็นอารมณ์ (อรูป ๔)

#. วัตถุที่ใช้สำหรับเพ่งเพื่อโน้มน้าวรวมจิตให้เกิดสมาธิได้มี ๑๐ อย่าง (กสิณ ๑๐) ได้แก่
๑.ดิน (ปฐวีกสิณ) ๖.สีเหลือง (ปีตกกสิณ)
๒.น้ำ (อาโปกสิณ) ๗.สีแดง (โลหิตกสิณ)
๓.ไฟ (เตโชกสิณ) ๘.สีขาว (โอทาตกสิณ)
๔.ลม (วาโยกสิณ) ๙.แสงสว่าง (อาโลกกสิณ)
๕.สีเขียว (นีลกสิณ) ๑๐.ที่ว่างเปล่า (อากาสกสิณ)

#. สิ่งที่ไม่สวยงามสามารถนำมาใช้เป็นอารมณ์ในการทำกรรมฐานได้ ๑๐ อย่าง (อสุภ ๑๐) มีดังนี้คือ
๑.ซากศพที่เน่าพอง (อุทธุมาตกะ) ๖.ซากศพที่หลุดออกเป็นส่วนๆ (วิกขิตตกะ)
๒.ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำคละสีต่างๆ (วินีลกะ) ๗.ซากศพที่ถูกสับเป็นท่อนๆ (หตวิกขิตตกะ)
๓.ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มปริออกมา (วิปุพพกะ) ๘.ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบอยู่ (โลหิตกะ)
๔.ซากศพที่ขาดจากกันเป็น ๒ ท่อน (วิจฉิททกะ) ๙.ซากศพที่เต็มไปด้วยหนอน (ปุฬุวกะ)
๕.ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว (วิกขายิตกะ) ๑๐.ซากศพที่เหลือแต่กระดูก (อัฏฐิกะ)

#. ใช้การระลึกถึงเป็นอารมณ์ในการทำกรรมฐาน (อนุสติ ๑๐) มี๑๐ อย่างดังนี้
๑.ระสึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า (พุทธานุสติ) ๖.นึกถึงพระคุณของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย (เทวดานุสติ)
๒.ระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอน (ธัมมานุสติ) ๗.ใช้ความตายเป็นอารมณ์ (มรณสติ)
๓.ระลึกถึงพระสงฆ์ (สังฆานุสติ) ๘.พิจารณาส่วนประกอบในร่างกายเรา (กายคตาสติ)
๔.ระลึกถึงศีลที่เราปฏิบัติ (สีลานุสติ) ๙.ใช้จิตกำหนดที่ลมหายใจ (อานาปานสติ)
๕.นึกถึงการบริจาคทานที่เราเคยทำ (จาคานุสติ) ๑๐.ระลึกถึงคุณของพระธรรม(อุปสมานุสติ)

#. ระลึกถึงธรรมที่ประเสริฐที่ใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ หรือที่เรียกกันว่าพรหมวิหาร ๔ นั่นเอง (เรียกอีกอย่างว่า อัปปมัญญา)
๑.เมตตา คือความปรารถนาที่อยากให้ผู้อื่นมีความสุข
๒.กรุณา คือความคิดรู้สึกสงสารอยากให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์
๓.มุทิตา คือความรู้สึกยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นมีสุข
๔.อุเบกขา คือการวางเฉย เป็นกลางในความประพฤติและความคิด

#. ใช้อาหารเป็นอารมณ์ในการพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลง เน่าเสีย บูดและกินไม่ได้ (อาหาเร ปฏิกูลสัญญา)

#. พิจารณาธาตุทั้ง ๔ ในร่างกาย (จตุธาตุววัฏฐาน)
๑.ธาตุที่กินพื้นที่นั่นก็คือธาตุดิน (ปฐวีธาตุ)
๒.ธาตุที่เป็นของเหลวนั่นก็คือธาตุน้ำ (อาโปธาตุ)
๓.ธาตุที่มีความร้อนนั่นก็คือธาตุไฟ (เตโชธาตุ)
๔.ธาตุที่ทำให้สั่นไหวนั่นก็คือธาตุลม (วาโยธาตุ)


#. ใช้สิ่งที่ไม่มีรูปคือจับต้องไม่ได้เป็นอารมณ์มี ๔ อย่าง (อรูป ๔) ได้แก่
๑.ภาวะของฌาณที่ใช้ช่องว่าง หรือความว่างเปล่าอันหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์ (อากาสานัญจายตนะ)
๒.ภาวะของฌาณที่ใช้ความหาที่สุดไม่ได้ของวิญญาณเป็นอารมณ์ (วิญญาณัญจายตนะ)
๓.ภาวะของฌาณที่ใช้ภาวะที่ไม่มีอะไรกำหนดเป็นอารมณ์ (อากิญจัญญายตนะ)
๔.ภาวะของฌาณที่ว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ (เนวสัญญานาสัญญายตนะ)

ที่มา : ศาลาธรรม

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ