2009-01-19
ประวัติหลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ
พระอุดมประชานาถ (หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ) วัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
องค์หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นชาวนครชัยศรี จ.นครปฐม โดยกำเนิด บิดาท่านมีนามว่า “นายฟัก” มารดามีนามว่า”นางยวง” อยู่ในตระกูล “พู่ระหง” ครอบครัวขององค์หลวงพ่อเปิ่นมีอาชีพทำนาอันเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านในแถบนั้น
องค์หลวงพ่อเปิ่น ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๔๖๖ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้นหนึ่งค่ำ (๑) เดือนเก้า (๙) ครั้งนั้นในแถบถิ่นเมืองนครชัยศรี ได้มีทารกน้อยมาจุติ ซึ่งมากล้นด้วยบุญญาธิการ ด้วยลักษณะที่ผิวพรรณผ่องใส ผิดไปจากพี่น้องซึ่งอยู่ด้วยกันทั้งหมดเวลานั้น คือมีพี่ทั้งหญิงและชาย ๘ คน หลวงพ่อเป็นคนที่เก้า และต่อมาองค์หลวงพ่อจึงมีน้องที่เป็นหญิงเพิ่มมาอีกหนึ่งคน
วัยเด็ก ชีวิตปฐมวัยขององค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น นับว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอย่างเป็นที่สุด ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าในสมัยนั้นแถบถิ่นลุมน้ำนครชัยศรีอุดมไปด้วยวิชาอาคม อาจเนื่องด้วยไกลปืนเที่ยง ในตอนนั้นการเรียนรู้วิชาอาคมเอาไว้เพื่อป้องกันตัวจึงถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ชายทุกคนจักพึงมี หลวงพ่อเปิ่น องค์ท่านสนใจในเรื่องไสยศาสตร์มาตั้งแต่สมัยเด็ก อาศัยว่าครอบครัวของท่านอยู่ใกล้กับวัดบางพระ ซึ่งในสมัยนั้นมีองค์พระคุณเจ้าที่จำพรรษา (รวมทั้งพี่ชายหลวงพ่อด้วย) ณ วัดบางพระ เก่งกาจในสายไสยศาสตร์มากหลายองค์ เด็กชายเปิ่นจึงเข้าออกเพราะความอยากรู้ อยากใฝ่หาในวิชาอยู่กับวัดบางพระเป็นประจำ
ครั้นต่อมาครอบครัวย้ายไปตั้งรกรากทำมาหากินที่จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง ที่สุพรรณบุรีนี่เองที่เด็กชายเปิ่นได้ฉายแววเป็นนักเลงจริง เป็นคนจริงให้เห็น เพราะการอยู่ในดงนักเลงที่เป็นคนจริง จะต้องเป็นคนจริงไปด้วยโดยปริยาย เมื่อถึงจุดนี้ผู้ชายไทยใจนักเลงทุกคนจึงต้องหาอาจารย์ศึกษาทางด้านไสยเวทย์ เพื่อเอาไว้ป้องกันตัวเองบ้าง เป็นการเสริมสร้างบารมีให้แก่ตนเอง เด็กชายเปิ่นจึงต้องขวนขวายหาครูบาอาจารย์ผู้เรืองเวทวิชาอาคม ศึกษาหาวิชามาไว้ป้องกันตัวเองได้เวทมนตร์คาถาเอามาท่องจำ เป็นอย่างนี้อยู่ตลอด
จนกระทั่งได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ขององค์ท่านหลวงพ่อแดงแห่งวัดทุ่งคอก อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ศิษย์เอกของท่านหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน องค์พระคุณเจ้าที่เก่งพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะเก่งกล้าเป็นอย่างมากทางด้านกัมมัฎฐานและไสยเวทย์ นี่เองคือจุดเริ่มความเก่งกาจของ เด็กชายเปิ่นจนถึงนายเปิ่นในกาลเวลาต่อมา
หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก องค์เสมือนจะทราบว่าเด็กชายเปิ่นคนนี้มีแววแห่งผู้ขมังเวทอย่างแน่นอน อีกทั้งจิตใจ อันใสบริสุทธิ์สะอาด ผนวกกับเป็นคนจริงท่านจึงได้ถ่ายทอดในสายวิชาของท่านพร้อมวิชา ไสยเวทย์ต่าง ๆ ให้กับเด็กชายเปิ่น
ด้วยความจำ ด้วยความที่ตนใฝ่หาทางนี้โดยตรง ความรู้ที่พระอาจารย์หลวงพ่อแดงมอบให้จึงตกอยู่ที่เด็กชายเปิ่นอย่างมากมาย ที่สำคัญในช่วงนั้นนั่นเองที่เด็กชายเปิ่นเจริญเติบโตเป็นนายเปิ่นได้มีความอยากรู้ อยากเรียน อยากทราบในสายพระเวทย์เหมือนองค์หลวงพ่อเปิ่น จึงเป็นที่ถูกคอกันยิ่งนัก ซึ่งต่อมาเพื่อนคนนี้ได้อุปสมบทเหมือนกัน มีนามว่าหลวงพ่อจำปา (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เจ้าอาวาสวัดประดู่ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพ ฯ ซึ่งมีลูกศิษย์ ลูกหามากมาย
หลวงพ่อเปิ่นศึกษาวิชากับหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอกอยู่จนถึงเวลาที่ครอบครัวย้ายถิ่นฐานกลับสู่บางแก้วฟ้า จังหวัดนครปฐม อีกครั้ง ซึ่งตรงกับอายุครบเกณฑ์ทหารพอดี ในสมัยนั้นการเกณฑ์ทหารแบ่งเป็น 2 อย่าง คือ ทหารประจำการ กับ ทหารโยธา
สมัยนี้นี่เองที่นายเปิ่นได้รับการถ่ายทอด วิชาสักยันต์ อันเกรียงไกร โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระ แน่นอนที่สุดนี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิตขององค์หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เพราะวิชาที่ได้รับการถ่ายทอดมาล้วนเป็นวิชาที่สุดยอดทั้งสิ้น หากมองย้อนกันกลับไป พระอธิการหิ่ม อินฺทโชโต เจ้าอาวาสวัดบางพระในเวลานั้น หากเทียบกันในเรื่องไสยเวทย์คาถา จัดได้ว่าเป็นหนึ่งเป็นจิตจริงอันแน่วแน่ เพียงแต่องค์ท่านไม่ออกสู่สนามลองพระเวทย์สักเท่าใด อีกทั้งเรื่องยาสมุนไพรรักษาโรคก็นับว่าเป็นหนึ่งเหมือนกัน
ถือว่าเป็นวิชาพระคาถาอาคมที่ได้รับการสืบทอดความลึกลับกันมาตั้งแต่โบราณกาล ขณะนั้นนายเปิ่นได้เข้ารับใช้หลวงพ่อหิ่ม เพื่อความอยากเรียนในด้านไสยเวทย์จากองค์ท่านหลวงพ่อหิ่มนั่นเอง ซึ่งก็ได้รับความเมตตาเป็นอย่างดีจากท่านหลวงพ่อหิ่ม สายวิชาพระเวทย์ลึกลับตั้งแต่โบราณกาลจากองค์หลวงพ่อหิ่ม จึงถูกถ่ายทอดให้กับนายเปิ่นทั้งหมด
เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นเพราะในช่วงที่หนุ่มแน่น นายเปิ่นเข้าออกวัดบางพระเกือบทุกเวลาจึงใกล้ชิดกับวัดอย่างดีที่สุด จนเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ซึ่งนายเปิ่นคิดไปว่า ต้องบวชเรียนเพื่อศึกษาในสายวิชาอย่างจริงจัง เมื่อมาถึงในขั้นตอนที่ต้องใช้จิตใจในส่วนของความสงบ นึกดังนั้นจึงขออนุญาตพ่อแม่ว่าอยากบวชเรียน ซึ่งทั้งสองคนต่างดีใจเป็นอย่างมาก ยินดีให้นายเปิ่นเข้าสู่บวรพุทธศาสนา
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ นายเปิ่นเข้าบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดบางพระ ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยมี พระอธิการหิ่ม อินฺทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อยู่ ปทุมรัตน์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เปลี่ยน จิตฺตธมฺโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ หลวงพ่อเปิ่น จึงเริ่มศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัย สิกขาบท ตามภาระหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ ที่สำคัญคือการศึกษาเล่าเรียนทางด้านวิชาอาคม จากตำรับตำราโบราณที่พระอาจารย์หลวงปู่หิ่ม สอนให้อย่างตั้งอกตั้งใจ นอกจากท่องบ่นพระเวทย์มนตร์คาถาอาคมแล้ว หลวงพ่อเปิ่นยังได้รับการถ่ายทอดในสายอักขระโบราณเป็นรูปแบบของยันต์ต่าง ๆ การลงอาคมตามทางเดินของสายพระเวทย์จนเป็นที่ชำนาญ กล่าวกันว่าอักษร อักขระ ที่หลวงพ่อเปิ่นลงหรือเขียนนั้นสวยงาม มีเสน่ห์เป็นยิ่งนัก
ในช่วงเวลา ๔ ปีกว่า ๆ ที่หลวงพ่อเปิ่นศึกษาวิชาต่าง ๆ จากพระอาจารย์หลวงปู่หิ่ม อินฺทโชโต และอยู่ปรนนิบัติพระอาจารย์จนถึงกาลที่พระอาจารย์หลวงปู่หิ่มละสังขาร มรณภาพ ซึ่งนับเป็นศิษย์องค์สุดท้ายที่ได้อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่หิ่ม อินฺทโชโต หลังจากที่พระอาจารย์มรณภาพ หลวงพ่อเปิ่นจึงได้ออกจาริกปฏิบัติธรรม แสวงหาสัจจธรรม และในจุดประสงค์ลึก ๆ ของหลวงพ่อเปิ่นนั้นต้องการแสวงหาพระอาจารย์เพื่อศึกษาพระเวทย์
ในช่วงนั้นมีพระอาจารย์องค์หนึ่ง โด่งดังมากในเรื่อง "เตโชกสิณ" นั่นคือ องค์หลวงพ่อโอภาสี จำพรรษาอยู่ที่วัดรังษี (เดิมอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศน์ ต่อมาจึงยุบไปรวมกับวัดบวรนิเวศน์) หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ จึงเข้าไปฝากตัวศิษย์ หลวงพ่อโอภาสี ท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ที่มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส
ในครั้งนั้นหลวงพ่อเปิ่นเข้าศึกษากับพระอาจารย์หลวงพ่อโอภาสีเป็นเวลาเกือบปี จึงกราบลาพระอาจารย์หลวงพ่อโอภาสี เพื่อออกธุดงค์ต่อไป ตามแนวของพระอาจารย์ หลวงพ่อเปิ่นเคยปรารภให้ศิษย์ฟังว่า
"อาตมาเรียนด้วย ปรนนิบัติท่านโอภาสีไปด้วย คงเป็นเพราะบุญบารมีของอาตมาที่ได้สร้างมาแต่ปางก่อนก็ว่าได้ จึงได้มีโอกาสศึกษากับท่านโอภาสี สำคัญมาก ๆ จริง ๆ และถ้าหากอาตมาไม่แสวงหาวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินแล้วก็จะอยู่เพียงแค่นี้ไม่ก้าวหน้าต่อไป วิชาก็ไม่แน่นพอ ไม่ได้เห็นแสงสว่างของธรรมและยังไม่ได้เข้าถึงคุณวิชาความที่ต้องศึกษาจึงจำเป็นต้องไปเพื่อกาลข้างหน้าจะได้เป็นผู้รู้บ้าง แต่จะได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็แล้วแต่บุญกุศลเถิดว่าจะสนองตอบเราได้เพียงใด"
ทราบกันเพียงว่าหลังจากองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นเข้ารับการถ่ายทอดในสายวิชาของ หลวงพ่อโอภาสีแล้วทำให้หลวงพ่อเปิ่นท่านทราบได้ถึงสายวิชาที่มีอยู่อย่างมาก ในภพหล้าของเมืองไทยอีกทั้งได้รับการชี้แนะ จากองค์ท่านหลวงพ่อโอภาสีถึงองค์พระภิกษุสงฆ์เจ้าที่เก่งในด้านวิชา ตามเส้นทางที่องค์ท่านหลวงพ่อโอภาสีท่านเคยจาริกแสวงมา
หลังจากที่กราบลาองค์พระอาจารย์หลวงพ่อโอภาสี หลวงพ่อเปิ่นจึงออกธุดงค์มุ่งสู่ป่าเขาลำเนาไพรอีกครั้ง โดยมุ่งหน้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นแหล่งใหญ่ของการปฏิบัติบำเพ็ญภาวนาซึ่งป่าแถบเมืองกาญจนบุรี มีพร้อมสำหรับผู้แสวงหาสัจธรรมและความวิเวก
อีกทั้งองค์พระคุณเจ้าที่เก่งและเสาะหาในสายวิชาต่างมุ่งตรงสู่ป่าเขาในจังหวัดกาญจนบุรีกันเป็นส่วนมาก จึงเป็นโอกาสดีของการรับรู้และแลกเปลี่ยนในสายวิชาซึ่งกันและกัน
ช่วงนี้นี่เองที่ชีวประวัติองค์หลวงพ่อเปิ่น ได้หายไปจากเมือง ทราบเพียงว่าองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ท่านออกจาริกข้ามขุนเขาตะนาวศรี เข้าสู่เมืองมะริดของประเทศพม่าเข้าสู่บ้องตี้เซซาโว่ เกริงกาเวีย า (พ.ศ. ๒๔๙๖ - ๒๕๐๔ ) ซึ่งป่าแถบนั้นเป็นป่า ที่ซ่อนอาถรรพ์ลี้ลับนานาประการเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากสัตว์อันตรายจากสิ่งลี้ลับ มนต์ดำแห่งป่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นเกิดความกลัวแต่อย่างใด กลับตรงกันข้ามท่านกลับมุ่งใจพุ่งองค์เองเข้าสู่แดนอาถรรพณ์มหันตภัยแห่งนี้ แน่นอนละ หากในสายวิชาไม่แข็ง หรือจิตไม่เพียบพร้อม ณ ป่านี้นี่เองที่องค์ธุดงค์วัตรหายไปอย่างลึกลับ มีมาแล้วจะเป็นด้วยไข้ป่า ผีป่า นางไม้ วิญญาณร้ายต่าง ๆ ที่สำคัญคือสัตว์ร้ายนานาชนิดที่มีอยู่อย่างมาก โดยเฉพาะ "เสือสมิง" ที่นี่มีตำนานที่เล่ากันมาตั้งแต่บรรพกาล ในส่วนของเสือร้ายที่สามารถกลับกลายแปลงร่างเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ที่ศึกษาวิชาทางด้านนี้ จนสามารถกลับกลายร่างตนเองเป็นเสือสมิงไป และไม่ได้กลับร่างมาเป็นคนอีก เป็นเรื่องจริง ในสายวิชาเร้นลับวิชาหนึ่ง
ในส่วนองค์หลวงพ่อเปิ่น ท่านไม่ได้ประหวั่นพรั่นพรึงในส่วนนี้เลยแม้แต่น้อย จะเป็นด้วยเพื่อทดลองสายวิชาที่ได้เล่าเรียนมาหนึ่ง หรือเป็นด้วยองค์ท่านตัดทางจิตแล้วที่จะอุทิศตนเพื่อพระศาสนา ดังนั้นจิตอันสงบ จึงทำให้ไม่กลัวอะไรแม้แต่น้อย ช่วงนี้องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นประวัติเงียบหายไปอย่างสนิทมีเพียงคำบอกเล่าของชาวบ้านว่าเจอองค์ท่านบ้าง ชาวเขา ชาวป่า พวกกระเหรี่ยง บอกว่าเจอองค์ท่านและองค์ท่านได้ช่วยเหลือสงเคราะห์ชาวป่า ชาวเขามาแล้วบ้าง
เป็นดังนี้ กระทั่งปลาย พ.ศ. ๒๕๐๔ บ่ายแก่ของวันหนึ่ง พระธุดงค์วัยกลางคนมาปักกลดอยู่ชายป่าใกล้กับวัด ทุ่งนางหลอก อ.ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี ที่นี่นี้เององค์พระธุดงค์องค์นี้ได้สร้างศรัทธาให้แก่ชาวบ้านอย่างมากมาย ทั้งปฏิปทาที่เคร่ง ทั้งสายวิชาสานยาสมุนไพรช่วยเหลือชาวบ้าน ยิ่งเข้ากราบยิ่งเป็นที่กล่าวขาน เกิดเป็นศรัทธาอันสูงสุดของชาวบ้านที่พุ่งตรงสู่พระคุณเจ้ารูปนี้ "หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ " คือองค์ธุดงค์องค์นั้น ประจวบกับวัดทุ่งนางหลอกซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่มีเจ้าอาวาสมีเพียงพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่สองสามรูป จนจะกลายเป็นวัดร้างอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงเห็นพ้องต้องกันว่าผู้ที่จะช่วยพัฒนาวัดทุ่งนาวัดนางหลอกให้กลับมาคืนมาอีกครั้ง คือองค์พระธุดงค์องค์นี้ จึงได้พร้อมกันนิมนต์องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นให้ท่านช่วยพัฒนาเสนาสนะต่าง ๆ ให้ดีขึ้นเหมือนเดิมและให้องค์ท่านอยู่เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน เป็นที่พึ่งพาอาศัยของพวกเขาต่อไป
หลวงพ่อเปิ่นรับนิมนต์ เมื่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งนางหลอก องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ใช้ความรู้ความสามารถขององค์ท่านทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดประโยชน์กับแถบถิ่น เช่นวิชาแพทย์แผนโบราณ พระคาถาอาคมต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านเท่าที่จำเป็น เพียงระยะเวลาไม่นานที่องค์พระคุณเจ้าหลวงพ่อเปิ่นมาเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งนางหลอก การพัฒนาวัดรุดหน้าไปมาก เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างแปลกหูแปลกตา ทำให้ชื่อเสียงองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นเป็นที่รู้จักและเริ่มกระจายออกไปกว้างขึ้น ๆ จากคำบอกเล่าปากต่อปาก ประจวบกับองค์ท่านมีจริยาวัตรอันงดงาม มีวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งมีวิชาอาคมที่เป็นเลิศ เพียงไม่ถึง 2 ปี ที่องค์ท่านจำพรรษาเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งนางหลอก จ.กาญจนบุรี วัดนี้เจริญขึ้นพอสมควร องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น จึงออกจาริกต่อไป นำพาซึ่งความอาลัยเสียดายแก่ชาวบ้านทุ่งนางหลอก เป็นยิ่งนัก
สู่วัดโคกเขมา หลังจากออกจากวัดทุ่งนางหลอก องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ จึงออกธุดงค์มุ่งสู่สมถะวิเวกอีกครั้งยาวนานร่วม 2 ปี โดยใช้เส้นทางวึ่งเป็นป่าดงดิบรกชัฏตามกาลสมัย ระหว่างทางองค์ท่านแวะพักที่วัดโคกเขมา ต.แหลมบัว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งก็ตรงกับจังหวะที่วัดโคกเขมา ไม่มีเจ้าอาวาสพอดิบพอดี วัดโคกเขมา นับว่าไกลปืนเที่ยงอยู่เหมือนกัน กันดารอยู่กลางป่า การเดินทางไปมาแสนลำบาก เมื่อชาวบ้านทราบว่ามีพระธุดงค์เข้ามาพักที่วัดและทราบต่อมาทราบว่าเป็นศิษย์ของหลวงปู่หิ่ม อินทฺโชโต ชาวบ้านจึงพากันนิมนต์องค์หลวงพ่อเปิ่น ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา
หลวงพ่อเปิ่นจึงต้องรับนิมนต์เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมามาตั้งแต่กาลนั้น คณะสงฆ์ในตำบลแหลมบัว ออกประกาศและแต่งตั้งให้หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมาสืบไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 เมื่อเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกเขมาองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น จึงได้เริ่มพัฒนาวัด ก่อสร้างเสนาสนะซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างเกิดจากศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นในเวลานั้น และที่วัดโคกเขมานี่เอง องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นท่านได้สร้างพระเครื่องเป็นครั้งแรก ปัจจุบันพระเครื่องรุ่นนี้ของวัดโคกเขมา หาเป็นสิ่งยากเพราะเป็นพระเครื่องที่มีประสบการณ์ สร้างอภินิหารให้ผู้ที่ครอบครองได้ประจักษ์
หลังจากรุ่นรูปหล่อเนื้อทองแดงของท่านแล้ว พระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ จากวัดโคกเขมาจึงออกมาเพื่อให้ศิษย์และประชาชนได้เช่าหาบูชากัน เพื่อนำเงินบำรุงพัฒนาวัดโคกเขมาทั้งหมด ที่วัดโคกเขมาองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นออกพระเครื่องทั้งเนื้อผง (สมเด็จ) ทั้งรูปหล่อ ทั้งเหรียญพระบูชา (พระสังกัจจายน์) ซึ่งชมได้จากภาพที่ได้จัดเรียงไว้อย่างครบครันในประมวลภาพพระเครื่องของวัดโคกเขมา (เล่มที่1) ทุกชิ้นทุกอย่างทุกองค์ในเวลานั้นดูมีค่ามากสำหรับชาวบ้านที่รับไป นั่นหนึ่งละที่เป็นเหตุให้ชื่อองค์ท่านหลวงพ่อขจรไกลไปทั่วแคว้น ทุกอย่างเกิดจากประสบการณ์ของผู้ใช้ทั้งสิ้น
จึงไม่แปลกเลยทีช่วงนั้น ณ กุฎิท่านวัดโคกเขมา ซึ่งมีพร้อมทั้งทางด้านไสยศาสตร์ ทั้งทางด้านปฏิบัติธรรม ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติจนเป็นที่เลื่อมใสแก่ผู้ที่มากราบไหว้พบเห็น ชนทุกเหล่าทุกนามที่ทราบข่าวต่างเข้ามากราบไหว้กันจนกุฎิไม่แห้ง ที่กล่าวขานกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น จวบปัจจุบันตั้งแต่วัดโคกเขมาเป็นต้นมานั่นคือ " การสักยันต์ " แน่ละหากกล่าวถึงหลวงพ่อเปิ่นในหมู่ของชายฉกรรจ์ตั้งแต่อดีตมาหากเป็นสมัยท่านแล้วละก็ ต้องยกนิ้วให้องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ในเรื่องของไสยศาสตร์เวทมนต์คาถาที่ส่งลงสู่ร่างของชายชาตินักสู้ในรูปแบบขององค์ท่านเอง
ทุกอย่างสมบูรณ์เพียบพร้อมถึงขนาดมีข่าวคราวกระพือโหมไปทั่วว่า แม้สิ้นชีพไปแล้ว มีดผ่าตัดยังไม่สามารถเฉือนเนื้อลงได้เลย คงทราบกันดีแล้วนะครับในข่าวนี้ องค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นในสมัยที่องค์ท่านยังมิได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครู ฯ องค์ท่านลงมือสักลงอักขระเวทด้วยองค์ท่านเอง มาภายหลังที่ท่านประสิทธิ์ประสาทให้แก่ศิษย์เป็นผู้สักแทน องค์หลวงพ่อเพียงทำพิธีครอบให้เท่านั้น เรื่องการสักขององค์ท่านหลวงพ่อเปิ่นกล่าวกันเพียงบทสรุปองค์ท่านหลวงพ่อเปิ่น ท่านจะชอบ " เสือ " ด้วยเหตุผลที่องค์หลวงพ่อบอกเพียงสั้นแก่สานุศิษย์ว่า เสือเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ เพียงเสียงคำรามสัตว์ทั้งหลายก็สงบเงียบ กลิ่นของเสือสัตว์ทั้งหลายเมื่อสัมผัสจะยอมในทันที หลีกทันก็ต้องหลีก จัดอยู่ในมหาอำนาจ เสือรูปร่างสง่างาม เต็มไปด้วยอำนาจบารมีจัดอยู่ในมหานิยม
ในช่วงปี ๒๕๑๔ หลวงพ่อเปิ่นได้รับสมณศักดิ์เป็นพระใบฎีกา ฐานานุกรมในพระอุดมสารโสภณ เป็นช่วงที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา อันเป็นเวลาที่วัดโคกเจริญรุดหน้าขึ้นอย่างสูงสุด
พ.ศ. ๒๕๒๒ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโทที่พระครูฐาปนกิจสุนทร
พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบ้ตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม
พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้รับพระราทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระอุดมประชานาถ
หลวงพ่อเปิ่นมรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๕ เวลา ๑๐.๕๕ รวมอายุ ๗๙ ปี พรรษา ๕๔
ที่มา : www.dharma-gateway.com
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com
ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com
No comments:
Post a Comment