2009-01-17

ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


ชาติกำเนิดและการอุปสมบท

หลวงปู่มั่น กำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อจันทร์ เพีย ( พระยา ) แก่นท้าวเป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา เกิดวันพฤหัสบดีเดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคมพ.ศ.๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ( ปัจจุบันคือ บ้านคำบง ต.สงยาง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.อุบลราชธานี ) มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปีท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดงแข็งแรงว่องไวสติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิดฉลาดดี
เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือเรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรมและอักษรขอมอ่านออกเขียนได้นับว่าท่านเรียนได้รวด เร็ว เพราะมีความทรงจำดี และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา

เมื่อ ท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชา เป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ใครเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนามีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะ เอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้

เมื่ออายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้านท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยงาน ของบิดามารดาเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่าเมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่งอีกอย่าง หนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า

เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก"

คำสั่ง ของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่ามีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดา มารดาบวชท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ท่านได้เข้าศึกษาในสำนักพระอาจารย์เสาร์ ( หลวงปู่เสาร์ ) กันตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล จังหวัดอุบลราชธานี

อุปสมบท เป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง(วัดศรีอุบลรัตนาราม)อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระ อุปฌายะ พระครูสีทาชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ ( สุ่ย ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖

พระอุปัชฌายะขนานนามมคธให้ว่า "ภูริทัตโต"แปลว่า "ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด" เสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาศึกษาวิปัสสนาธุระกับพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบต่อไป เมื่อแรกอุปสมบทท่านพำนักอยู่วัดเลียบ โดยได้เรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์เสาร์เมื่องอุบลเป็นปกติและได้ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมือง อุบลราชธานีเป็นครั้งคราว ใน ระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วน แห่งพระวินัย คือ อาจาระความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตรปฏิบัติได้เรียบร้อยดีจนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจคือเดินจงกรมนั่งสมาธิกับการสมาทานธุดงควัตรต่างๆ

ในสมัยต่อไปได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่างทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพ จำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนากับเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( จันทร์ ) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงามและถ้ำสิงห์โตลพบุรีจนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสานทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกาต่อไป มีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ มีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วภาคอีสาน

ในกาลต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษาแล้ว ไปเชียงใหม่ กับเจ้าพระคุณอุบาลี ( จันทร์ ) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษาแล้วออก ไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆนานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมาจังหวัดอุบลราชธานีพักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษาแล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนครจำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร ( ปัจจุบันคืออำเภอ โคกศรีสุพรรณ ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ๕ พรรษาเพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่านได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ใน วัยชรานับแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นมาท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบท ไปตามสถานที่วิเวกผาสุขวิหารหลายแห่ง คือ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง ( ปัจจุบันเป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ ) บ้าง แถวนั้นบ้าง
ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยุ่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตลอดเวลา ๘ ปีในวัยชรานี้ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนาเป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวันศิษย์ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่แล้วให้ชื่อว่า "มุตโตทัย"

มา ถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างเข้า ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถ อาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราวแต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษาอาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษาศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ใกล้ไกลต่างก็ทะยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษาแล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคมเพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ

ครั้น เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ปีเดียวกันท่านก็ได้ถึงมรณภาพด้วยอาการสงบในท่างกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย มีเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วันรวม ๕๖ พรรษา

ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ฉบับสมบูรณ์ โดย พระญาณวิริยาจรรย์ (พระอาจารย์วิริยังค์) เจ้าอาวาส วัดธรรมมงคล แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ

ที่มา : www.luangpumun.org

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ