2009-01-25

ประวัติหลวงพ่อเนียม วัดน้อย



หลวงพ่อเนียม วัดน้อย บ้านสามหมื่น อ. บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี เป็นชื่อที่ชาวสุพรรณทั้งที่อยู่ในวงการพระเครื่องและไม่ใช่ ต่างรู้จักท่านดี เป็นที่นับถือโดยทั่วไป ลือกระฉ่อนในด้านปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ผู้เฒ่าผู้แก่ เล่าสืบต่อกันมาอย่างน่าระทึกใจ

หลวง พ่อเนียมมีอายุยืนยาวถึง ๔ รัชกาล เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ ในรัชกาลที่ ๓ ของกรุงรัตนโกสินทร์ บิดาเป็นชาวบ้านซ่อง ต. มดแดง อ. ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี มารดาเป็นชาวป่าพฤกษ์ ต. ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ธรรมเนียมไทยฝ่ายชาย ที่เข้าสู่งานมงคลสมรสแล้วจะต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ดังนั้นบิดาของหลวงพ่อเนียมจึงมาอยู่กับมารดาของท่านที่บ้านป่าพฤกษ์ ต.ตะค่า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ซึ่งถือว่าเป็นถิ่นชาติภูมิของท่าน หลวงพ่อเนียม มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันหลายคน ตัวท่านเป็นบุตรคนที่สอง ส่วนน้อง ๆ มีอีกกี่คนไม่สามารถสืบทราบได้

การ ศึกษาสมัยนั้นไม่มีโรงเรียน เหมือนปัจจุบัน หลวงพ่อเนียมจึงมีชีวิตคลุกคลีอยู่กับวัด เรียนอักขระขอมและภาษาบาลีจากวัดข้างเคียงที่ให้กำเนิดท่าน เมื่ออายุครบบวชทำการอุปสมบทในบวรพุทธศาสนา วัดใกล้บ้านท่านนั่นแหละ คาดว่าคงเป็นวัดป่าพฤกษ์ หรือไม่ก็วัดตะค่า เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๒-๒๓๙๓

เมื่อ อุปสมบทถือเพศบรรพชิตแล้ว ท่านได้ตั้งหน้าตั้งตาศึกษาพระธรรมวินัยและมูลกัจจายน์ในจังหวัดพระนครหรือ ธนบุรี สืบทราบไม่แน่ชัด มีบางท่านว่าอยู่วัดพระพิเรนทร์ บางท่านว่าอยู่วัดโพธิ์, วัดระฆัง,วัดทองธรรมชาติ ธนบุรี ไม่เป็นที่ยุติ สรุปความว่าท่านไปอยู่วัดในจังหวัดพระนครและธนบุรี ซึ่งอาจจะอยู่วัดในจังหวัดดังได้กล่าวมาแล้วก็ได้

ขณะ ที่ท่านศึกษาทางด้านธรรมะอยู่นั้นท่านมีความสนใจในทางวิปัสสนาธุระและทางไสย ศาสตร์คาถาอาคมด้วย หากท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดระฆัง ท่านอาจจะเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสีก็ได้ เพราะสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) มีอายุถึง พ.ศ.๒๔๑๕ ดังนั้น เมื่อหลวงพ่อเนียมอุปสมบทในราว พ.ศ. ๒๓๙๒-๒๓๙๓ ถ้าท่านมาอยู่ วัดระฆังแน่เหลือเกิน ท่านจะต้องเป็นลูกศิษย์สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) อย่างไม่มีปัญหาซึ่งบางทีหลวงพ่อเนียมอาจจะได้ศึกษาวิชาทางไสยศาสตร์และ วิปัสสนาธุระ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) ก็อาจจะเป็นได้

คุณ ทองหยด จิตตวีระ อดีต รมต. ว่าการกระทรวงสาธารณสุข เคยเล่าว่า หลวงพ่อเนียมส่งบิดาของคุณทองหยดให้ไปเรียนหนังสืออยู่ที่วัดระฆัง สันนิษฐานว่า หลวงพ่อเนียมน่าจะมีความสัมพันธ์กับวัดระฆังมาก่อน จึงส่งบิดาของคุณทองหยดไปเรียนหนังสือที่วัดระฆัง ในช่วงที่หลวงพ่อเนียมไปอยู่กรุงเทพฯ นั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหมฺรังสี) ยังมีชีวิตอยู่ ถ้าหลวงพ่อเนียมไปอยู่วัดระฆังจริงก็น่าจะเป็นลูกศิษย์ สมเด็จพระพุทฒาจารย์ (โต พฺรหมฺรังสี) ก็เป็นได้

รูป ร่างของหลวงพ่อเนียมสันทัด ผิวขาวไม่สูงไม่ต่ำจนเกินไปนัก ใบหน้ามีเสน่ห์ในขณะที่เรียนวิชาทางไสยศาสตร์อยู่นั้น ท่านได้เคยทดลองวิชาเมตตามหานิยมที่ได้ เล่าเรียนมาครั้งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า เช้าวันหนึ่งท่านไปบิณฑบาตที่บ้านพระยาผู้หนึ่ง บังเอิญวันนั้นลูกสาวพระยาผู้นั้นเป็นผู้ใส่บาตร ท่านคิดในใจว่าวันนี้ อาตมาจะ ขอทดลองวิชาที่ได้อุตส่าห์เล่าเรียนมาว่าจะเป็นจริงเพียงไร

ขณะ ที่ลูกสาวพระยาเอาทัพพีตักข้าวใส่บาตรของท่านนั้น ท่านบริกรรมพร้อมกับใช้ฝาบาตรกดทับทัพพีของสีกาสาวลูกพระยาผู้นั้นไว้ชั่ว ขณะหนึ่ง แล้วปล่อยปรากฏว่าตอนเย็นวันนั้น พระยาผู้บิดาสีกาสาวผู้นั้นให้คนมานิมนต์ท่านไปพบที่บ้าน พอท่านทราบเรื่อง ใจไม่ดีคิดว่าคงมีเรื่องเสียแล้ว คาถาอาคมที่เรียนมานั้นคงไม่สัมฤทธิ์ผลเป็นแน่ นึกตำหนิตนเองว่าไม่ควรจะทดลองเลย จะไม่ไปหรือก็ไม่ได้เพราะรับนิมนต์ไว้แล้ว เป็นไงเป็นกัน

แต่ เหตุการณ์ตรงกันข้ามกับที่ท่านได้คิดไว้ พระยาผู้นั้นให้การต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี จากการรับนิมนต์ครั้งนั้นจนกลายเป็นที่คุ้นเคยกันในตอนต่อๆ มา ท่านไปมาหาสู่ที่บ้านพระยาผู้นั้นอยู่เป็นเนืองนิจ จนเป็นที่สนิทสนมกันมาก

วันหนึ่งพระยา ผู้นั้นเอ่ยปากยกลูกสาวให้ท่าน ท่านตกใจมากเพราะไม่ได้คิดเลยว่าเรื่องจะกลับกลายเป็นเช่นนี้ ท่านจึงต้องรีบปฏิเสธอย่างสุภาพว่า ท่านยังรักที่จะอยู่ในสมณเพศต่อไป โดยจะไม่ขอลาสิกขาบท จากนั้นท่านพยายามทำตนให้ห่างไว้เพื่อความสัมพันธ์จะได้ค่อยๆ จางหายไป จะอย่างไรก็ดีเมื่อท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดในจังหวัดสุพรรณแล้ว ท่านยังลงไปเยี่ยมพระยาผู้นั้นอยู่เสมอ ๆ

ท่านกลับ มาอยู่สุพรรณอายุในราว ๔๐ ปี ในราวพ.ศ.๒๔๑๒ อยู่ในกรุงเทพฯ-ธนบุรี เกือบ ๒๐ ปี นับว่านานโขอยู่ ในการกลับมาตอนต้น ท่านไม่ได้มาอยู่วัดที่ท่านอุปสมบทเลยขึ้นมาอยู่ที่วัดรอเจริญ ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อยู่ได้ไม่นานเกิดขัดคอกับเจ้าอาวาส ท่านจึงคิดจะไปจำพรรษาที่วัดป่าพฤกษ์ใกล้บ้านเกิดของท่านดีกว่า

ขณะ นั้นวัดน้อย ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่เหนือวัดรอเจริญไปไม่ไกลนัก เป็นวัดมีสภาพร้าง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ยังคงเหลืออยู่เพียงวิหารเก่าคร่ำคร่าเท่านั้น ชาวบ้านมีความประสงค์จะบูรณะซ่อมแซม ให้พ้นสภาพวัดร้างขึ้นมาใหม่ จึงให้นายมวนและชาวบ้านแถบนั้นจะหาปัจจัยสร้างหอฉันให้ หลวงพ่อเนียมไม่ขัดศรัทธา ตกลงใจมาอยู่วัดน้อยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พอสรุปได้ว่าวัดน้อย ได้พ้นสภาพจากการเป็นวัดร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๒ เป็นต้นมาเช่นกัน

นายมวน และชาวบ้านช่วยกันสร้างหอฉันเสาไม้แก่นพื้นไม้สัก หลังคามุงกระเบื้องให้หนึ่งหลัง หลวงพ่อเนียมได้มาจำพรรษาอยู่วัดน้อย ค่อยๆ บูรณะซ่อมแซมโน่นนิดนี่หน่อยเรื่อยมา ในขณะนั้นมีผัวเมียคู่หนึ่งชื่อ "ปาน" ทั้งคู่ มีเรืออยู่ลำหนึ่งเที่ยวเร่ขายพลูไปยังที่ต่างๆ ผัวปานเมียปานคู่นี้แวะมาสนทนากับหลวงพ่อเนียมเป็นประจำ พูดถึงความเป็นจริงว่าการค้าขายพลูลำบากลำบนมาก บางคราวขายหมดพอดีมีกำไรเลี้ยงท้องไปวันหนึ่งๆ ขายไม่หมดเก็บเอาไว้พลูเน่าต้องขาดทุน แต่ก็จำต้องทนทำ จะเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นก็ไม่ได้ เพราะไม่สันทัดและไม่มีทุนรอนที่จะทำด้วย

จาก การมาคุยและมาทำบุญที่วัดน้อยบ่อยๆ หลวงพ่อเนียมเห็นว่าสองผัวเมียชื่อเดียวกันนี้ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ทำให้ฐานะกระเตื้องขึ้นแต่ใจบุญสุนทาน

วัน หนึ่งสองผัวเมียมาสนทนากับท่าน ท่านจึงบอกให้ไปแทงหวยที่กรุงเทพฯ สองผัวเมียเมื่อมีโอกาสล่องเรือไปกรุงเทพฯ แทงหวยตามที่หลวงพ่อบอกให้แทงทันที ในใจเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งแต่แล้วสอง ผัวปาน เมียปาน ก็มีความดีใจเป็นล้นพ้น ถูกหวยจริงๆ ได้เงินเป็นจำนวนมาก ทั้งสองผัวเมียเมื่อรับเงินแล้ว รีบมานมัสการหลวงพ่อเนียมทันที พร้อมกับถวายเงินสร้างกุฏิให้วัดน้อยหนึ่งหลัง กุฏินั้นยังคงอยู่มาจนกระทั่งปัจจุบัน ส่วนเรือค้าขายพลูลำนั้นถวายให้กับวัดน้อยด้วยเช่นกัน เปลี่ยนอาชีพไปค้าขายทางอื่นเพราะมีทุนรอนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้ว

วัด น้อยค่อยๆ มีสภาพดีขึ้นเป็นลำดับ มีพระเณรมาจำพรรษามากขึ้นทั้งใกล้และไกล เช่นจากอำเภออู่ทอง เป็นต้น อำเภออู่ทองสมัยโน้นไกลแสนไกล เป็นอำเภออยู่ป่าสูง การคมนาคมไม่มี นอกจากจะเดินทางด้วยเท้าหรือม้าผ่านทุ่งนา ป่าละเมาะและย่างเข้าป่าสูง ต้องใช้เวลาเดินไม่น้อยกว่าหนึ่งวันเต็มๆ หรือกว่านั้น การที่มีพระจากท้องที่ไกลๆ มาจำพรรษาด้วยย่อมเป็นการแสดงว่าหลวงพ่อเนียมต้องมีอะไรดี

ลุง คำ (หลานนายมวน) เล่าว่าเพราะหลวงพ่อเนียมเป็นบุคคลที่มีน้ำใจเมตตากรุณา แต่เคร่งในด้านการศึกษาพระธรรมวินัย บางท่านที่สนใจศึกษาทางด้านวิปัสนาธุระ หลวงพ่อก็ช่วยให้การศึกษาเต็มที่ โดยไม่มีการหวงแหน พระเณรมีความรักใคร่กลมเกลียวกันดี นอกจากนั้นหลวงพ่อเนียมยังมีชื่อเสียงในทางรักษาโรคต่างๆ ได้อีก เช่น โรคพิษสุนัขบ้า บางทีถึงกับจับเอาสุนัข บ้ามาขังไว้ ทำการรักษาสุนัขตัวนั้นจนหายได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกและมหัศจรรย์ นอกนั้นการรักษาวัณโรค อหิวาตกโรค ฝีดาษ ไข้ทรพิษ ก็รักษาให้หายได้เช่นกัน โดยเฉพาะวัณโรคนั้นได้ผลดีมาก

หลวง พ่อเนียมสามารถมองเห็นเหตุการณ์ข้างหน้าได้ดั่งตาทิพย์ ครั้งหนึ่งมีภิกษุจากวัดสุวรรณภูมิ ต.ท่าพี่เลี้ยง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จำนวน ๔ รูปไปหาหลวงพ่อที่วัดน้อยเพื่อขอฤกษ์ลาสิกขาบท ขณะนั้นหลวงพ่อเนียมกำลังคุมลูกศิษย์วัดทำความสะอาดบริเวณวัดอยู่ พอเห็นหน้าภิกษุทั้งสี่ หลวงพ่อร้องทักขึ้นก่อนว่า จะมาขอฤกษ์ลาสิกขาบทใช่ไหมล่ะ ภิกษุทั้งสี่ตอบว่าใช่ ท่านให้ฤกษ์ไปสามรูป อีกรูปหนึ่งท่านท้วงว่าอย่าเพิ่งเลย ชะตากำลังไม่ใคร่ดี แล้วท่านก็ไม่ให้ฤกษ์ แต่ภิกษุนั้นหายอมฟังคำทักท้วงของหลวงพ่อเนียมไม่ทนไม่ไหว จีวรร้อนเป็นไฟ เพื่อนพระสึกไปหมดแล้วตนเองก็จะรู้สึกว้าเหว่ ตัดสินใจลาสิกขาบทโดยไม่ฟังคำทักท้วงของหลวงพ่อเนียม เมื่อออกจากวัดกลับมาหาบิดามารดาที่บ้าน ค่ำวันนั้นเองขณะที่กำลังนั่งสนทนากันอยู่บนบ้าน ปรากฏว่ามีคนร้ายแอบเอาปืนยิงเข้าไปในกลุ่มสนทนา กระสุนถูกศีรษะทิดสึกใหม่คนนั้นตายคาที่

วัน หนึ่งหลวงพ่อเนียมเอ่ยปากขอสำรับเพลจากชาวบ้านแถบนั้นจำนวน ๕๐ สำรับโดยไม่ได้บอกว่าจะทำอะไรที่ไหน เพียงแต่ท่านพูดแล้วอมยิ้มน้อยๆ ว่าถึงคราวแล้วรู้เอง ครั้นใกล้จะถึงเวลาเพล สำรับที่ขอชาวบ้านไว้ก็ค่อยๆ ทยอยมาสู่วัดครบตามจำนวนที่ขอไว้อย่างพร้อมเพรียง แต่ชาวบ้านมองไม่เห็นว่าจะมีอะไรผิดปกติ ใครจะมาจากไหนหรือไม่เห็นมีวี่แวว

แต่พอกลองเพล ดังลั่นขึ้นเท่านั้น ท่านอาจารย์ปาน วัดบางเหี้ย ซึ่งขณะนั้นก็เป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่เหมือนกัน พาภิกษุมารวม ๕๐ รูป เดินทางมานมัสการหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ พอเดินทางมาถึงหน้าวัดน้อย ปรากฏว่าเกิดพายุขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน เป็นที่ผิดปกติ ท่านอาจารย์วัดบางเหี้ยจึง พูดกับพระที่มาด้วยกันแล้ว

"เอ เห็นจะต้องแวะที่วัดนี้เสียแล้ว เจ้าของท้องที่เขาเชิญให้แวะ ไม่ควรขัดศรัทธา"

จึง สั่งให้เรือจอดที่ท่าวัดน้อยแล้วพาภิกษุทั้งหมดขึ้นไปบนวัด ก็ได้รับการต้อนรับจากหลวงพ่อเนียมด้วยการถวายเพลแก่อาจารย์วัดบางเหี้ยและ ภิกษุทุกรูป

ใน งานทำบุญคล้ายวันเกิดของท่าน ชาวบ้านจัดงานใหญ่โต มีแสดงพระธรรมเทศนาแจง ๕๐๐ พร้อมด้วยมหรสพสมโภชหลายอย่างร้านค้าขายตั้งเต็มลานวัด คาดว่างานแซยิดของท่านคงจัดขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๔๕ เพราะผู้เล่าเรื่องนี้คือ ลุงเปล่ง สุพรรณโรจน์ เล่าขณะที่ลุงเปล่ามีอายุ ๘๔ ปี บอกว่าปีนั้นลุงเปล่งมีอายุเพียง ๑๘ ขวบ ดังนั้น พ.ศ. ทำบุญงานแซยิดของท่านประมาณ พ.ศ.๒๔๔๕

ค่ำ วันนั้น ปรากฏว่าเมฆดำทมึนมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ฝนตั้งเค้า พายุพัดตึงบอกลักษณะว่าฝนจะตกลงมาอย่างแน่นอน ยิ่งกว่านั้นฝนยังได้ลงเม็ดมาปรอยๆ บ้างแล้ว ร้านค้าขายต่างกุลีกุจอเก็บข้าวของเตรียมหนีฝน กันจ้าละหวั่น วุ่นวายไปทั่วทั้งลานวัด คนที่มาเที่ยวต่างก็หลบฝนเข้าไปในใต้ถุนกุฏิ และที่หอฉันเต็มไปหมด

ในขณะที่กำลังอลหม่านกันนั้นเอง หลวงพ่อเนียมเดินลงมาจากุฏิร้องบอกว่า

"ไม่ต้องเก็บไม่ต้องเลิก มหรสพเล่นต่อไป ของขายต่อไป ที่นี่ไม่มีฝน ฝนไม่ตกที่นี่"

แล้ว ท่านเดินไปหยุดที่หน้ากุฏิของท่าน มองขึ้นไปเบื้องบนท้องฟ้า แล้วเดินไปเดินมา จริงเหมือนดังคำประกาศิต ฝนตั้งเค้าและท่าจะตกลงมาอย่างหนักนั้นหาได้ตกลงมาภายใน บริเวณวัดไม่มีเพียงละอองฝนปรอยๆ เท่านั้น แต่เมื่อมองออกไปนอกวัดจะเห็นฝนตกลงมาอย่างรุนแรง ทั้งตกอยู่นานอักโขอยู่ พองานเลิกทุกคนต้องเดินลุยน้ำขนาดครึ่งหน้าแข้ง

การ ถ่ายรูปหลวงพ่อเนียมเล่ากันว่าถ่ายไม่ติด ครั้งหนึ่งมีช่างแผนที่มาทำการออกโฉนดที่ดินที่จังหวัดสุพรรณบุรี พระประมาณฯ เป็นหัวหน้าพร้อมด้วยฝรั่งสองคนเป็นผู้ช่วย ทราบเสียงเล่าลือว่าการถ่ายรูป หลวงพ่อเนียมนั้นถ่ายไม่ติด พระประมาณฯ กับฝรั่งนั้นต้องการพิสูจน์ความจริง ตามเสียงที่เล่าลือกันจะเป็นความจริงเพียงใด จึงไปที่วัดน้อยแล้วนิมนต์พระทั้งวัดมานั่งถ่ายรูปพร้อมด้วยหลวงพ่อเนียม เมื่อเอาฟิล์มไปล้างปรากฏว่าไม่มีรูปหลวงพ่อเนียมอยู่ในกลุ่มนั้นจริงๆ พระประมาณฯ กลับมาทดลองถ่ายอีกโดยขอให้หลวงพ่อเนียมเดินไปที่โอ่งน้ำมนต์ ถ่ายขณะที่หลวงพ่อกำลังเดินไปและขณะอยู่ที่โอ่งกำลังทำน้ำมนต์ ก็ไม่ติดอีกเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

น้ำมนต์ ของท่านไม่เฉพาะแต่น้ำมนต์ในโอ่งเท่านั้น ที่ท่าวัดของท่านก็เป็นน้ำมนต์เช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่งมีจีนคนหนึ่งชื่อ "โต้ผ่วย" อยู่แถววัดโพธิ์คอย ซึ่งไม่ไกลจากวัดน้อยเท่าใดนัก มาขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อเนียม ท่านบอกเจ๊กโต้ผ่วยให้ไปตักเอาเองซิ อยู่ที่ท่าน้ำนั่นไงเล่า

เจ๊ก โต้ผ่วยไปตักน้ำมาแล้วเอามาให้ท่านหลวงพ่อบอกให้จุดธูป พอจุดเสร็จท่านบอกกับเจ๊กโต้ผ่วยว่าเสร็จแล้ว เจ๊กโต้ผ่วยมองหน้าหลวงพ่อเนียมเป็นเชิงสงสัย และนึกฉุนตะหงิดๆ ขึ้นมาในใจ อะไรกัน ไม่เห็นหลวงพ่อท่านบริกรรมคาถาเลยแม้แต่คำเดียว จะเป็นน้ำมนต์ได้อย่างไร แต่จะไม่เอาไปก็ไม่ใช้ที่ จึงเอาไปอย่างไม่เต็มใจ

เมื่อ ออกไปนอกวัด เจ๊กโต้ผ่วยรำพึงขึ้นอย่างแค้นใจ "เอาไปทังลายล้ำท่าเท้ๆ " ว่าแล้วก็คว่ำขวดโหลใบที่ใส่น้ำมนต์มา แปลกอะไรเช่นนั้น! น้ำมนต์ในขวดโหลหาได้ไหลออกมาไม่! บังเอิญพลัดหลุดมือแตกเป็นเสี่ยงๆ น้ำมนต์ในขวดโหลแทนที่จะเป็นน้ำเหลว กลับกลายเป็นก้อนน้ำแข็ง!! เจ๊กโต้ผ่วยตกใจรีบตาสีตาเหลือกเก็บก้อนน้ำแข็งนั้นใส่ภาชนะอื่นทันที นึกแปลกในใจว่าทำไมน้ำนั้นจึงแข็งได้ พอนึกถึงอภินิหารของหลวงพ่อเนียมเข้า ก็ยกภาชนะนั้นขึ้นทูนหัวพร้อมกับกล่าวขออภัยในใจ ที่หมิ่นหลวงพ่อและเอาก้อนน้ำแข็งน้ำมนต์นั้นไปเก็บไว้จนละลาย

เจ้า นายถึงจะมียศถาบรรดาศักดิ์ใหญ่โตสักเพียงใดก็ตาม ถ้าจะไปขออาบน้ำมนต์ ท่านจะบอกให้ไปอาบที่ท่าวัดเหมือนกันทุกๆ คน ครั้งหนึ่งพระยาศิริชัยบุรินทร์ (ทองสุก) ปลัดเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี มาตรวจราชการที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทราบกิตติศัพท์ของหลวงพ่อเนียม ท่านจึงอยากจะมาขอพรและขอให้หลวงพ่ออาบน้ำมนต์ให้ ดังนั้นตอนเย็นวันหนึ่งพระยาศิริชัยบุรินทร์ว่างงานจึงไปหาหลวงพ่อเนียม ให้ข้าราชการผู้หนึ่งเข้าไปพบหลวงพ่อบอกถึงความประสงค์ว่าจะขออาบน้ำมนต์ หลวงพ่อเนียมบอกไปอาบที่ท่าวัดก็ได้ เป็นน้ำมนต์เหมือนกัน เมื่อโดนเข้าอีไม้นั้น ในฐานะนักปกครองผู้มีจิตวิทยาสูง จึงจำต้องแสดงออกซึ่งความเคารพคำของหลวงพ่ออย่างจริงใจ เดินตามชาวบ้านลงไปอาบน้ำ (น้ำมนต์) ที่ท่าวัดด้วยอาการไม่ขวยเขินหรือกระดากอาย แต่ประการใด เมื่อท่านกลับไปนครปฐมเล่าให้ข้าราชการด้วยกัน ฟังว่ารู้สึกเหนียมเหมือนกันที่ตนเป็นผู้ใหญ่แต่ต้องไป อาบน้ำปะปนกับชาวบ้านแต่หลังจากนั้นไม่นานนักท่านได้เลื่อนเป็นเทศาภิบาลและ ย้ายไปอยู่มณฑลนครสวรรค์อย่างคาดไม่ถึง

พระ เณรที่ประพฤติผิดวินัย ท่านทราบเองโดยไม่มีใครบอกท่าน ต่อมาท่านเห็นว่าไม่ดี จึงเรียกพระเณรที่ทำผิดพระวินัยให้พยายามทำตนให้ประพฤติชอบ ทำให้พระและเณรทั้งวัดไม่กล้าประพฤติไม่ดีต่อไปอีก แม้แต่ลับหลัง

หลวง พ่อเป็น ผู้ที่มีความ เมตตา ต่อสัตว์เลี้ยง ท่านเลี้ยงแมว, สุนัข, ไก่, แม้กระทั่งงูเห่าก็เลี้ยงไว้ ในกุฏิของท่านจึงเต็มไปแล้วมูลสัตว์ต่างๆ งูเห่ามีอยู่สองตัว ตัวใหญ่หายไปนานแล้ว แต่ก่อนมันจะหายไปมันมาลาท่านด้วยการชูหัวแผ่แม่เบี้ยคำนับอยู่ ๓ ครั้ง ตั้งแต่นั้นมันก็หายไป ส่วนตัวเล็กหายไปหลังจากหลวงพ่อมรณภาพแล้ว

กิจวัตร ประจำวันของท่านระหว่างเข้าพรรษา ท่านจะตื่นแต่เช้ามืดยังไม่ทันมีแสงเงินแสงทอง ครองจีวรแล้วปลงอาบัติเพื่อความบริสุทธิ์ของวันต่อไปทุกๆ เช้ามือ เสร็จแล้วนั่งสนทนากับภิกษุในวัดเป็นการอบรมไปในตัวพอได้อรุณจึงออกไป บิณฑบาต ต่อมาในระยะหลังๆ ท่านไม่ค่อยได้ออกไปบิณฑบาตเพราะชราภาพมากแล้ว ในขณะที่ท่านไปส้วมจะมีขันน้ำและข้าวสารไปด้วย โปรยข้าวสารไปตลอดทางจนถึงส้วมเพื่อให้ไก่กิน ออกจากส้วมกลับมาตามทางเดินโปรยข้าวสารที่เหลือให้ไก่กินจนหมด

อาหาร ที่ท่านชอบเป็นพิเศษ คือ เปลือกแตงโมต้มปลาเจ่าแล้วในน้ำตาล ปกติการปรุงรสค่อนข้าวหวานแระเปรี้ยวเป็นส่วนมาก เช่นขนมจีนท่านชอบใส่น้ำเชื่อมลงไปด้วย

ตอน บ่ายท่านจะลงไป รับแขกที่กุฏิเล็กซึ่งทานสร้างขึ้นเพื่อนั่งวิปัสสนา ตอนเย็นเป็นธุระในเรื่องสัตว์เลี้ยง ตอนค่ำทำวัตรเสร็จแล้วนั่งสนทนากับพระลูกวัดจนกระทั่ง เวลาสามทุ่มจึงเข้าจำวัดหลวงพ่อเนียม สร้างพระเครื่องไว้หลายพิมพ์ด้วยกัน มีผู้เล่าว่าตอนต้นท่านสร้างพระเครื่องดินเผา แต่เนื้อที่เผาไม่แกร่งพอ ท่านจึงไม่แจกให้แก่ผู้ใดเลยแม้แต่องค์เดียว ในวงการพระเครื่องจึงไม่รู้จักพระเครื่อง เนื้อดินเผาของท่าน ส่วนมากเท่าที่รู้จักกันคือพระเนื้อชินตะกั่วผสมปรอท ท่านสร้างไว้หลายพิมพ์โดยเอาพระเก่าๆ มาทำแม่พิมพ์ เท่าที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ

๑. พระงบน้ำอ้อย ๒.พระพิมพ์ลำพูน เกศยาว ๓.พระพิมพ์ลำพูน เศียรโล้น ๔.พระปรุหนัง ต่อมาปรากฏว่าพบพิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์เพิ่มขึ้นอีก บางท่านว่าพระปิดตาก็มี แต่ทว่ามีจำนวนน้อย แทบจะไม่มีใครรู้จักเลย

การ ทำปรอทให้แข็งในสมัยโน้นไม่ใช่ของง่ายนัก ว่ากันว่าต้องใช้คาถาอาคม ทั้งต้องทำในฤดูฝนฤดูเดียวเท่านั้น เพราะพืชบางอย่าง เช่น ใบแตงหนู ซึ่งขึ้นในท้องนา จะขึ้นในฤดูฝน ส่วนผสมต่างๆ มีใบสลอด, ข้าวสุกหลวงพ่อท่านเอาของสามอย่างมาโขลกปนกันเพื่อไล่ขี้ปรอทออกให้หมด ทั้งนี้เพื่อให้ได้ปรอทขาวที่สุด การโขลกจะต้องโขลกและกวนอยู่ถึง ๗ วัน จึงจะเข้ากัน พอครบ ๗ วันเอาไปตากแดดเสร็จแล้วนำเอาไปกวนต่อจนเข้ากันดี จึงทำการแยกชั่งเป็นส่วนๆ ส่วนละหนึ่งบาทต่อจากนั้นเอาไปใส่ครกหิน เติมกำมะถันและจุนสีโขลกตำให้เข้ากัน โดยใช้เวลาทำตอนกลางคืนเท่านั้น ทำเช่นนั้นอยู่ ๓ คืนจึงเอาปรอทใส่ลงไปในกระปุกเหล้าเกาเหลียง ผสมกับตะกั่วเอาเข้าไฟสุมอยู่ถึง ๗ วัน บางครั้งอุณหภูมิ สูงจัด กระปุกเหล้าเกาเหลียงแตกเสียหายก็มี การสุมไฟสุมเฉพาะเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนทำพิธีปลุกเสกด้วยคาถาอาคม พอครบ ๗ ไฟเทลงในแม่พิมพ์จึงจะได้พระตามที่ต้องการ

หลวง พ่อเนียมมรณภาพเมื่ออายุ ๘๐ ปี โดยมรณภาพในลักษณะเหมือนพระปางไสยาสน์ นับเป็นพระสงฆ์องค์แรกของเมืองไทยที่มีการมรณภาพเช่นนี้ ผู้เขียนไปวัดน้อย สอบถามผู้ใกล้ชิดแล้วบวกลบคูณหารดู ปรากฏว่าตรงกับ พ.ศ.๒๔๕๒ ประมาณ ๙๕ ปีมาแล้ว หลังจากการฌาปนกิจเสร็จแล้วชาวบ้านแย่งกันเก็บอัฐิของท่านเอาไปไว้บูชากัน อย่างอลหม่าน

ใน ด้านพระพุทธคุณพระเครื่องของหลวงพ่อเนียม มีปรากฏการณ์หลายรายด้วยกันอย่างน่าระทึกใจ เช่น รถคว่ำมีพระหลวงพ่อเนียมไม่เป็นไร นี้แหละครับพระพุทธคุณของพระหลวงพ่อวัดน้อย อันเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เลื่องลือซึ่งเป็นที่รู้จักกันของชาวสุพรรณเป็น อย่างดีมานานแล้ว

ที่มา : mongkhonthip.com

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ