2009-01-21

ประวัติ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก



หลวงพ่อจง พุทธัสสโร เทพเจ้าแห่งความเมตตา วัดหน้าต่างนอก จ.อยุธยา

หลวงพ่อจง พุทธัสสโร เป็นครูบาอาจารย์รุ่นเก่าที่ได้ล่วงลับดับสังขารไปแล้ว ตามวิสัยแห่งชีวิตมวลสัตว์โลกทั้งหลายที่มีเกิดแล้วต้องมีแก่ เจ็บ และตายไปในท้ายที่สุด แต่ทว่าในช่วงชีวตของพระคุณท่าน ได้สร้างสมความดีทั้งโดยฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมไว้เป็นอเนกอนันต์ เป็นที่เล่าขานบอกกล่าวกันมาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น แม้ว่าท่านจะล่วงลับดับขันธ์ไปนานนับเป็นสิบ ๆ ปี ก็ตาม ตรงกันข้ามสภาวะแห่งความเจริญของสังคมยุคปัจจุบันที่มุ่งเน้นในวิทยาการสมัย ใหม่ เป็นสังคมวัตถุนิยม บูชาในคุณค่าของวัตถุเหนือสภาพจิตใจ เป็นเหตุให้พลโลกทั้งหลายล้วนมีจิตใจที่เสื่อมทราบ มีความเห็นแก่ตัวตนของตนมากยิ่งขึ้น จนถึงกับมองข้ามหลักศีลธรรมจรรยาว่าเป็นสิ่งไร้ค่าหาสาระไม่มี ด้วยความเป็นไปในสังคมยุคใหม่ที่ว่านั้น จึงทำให้ผู้มีปัญญาหวนกลับมามองเห็นถึงคุณค่าแห่งศีลธรรม ซึ่งเหตุนั้น เรื่องราวของครูบาอาจารย์ที่อุดมด้วยความดีงาม จึงโดดเด่นเป็นที่สนใจใคร่รู้ เป็นแบบอย่างอีกครั้งหนึ่ง ชีวิตความเป็นมาของหลวงพ่อจง พุทธัสสโร นี้ก็เช่นกัน นับเป็นเนติแบบอย่างแก่ผู้ใฝ่ดีทั้งหลายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้อยู่ในเพศบรรพชิตด้วยแล้ว หากได้อ่านได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ย่อมจะรู้ได้ว่า ผู้เป็นพระนั้นควรจะเป็นอยู่อย่างไร และ......เป็นพระแท้แล้วหรือยัง

ประวัติ
หลวงพ่อจง พุทธัสสโร ท่านมีนามเดิมว่า “จง” กำเนิดมาในตระกูลชาวนาในท้องที่ตำบลหน้าไม้ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกว่าเป็นเชื้อสายแห่งคนดีศรีอยุธยาอีกคนหนึ่ง ที่ทั่วสรรพางค์กายล้วนเต็มเปี่ยมด้วยเลือดนักสู้ สมชาติชายไทย บิดาท่านมีนามว่า นายยอด มารดานามว่า นางขลิบ ซึ่งท่านทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งสิ้น 3 คน คือ
1. เด็กชายจง ต่อมาคือ หลวงพ่อจง พุทธัสสโร เป็นบุตรคนโต
2. เด็กชายนิล เป็นคนรอง ต่อมาคือพระอธิการนิล เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน
3. เด็กหญิงปลิก เป็นน้องคนเล็ก และเป็นผู้หญิงคนเดียว

สำหรับวันเดือนปีเกิดหรือวันถือกำเนิดของหลวงพ่อจง พุทธัสสโร นั้น เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ล่วงเลยผ่านพ้นมานาน อีกทั้งการบันทึกก็มิได้มีหลักฐานที่เด่นชัด เป็นแต่ระบุไว้พอรู้ความว่า ได้กำเนิดในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ณ วันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีวอก อันเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ที่ตรงกับวันที่ 6 เดือนมีนาคม พ.ศ.2415 และด้วยเวลานั้นยังไม่มีการใช้ชื่อสกุล จึงไม่มีการระบุชื่อนามสกุลเดิมของท่านไว้

วัยเยาว์
เด็กชายจง บุตรชายคนโตของคุณพ่อยอด คุณแม่ขลิบ เมื่อกำเนิดลืมตาดูโลกแล้ว ได้รับการเลี้ยงดูตามฐานะแห่งตระกูล เช่นลูกหลานชาวท้องทุ่งท้องนาทั้งหลาย มิได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มีลักษณะพิเศษเกินกว่าเด็กชาวนาคนอื่น ๆ เลยแม้แต่น้อย หรือแม้แต่อากัปกริยาที่จะแสดงอาการส่อแววว่า ในโอกาสต่อมาเมื่อเติบใหญ่แล้ว ชีวิตจะต้องก้าวเข้ามาสู่ฐานะภิกษุสงฆ์ อันเป็นที่เคารพบูชาของมวลชนทั้งหลาย ดังที่ปรากฎเป็นเกียรติคุณเป็นที่ล่ำลือกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

แต่ทว่าชีวิตในวัยเยาว์ของหลวงพ่อจง หรือเด็กชายจงในเวลานั้น กลับปกปิดความเป็นคนเหนือคนสามัญทั้งหลายไว้อย่างมิดชิดแนบแน่น ด้วยการอยู่ในฐานะเช่นผู้อาภัพอับโชค อุดมไปด้วยทุกขโรคามากกว่าชีวิตที่เป็นสุข มีความร่าเริงเบิกบานตามวิสัยเด็กทั้งหลายโดยทั่วไป ด้วยการที่เด็กชายจง ถูกโรคาพยาธิเบียดเบียนมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย จึงทำให้รูปร่างหน้าตาในสมัยเป็นเด็กค่อนข้างจะผอมโซ หน้าตาซีดเซียว ร่างกายไม่แข็งแรงดังเช่นลูกชาวนาทั้งหลาย ซ้ำยังมีอุปนิสัยค่อนข้างจะขี้อาย เซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้น ชอบเก็บตัวอยู่ตามลำพัง ลักษณะดังเป็นเช่นเด็กทุพพลภาพ ที่ร้ายไปกว่านั้น เด็กชายจงยังถูกเคราะห์กรรมซ้ำเติมให้มีอาการหูอื้อจนเกือบหนวก รับฟังเสียงอะไรต่างไม่ถนัดชัดเจน นัยน์ตามืดมัว ฝ้าฟาง มองอะไรไม่ชัดเจน ทำให้อากัปกริยาการเคลื่อนไหวไปมาพลอยเชื่อช้าแบบเก้ ๆ กัง ๆไปด้วย และเป็นคนพูดน้อย ชนิดถามคำก็ตอบคำ หรือไม่ยอมพูดเอาเสียเลยก็มี เหล่านี้คือบุคคลิกภาพในสมัยเยาว์วัยของเด็กชายจง

เป็นเช่นยามเฝ้าบ้าน
จากบุคคลิกภาพดังกล่าวมาของเด็กชายจง ผสมกับสุขภาพที่ไม่สู้จะสมบูรณ์นัก วัยเยาว์อันควรเป็นวัยที่แจ่มใสสดชื่น จึงเต็มไปด้วยความออดแอดขี้โรค ยิ่งเติบโตจากอายุ 8 ขวบ ไปแล้ว อาการต่าง ๆ เหล่านั้นก็ยิ่งแสดงทีท่าว่าจะกำเริบหนัก เลยทำท่าว่าจะไปไหนมาไหนโดยลำพังไม่ได้เสียเลย เขาว่าคืนนี้มีลิเกสนุกอยากจะไปดู ก็ต้องให้ญาติพี่น้องจูงไม้จูงมือไต่เต้าตามหัวคันนา บุกน้ำท่องโคลน เดินเดาสุ่มตามหลังคนอื่นไป พอไปถึงแล้วถึงเวลาลิเกเล่น มองเห็นตัวลิเกมั่งไม่เห็นมั่งไปตามเรื่อง เพราะสายตาไม่ดี และมักจะหลบฝูงชนออกไปซุ่มดูอยู่ห่าง ๆ ตามโคนต้นไม้ห่างจากผู้คนอื่น ๆ ไม่นิยมการไปรวมกลุ่มอยู่กับใคร ๆ

การไปดูลิเกของเด็กชายจง จะว่าเป็นการหาความบันเทิงจากการฟังเสียง ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็เพราะนอกจากตาไม่แจ่มใสแล้ว หูก็ยังไม่สามารถฟังเสียงอะไรได้ถนัดอีกด้วย เสียงกลอง เสียงปี่ พิณพาทย์ เครื่องเสียงประกอบการแสดงของลิเก ถึงฟังได้ก็ไม่ตลอด แบบได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง เอาเรื่องเอาราวอะไรไม่ได้ สรุปแล้ว การไปดูลิเกของเด็กชายจงจึงมีค่าเท่ากัน จะไปหรือไม่ไปดูก็ไม่มีอะไรต่างกัน ฉะนั้น เมื่อมีผู้ถามว่า “ไง...ไปดูลิเกสนุกไหม” คำตอบก็คือ หัวเราะ หึ หึ ครั้นถูกถามว่าลิเกเล่นเรื่องอะไร คำตอบก็เช่นกันคือเพียงหัวเราะ หึ หึ มีเหมือนกันเมื่อถูกรุกถามหนัก ๆ เข้าจึงตอบเป็นคำพูดสักคำว่า“อือม์...สนุก”และนั่นก็เป็น คำตอบที่ยาวที่สุด นาน ๆ ครั้งจึงจะมีผู้ได้ยินคำตอบอย่างนี้สักครั้งหนึ่ง แต่จะมีเฉพาะกรณีถูกรุมเร้าหรือถูกรุมหนักเท่านั้น

ดังนั้นต่อ ๆ มา ลิกงลิเกหรืองานวัดอะไรต่างก็ไม่มีโอกาสได้ดูกับใครอื่นเขา เพราะคนที่จะพาจูงไปคร้านที่จะเอาธุระ ซึ่งจะเพิ่มภาระให้เกิดแก่ตนเอง ในที่สุดเด็กชายจงจึงได้รับมอบหมายหน้าที่ใหม่ให้เป็นพิเศษ คือเป็นยามเฝ้าบ้าน ใครเขาจะไปไหนมาไหนก็ตามแต่ เด็กชายจงเป็นได้เฝ้าบ้านทุกครั้ง แต่ก็มีอยู่ประการหนึ่งที่เด็กชายจงไม่ยินยอมเป็นยามเฝ้าบ้านให้เป็นเด็ด ขาด คือในเวลาที่มีการทำบุญตักบาตร การไปวัดในวันธรรมสวนะ เด็กชายจงเป็นต้องรบเร้าขอร้องให้พ่อแม่ ญาติพี่น้อง พาตนไปด้วยให้จงได้ ซึ่งถ้าถูกปฏิเสธห้ามปราม เขาจะคร่ำครวญร่ำไห้แสดงความทุกข์ออกมาให้เห็นอย่างน่าสงสาร จึงเป็นอันว่า เด็กชายจงจะได้ออกนอกบ้านก็เฉพาะแต่การไปทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามโอกาสงานบุญเท่านั้น

เข้าวัด....อยู่วัด
ชีวิตของหลวงพ่อจง พุทธัสสโรในวัยเด็ก ไม่มีสิ่งใดผันแปร คงเป็นไปอยู่เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ราบเรียบดังเช่นน้ำในอ่างดังเช่นที่กล่าวมาแต่ต้น จนกระทั่งอายุได้ 12 ปี ความเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้น คือทางพ่อแม่มีความเห็นถึงอุปนิสัยของเด็กชายจง บุตรชายคนโตตรงกันว่า เป็นผู้มีความชอบวัด ติดวัด รักชอบในอันที่จะไปวัดมากกว่าที่เที่ยวเตร่หาความสนุกในที่ใด ๆ ทั้งหมด

ดังนั้น ท่านจึงสรุปความตรงกันว่า เมื่อเด็กชายจงชอบวัด ต้องการจะไปวัดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แทนที่ตนหรือคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องลำบากจูงมือนำพาลัดเลาะคันนา ถึงแม้จะไม่ห่างไกลเท่าใดนักก็ตามเถิด แต่เมื่อต้องทำอยู่ทุกบ่อย ก็ให้เกิดความคิดว่าน่าที่จะให้ไปอยู่วัดเสียเลย คิดเห็นตรงกันดังนั้นแล้ว จึงได้เผยความคิดเห็นดังกล่าวให้เจ้าตัว คือเด็กชายจงได้รับรู้ด้วย แทนที่จะคิดเสียใจน้อยใจในทำนองที่ว่า พ่อแม่จะตัดหางปล่อยวัดหรือเลยเถิดไปถึงว่าพ่อแม่สิ้นรักสิ้นเมตตาตนแล้ว กลับเป็นความปลื้มปิติใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะวัดเป็นที่ร่มเย็น เป็นที่ปรารถนาของตนอยู่แล้ว เด็กชายจงจึงรับคำพ่อแม่อย่างเต็มอกเต็มใจไม่มีอิดออด เวลาต่อมา เด็กชายจงจึงได้รับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดหน้าต่างใน อันเป็นวัดใกล้บ้าน ที่เด็กชายจงเคยไปมาหาสู่อยู่เสมอนั่นเอง และนับเป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ รวมทั้งโรคหูอื้อ ตาฝ้าฟาง ที่เป็นเรื้อรังมานานปีกลับหายไปจนหมดสิ้น สามเณรจงกลับมีสุขภาพสมบูรณ์พลานามัยดีมาก เป็นสุขอยู่ในเพศพรหมจรรย์ ดุจเป็นนิมิตให้ทราบว่า ท่านจะต้องครองเพศมีชีวิตอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ไปตลอดชีวิต สมดังพุทธอุทานที่ว่า....สาธุ โข ปพพฺชชา...การบรรพชายังประโยชน์ให้สำเร็จ

ดังนั้น เมื่ออายุครบอุปสมบทในปี พ.ศ.2435 โยมบิดามารดาจึงจัดพิธีอุปสมบทให้ได้เป็นพระภิกษุต่อไป ณ พัทธสีมาวัดหน้าต่างในที่พำนักอยู่ โดยมี พระอุปัชฌาย์สุ่น (หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ) เจ้าอาวาสวัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อินทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จากพิธีอุปสมบทในครั้งนั้น พระภิกษุจงได้รับสมญานามตามเพศภาวะว่า “พุทธัสสโรภิกขุ” และพำนักเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ ที่พระภิกษุพึงจะต้องเรียนรู้เท่าที่มีอยู่ในสมัยนั้น ณ วัดหน้าต่างในนั่นเอง

เรียนวิชาอาคม
ชีวิตของหลวงพ่อจง หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว ได้ปรากฎเหตุอันน่าแปลกมหัศจรรย์เด่นชัดขึ้น เพราะนอกจากจะหายป่วยหายไข้แล้ว เมื่อได้มาศึกษาหาความรู้ในด้านธรรมะ คือได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมสิกขา พร้อมทั้งฝึกฝนในด้านการเขียนอ่านอักษรทั้งไทยและขอมจากท่านพระอาจารโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ซึ่งเป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระภิกษุจงได้แสดงออกถึงความในอัจฉริยะ ด้วยการเรียนรู้จดจำสิ่งที่ได้รับถ่ายทอดมาอย่างแม่นยำและเข้าใจทุกสิ่ง ทุกอย่าง จนใคร ๆ ทั้งหลายที่รู้พื้นความเป็นมาต่างพากันอดแปลกใจสงสัยเสียมิได้ว่า “เอ๊ะ..ทำไมภิกษุจงจึงมิยักงมโข่งหรืออุ้ยอ้ายอับปัญญา เหมือนกับบุคลิกที่อ่อนแออมโรค ที่ส่อแสดงว่าน่าจะเป็นไปในทางทึบหรืออับ เรียนรู้จดจำอะไรไม่แม่นยำ” และยิ่งเพิ่มความแปลกมหัศจรรย์แปลกไกลไปกว่านั้น ภายหลังจากที่ได้กระจ่างแจ้งในพระธรรมและภาษาหนังสือพอสมควรแล้ว พระอาจารย์โพธิ์ที่เล็งเห็นแววว่าน่าจะเป็นไปได้ของพระภิกษุจง ได้ให้การถ่ายทอดวิชาในด้านเวทวิทยาคมที่ท่านเชี่ยวชาญจนเป็นที่เลื่องลือ ถือกันว่า พระอาจารย์โพธิ์คือยอดแห่งผู้ทรงเวทในสมัยนั้นให้กับพระภิกษุจงด้วย

ผลก็ปรากฎว่า พระภิกษุจงสามารถน้อมรับวิชาไว้ได้ทุกกระบวนมนต์ สำเร็จแตกฉานชนิดสิ้นภูมิผู้เป็นอาจารย์กันเลยทีเดียว และด้วยการได้รับถ่ายทอดวิชาให้ชนิดไม่มีการปิดบังซ่อนเร้นภูมิรู้ใดไว้ของ พระอาจารโพธิ์ จึงทำให้พระภิกษุจงได้ก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่รวมใจ ที่พึ่งพิงของญาติโยมแทนผู้เป็นอาจารย์ในเวลาต่อมา

ฝึกกรรมฐาน
การแสวงหาความรู้ของพระภิกษุจง มิได้หยุดยั้งอยู่แต่เพียงภายในวัดหน้าต่างในที่พักอาศัยเท่านั้น เมื่อเจนจบในภูมิความรู้ของพระอาจารย์โพธิ์ผู้เป็นอาจารย์แล้ว ท่านยังคงเสาะแสวงหาที่เรียนต่อไปอีก ได้รู้ได้ทราบข่าวว่าที่หนึ่งที่ใด สำนักไหนมีครูบาอาจารย์ที่ทรงภูมืความรู้ จะเป็นวิชาแขนงใดก็ดี หากเห็นว่าไม่ขัดฝืนต่อธรรมวินัย เป็นวิชาที่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจของตน พระภิกษุจงเป็นไม่ลดละที่จะหาทางไปฝากตนเป็นศิษย์เรียนวิชาด้วย หนทางที่ไกลแสนไกล ระหว่างทางล้วนมีแต่ความยากลำบากต้องฝ่าฟันในอุปสรรคและเสี่ยงต่อภยันตราย นานาสารพัดอย่าง มิใช่สิ่งที่จะหยุดยั้งเปลี่ยนวิถีความตั้งใจในการเรียนรู้หาวิชาของภิกษุจง ได้ สองเท้าท่านคงย่ำไปจนถึงทุกสำนัก แล้วก็กลับคืนมาพร้อมความสำเร็จทุกแขนงวิชาแห่งสำนักนั้น ๆ ทุกครั้งคราวไป อย่างเช่นการไปเรียนวิชาฝ่ายกรรมฐาน กับพระอาจารย์หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ท่านเป็นพระมหาเถระฝ่ายอรัญวาสีผู้ยิ่งใหญ่ที่แตกฉานในสมถะวิปัสสนากรรมฐาน ท่านหนึ่งในยุคสมัยนั้น

พระภิกษุจงได้ไปฝากตัวหมั่นศึกษาพากเพียรเรียนวิชาด้วยอิทธิบาทที่แก่กล้า เป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งเป็นที่ยอมรับในภูมิธรรมจากผู้เป็นอาจารย์ จึงได้เดินทางกลับสู่วัดหน้าต่างใน

เป็นเจ้าอาวาส
ในขณะที่พระภิกษุจง ยังคงพำนักอยู่กับผู้เป็นอาจารย์ คือท่านพระอาจารย์โพธิ์ ที่วัดหน้าต่างใน ซึ่งมีบ้านเป็นครั้งเป็นคราวที่ท่านขออนุญาตจากผู้เป็นพระอาจารย์ ไปเรียนวิชายังสำนักอื่น แต่เมื่อเจนจบหลักสูตร เป็นต้องกลับคืนสู่วัดหน้าต่างในต้นสังกัด ทุกครั้งไป แม้ว่าเวลานั้น ท่นจะยังคงอยู่ในฐานะพระลูกวัดศิษย์เจ้าอาวาสท่านพระอาจารย์โพธิ์ แต่ชีวิตแห่งการบวชเข้ามาอยู่ในเพศบรรพชิตของพระภิกษุจงก็นับได้ว่า เป็นชีวิตที่ได้รับความสำเร็จผลสมความตั้งใจ เป็นผู้รู้พระปริยัติธรรมตามฐานานุรูป และการปฏิบัติกรรมฐานทำความเข้าใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อใช้ปฏิบัติจิตให้บังเกิดความสงบสุขและบรรลุเข้าสู่วิถีแห่งความพ้น ทุกข์ ตลอดจนเป็นผู้รอบรู้เจนจบในทางเวทย์วิทยาคม ซึ่งมีพระอาจารย์โพธิ์เป็นปฐมพระอาจารย์ประสาทวิชาให้

วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา นอกจากจะยังประโยชน์ให้บังเกิดเป็นความสุขสงบเย็นเฉพาะตนแล้ว ยังสามารถใช้เป็นเครื่องกล่อมเกลาบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้อื่นตามควรแก่ ฐานานุรูป ตามด้วยความเหมาะควรแก่กาละเทศะต่อปวงชนทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจด้วย

ด้วยภูมิธรรมความรู้ อันเกิดจากความวิริยะพากเพียรที่หนุนเนื่องด้วยบุญบารมีเดิม จึงทำให้ท่านเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมปวงชนทั้งหลาย ซึ่งนับวันก็แต่จะมีจิตศรัทธาเลื่อมใสมากยิ่ง ๆ ขึ้น ฉะนั้น ต่อมาเมื่อหลวงพ่ออินทร์สิ้นบุญในอันที่จะครองเพศเป็นภิกษุ ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกได้ต่อไป ทำให้หน้าที่การดูแลวัดปกครองสงฆ์ของวัดหน้าต่างนอกว่างลง ซึ่งจำต้องรีบหาและแต่งตั้งเป็นการด่วน

ในความคิดความเห็นของบรรดาศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย ต่างเห็นพ้องต้องกันอย่างไม่มีการนัดแนะมาก่อนว่า พระภิกษุจง พุทธัสสโร ศิษย์ของท่านพระอาจารย์โพธิ์ วัดหน้าต่างใน เพราะสมกว่าใครอื่นทั้งหมด ด้วยความเห็นนั้น จึงได้ชักชวนกันไปหาท่านพระอาจารย์โพธิ์เพื่อขอพระภิกษุจงให้มาดำรงตำแหน่ง เป็นเจ้าอาวาสที่วัดหน้าต่างนอก แทนท่านพระอาจารย์อินทร์ พระอาจารโพธิ์ได้รับรู้แล้ว พิจารณาเห็นถึงความเหมาะสมหลาย ๆ ประการ เริ่มแต่ความศรัทธาของญาติโยมชาวบ้าน ความเหมาะสมของผู้เป็นศิษย์ จึงเห็นควรตามที่ญาติโยมเขามาขอ เมื่อศรัทธาเรียกร้อง พระอาจารย์เห็นชอบ พระภิกษุจงจึงมาทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกนับแต่นั้นมา

อยู่อย่างพระ
พระภิกษุจง พุทธัสสโร เมื่อมารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าต่างนอกแล้ว ก็ถูกขนานนามเป็น “หลวงพ่อจง” ซึ่งเป็นการเรียกขานด้วยความเคารพเทิดทูน ซึ่งเมื่อได้รับความเคารพบูชาเช่นนั้น หลวงพ่อจงท่านก็ ยิ่งพยายามปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดในศีลธรรมวินัย เจริญวัตรตามฐานะที่ผู้อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพบูชาพึงจะกระทำตามสิกขาบท เฉพาะที่เกี่ยวกับชาวบ้านท่านได้สำแดงจิตอัธยาศัย แผ่ไมตรีโอบอ้อมอารีต่อทุกบุคคลไม่เลือกหน้าว่าเป็นใคร จะยากดีมีจนอย่างไร หรือแม้แต่เป็นคนถ่อยชั่วจนชื่อว่าเป็นพาลชนจะเข้าหารือขอร้องให้ช่วยงาน ช่วยกิจธุระหรือช่วยทุกข์ หรือนิมนต์ให้ไปโปรดที่ไหน ไม่ว่าหนทางใกล้ไกลอย่างไร ท่านเป็นยอมรับยินดีกระทำธุระปลดเปลื้องบำเพ็ญกรณีให้ผู้มาขอได้รับความสุข ตามปรารถนาอยู่เสมอ ทำตามกำลังปัญญาของท่านโดยควรแก่ฐานานุรูปและกาลเทศะด้วยความเต็มใจอย่าง ยิ้มแย้มแจ่มใส

อากัปกิริยาของหลวงพ่อจงที่ปรากฎให้ทุกคนเห็น จะไม่มีการอำอึ้งขึ้งโกรธ แสดงความไม่ชอบใจ ไม่พอใจ หรือแม้การตั้งแง่อิดออดแต่อย่างใดเลย ทุกคนที่ไปพบไปหาจะสัมผัสกับความเมตตา ความยิ้มแย้มยินดีทุกครั้ง

หลวงพ่อจง มองคนทุกชั้นว่าเหมือนกัน และเท่าเทียมกันโดยสภาพแห่งมนุษย์ ไม่มีชั้นวรรณะ ท่านต้อนรับปราศรัยด้วยจิตใจวาจาและเครื่องต้อนรับอย่างเดียวกัน ไม่มีการตั้งเก้าอี้ หรือลาดพรมปูเสื่อเพื่อท่านผู้นั้น ชั้นนั้นชั้นนี้ กุฏิหลวงพ่อจงเปิดอ้าไว้ต้อนรับทุกคนตลอดเวลา หลายคนเคยปรารภว่า มานมัสการหลวงพ่อจงแล้วน่าเลื่อมใสจริง ๆ ท่านเป็นพระแท้ไม่มียศ ไม่มีเกียรติ ไม่ติดอามิสใด ๆ เลย แม้กระทั่งน้ำชา

หลวงพ่อเป็นบรรพชิตที่เหมาะสมแก่คนทุกชั้น ไม่มีคำว่า “ขนาดเราไปหาท่านแล้วเข้าไม่ถึง” โดยเด็ดขาด ทั้งนี้เพราะหลวงพ่อจงท่านทรงคุณธรรมอันสำคัญอยู่สามประการ คือ

1. เมตตากรุณา หลวงพ่อจงไม่เพียงแต่สอนให้ผู้อื่นมีเมตตากรุณาต่อกันเท่านั้น แต่ตัวของหลวงพ่อเองก็มีเมตตากรุณาประจำใจด้วยอย่างสมบูรณ์ ท่านยิ้มแย้มแจ่มใสกับทุกคน ไม่เคยเห็นท่านแสดงท่าทางโกรธเคืองผู้ใด ไม่ว่าเวลาไหน ใครมาหาท่านต้องการสิ่งใดท่านจะรีบทำให้ด้วยความเต็มใจและว่องไว บางครั้งแขกมาหาเป็นเวลาที่ท่านจำวัดแล้ว หลวงพ่อจงท่านยังรีบลุกจากที่จำวัดมาสงเคราะห์ให้จนสำเร็จประโยชน์

2. อธิวาสนขันติ หลวงพ่อจงท่านรับแขกตลอดเวลา ทุกเมื่อเชื่อวัน อดทนต่อความเมื่อยล้า ไม่เคยแสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้เห็นเลย

3. ปริจจาคะ หลวงพ่อจงท่านบริจาคทุกอย่างไม่ว่าสิ่งใด ใครขออะไรแม้กระทั่งย่ามที่ท่านถืออยู่ ท่านยินดีมอบให้ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส คุณธรรมสามประการนี้ เป็นวิหารธรรมที่หลวงพ่อจงท่านสร้างสมอยู่ชั่วชีวิตท่าน

เป็นพระทองคำ
หลวงพ่อจง เป็นพระเถราจารย์ที่มีวิทยาคมแก่กล้า ได้รับการถ่ายทอดวิทยาคมจาก หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ อำเภอบางบาล และหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อยุธยา พระอาจารย์ทั้งสองท่านนี้ ก็เป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เช่นกัน หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นสหายธรรมสนิทสนมกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นอันมาก เนื่องจากมีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน นัยว่าสองหลวงพ่อนี้เป็นศิษย์สำนักเดียวกัน จึงมีความสนิทสนมและต่างฝ่ายต่างเคารพนับถือธรรมปฏิบัติของกันและกันมากเป็น พิเศษ

หลวงพ่อปาน มีสังฆกิจอย่างไร ต้องนิมนต์หลวงพ่อจงไปในพิธีเสมอ หลวงพ่อจงมีสังฆกิจเช่นไรก็จะต้องนิมนต์หลวงพ่อปานไปร่วมพิธีทุกครั้ง หลวงพ่อปาน ท่านมักพูดแก่ศิษย์ของท่านเองว่า พระอย่างหลวงพ่อจงนั้น เป็นทองคำทั้งองค์ พระขนาดนี้อย่า ไปขออะไรท่านนะ จะเป็นบาปหนัก เพราะแม้เทพยดาชั้นสูง ๆ ยังต้องขอเป็นโยมอุปัฎฐากเลย

ด้วยเหตุนี้ ลูกศิษย์ของหลวงพ่อปานจึงเคารพนับถือหลวงพ่อจงมาก และท่านยังสั่งว่า “ถ้าฉันไม่อยู่ติดขัดเรื่องธรรมะ ให้ไปถามท่านจงนะ ท่านจงนี้น่ะ ท่านสอนเทวดามาแล้ว ถ้าเธอไปเรียนกับท่านจงได้ ก็นับว่าเป็นบุญของเธอ”

ปฏิบัติเป็นกิจ
กิจวัตรประจำวันอันสำคัญที่หลวงพ่อจงนิยม ปฏิบัติอยู่เสมอ คือ การทำวัตรสวดมนต์ทุกเช้า เวลาใกล้รุ่งระหว่างเวลา 04.00 น. ถึง 05.00 น. และเวลาเย็นประมาณ 18.00 น. (ถ้าไม่มีแขกมาหา) หลวงพ่อจะต้องทำวัตรสวดมนต์เป็นประจำไม่ขาด เว้นแต่อาพาธหรือติดกิจนิมนต์ไม่ได้อยู่วัดเท่านั้น

หลังจากสวดมนต์จบแล้ว หลวงพ่อจะเจริญกรรมฐาน อันเป็นธุระเอกของท่านอย่างสงบนิ่ง ประมาณวันละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงเป็นอย่างช้า ฉะนั้น ผู้ที่เคยมาหาหลวงพ่อและรู้เวลาของท่านแล้ว เขาจะไม่รบกวนท่าน รอจนกว่าท่านจะทำกิจเสร็จเรียบร้อย เพราะถ้าใครไปปรากฎตัวหรือด้อม ๆ มอง ๆ ให้ท่านเห็น หลวงพ่อจะรีบกราบพระลุกจากที่มาทันที ด้วยความที่ท่านมีเมตตาเป็นปุเรจาริก ปรารถนาจะสงเคราะห์ผู้อื่นให้สำเร็จประโยชน์ที่เขาต้องการ

เป็นผู้รักความสะอาด
หลังเวลาทำวัตรเช้ามืดเสร็จแล้ว และเวลาเย็นหลวงพ่อจะถือไม้กวาดฟั่นด้วยปอยาว ๆ เดินกวาดสถานที่ต่าง ๆ เช่น ถนนหนทาง กุฏิ ศาลา เป็นต้น ไม่ว่างเว้น ท่านมีสุขนิสัยรักความสะอาดอย่างยากที่จะหาผู้ใดมาเปรียบได้ ท่านไม่รังเกียจว่า สถานที่ท่านกวาดนั้นเป็นกุฏิของผู้ใด ถ้าหลวงพ่อพบฝุ่นละอองที่ไหน ท่านจะปัดกวาดให้จนสะอาดเรียบร้อยไม่เคยว่ากล่าวผู้ใดทั้งสิ้น ใบหน้าหลวงพ่อยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่ตลอดเวลา ในระยะหลัง พระอุปัฏฐากและศิษย์รับใช้ เมื่อเห็นท่านปัดกวาด ต้องรีบมาทำแทนท่าน เพราะเห็นว่าท่านชราภาพมากแล้ว ท่านหมั่นทำความสะอาดอยู่กระทั่งถึงวาระสุดท้าย ลุกจากที่จำวัดไม่ได้ กิจกรรมเช่นนี้ เป็นที่ควรปฏิบัติตามสำหรับอนุชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งเหล่านี้มีพระพุทธภาษิตรับรองอยู่ว่า อสชฺฌายมลา อนุตา อนุฏฐานมลา ฆรามลํ วณฺณสฺสโกสชฺชํ ปมาโท รกฺขโต มลํ ซึ่งแปลว่า เวทมนต์ที่ไม่ท่องบ่นย่อมเสื่อมคลาย เรือนทั้งหลายที่ไม่ปัดกวาดย่อมเสื่อมโทรม ความเกียจคร้านเป็นความเศร้าหมองของผิวพรรณ ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา

ปฏิปทาน่าฉงน
การปฏิบัติอันเป็นกิจวัตรของหลวงพ่อจง บางอย่างก็แปลก ๆ เป็นปริศนาให้ผู้พบเห็นคิดอยู่นาน เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อกบ วัดเขาสาริกา อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี กล่าวคือ พอตกกลางคืนท่านจะออกมาจากกุฏิ โดยถือไม้กวาดแล้วกวาดลานวัดไปเรื่อย ๆ กวาดจนรอบวัดแล้วยังกวาดใหม่อยู่อย่างนี้จนดึก

หลังจากนั้นก็เดินขึ้นกุฏิไปเข้ามุ้ง แต่ไม่ดับตะเกียง ท่านจะนั่งสมาธิอยู่เป็นครู่ใหญ่ แล้วออกจากมุ้งมากวาดลานวัดอีก เมื่อกวาดรอบวัดเสร็จก็จะกลับขึ้นไปเข้ามุ้งในกุฎิ ทำสมาธิ หลังจากนั้นก็จะออกมากวาดลานวัดเป็นคำรบสาม เสร็จแล้วก็เข้ามุ้ง นั่งสมาธิ เป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นจึงดับตะเกียงจำวัด หลวงพ่อจงปฏิบัติธรรมของท่านเช่นนี้ตลอดมา

ก่อนที่จะมรณภาพไม่นาน ลูกศิษย์ใกล้ชิดเก็บความสงสัยไว้ไม่อยู่ ได้ถามท่านว่า ทำไมถึงชอบกวาดลานวัดตอนดึก ๆ ขณะพระลูกวัดจำวัดหมดแล้ว ท่านตอบสั้น ๆ ว่า “วัดสะอาด ใจก็สะอาด กวาดวัด แล้วกวาดใจ ตายแล้วไม่ไปอบายภูมิ”

มักน้อยสันโดษ
หลวงพ่อจง ท่านเป็นพระที่มักน้อยสันโดษ อย่างมาก ใครมาหาท่าน ท่านก็ต้อนรับขับสู้ด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใสมีเมตตา ใครจะนั่งอยู่ดึกดื่นค่อนคืนอย่างไร ท่านก็ยังคงต้อนรับอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งแขกเหรื่อหมดแล้ว ท่านจึงจะเข้ากุฏิ

หลวงพ่อจง เป็นพระที่เสียสละอย่างสูง เมตตาของท่านท่วมท้นทั้งในอาณาจักรและศาสนจักร ในประการหลังนี้จะเห็นได้จากการที่ท่านรื้อกุฏิในวัดของท่านถวายแก่วัดที่ ยากจน ซึ่งท่านทำเช่นนี้เสมอมา นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมวัดหน้าต่างนอกที่มีพระอาจารย์ชั้นเยี่ยมอย่างหลวงพ่อจงเป็นเจ้าอาวาส จึงไม่ค่อยเจริญในด้านวัตถุมากนัก ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่า พระสุปฏิปันโนเฉกเช่นหลวงพ่อจงนี้ ท่านมีแต่ขนออกแจกเขาอย่างเดียว ไม่มีการนำเข้า มีแต่แจกออกไป ใครถวายสิ่งใดแก่ท่าน ท่านก็นำออกมาถวายให้พระลูกวัดเป็นสังฆปัจจัยจนหมด

ในด้านสมณศักดิ์นั้นท่านก็วางเฉย มีลูกศิษย์ที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาปรารภกับท่านบ่อย ๆ ทำนองใคร่สนับสนุน แต่ท่านปฏิเสธไปอย่างสุภาพและนุ่มนวลอีกว่า “อาตมา แก่แล้ว สังขารไม่เอื้ออำนวย มันจะเจ็บ มันจะแก่ มันจะตาย ไปบังคับมันไม่ได้ สังขารของอาตมาจึงไม่เหลือที่จะเป็นประโยชน์แก่กิจของสงฆ์อีกแล้ว”

แม่แต่ตอนที่ท่านมรณภาพ เงินสักเฟื้องสักสลึงก็ไม่มีติดย่าม ย่ามของท่านนั้นเล่าก็เก่าคร่ำคร่า ย่ามดี ๆ ท่านก็ให้แก่พระลูกวัดใช้จนหมดสิ้น สมบัติของท่านที่เหลืออยู่ให้เราเห็นในทุกวันนี้ มีเพียงเก้าอี้โยกเก่า ๆ ตัวหนึ่ง รูปปั้นฤาษี “พ่อแก่” และพระพุทธรูปบูชาขนาดเล็กที่ท่านบูชาประจำองค์เดียวเท่านั้น

สร้างเพื่อรื้อถอน
กุฏิที่ท่านจำวัดก็เป็นไม้เก่า ๆ ผุพังไปบางส่วน เวลานี้เขาย้ายที่ไปสร้างใหม่ โดยรื้อมาประกอบทั้งหลัง ไปดูที่วัดก็ยังได้ ถ้าใครไม่เชื่อ สมัยที่ท่านมีกิตติคุณเกรียงไกร สามารถเอื้ออำนวยให้วัดมีสิ่งก่อสร้างถาวรวัตถุเป็นปูนเป็นอิฐ ขนาดใหญ่เท่าใดก็สามารถทำได้ แต่ท่านกลับมีอุบายอันแยบยลด้วยการรื้อถอนกุฏิบริจาคให้วัดอื่น เพื่อสร้างนิสัยสั่งสมบุญกุศลแก่ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลาย

ลูกศิษย์ที่เคารพนับถือท่าน เขามีเงินเป็นเศรษฐี ได้มาสร้างเสนาสนะและสิ่งอื่น ๆ อยู่เป็นประจำ แต่ท่านขอให้ลูกศิษย์ทุกคนก่อสร้างให้รื้อถอนได้ กล่าวคือ สร้างสำหรับแบบรื้อได้นั่นเอง ไม่มีใครทราบเหตุผลว่าทำไมท่านจึงสั่งเช่นนั้น แต่บรรดาลูกศิษยก็ไม่อาจขัดท่าน เพราะศรัทธาในตัวท่าน สั่งเช่นไรก็ทำไปเช่นนั้นไม่มีบิดพลิ้ว

เมื่อสร้างเสร็จและฉลองศรัทธาของญาติโยมโดยใช้อาศัยอยู่พักหนึ่ง หากมีวัดใดขัดสนท่านก็บอกให้ถอนไปตั้งที่วัดนั้นวัดนี้ เคยมีลูกศิษย์น้อยอกน้อยใจไปต่อว่าท่าน ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า “เธอสร้างให้หลวงพ่อเป็นศรัทธาของเธอ กุศลมีแก่เธอแล้วทุกประการ พระสงฆ์และวัดเป็นเนื้อนาบุญ วัดไหนก็เหมือนกัน ถ้าหลวงพ่อบอกให้เธอไปสร้างให้วัดอื่น เธอคงไม่ยอมไป เพราะศรัทธายังไม่มี เมื่อสร้างแล้วหลวงพ่อไปถวายวัดอื่น บุญกุศลนั้นก็ยังเป็นของเธออย่างเต็มเปี่ยม ขอเธอจงโมทนาเถิด”

คำกล่าวของหลวงพ่อ พระเถราจาย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยาครั้งกระนั้น ประดุจโอวาทที่ศิษย์รับใส่เกล้าทุกคน

วิธีอบรมจิต
หลวงพ่อจง พุทธัสสโร ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในการปฏิบัติกรรมฐานอันเป็นเครื่องชำระจิตให้หมดจด จากกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม ในขบวนการใช้อุบายแยบคายอบรมบ่มจิตให้ได้รับความสงบ จนบังเกิดเป็นสมาธิและฌาน กับอาการอบรมจนให้ดวงจิตบังเกิดปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน ก็ดี หลวงพ่อจงพอใจชอบใช้ฝึกจิตในแนวทางเรียกว่าอสุภะมากกว่าวิธีอื่น

อสุภะ ตามความหมายก็คือ หมายความถึงสิ่งอันเป็นซากของวัตถุ หรือซากร่างปราศจากชีวิตอันไร้ความน่าดู ปราศจากความสวยงาม ตรงข้ามน่าพึงชังรังเกียจ น่าพึงเบื่อหน่าย ขยะแขยงสะอิดสะเอียน หลวงพ่อจงพอใจใช้วิธีการเพ่งอสุภะ เป็นแนวทางอบรมบ่มจิต ก็เพราะได้คิดว่า มันเป็นการช่วยให้ตนสามารถมองเห็นชัดด้วยตาและบังเกิดความรู้สึกในใจให้คิด สังเวชอย่างซาบซึ้งถึงความจริงในข้อที่ว่า ตนและสรรพสัตว์ เมื่อต้องมีอันเป็นไปบังเกิดเป็นความตายแล้ว ก็ต้องมีสภาพน่าอเนจอนาถ ไม่น่าดู ไม่น่ารัก แต่น่าชัง น่ารังเกียจ ทุเรศอุจาดตา ดังนี้ด้วยกันทั้งนั้น และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น

ซึ่งจากข้อคิดนี้ จะทำให้ดวงจิตแห้งแล้งหดหู่ ปราศจากความร่านยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ปราศจากความหลงงมงายคิดว่าร่างกายเป็นสิ่งสวยงาม จะได้เป็นเครื่องบรรเทาอัสมิมานะ คือความสำคัญผิดเพ้อเห็นไปว่า ร่างกายนั้นหนอ มันเป็นตัวตนของเขาของเราจริงแท้ ซึ่งความจริงมันมิใช่ ความจริงมันเป็นเพียง อัตตะ ปราศจากตัวตน เป็นที่รวมอยู่ของธาตุทั้งห้า ชั่วครั้งคราวโดยสภาวะปรุงแต่งแวดล้อม ครั้นถึงกาลเวลาก็แตกดับล่วงลับสลายไป ไม่เป็นเขาไม่เป็นเรา ดังนั้นจึงไม่บังควรไปหลงคิดรัก หลงหวงแหน หลงป้อยอ หลงรับ ใช้หาของกินรสโอชะ หรือหลงไหลกดขี่ขูดรีดคนโกงแย่งชิงสรรพสิ่งจากที่อื่นสิ่งอื่นไปบำรุงบำเรอ มัน เพราะอย่งไรในที่สุดก็ไม่พ้นเสียเปล่าและสูญสิ้นเปล่า เหมือนชีวิตไม่เคยมีใครรักษามันไว้ได้

หลวงพ่อจง ชอบเพ่งมองอสุภะ คือรูปเน่าเปื่อยของศพที่มีผู้เอามามอบให้ และท่านเก็บไว้ในห้องที่จัดไว้พิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งซ่อนเร้นมิให้ประเจิดประเจ้อต่อความรู้เห็นของผู้อื่น ท่านจะใช้เวลายามปลอดและสงัดผู้คนเข้าห้องพิเศษ พร้อมด้วยดวงเทียนหรุบหรู่ เข้าไปนั่งเฝ้าเพ่งมองดูรูปศพคนตาย ไม่เลือกว่าจะเป็นศพขึ้นอืดจนเป็นน้ำเหลืองหยด จะมีกลิ่นเหม็นหรือเป็นซากศพแห้งเหี่ยวย่น หน้าตาน่าเกลียดเพียงใด ท่านก็จะเฝ้าจ้องมองเพ่งดูอย่างจริงจัง เพ่งมองให้เป็นภาพติดตาจนจำขึ้นใจว่า ศพนั้นท่าทางรูปร่างเป็นอย่งนี้ แห้งเหี่ยวเป็นรอยย่นผิดหน้าตามนุษย์ธรรมดายังงั้นยังงี้ หรือมีน้ำเหลืองหยดเพราะอาการเน่าเปื่อยตรงนั้นตรงนี้ พร้อมกันนั้น ก็กระทำจิตให้บังเกิดอารมณ์สังเวชว่า รูปกายเกิด เกิดมาแล้วก็ต้องถึงวาระมีอันเป็นเบียดเบียนให้เจ็บป่วย ถูกทำร้ายหรือบังเกิดอุบัติเหตุเป็นภัยอันตรายถึงตาย ตายแล้วก็มีอาการน่าอเนจอนาถต่าง ๆ นานา เป็นเช่นนี้เสมอไป ร่างกายหนอ...ชีวิตหนอ...ต่างล้วนเป็นภาพน่าอนาถ น่าสังเวช น่าชิงชัง น่าเบื่อด้วยกันทั้งนั้น เช่นนี้แล

เกี่ยวกับการพิจารณาซากอสุภะของหลวงพ่อจงนี้เคยมีผู้สงสัยถามว่า เมื่อทำดังนี้และปลงอารมณ์ได้ดังนี้แล้ว จะบังเกิดประโยชน์อะไร หลวงพ่อจงให้คำตอบว่าได้ประโยชน์คือ ทำให้ไม่หลงไหลรักตัวตนว่าเป็นตัวตนของเขาของเรา มันเป็นแค่ชีวิตกายที่ก่อสารรูปขึ้นได้ด้วยสภาวะแวดล้อมของธาตุทั้งสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ เข้ารวมตัวกัน ความคิดเห็นแก่ตนเองเอาเปรียบเบียดเบียนผู้อื่นจะหย่อนหายไปจากสันดาน โลภโมโทสัน เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งขัดเกลาสันดานจิตใจให้ผ่องใสสะอาด

หากมนุษย์อันเป็นตัวสมมุติของกายเกิด ไม่หลงนึกแยกประเภทของกายเกิดว่านั่นเป็นเขา นี่เป็นเรา ดังนี้แล้ว การอยู่ร่วมกันในสังคม บ้านเมือง ตลอดทั่วโลกก็จะมีแต่ความสงบสุข ไม่ต้องมีการดิ้นรนจองล้างจองผลาญย่ำยีต่อกัน นั่นคือคำตอบอันเป็นการไขข้อสงสัยในกรรมฐานที่ท่านพิจารณาอยู่ทุกเมื่อของ หลวงพ่อจง

หลวงพ่อจง ออกธุดงค์ การปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อจง มิใช่จำเพาะอยู่แต่ภายในวัดหน้าต่างนอก ที่ท่านรับหน้าที่มาดูแลในฐานะเจ้าอาวาสเท่านั้น แม้ยามว่างเว้นจากกิจอันเป็นภาระตามหน้าที่ที่ศรัทธาญาติโยมมอบหมายให้ ท่านจะปลีกตัวออกไปหาความสงบสงัดยังสถานวิเวก ยังป่าเขาลำเนาถ้ำอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะในช่วงออกพรรษา การเดินทางไปฝึกจิตภาวนาของหลวงพ่อจงนั้น มักจะนิยมไปเพียงลำพัง เพราะท่านว่าเป็นการตัดภาระไม่ต้องพะวักพะวงกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ร่วม เดินทาง แต่ถ้ามีพระเณรประสงค์จะร่วมเดินทางด้วย ท่านก็มิขัดข้องแต่อย่างใด และในทุกสถานที่ทุกถิ่นฐานที่ท่านผ่านไป หากมีสถานที่สำคัญทางศาสนา ปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานต่าง ๆ ท่านมักจะต้องแวะเข้าไปกราบนมัสการน้อมรำลึกเป็นพุทธสังเวชเสมอ

ฉะนั้น ไม่ว่าสถานที่สำคัญใดในประเทศ จะเป็นรอยพระพุทธบาทก็ดี พระเจดีย์ธาตุก็ดี หลวงพ่อจงท่านไปนมัสการมาจนหมดสิ้นแล้วทั้งสิ้น

ไปพม่า
ภายหลังจากที่ได้เคยเดินทางบุกดงรกชัฏท่องป่า ข้ามภูเขาและห้วยละหานเหวไปกระทำนมัสการบูชารอยพระพุทธบาท และเจดีย์สำคัญทุกแห่งในเมืองไทยแล้ว หลวงพ่อจงได้ยินเขาเล่าว่า ประเทศพม่ามีเจดีย์สำคัญสูงใหญ่ คือ พระมหาเจดีย์ชะเวดากอง ท่านก็เกิดความกระตือรือร้นใคร่จะได้ไปนมัสการทันที แต่เมื่อปรารภเรื่องนี้ให้ญาติและเพื่อนภิกษุสงฆ์ผู้ใหญ่ฟังแล้ว ส่วนมากทักท้วงให้ระงับยับยั้งมิอยากให้ไป ต่างอ้างเหตุผลว่า หนทางมันไกลนัก อีกอย่างเป็นเมืองต่างด้าวพูดกันไม่รู้เรื่อง ประการสำคัญคือ ถนนหนทางที่จะไปก็ไม่มีเส้นสายแน่นอน นอกจากจะต้องเดินวกเวี้ยวเลี้ยวลัดและมุดลอดไปตามดงทึบหรือป่าเถาวัลย์ไม้ พุ่มไม้เลื้อย นานาชนิด

ด่านแรก สำคัญที่สุดคือจะต้องบุกฝ่าไปในพงพญาเย็น ดงพญาไฟ ซึ่งครั้งกระนั้นรกชัฏ ยามร้อน ร้อนจัด ยามเย็น เย็นยะเยือกและชื้นแฉะ จนได้รับสมญาขนานนามเป็นดงผีห่า ผู้เดินทางผ่านดงยิ่งใหญ่ทั้งสอง ซึ่งมีระยะยาวนับเป็นร้อย ๆ กิโลเมตร มีสภาพถูกปกคลุมไปด้วยไม้ใหญ่เป็นดงทึบจนมองไม่เห็นแสงแดด เต็มไปด้วยไม้เลื้อยพัวพันกันเป็นพืดเหมือนแนวกำแพงชั้นแล้วชั้นเล่าไม่มี ที่สิ้นสุด นอกนี้ก็เต็มไปด้วยหินแหลม หินคม โขดเขา หุบเหวใหญ่น้อย เต็มไปด้วยสรรพสัตว์ร้ายทั้งทวิบาท จตุบาท กับอสรพิษสัตว์เลื้อยคลานร้อยแปดพันอย่าง ซึ่งหากพลั้งเผลอปราศจากระวังพริบตาเดียว ก็เท่ากับเอาชีวิตไปทิ้งเสียเปล่า

ยิ่งกว่านั้น ในเรื่องมดหมอหยูกยา หลวงพ่อจงก็ขาดปราศจากความรู้ ผู้จะเป็นเพื่อนเดินทางไปด้วยก็เช่นกัน ฉะนั้น แม้จะรอดจากเขี้ยวเล็บสัตว์จตุบาท ไหนเลยจะรอดจากโรคภัย โรคเฉพาะจากดงใหญ่มหากาฬพญาเย็นพญาไฟ ซึ่งขึ้นชื่อลือกะฉ่อนว่า เป็นดงผีห่ามหาประลัยไปพ้น เปล่า...ใครจะชักแม่น้ำทั้งห้ากีดกันขัดคออย่างไรไม่เป็นผล หลวงพ่อจงไม่เถียง ไม่แม้แต่จะหาเหตุผลใดเข้าหักร้างหักข้อแย้ง เป็นแต่เพียงหัวเราะ หึ หึ ตีหน้าตายเสมือนมิได้แยแสต่อสรรพสิ่งน่าสยดสยองน่ากลัวตามคำบอกเล่าเหล่า นั้นแม้แต่น้อยนิด คำพูดของท่าน พูดสั้น ๆ ห้วน ๆ ตามนิสัย ซึ่งผู้ฟังฟังแล้วรู้สึกได้ทันทีว่า ลงพูดอย่างงั้นเอาช้างฉุดไว้ก็ฉุดไม่อยู่ ท่านว่า “ไม่เป็นไรน่า ทั้งฉันก็ศรัทธาอยากไป จริง ๆ ด้วย”

เมื่อปณิธานมั่นคงไม่เอนเอียง ไม่ทรุดต่ำต่อเหตุผลของใครในใจท่านแน่วแน่เป็นประการฉะนี้ การทักท้วงทัดทาน มิว่าด้วยเหตุผลน่าหวั่นไหวอย่างใด ไม่ทำให้ท่านเอนเอียงย่อท้อถอยหลัง หลวงพ่อจงปักหลักเจตนาของท่านไม่มีแคลนคลอน ตั้งจิตจะไปนมัสการพุทธเจดีย์ชะเวดากอง ไม่ว่าอยู่พม่าหรือมุมใดของโลกก็ต้องไปให้ถึงจนได้ เพื่อกระทำไตรสรณาคมน์สักการะให้สมศรัทธาซึ่งจงใจใฝ่ฝันไว้

กลางป่าพญาไฟ
ดังนั้น เมื่อได้โอกาสที่กำหนด หลวงพ่อจงท่านก็แต่งบริขารเท่าที่จำเป็น พร้อมด้วยกลดสำหรับกางนอนแบบธุดงค์ ได้ออกเดินจาริกด้วยเท้าเปล่า โดยลำพังรูปเดียวโดยเดี่ยวเอกา เดินท่อม ๆ ออกจากอาวาสวัดหน้าต่างนอก บุกฝ่าไปตามทางน้อยทางลัดมุ่งสู่สระบุรี ที่วัดพระพุทธบาท ได้พระภิกษุผู้มีจิตศรัทธาติดตามไปอีกสองรูป จากนั้นเมื่อไปถึงชายแดนลพบุรี ซึ่งเป็นทางออกสู่ดงพญาเย็นพญาไฟ ก็ได้ภิกษุอีกสองรูปร่วมเดินทางไปด้วย รวมเป็นห้ารูปทั้งหลวงพ่อจง และทั้งห้ารูปไม่มีศิษย์แม้แต่สักคนติดตามไปรับใช้ปฏิบัติวัฏฐาก

เพราะดงพญาเย็นพญาไฟสมัยยุคนั้น มีอาณาบริเวณซึ่งรกชัฏกว้างไพศาล เป็นอาณาเขตรกทึบ มืดครึ้มไปด้วยดงไม้ใหญ่สูงชะลูด เมฆบดบังแสดงอาทิตย์ไม่ให้ส่องต้องพื้นดินใบหญ้า พื้นแผ่นดินก็ทึบมืดชื้นแฉะเต็มไปด้วยกลิ่นเน่าของใบไม้และดินโคลน หอยทาก งูเล็ก งูใหญ่ ตะขาบ แมงป่อง บรรดาสรรพสัตว์ร้ายยั้วเยี้ย เพ่นพ่านสลับสลอน สภาพภูมิพื้นที่เป็นเช่นนี้ เป็นธรรมดายากจะหาชาวบ้านคนใดไปทนทรมาน ยกบ้านสร้างกระท่อมอาศัยอยู่ เพราะจะทำมาหากินทางกสิกรรมหรือป่าไม้และอื่นใดในบริเวณย่านนั้นก็ย่อมไม่ เป็นผล จะทำไร่ไถนาหาใส่ท้องก็ยิ่งจะไม่ได้ โดยสภาพปกติที่เป็นเช่นนั้นแล้ว ใครเล่าจะนำตัวไปอยู่ในท้องถิ่นเปรียบเสมือนนรกได้ลงคอ

ด้วยเหตุผลประการฉะนี้ ทุกย่างก้าวของระยะทางที่เดินเป็นวัน ๆ ในท่ามกลางดงพงพีอันสงบสงัด แต่วังเวงอย่างน่าสยองขน ต้องระวังเขี้ยวเล็บสรรพจตุบาท ทวิบาท โรคร้ายนานาชนิดจากพื้นดินแฉะตลอดกาล ปราศจากชาวบ้านจะเกื้อกูลถวายกระยาหารบิณฑบาตร ตั้งแต่สระบุรีเข้าดงพญาเย็นพญาไฟ ต้องใช้เวลาถึงสี่วันกว่าจะผ่านไปได้ เพราะหนทางเดินแน่นอนก็คลำหายาก มันเต็มไปด้วยดงหญ้ากับเถาวัลย์พันรกทึบเปิดทางเดินเล็กแคบ ยิ่งกว่านั้นบางตอนหนทางมันก็ไปผ่านห้วยและหุบเหว จนมองหรือสังเกตไม่เห็นได้โดยง่าย ว่าเป็นเส้นทางใช้เดิน บางตอนก็ไปออกทางเกวียนและริมทางน้ำ ซึ่งมีรอยตีนเสือ ช้าง หมี รอยใหญ่ ๆ ก่อให้เกิดความหวั่นไหว แม้จะไม่กริ่งกลัวของภิกษุจอมธุดงค์ทั้งห้าไม่น้อย ซึ่งในการผจญและเผชิญกับการรุกเงียบอย่างโหดเหี้ยมต่อความรู้สึกทางจิตใจ เช่นนี้ของธรรมชาติป่าเขา การเดินทางจึงเป็นไปไม่สะดวก เต็มไปด้วยความขลุกขลักเป็นอุปสรรค หลงทางบ่อย บางวันต้องหลงป่าหาทางใหม่ให้เข้าสู่เส้นทางที่ชาวบ้านใช้ถึงสี่ครั้งหน้า ครั้ง และบางวันเดิน ๆ ไปแล้วไม่รู้ว่าเป็นเวลาไหน ถึงไหนแล้ว

ยิ่งกว่านั้น มีโชคร้ายเข้ามารุกรานจิตใจ ในตอนสายของวันที่สี่ ท่ามกลางดงพญาไฟตอนจะออกนครราชสีมา โดยภิกษุผู้ร่วมทางได้อาพาธเป็นไข้ป่าอย่างรุนแรง แม้จะช่วยกันถวายยาที่มีติดไปเท่าไรก็ไม่หาย อาการรุนแรงดุเดือดทรุดเสื่อมอย่างรวดเร็ว คณะทั้งสี่ผู้ไม่อาพาธก็ต้องพักผ่อนเฝ้าดูแลอาการ เพราะมาด้วยกันจะทิ้งไว้เดียวดายนั้นไม่ได้ ที่สุดก็ต้องเสียเวลาอยู่ในป่า โดยเลือกเอาริมเหวที่มีพื้นที่ราบสูงกว่าแห่งอื่นได้แห่งหนึ่งพำนักพักรักษา สหายภิกษุผู้อาพาธ จวบจนวันรุ่งขึ้นตอนสายภิกษุรูปนั้นก็มิอาจทนทานพิษไข้ ก็มรณภาพต่างช่วยกันฝังไว้ตามมีตามเกิดแล้ว บ่ายวันนั้น จึงเดินทางหลุดรอดจากดงพญาเย็นพญาไฟ ผ่านเขตลพบุรีย่างเข้าเขตนครสวรรค์

ฝ่าดงอสรพิษ
ที่นครสวรรค์ ได้ภิกษุร่วมเดินทางไปอึกหนึ่งรูป รวมเพิ่มจำนวนเป็นห้าอีกตามเดิม แต่ระหวางนครสวรรค์ถึงพิษณุโลกก็ไม่ใช่ว่าเป็นพื้นที่ราบ เป็นป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ ไม่เหมือนในดงพญาเย็นดงพญาไฟก็จริง แต่บางแหล่งก็เต็มไปด้วยอสรพิษร้าย โดยเฉพาะตอนที่เป็นบึงบรเพ็ดเวลานี้ มีน้ำท่วมเจิ่งและมีบริเวณกว้าง ตามทางที่เป็นป่าริมน้ำ ซึ่งต้องผ่าน มีจระเข้นอนกันอยู่ยั้วเยี้ยอยู่ทั้งสองฟากฝั่ง เหล่างูเห่าและบ้างจงอางเลื้อยเพ่นพ่านไปมา เมื่อได้ยินฝีเท้าแม้จะเดินกันไปรวดเร็วแผ่วเบา สัญชาตญาณระวังภัยและมีสันดานดุโดยกำเนิดของมันตามธรรมชาติ มันต่างชูหัวสูงแผ่พังพานคุกคามภิกษุทั้งห้ารูปอย่างน่าสยดสยอง และดังนั้น แม้จะมีการระมัดระวังกันเป็นอย่างดี โดยพระภิกษุทั้งห้าทุกรูป ไม่มีรูปใดเกรงกลัวมัน ต่างพยายามหลบหลีกเดินหนีมัน ไม่มีเวรกรรมพยาบาทโกรธเกลียดมันด้วยประการใด เจ้างูจงอางตัวหนึ่งซึ่งอาจเป็นคู่เวรจองผลาญมาแต่ครั้งใด กับภิกษุรูปหนึ่งที่มาจากสระบุรี มันก็ได้มีโอกาสจู่โจมฉกกัดท่าน กว่าจะพอกยาหาหมอได้ทันก็หมดเวลา พิษร้ายกำเริบจนทนไม่ได้ ภิกษุรูปนั้นก็ต้องมรณภาพไปอย่างน่าสลดใจ

เดินเดี่ยว
ผ่านถึงแดนพิจิตร ที่วัดตะพานหินได้ภิกษุอีกรูปหนึ่งขอร่วมทางไปด้วย ตกลงการเดินทางจากพิจิตรมุ่งสู่พิษณุโลก คงมีคณะร่วมทางครบจำนวนห้าตามเดิม แต่จากพิจิตรระหว่างทางเข้าเขตพิษณุโลก ภิกษุจากลพบุรีก็ต้องมรณภาพเสียชีวิตไปอีกรูปหนึ่ง ตอนเดินข้ามลำธารพงรกถูกจระเข้คาบพาไป ทิ้งศพไว้ให้ช่วยกันฝังเพียงครึ่งเดียว จากพิษณุโลกมุ่งเข้าสู่แม่สอดเพื่อทะลุขึ้นเชียงราย โดยหมายเส้นทางเข้าแม่ฮ่องสอนและเข้าสู่พม่าในด้านที่ตั้งชะเวดากอง ภิกษุร่วมทางต่างค่อยมรณภาพไปทีละรูปด้วยโรคไข้ป่า และบ้างขาดอาหารเป็นโรคท้องร่วงอย่างแรง (อหิวาต์) อีกทั้งในตอนระยะหลัง ๆ เมื่อผ่านแม่สอดจนถึงแม่ฮ่องสอนแล้ว ไม่มีภิกษุจังหวัดรายทางเข้าร่วมเดินทางธุดงค์เพิ่มด้วย เมื่อหลุดจากแม่ฮ่องสอนเข้าสู่แดนพม่า จึงคงเหลือหลวงพ่อจงแต่องค์เดียว บุกท่อม ๆ ไป อย่างเอกากายแลโดดเดี่ยวเป็นเวลาอีกสองวัน กว่าจะถึงพม่าได้เข้านมัสการพระเจดีย์ชะเวดากอง

ธรรมะประโลมใจ
หลวงพ่อจง ยอมรับว่า แรก ๆ เมื่อเห็นสหายร่วมทางมีอันเป็นต้องจากกันไปในสภาพที่เรียกว่า ตาย รู้สึกใจคอหดหู่และสลดจิตคิดสังเวช แต่เมื่อได้ทบทวนหวนคิดได้ว่า อันรูปกายเกิดของมนุษย์และปวงสรรพสัตว์ ก็มีความตายนี่แลเป็นความเที่ยงแท้ ที่ชีวิตตายเกิดทุกรูปนามพึงต้องประสบ รูปกายใด มิว่าจะเป็นผู้มีอำนาจวาสนา มิว่าจะอยู่ในฐานันดรและอยู่ในสภาพมิว่าเยี่ยงใด จะเป็นจอมนักรบผู้เกรียงไกร เป็นจอมมหาราชาผู้มีศักดานำขนพองสยองอำนาจ รูปกายเกิดเหล่านี้ก็จะต้องประสบกับมรณสัญญาณเป็นปริโยสานด้วยกันทั้งนั้น มิว่าจะในลักษณะการละม้ายแม้นเหมือน หรือแตกต่างกันในบทบาทเคลื่อนไหวอย่างใดก็ตาม มฤตยูมิยอมยกเว้น หรือแม้แต่จะให้มีการผ่อนผันให้รูปกายใดผัดผ่อน ประกันวันตายยืดออกไป

เมื่อปลงตกคิดเห็นสาเหตุความต้องตายเป็นอย่างนี้ จิตก็รู้สึกจืดชืดต่อความหวั่นไหวและหวาดเสียวแห่งมรณสัญญาณ มิว่าจะย่างกรายเข้ามาคุกคามในวิธีการเยี่ยงใด ตรงข้ามเมื่อเห็นความตายของผู้อื่น แต่ตนเองยังมิเคยถูกรุกรานให้บังเกิดเหตุเภทภัยย่ำยี กลับทำให้บังเกิดเป็นเจโตวสี คือเพิ่มพูนอำนาจใจให้ทวีความกล้าแข็งยิ่งขึ้น

เพราะใจมั่นในธรรม
ที่พม่า แม้จะพูดจากันไม่รู้เรื่องในแรก ๆ แต่เมื่ออยู่ไป การใช้ภาษาบุ้ยใบ้บ้าง ใช้ภาษามคธและภาษาพม่าที่สังเกตจดจำไว้ ก็ทำให้รู้เรื่องและได้รับความสะดวกในการอยู่ในพม่าเป็นเวลานานหลายเดือน เป็นอย่างดี ตอนขากลับ หลวงพ่อจงต้องเดินทางเพียงรูปเดียวอย่างโดดเดี่ยวด้วยจิตใจกล้าหาญ ไม่กริ่งเกรงเหตุเภทภัยอย่างใด และได้แวะจำพรรษาที่วัดแห่งหนึ่งที่กำแพงเพชร เพราะคาดคะเนแล้วว่าการเดินทางจะทำไม่ได้รวดเร็วตามกำหนด จึงคิดเห็นว่าสมควรกลับวัดเมื่อรอให้พ้นกำหนดออกพรรษาจะสะดวกกว่า ทั้งขาไปและกลับ หลวงพ่อจง ได้รับความปลอดภัยอย่างอัศจรรย์แต่ผู้เดียว ส่วนภิกษุผู้ร่วมทาง 7 รูป ถึงแก่มรณภาพไปสิ้น หลวงพ่อจงเคยพูดว่า ท่านเองก็ไม่รู้ได้เหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุใด ท่านจึงไม่พานพบเหตุร้ายหรือเจ็บปวดแม้แต่เล็กน้อยก็ไม่เคยมี แต่ระหว่างทางเคยเหยียบหินและลื่นลงหลุมเล็กจนเท้าแพลงสักหนสองหน นอกนั้นไม่เคยประสบเหตุการณ์อะไร จิตใจของท่านก็รู้สึกว่ามันเป็นปกติ ไม่เคยซู่ซ่าพลุ่งพล่านหวาดสยองกับการคุกคามของธรรมชาติอันเป็นวิบาก ทุรกันดาร ไม่เคยกริ่งกลัวต่อความวิเวกวิกาล หรือความอ้างว้างท่ามกลางหริ่งเรไรระงมกลางไพรที่สงัด

แม้รู้ก็ไม่หนี
ภายหลังกลับจากธุดงค์เมืองพม่า การนมัสการพระมหาเจดีว์ชะเวดากองแล้ว ได้มีลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมมาสอบถามประสบการณ์จากท่านมากมาย แต่วิสัยของชาวบ้านธรรมดาชอบถามเรื่องแปลก ๆ มากกว่าฟังธรรม จึงได้มีลูกศิษย์คนหนึ่งชื่อนายชด ได้ถามหลวงพ่อจงถึงตอนที่ไปธุดงค์เมืองพม่าว่า ท่านปฏิบัติอย่างไรถึงรอดมาได้ ในเมื่อพระภิกษุบางรูปที่ร่วมธุดงค์ไปด้วยถึงแก่มรณภาพกลางทาง หลวงพ่อจงท่านหยุดคิดนิดหนึ่งเห็นมีลูกศิษย์อยู่ไม่กี่คน ท่านจึงเปิดเผยโดยนัยธรรมว่า

การธุดงค์ การออกป่า ต้องทำใจกล้าพิสูจน์ถึงเรื่องกรรม ถ้าเกิดตายขึ้นมาก็เป็นเรื่องกรรม ไม่มีใครช่วยอะไรได้ คณะพระธุดงค์ที่เดินทางไปด้วยกันนั้น ล้วนแต่เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งสิ้น บางรูปได้อภิญญาสมาบัติและมีวิปัสสนาญาณ บางองค์มีอนาคตังสญาณที่แจ่มใสมาก ล่วงรู้อนาคตได้ แต่ท่านไม่เคยคิดหนี ยอมรับกรรมนั้น ๆ ด้วยการเดินธุดงค์ ในครั้งที่ท่านไปธุดงค์กับคณะได้มีพระรูปหนึ่งจำชื่อไม่ได้ ยังได้บอกว่า เข้าป่าคราวนี้ไม่ได้กลับออกมาอีกแล้ว เช้าวันหนึ่ง ท่านร่ำลาพระภิกษุในคณะพลางบอกว่า บ่ายนี้ท่านจะเป็นไข้ป่าและมรณภาพ พอตกบ่าย พระทุกรูปต่างอยู่ในกลด ทำวัตรของตนจนเย็น มีพระรูปหนึ่งมารายงานหลวงพ่อว่า มีพระมรณภาพในกลด จึงไปบอกให้พระรูปอื่น ๆ ทราบ แล้วชวนกันไปดู

พอเปิดกลดออกดู ก็เห็นท่านนั่งมรณภาพในท่าสมาธิ แสดงว่าท่านเตรียมตัวตายไว้แล้ว และไม่หนีตายด้วย ที่รอดมาได้อย่าดีใจ เพราะกรรมเมื่อให้ผลแล้ว หนีไม่พ้นการเชื่อเรื่องของกรรมจึงได้ชื่อว่าเป็นพระแท้ นับถือคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาอย่างแท้จริง

เรื่องของกรรม พระเก่งหรือไม่เก่งต่างก็หนีไม่พ้น หากกรรมนั้นไม่เป็นอโหสิกรรมแล้ว ไม่มีใครเก่งเกินกรรมไปได้

ปฏิบัติดีย่อมมีผู้สงเคราะห์
นายชดถามหลวงพ่ออีกว่า การเดินทางไปธุดงค์คราวนั้น ทราบว่าเป็นการเดินทางเข้าป่าลึก บางตอนไม่มีผู้อาศัย แม้ชาวป่าก็ไม่มี การขบฉันจะทำอย่างไร หลวงพ่อจงท่านตอบว่า การบิณฑบาตเป็นกิจของสงฆ์ สงฆ์แม้จะอยู่ในที่ใดก็ตามก็ต้องบิณฑบาตตามปกติ อยู่ในป่าก็บิณฑบาตกับชาวป่า ชาวป่าบางคนดี ใจบุญใจกุศลเพราะกลัวพระจะลำบาก อุตสาหก์ทำแคร่นั่งร้านให้พระอยู่ เราก็อยู่ฉลองศรัทธาและอนุโมทนาในบุญกุศลของเขา เมื่อเข้าป่าลึก ๆ มากก็ต้องบิณฑบาตเหมือนเดิม

ก่อนที่จะบิณฑบาต พระท่านจะเข้าสมาบัติเต็มตามกำลังเท่าที่จะทำได้ ได้ฌาน ได้สมาบัติแค่ไหนก็เข้าเต็มตามนั้น แล้วถอยจิตออกมาแผ่เมตตา มีพรหมวิหารเป็นอารมณ์ เมื่อถอยจิตออกมาแล้ว ก็เดินถือบาตรไปเถอะ ที่ไหนก็ได้ มีคนใส่บาตรทั้งนั้น นายชดสงสัยว่า ในป่าลึก ๆ ไม่มีคน เหตุใด จึงมีคนใส่บาตร หลวงพ่อจง หยุดไปครู่หนึ่งคล้ายไม่อยากพูดอะไรอีก แต่เห็นนายชดศรัทธาในธรรม จึงตอบว่า เทวดาเขามาสงเคราะห์น่ะ เทวดาทั้งหญิงชายเขามา แต่งกายเหมือนกับเรานี่แหละ ผิวพรรณดีหน้าตาสวยงาม เทวดาเหล่านี้คือรุกขเทพ มีใจบุญ ใจกุศล กลัวพระจะอดอยาก จึงมาเป็นโยมอุปัฏฐากสงเคราะห์ด้วยการใส่บาตรให้ บางทีในป่าเกิดฝนตก เดินไปไหนมาไหนลำบาก พระอุ้มบาตรไปยืนอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เยื้องจากกลดไปหน่อยหนึ่ง ประเดี๋ยวเขาก็มาใส่บาตรให้

พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เทวดาสงเคราะห์เป็นเรื่องปกติ เป็นฆราวาสก็เช่นกัน ถ้าทำดีเทวดาเขาก็จะสงเคราะห์เหมือนกัน แล้วเทวดาเหล่านี้ชอบฟังธรรม ทำวัตรสวดมนต์ในใจประเดี๋ยวเดียว ท่านก็มากันเต็มหมด มาบอกว่า “ท่านเจ้าขา ท่านสวดมนต์จนเสียงสะเทือนไปทั่ว จึงได้รู้ว่ามีพระมาโปรด นาน ๆ ท่านจะมาสักครั้งหนึ่ง ขอได้เทศนาโปรดด้วยเถิดเจ้าข้า” เราเป็นพระ เมื่อเขาอาราธนาแล้ว ก็ต้องเทศน์ให้เขาฟัง เทวดาบางหมู่ชอบกรณียเมตตาสูตร เทวดาบางหมู่ชอบอาฏานาฏิยะสูตร เทวดาบางหมู่ชอบธัมมจักรกัปปวัตนสูตร แล้วแต่นิสัย

เวลาเทศน์จบ เขาสาธุพร้อม ๆ กัน ดังสนั่นไปหมด แต่กริยาเขางดงามมาก นี่เป็นเรื่องของเทวดาเขา นายชดผู้นี้เลื่อมใสหลวงพ่อจงมาก ต่อมาได้บวชในพระบวรพระพุทธศาสนา เมื่อรับกรรมฐานจากหลวงพ่อจงแล้ว ก็เข้าป่าไปไม่ได้ข่าวคราวอีกเลย


บารมีทางวิทยาคม
หลวงพ่อเริ่มมีชื่เสียงรุ่งโรจน์เป็นที่รู้จักแพร่หลาย เมื่อราว พ.ศ.2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเป็นต้นมา ซึ่งช่วงเวลานั้น เป็นเวลาที่บ้านเมืองต้องการทหารผู้กล้าหาญเข้มแข็ง เพื่อรับสถานการณ์ของบ้านเมือง ปัจจัยสำคัญในการปลุกใจทหารคือ เครื่องรางของขลัง

ฉะนั้น จึงปรากฎมีผู้ไปมากราบไหว้ ขอให้หลวงพ่อประสิทธิ์ประสาทวิทยาคมให้มากขึ้นทุกที ในด้านบรรพชิต ปรากฎว่า ได้มาเล่าเรียนกรรมฐานภาวนาจากหลวงพ่อมากขึ้นเป็นลำดับ กุฏิที่ท่านอยู่เดิมไม่สามารถจะเพียงพอแก่การต้อนรับแขกได้ หลวงพ่อนิล (พระอธิการนิล ธัมมโชติ) น้องร่วมสายโลหิตของท่าน ในขณะนั้นยังช่วยบริหารการพระศาสนาอยู่วัด หน้าต่างนอก พร้อมด้วยทายกทายิกา จึงรวบรวมกัปปิยภัณฑ์ที่สาธุชนบริจาคถวายสร้างกุฏิใหญ่ขึ้นหลังหนึ่ง เสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. 2479 แล้วถวายเป็นที่อยู่อาศัยของท่าน

ล่วงมาจนถึงปี พ.ศ. 2483 สงครามอินโดจีนอุบัติขึ้น เกียรติคุณของหลวงพ่อได้เลื่องลือไปทั่วประเทศไทย โดยได้จัดทำเสื้อแดงลงเลขยันต์ปลุกเสกด้วยวิทยาคม แจกจ่ายให้แก่ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนทั่ว ๆ ไป

ด้วยอำนาจจิตตานุภาพอันทรงพลังของหลวงพ่อ บันดาลอัศจรรย์บำรุงขวัญทหารให้เข้มแข็งกล้าหาญในการสงคราม นับว่า หลวงพ่อได้มีส่วนในการบำรุงขวัญทหารไทยอยู่มิใช่น้อย


เน้นหนักด้านเมตตา
เมื่อกล่าวถึงวิทยาอาคมของหลวงพ่อที่มีผู้นิยมและต้องการนั้น เท่าที่ทราบมีสามสาขา คือ
1. วิทยาคมทางด้านคงกระพันชาตรี
2. วิทยาคมทางด้านเมตตา
3. วิทยาคมทางน้ำมนต์

ในบรรดาวิทยาคมทั้งสามสาขาที่ประมวลมานี้ วิทยาคมทางเมตตาเป็นที่เลื่องลือมากกว่าอย่างอื่น หลวงพ่อจงท่านเฝ้าสอนให้ทุกคนมีเมตตาต่อกัน อย่าเบียดเบียนกันเป็นนิตย์ แสดงว่าท่านให้ทั้งที่พึ่งพาทางกายและทางใจพร้อมกันไป แทนที่จะมุ่งให้ทุกคนยึดมั่นในวัตถุเช่นอาจารย์อื่น ๆ การกระทำของหลวงพ่อจง และวิทยาคมทางเมตตาของท่านจึงมุ่งเสริมสร้างสังคมให้รู้จักการอยู่ร่วมกัน อย่างเป็นสุข อันเป็นยอดปรารถนาของคำสั่งสอนทั้งมวลอันเป็นโลกียะ ถ้าจะกล่าวว่าหลวงพ่อจงท่านเป็นนักสงเคราะห์ก็ไม่ผิดมิใช่หรือ

เมตตาธรรม
หลวงพ่อจง ท่านเป็นผู้หนักในการปฏิสันถาร ที่เรียกว่า ปฏิสนฺถารคารวตา ทั้งในการต้อนรับ ความอามิส และการต้อนรับด้วยธรรมที่เรียกว่าโอภาปราศรัย จะเห็นว่าไม่ว่าท่านผู้ใด เมื่อมาถึงหลวงพ่อแล้ว ท่านจะให้ความสนใจเท่าเทียมกัน เมื่อทราบธุระที่มาหาแล้ว หลวงพ่อจะจัดทำให้ในทันที โดยที่สุดแม้การรดน้ำมนต์ หลวงพ่อจงท่านจะรดน้ำพระพุทธมนต์ให้อย่างทั่วถึง บางครั้งผู้ที่มีโรคภัยใจไม่สงบ เมื่อถูกน้ำพระพุทธมนต์เข้าแล้ว แสดงอาการดิ้นรนต่าง ๆ ร้องครวญครางเป็นที่น่าเวทนา หลวงพ่อจงท่านกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความว่องไว คล่องแคล่ว แม้การเดินทาง หลวงพ่อจงก็เดินเร็ว คนหนุ่ม ๆ เดินตามท่านไม่ทัน จะขึ้นรถลงเรือ หลวงพ่อไม่ชักช้า

ในการสนทนา หลวงพ่อจงเป็นผู้พูดน้อย มักจะเป็นผู้ฟังมากกว่า ท่านไม่เคยโต้แย้งหรือแสดงอาการไม่พอใจใคร แสดงถึงส่วนลึกของจิตใจของหลวงพ่อจงว่า ท่านมีเมตตาและมีความปรารถนาดีต่อทุกคน คำที่หลวงพ่อจงใช้ในการสนทนา พวกเราจำได้อยู่เสมอ คือ จ๊ะ...อ้อ...ดี....จ๊ะ

ไปทุกที่ที่นิมนต์
เพราะความที่ท่านมีเมตตากรุณานี่เอง จนบางครั้ง มีผู้นิมนต์ท่านไปในที่ต่าง ๆ คลาดกำหนดกลับอยู่เสมอ ใครนิมนต์ไปที่ไหนหลวงพ่อจงท่านไม่ขัด ไปได้ทุกที่และไปได้กับทุกคน หลวงพ่อจงถือว่ากิจเช่นนั้นมีปรากฎอยู่แล้วในพระวินัย ที่เรียกว่าการขัดนิมนต์ และท่านกล่าวว่า “ถ้าเขานิมนต์แล้วเราไม่ไป ศรัทธาของเขาจะเสียหาย” นับได้ว่า หลวงพ่อจง ปฏิบัติตามพระวินัยนิยมแล้วทุกประการ เข้าหลักว่า โลกไม่ช้ำ ธรรมไม่หมอง ถูกต้องตามพระวินัยอย่างแท้จริง

หลวงพ่อจง เดินไปวัดบางนมโค
เรื่องหลวงพ่อจงเดินไปวัดบางนมโคนี้ บันทึกโดยพระราชพรหมยาน หรือหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง จังหวัดอุทัยธานี เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่ง สมัยที่หลวงพ่อปานท่านยังมีชีวิตอยู่ วัดบางนมโคได้จัดงานฉลองศาลาและมีสวดมนต์เย็น พระอื่นก็มากันครบแล้ว ขาดแต่หลวงพ่อจง หลวงพ่อปานท่านจึงให้หลวงพ่อฤาษีลิงดำผู้เป็นศิษย์พาคนเรือนำเรือเร็วไปรับหลวงพ่อจงมา จากวัดหน้าต่างนอก เมื่อไปถึง ปรากฏว่ามีแขกมารอพบหลวงพ่อจงเพื่อขอให้ท่านรดน้ำมนต์ ท่านก็เลยบอกหลวงพ่อฤาษีลิงดำให้นำเรือกลับไปก่อน อีกสักพักหนึ่งหลังจากท่านรดน้ำมนต์ให้ญาติโยมแล้ว ท่านจะเดินมาที่วัดบางนมโคเอง

หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เห็นว่าระยะทางจากวัดหน้าต่างนอกไปวัดบางนมโคก็ประมาณสี่กิโลเมตร เรือเร็ววิ่งประมาณสิบนาทีเศษ แต่ถ้าเดินก็ใช้เวลาเกือบชั่วโมง อีกทั้งใกล้เวลาจะเริ่มพิธีแล้ว ท่านจึงจอดเรือรอ แต่หลวงพ่อจงบอกให้ท่านไม่ต้องรอ ให้กลับไปก่อน แล้วท่านจะรีบเดินตามมาให้ทันพิธี

เมื่อหลวงพ่อฤาษีลิงดำกลับมาถึงวัดบางนมโค ก็ขึ้นไปกราบเรียนหลวงพ่อปาน รายงานท่านว่าหลวงพ่อจงกำลังรดน้ำมนต์อยู่ นิมนต์ให้ท่านมาเรือท่านก็ไม่มา ท่านจะเดินมา อีกสักครู่ท่านคงจะมาถึง

พอหลวงพ่อปาน ได้ฟังก็ยิ้ม หัวเราะชอบใจ บอกว่านี่เจ้าลิงดำ หลวงพ่อจงเล่น ตลกกับแกเสียแล้ว แกไปดูบนศาลาสิ ก็เลยกราบท่านแล้วขึ้นไปดูบนศาลา ปรากฏว่าพบหลวงพ่อจงนั่งอยู่หน้าอาสนสงฆ์ นั่งอยู่หน้าพระองค์อื่นทั้งหมด เพราะท่านมีอาวุโสมาก หลวงพ่อฤาษีลิงดำจึงเข้าไปกราบ ท่านจึงถามว่ามานานแล้วรึ ก็กราบเรียนท่านไปว่าเพิ่งมาถึง ไปหาหลวงพ่อปานสักสองนาทีแล้วก็ขึ้นมาบนศาลานี่ เลยมานั่งสงสัยว่าหลวงพ่อจงท่านเดินยังไง คนหนุ่ม ๆ ยังเดินตั้งเกือบชั่วโมง ก็เมื่อไปถึงวัดหน้าต่างนอกตอนนั้น หลวงพ่อจงกำลังจะรดน้ำมนต์ แต่ท่านมาถึงวัดบางนมโคก่อนเรือเร็วของหลวงพ่อฤาษีลิงดำเสียอีก ขณะที่กำลังคิดสงสัยอยู่นั้น หลวงพ่อจงก็ถามว่าแปลกใจรึ ท่านบอกว่าไม่มีอะไรแปลก พระในพระพุทธศาสนาถ้าปฏิบัติถึงขั้นก็เดินเก่งทุกคน ถ้าปฏิบัติยังไม่ถึงก็ยังเดินไม่เก่ง

อิทธิเครื่องมงคล
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ได้สร้างอิทธิเครื่องมงคลไว้มากมายหลายชนิด มีทั้งเหรียญ ผ้ายันต์ ตะกรุด แผ่นยันต์มหาลาภ และกันไฟ ดังนี้

1. เสื้อยันต์แดง เสื้อยันต์ของท่านมีชื่อเสียงมาก เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ท่านได้สร้างขึ้นไว้แจกแก่ทหารที่ออกสู่สมรภูมิ ในคราวสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน เสื้อยันต์ของท่าน ได้ปรากฎเกียรติคุณในสนามรบมาแล้วอย่างโด่งดัง จนกิตติศัพท์แพร่หลายไปทั่วประเทศ และด้วยเหตุนี้ จึงมีประชาชนพากันหลั่งไหลไปรับแจกที่วัดหน้าต่างนอก ตลอดระยะเวลาที่เกิดสงครามอย่างไม่ขาดสาย

2. ผ้ายันต์สิงห์มหาอำนาจ สร้างกันมาแต่สงครามโลกครั้งที่สอง และสร้างต่อมาอีกหลายรุ่น ผ้ายันต์ของท่านนี้มีคุณวิเศษครบเครื่อง ใช้ได้สารพัด ไม่ว่าคลาดแคล้ว คงกระพัน และทางด้านโชคลาภ เป็นต้น

ประสบการณ์จากทหารและตำรวจชายแดนหลายท่านยืนยันว่า ผ้ายันต์ของหลวงพ่อจงเป็นมหาอุดชั้นหนึ่ง

3. แผ่นยันต์ พิมพ์ด้วยกระดาษสองสี คือตัวยันต์และตัวหนังสือเป็นสีดำ รูปหลวงพ่อบริเวณจีวรพิมพ์ด้วยสีเหลือง แผ่นยันต์นี้สร้างครั้งแรกในปี พ.ศ.2490 เมื่อคราวสร้างเจดีย์ข้าวเปลือก หลวงพ่อท่านสร้างแจกเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่จะมาร่วมงาน ปรากฎว่าแผ่นยันต์นี้ อำนวยโชคลาภแก่เจ้าของบ้านที่นำไปบูชา ท่านจึงสร้างแจกอีกต่อมาหลายรุ่น บางรุ่นเป็นสีเดียว เช่น สีฟ้า สีดำ แผ่นยันต์นี้นิยมกันมากเมื่อหลังสงครามโลกสงบ ๆ ใหม่ ๆ เพราะนอกจากจะอำนวยโชคลาภดังกล่าวแล้ว ยังป้องกันไฟไหม้ได้ชะงัดนัก

4. ปลาตะเพียนเงิน-ตะเพียนทอง ปลานี้หลวงพ่อจงท่านสร้างเป็นคู่ ตัวเมียกับตัวผู้ เดินอักขระขอม ปั๊มนูนไม่เหมือนกัน ท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ.2490 เศษ ๆ ได้มีผู้เคยพบปลาตะเพียนคู่นี้ในกุฎิท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศนฯ ซึ่งท่านมรณภาพเมื่อปี พ.ศ.2495 เข้าใจว่า หลวงพ่อจงมอบให้แก่ท่านเจ้าคุณโดยเฉพาะ ปลาตะเพียนคู่ เป็นเครื่องรางที่ชาวจีนนับถือกันอย่างมากมายมาช้านาน เครื่องถ้วยชามของชาวจีนเก่า ๆ มักจะทำเป็นปลากลับหัว อันหมายถึง บ่อเกิดของชีวิตแห่งโชคลาภ การปลุกเสกปลาตะเพียนของหลวงพ่อจงนี้ ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน กล่าวคือ ท่านปลุกเสกแล้วให้ลูกศิษย์ปล่อยลงที่ท่าน้ำหน้าวัดคู่หนึ่ง ปรากฎว่า ปลาตะเพียนที่เป็นโลหะตั้งตัวตรงแบบปลาจริง ๆ และไม่จมน้ำด้วย และที่น่าประหลาดไปกว่านั้นก็คือ ปลาตะเพียนของหลวงพ่อจง ลอยทวนน้ำ ไม่ใช่ลอยตามน้ำ และเป็นที่ร่ำลือกันว่า ปลาตะเพียนของท่านว่ายน้ำได้

ทุกงานพิธี
เนื่องจากคุณธรรมอันวิเศษที่หาได้ยากของหลวงพ่อจง มีกิตติศัพท์แพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวาง งานปลุกเสกเครื่องมงคลในกรุงเทพที่ใหญ่ ๆ ทุกงาน หลวงพ่อจงจะต้องได้รับนิมนต์มาร่วมพิธีด้วยทุกครั้งไป และถือว่าเป็นพระเถราจารย์ที่ขาดเสียมิได้ ด้วยคุณธรรมอันสูงส่งของท่านดังนี้ วิทยาคมที่ปรากฎชัดส่วนมากคือ แคล้วคลาด คงกระพัน เมตตามหานิยม และมหาลาภ แม้กระทั่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) จะสร้างเครื่องมงคลครั้งใด ก็ต้องมีบัญชาให้ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) นิมนต์หลวงพ่อจงมาร่วมปลุกเสกด้วยทุกครั้งไปมิเคยขาด

มนต์กำกับ
เกี่ยวกับเครื่องรางของขลังซึ่งท่านปลุกเสกเวทวิทยาคม กระทำภาวนาด้วยบุญฤทธิ์อธิษฐาน อันเป็นพลังจิตแกร่งกล้าในแนวที่ให้ความนิยมกันมากนั้น ส่นมากแรก ๆ ท่านก็ใช้แนวทางความรู้อันที่เรียกมาจากท่านพระครูโพธิ์ เจ้าอาวาสวัดหน้าต่างใน ผู้เป็นปรมาจารย์องค์แรกของท่าน แต่ต่อมาเมื่อท่านได้ศึกษารอบรู้ในหลักการ อันเป็นกฎเกณฑ์ของผู้จะไต่เต้าเข้าหาความสำเร็จในอภิญญา อันเป็นพุทธวิธีชั้นสูงสุด

จากนั้นมา ท่านก็ใช้ความรอบรู้อันเกิดจากภูมิปฏิภาณของผู้ใกล้เป็นสัพพัญญูเยี่ยงท่าน ผู้เป็นองค์อรหันต์แต่โบราณกาลมานั้น เข้าบำเพ็ญธรรมกิจ เพื่อให้บรรลุผลในทางอิทธิบารมี จนสามารถอาจดลบันดาลให้ผลดี ตามความต้องการของบุคคลที่เป็นคนดีสมมโนรสปรารถนา ดังนั้น ก็สามารถพูดได้ว่า วิทยาอาคมของท่านมิใช่ในแนวทางไสยศาสตร์ หลวงพ่อจงเมื่อให้นิ่งของปลุกเสกของท่านแก่ผู้ใด ท่านจะต้องบอกเตือนสติด้วยการให้คติเสมอว่า ขอให้รักษาตัว รักษาใจไว้ให้จงดี ศีลธรรมอย่าลืม หากหมั่นบูชาพระ รำลึกถึงพระ และหมั่นศรัทธาปฏิบัติพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เป็น นิตย์แล้ว ยากนักจะมีโพยภัยเหล่าใดเบียดเบียนบีฑาราวี ขอให้ท่องไว้ในใจเสมอว่า เวรย่อมมีขึ้นเฉพาะเมื่อได้มีการก่อเวร มีหนี้ก็หนีไม่พ้น จะต้องชดใช้เขาในเวลาหนึ่ง คนเราไม่ทำบาปพึงไว้ใจได้ว่า ต้องไม่มีบาปใดติดตามสนองปองผลาญ จงหมั่นแจกจ่ายเมตตาอย่าให้ขาดสาย คงต้องได้กุศลแรงกว่ากุศลอื่นใดหลายเท่านัก


สอนสั่งครั้งสุดท้าย
ครั้นต่อมาในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2508 หลวงพ่อจงได้ล้มป่วยลงเป็นอัมพาตทางด้านขวาของร่างกายหมดความรู้สึก แต่ใบหน้าของท่านยังอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใสมาก ท่านมีอาการยิ้มแย้มเหมือนไม่รับทราบความเจ็บป่วยนั้น ลูกศิษย์ลูกหาพากันห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ได้ตามนายแพทย์จากกรุงเทพฯไปรักษา ท่านพยายามห้ามปรามอย่างไรก็ไม่เป็นผล ท่านบอกแก่ลูกศิษย์ว่า “ตามหมอมาก็ไม่มีประโยชน์ ป่วยคราวนี้ไม่มีวันหาย อย่าห่วงเลยนะ มันจะเจ็บ มันจะป่วย มันจะตาย ไปห้ามมันไม่ได้ ลูก ๆ ทุกคนจงจำไว้ เวลาจะเจ็บ เวลาจะป่วย เวลาจะตาย อย่าเอาจิตไปเกาะเกี่ยวเวทนา จะได้ไม่เกิดทุกข์”

นี่คือคำสั่งสอนครั้งสุดท้ายของ หลวงพ่อจง พุทธัสสโร ที่ให้ลูกศิษย์เห็นถึงคุณวิปัสสนาญาณชั้นสูง ถึงสังขารุเปกขาญาณ จากนั้นมา ท่านก็นอนนิ่ง นาน ๆ จะหายใจสักครั้ง ทราบจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดว่า ท่านเข้าสมาบัติอนุโลมปฏิโลมตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันอังคาร ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง อันเป็นวันมาฆบูชา

ตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2508 เวลา 01.55 น. ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบเหมือนคนนอนหลับ ท่ามกลางความโศกสลดในมวลหมู่ลูกศิษย์ที่นั่งเฝ้าโดยใกล้ชิดทั้งหลายนั่นเอง

ที่มา : www.itti-patihan.com

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ