2009-01-01

พุทธประวัติ พระพุทธเจ้า

พุทธประวัติ พระพุทธเจ้า โดยย่อ

พระโคตมพุทธเจ้า
พระโคตมพุทธเจ้า (Gautama Buddha) หรือนิยมเรียกเพียง พระพุทธเจ้า เป็นศาสดาและเป็นผู้ทรงสถาปนาพุทธศาสนา โดยตามคัมภีร์ฝ่ายพุทธถือกันว่าทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปีก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทย และปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล

พระโคตมพุทธเจ้า เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายาแห่งศากยวงศ์ โคตมโคตร อันเป็นราชสกุลวงศ์ที่ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์มา แต่ช้านาน มีพระนามแต่แรกประสูติว่า "สิทธัตถะ" หรือ "สิทธารถ" (/สิด-ทาด/) เมื่อเสด็จออกผนวชและบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว มีพระนามต่าง ๆ อาทิ พระศากยมุนี พระพุทธโคดม พระโคดมพุทธเจ้า ทั้งนี้ ทรงออกพระนามพระองค์เองว่า "ตถาคต" แปลว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น

พุทธประวัติ

พระประสูติกาล



พระนางสิริมหามายาแห่งโกลิยวงศ์ พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งศากยวงศ์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นโกศล ขณะทรงพระครรภ์แก่ได้ทรงขอพระราชานุญาตจากพระสวามี เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะอัน เป็นพระมาติภูมิเพื่อให้การประสูติเป็นไปตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในคืนที่พระพุทธเจ้าเสด็จปฏิสนธิในครรภ์พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดาได้ทรงพระสุบินนิมิตว่า ช้างเผือกมีงาสามคู่ได้เข้ามาสู่พระครรภ์ ณ ที่บรรทม สิบเดือนหลังจากนั้นก็มีพระประสูติกาล ระหว่างเสด็จกลับพระมาตุภูมิ พระพุทธมารดาได้ทรงพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละในสวนป่าชื่อ ลุมพินี และมีพระประสูติกาลเป็นพระโอรสซึ่งต่อมาจะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระ พุทธเจ้า วันนั้นเป็นวันศุกร์ ขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนวิสาขะ ปีจอ ก่อนพุทธศักราชแปดสิบปี อนึ่ง ทั้งสวนป่าลุมพินีและกรุงกบิลพัสดุ์ในปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล

หลังจากที่มีพระประสูติกาลแล้วสองสามวัน หรือบ้างก็ว่าเจ็ดวัน พระพุทธมารดาก็เสด็จสวรรคาลัย วรรณกรรมปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัตติยวงศ์ ว่า เป็นเพราะพระครรภ์ของพระพุทธมารดาไม่ควรจะเป็นที่เกิดของสัตว์ใดอีก และเมื่อพระพุทธมารดาได้ให้พระประสูติกาลแก่พระพุทธเจ้าแล้วก็ไม่สมควรจะได้ ร่วมกามเมถุนอีก จึงเป็นประเพณีที่จะต้องเสด็จสวรรคาลัย

นอกจากนี้ หลังจากมีพระประสูติกาลแล้วห้าวัน พระเจ้าสุทโธนะโปรดให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระประสูติกาลพระกุมาร ฤๅษีตนหนึ่งนามว่า "อสิตะ" ได้เดินทางแต่เขาที่ตนพำนักมายังพระราชพิธีด้วย พระกุมารได้วางพระบาทเหนือศีรษะฤๅษีอสิตะเพื่อให้ชมดูรอยตำหนิแห่งการกำเนิด เมื่อพบว่าพระกุมารมีมหาปุริสลักษณะ ฤๅษีจึงประกาศว่าพระราชโอรสพระองค์นี้ในอนาคตกาลจะได้เป็นสมเด็จพระมหา จักรพรรดิหรือพระพุทธเจ้าเป็นแน่ อนึ่ง ในพระราชพิธี พราหมณ์แปดนายซึ่งได้รับเชิญมา เจ็ดนายในจำนวนนั้นทำนายเป็นเสียงเดียวกันอย่างคำประกาศของฤๅษีอสติะ เว้นแต่พราหมณ์ชื่อโกณฑัญญะว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ฝ่ายพราหมณ์โกณฑัญญะเมื่อเชื่อมั่นในคำทำนายของตนแล้วก็ออกบวชล่วงหน้าเพื่อ เตรียมตัวเป็นสาวกของพระกุมารเมื่อได้ทรงเป็นพระพุทธเจ้าแล้วในอนาคต
ในพระราชพิธีนี้ พระกุมารทรงได้รับพระนามว่า "สิทธัตถะ" หรือ "สิทธารถ" (/สิด-ทาด/) มีความหมายว่า ผู้ที่สำเร็จความมุ่งหมายแล้ว

เจ้าชายสืบราชสมบัติ
เจ้าชายสิทธัตถราชกุมาร ทรงเจริญวัยด้วยความสุขยิ่ง เพราะกำเนิดในราชตระกูลภายใต้เศวตฉัตร และได้ทรงศึกษาในสำนักอาจารย์วิศวามิศ ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงที่สุด เจ้าชายได้ทรงศึกษาอย่างรวดเร็ว และจบหลักสูตรสิ้นทุกประการ คือจบศิลปศาสตร์ทั้ง 18 สาขาวิชาที่เปิดสอน

พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงปริวิตกต่อคำทำนายของพราหมณ์หนุ่ม ที่ว่าเจ้าชายจะออกบวชแน่นอน ทรงจัดการราชาภิเษกให้เจ้าชายขึ้นครองราชย์ พร้อมสร้างปราสาท 3 ฤดูให้อยู่ประทับ เมื่อพระชมน์ได้ 16 พรรษาได้เข้าสู่พิธีอภิเษกสมรสกับพระนางยโสธราพิมพา ผู้เป็นธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ กษัตริย์ผู้ครองราชสมบัติกรุงเทวทหนคร เจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยสุขกับพระนางตลอดมา จนพระชนมายุได้ 29 พรรษา ก็มีพระราชโอรสองค์หนึ่งพระนามว่าราหุล ซึ่งแปลว่า บ่วง

เจ้าชายเสด็จออกบวช
เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเสพสุขอยู่บนปราสาท 3 ฤดู จนวันหนึ่งทรงปรารถนาจะผ่อนคลายความจำเจ จึงชวนสารถีทรงรถม้าประพาสอุทยาน ครั้งนั้นทรงพบเทวทูตทั้ง 4 อันได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงบังเกิดความสังเวชในพระราชหฤทัย ใคร่เสด็จออกบรรพชาเป็นสมณะ

ในวันที่เจ้าชายราหุลเกิดนั้น เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา ด้วยทรงเบื่อในเพศฆราวาสอันเต็มไปด้วยกิเลส จึงทรงเห็นว่าเพศบรรพชาเท่านั้นที่ประเสริฐและเป็นเพศที่ สามารถจะหลุดพ้นจากความทุกข์ยากทั้งปวงได้ กระทั่งคืนที่เจ้าชายตัดสินพระทัยจะออกบวช ได้เสด็จไปเยี่ยมพระโอรสและมเหสี เมื่อพระองค์เห็นพระนางพิมพาบรรทมหลับสนิทพระกรกอดโอรสอยู่ทรงดำริจะอุ้มพระ โอรส ขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรสเสด็จออกจากห้อง เสด็จลงจากปราสาทพบกับนายฉันนะ สารถี ซึ่งเตรียมม้าพระที่นั่ง(ม้านามว่ากัณฑกะ)ไว้แล้ว เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล ทรงเสด็จออกพ้นพระราชวัง เข้าเขตแดน แคว้นโกศลและแคว้นวัชชี ครั้นเวลาใกล้รุ่ง เสด็จถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที พระองค์ทรงม้าข้ามฝั่งแม่น้ำ แล้วเสด็จลงไป ประทับนั่งบนกองทราย ทรงตัดพระเมาลี ด้วยพระขรรค์ เปลี่ยนชุดทรงกษัตริย์เป็นผ้ากาสาวพัตร์ แล้วทรงตั้งจิตอธิษฐานครองเพศบรรพชิต ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงส่งนายฉันนะนำเครื่องทรงกษัตริย์กลับนคร แล้วเสด็จลำพังโดยพระองค์เดียว มุ่งพระพักตร์ ไปยังแคว้นมคธ

เมื่อพระองค์ถือเพศบรรพชิตแล้ว ก็ทรงศึกษาในลัทธิคณาจารย์ต่างๆ ซึ่งสมัยนั้นนิยมกัน ส่วนเจ้าชายสิทธํตถะเมื่อครองเพศบรรพชิตแล้ว ทรงถือวัตรปฏิบัติของสมณะ คือปลงผมนุ่งผ้า ย้อมน้ำฝาด(สีเหลืองแก่นขนุน) เลี้ยงชีพด้วย อาหารบิณฑบาต ที่ผู้ต้องการบุญถวายให้ ทรงมีมีนามเรียกขานว่า พระสมณโคดม (คำว่าโคดม มาจากคำว่าโคตมะ ซึ่งเป็นชื่อโคตรของราช วงศ์ศากยะ) ในเบื้องต้น พระสมณโคดม ได้ไปฝากตนเป็นศิษย์ ในสำนักอาฬารดาบส ได้ฝึกจิตบำเพ็ญธรรมจนบรรลุความรู้ขั้นสูงสุดของอาจารย์ คือบรรลุฌานขั้นที่ 7

บำเพ็ญเพียรเพื่อการบรรลุธรรม

เมื่อหมดความรู้ของอาจารย์อาฬารดาบสจึงอำลาไป เป็นศิษย์ในสำนักอุทกดาบส ซึ่งมีความรู้สูงกว่าอาฬารดาบสหนึ่งขั้น คือเป็นผู้บรรลุฌานขั้นที่ 8 ซึ่งพระสมณโคดม ใช้เวลาศึกษาไม่นานก็สิ้นภูมิรู้ของอาจารย์ ในที่สุด จึงอำลาไปค้นหาวิมุตติธรรม ตามแนวทางของพระองค์ ด้วยทรงประจักษ์ว่า นี่ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้

พระองค์จึงได้ละทิ้งสำนักอาจารย์เหล่านั้นเสีย พระองค์ได้มุ่งหน้าสู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมแคว้นมคธ โดยทรงเริ่มการบำเพ็ญเพียรขั้นอุกฤต ที่เรียกว่าทุกกรกิริยา ซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมปฏิบัติกัน อาทิการกลั้นลมหายใจเข้าออก จนเหงื่อโทรมกายหูอื้อตาลาย การนั่งตากแดดจนผิวเกรียมไหม้ ครั้นฤดูหนาว ก็ลงไปแช่น้ำจนตัวแข็งพระองค์ได้ทดลองปฏิบัติตามความเชื่อดั้งเดิมทุกวิถี ทาง ก็ยังไม่สามารถบรรลุแนวทางค้นพบสัจจธรรมได้

ขณะนั้นมีฤๅษี 5 รูปื (ปัญจวัคคีย์) ชื่อว่า โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ ตามมาปฏิบัติตนเป็น ศิษย์ ด้วยคาดหวังว่า เมื่อพระสมณโคดม ค้นพบ วิโมกขธรรม จะได้สอนพวกตนให้บรรลุด้วย

พระสมณโคดม เริ่มบำเพ็ญทุกกรกิริยาขั้นสุดท้าย คือเริ่มลดอาหารที่ละน้อย ๆ จนถึงขั้นอด อาหาร จนร่างกายซูบซีดผอมแห้ง เหลือแต่หนังและเอ็นหุ้มกระดูก ทรงอาตมาบำเพ็ญเพียรถึงขั้นอุกฤตขนาดนี้ นับเป็นเวลาภึง 6 พรรษา ก็ยังไม่สามารถบรรลุวิมุตติธรรม
ความนี้ทราบถึงท้าวสักกเทวราช ผู้เป็นจอมเทพแห่งดาวดึงส์สวรรค์ จึงทรงเสด็จมาเฝ้า และดีดพิณสามสายให้ทรงสดับ วาระแรกทรงดีดพิณสาย ที่ 1 ซึ่งขึ้นสายไว้ตึง พอลงมือดีดสายพิณก็ขาดผึงลง วาระที่ 2 ทรงดีดพิณสายที่สอง ซึ่งขึ้นสายไว้หย่อน ปรากฏเป็นเสียงที่ยืดยาดขาดความไพเราะ วาระที่ 3 ทรงดีดพิณสายสุดท้ายที่ขึ้นสายไว้พอดี เป็นบทเพลงที่ไพเราะกังวาน พร้อมกับถวายบังคมลากลับไป

พระสมณโคดม ทรงสดับแล้วก็ทรงทราบถึงเหตุแห่งการมาของท้าวสักกเทวราช จึงได้แนวพระดำริว่า การบำเพ็ญทุกขกิริยานั้น เป็นการทรมาณตนให้ลำบากเปล่า เป็นข้อปฏิบัติที่ตึงเกินไปไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้ การบำเพ็ญเพียรทางสมาธิจิตนั้น ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป น่าจะเป็นทางแห่งการตรัสรู้ได้ จึงเริ่มเสวยพระกระยาหารดังเดิมเพื่อให้ร่างกายคลายเวทนา มีสมาธิที่จะบำเพ็ญเพียรต่อไป

การตรัสรู้ยิ่ง



ทรงประทับนั่ง ขัดสมาธิ ผินพระพักตรสู่เบื้องบูรพาทิศ ตั้งจิตแน่แน่วว่าตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาน จักไม่ลุกขึ้นจากสมาธิบัลลังก์ พญาวัสสวดีมาร เข้าทำการขัดขวางการตรัสรู้ ของพระมหาบุรุษ แต่พ่ายแพ้ไป ด้วยอำนาจบารมี ครั้นพญามารพ่ายแพ้กลับไปแล้ว พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญเพียรต่อไป ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัย เรียกว่าการเข้าฌาน เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ จนเวลาผ่านไปจนถึงยามต้น ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุติญาณ คือ ทรงระลึกชาติในอดีต ทั้งของตนเองและผู้อื่นได้ ยามสอง ทรงบรรลุ จุตูปปาตญาณ คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยามสาม ทรงบรรลุ อาสวักขญาณ คือ รู้วิธีกำจัดกิเลส(มาร) ด้วย อริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงพบกับความสุขสว่างอย่างแท้จริง ซึ่งเรียกกันว่าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก ตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ณ อุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองพาราณสี ขณะมีพระชนม์ได้ 35 พรรษา

การแสดงปฐมเทศนา

เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และได้แสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ณ วัน เพ็ญ เดือน 8 คือวันอาสาฬหบูรณมี ซึ่งกล่าวถึงที่สุด 2อย่าง อันบรรพชิต ไม่ควรปฏิบัติ คือการลุ่มหลงมัวเมาในกาม 1 การทรมาณตนให้ลำบากเปล่า 1 มัฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางที่ควรดำเนิน คืออริยสัจจสี่และมรรคมีองค์แปด 1

ท่านโกณฑัญญะ ก็ได้ “ธรรมจักษุ” คือดวงตาเห็นธรรม พระพุทธองค์จึงทรงเปล่งวาจาว่าอัญญาสิ วตโกณฑัญโญ แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้ว ท่านโกณฑัญญะ จึงได้สมญาว่า อัญญาโกณฑัญญะ และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรก

พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพาน



พระองค์ก็ได้เที่ยวสั่งสอนพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตลอดระยะเวลา 45 พรรษา เพื่อให้ศาสนิกชนได้พบเห็นทางที่นำไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคามใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี พระองค์เสวยสุกรมัททวะ (เห็ดพื้นเมือง) ที่นายจุนทะตั้งใจทำถวาย ก็เกิดอาพาธลง แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธุ์ปรินิพพาน
เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตน และประโยชน์ของผู้อื่น ให้บริบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

จนกระทั่งถึงดับขันธุ์ปรินิพาน ระหว่างใต้ต้นรังคู่ ณ แขวงเมืองกุสินารา ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น

หลักธรรม คำสอน

พระพุทธเจ้าทรงเทศนา สั่งสอนพุทธบริษัทเรียกว่า พระธรรมวินัย พระธรรม คือคำสอนในสิ่งที่เป็นจริงของชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่จุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน

พระธรรมนั้นแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ คำสอนที่เกี่ยวเนื่องกับ ชีวิตประจำวันของ ผู้คนทั่วไป เรียกว่าพระสูตร และคำสอนที่เป็น หัวข้อธรรมล้วนๆ เช่น ขันธ์ 5 ปัจจยา การ 12 เป็นต้นเรียกว่าพระอภิธรรม ส่วนวินัยสำหรับพระ ภิกษุและภิกษุณี ได้แก่กฎระเบียบข้อปฏิบัติ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ 7 วัน พุทธบริษัทได้ ร่วมกันรวบรวม พระสูตร พระอภิธรรมและพระวินัยจัดเข้าเป็น หมวดหมู่ได้ 84,000 หมวด รวมเรียกว่า พระไตรปิฎก

ดูภาพพุทธประวัติ จากจิตรกรรมฝาผนัง

ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ