2008-12-01

เบญจศีล

ศีลในทางพระพุทธศาสนา

๑. ศีล ๕ ข้อ สำหรับ สาธุชนทั่วไป เรียกว่า นิจศีล, ปกติศีล
๒. ศีล ๘ ข้อ สำหรับ อุบสก อุบาสิกา เรียกว่า คหัฏฐศีล, อุโบสถศีล
๓. ศีล ๑๐ ข้อ สำหรับ สามเณร สามเณรี เรียกว่า อนุปสัมปันนศีล
๔. ศีล ๒๒๗ ข้อ สำหรับ พระภิกษุ เรียกว่า ภิกขุศีล
๕. ศีล ๓๑๑ ข้อ สำหรับ พระภิกษุณี เรียกว่า ภิกขุณีศีล

อานิสงส์ของผู้รักษาศีล

๑. ไม่ต้องประสบความเดือดร้อนในภายหน้า
๒. ย่อมประสบความสำเร็จในการทำมาหากิน
๓. ชื่อเสียงเกียรติยศของผู้มีศีล ย่อมแพร่หลายไปในหมู่ชนคนดี
๔. เป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขิน เมื่อเข้าไปในหมู่ของมีศีล
๕. เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา คือ ก่อนตายก็มีสติ ตายไปอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย
๖. เมื่อตายไป แล้วเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ไม่ต้องตกนรก
๗. ผู้ที่บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ มีสติบริบูรณ์ ย่อมทำตนให้สิ้นอาสวะได้ คือ สิ้นกิเลสได้

ความมุ่งหมายของการรักษาศีล ๕ ข้อ

๑. ศีลข้อที่๑ เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะโหดร้าย
๒. ศีลข้อที่ ๒ เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความมือไว
๓. ศีลข้อที่ ๓ เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความใจเร็ว
๔. ศีลข้อที่ ๔ เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความขี้ปด
๕. ศีลข้อที่ ๕ เพื่อป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความขาดสติ

องค์แห่งศีล

องค์แห่งศีลอย่างหนึ่ง ๆ เรียกว่า “สิกขาบท” ศีลมีองค์ ๕ จึงเป็นสิกขาบท ๕ ประการ รวมเรียกว่า เบญจศีล การรักษาศีล คือ การตั้งใจเจตนางดเว้น จากการะทำความผิดดังท่านบัญญัติไว้เป็นเรื่องที่ตั้งใจงด ตั้งใจเว้น ตั้งใจไม่ทำอีก ต้องมี “ความตั้งใจ” กำกับไว้เสมอ ไม่ใช่เพราะมีเหตุอื่นบังคับตน จึงไม่ทำความผิด แต่ไม่ทำเพราะตนเองได้ตั้งใจไว้ว่าจะงดเว้น ความตั้งใจดังว่ามานี้ ทางศาสนา เรียกว่า “วิรัติ” คือ เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว

* เบญจศีล *

สิกขาบทที่ ๑
ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต
สัตว์ทุกชนิด ย่อมมีสิทธิ์โดยชอบในการมีชีวิตของตนไปจนตาย ผู้ใดทำให้เขาเสียชีวิตด้วยเจตนาศีลของผู้นั้นก็ขาด เมื่อเพ่งเจตนาจิตเป็นใหญ่

ในสิกขาบทข้อนี้มีข้อห้าม ๓ อย่าง คือ
๑. การฆ่า
๒. การทำร้ายร่างกาย
๓. การทรกรรม

การฆ่า ได้แก่ การทำให้ตาย
- มีวัตถุ คือสิ่งที่ฆ่า ๒ ประเภท คือ
๑. ฆ่ามนุษย์
๒. ฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน
- วัตถุใช้ฆ่า ๒ อย่าง คือ
๑. ศาสตรา วัตถุมีคม เช่น ดาบ หอก เป็นต้น
๒. อาวุธ วัตถุไม่มีคม เช่น ปืน ไม้พลอง ก้อนหิน เป็นต้น
ฆ่ามนุษย์ มีโทษหนัก ฝ่ายพุทธจักรปรับโทษภิกษุกระทำเป็นปาราชิก ฝ่ายอาณาจักรปรับโทษแก่ผู้กระทำอย่างสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต การฆ่าต่างกันโดยเจตนา มี ๒ ประเภท คือ
- ฆ่าโดยจงใจ เรียก สจิตตกะ มีการวางแผนเตรียมการไว้ล่างหน้า
- ฆ่าโดยไม่จงใจ เรียก อจิตตกะ ไม่ได้คิดไว้ก่อน ประสงค์ป้องกันตัว เป็นต้น
การฆ่าจะสำเร็จด้วยประโยค ๒ อย่าง คือ
๑. ฆ่าเอง เรียกว่า สาหัตถิกประโยค เป็นการลงมือฆ่าเอง
๒. ใช้ให้คนอื่นฆ่า เรียกว่า อาณัตติกประโยค
ศีลข้อนี้ขาดทั้งฆ่าเอง และยังให้คนอื่นฆ่า

กล่าวโดยสรุปการกระทำการฆ่าสัตว์จะมีโทษด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. วัตถุ คือ สิ่งที่ฆ่า
๒. เจตนา ความตั้งใจ
๓. ประโยค อาการที่ประกอบกรรม
ฉายาปาณาติบาต คือ การทำร้ายร่างกาย และทรกรรม

การทำร้ายร่างกายมุ่งการกระทำต่อมนุษย์ แยกเป็น ๓ ประเภท คือ
๑) ทำให้พิการ
๒) ทำให้เสียโฉม
๓) ทำให้เจ็บลำบาก

การทรกรรม คือการประพฤติเหี้ยมโหดต่อสัตว์ ไม่มีความปราณีสัตว์ แยกเป็น ๕ ประเภท คือ
๑) ใช้การ คือการใช้งานเกินกำลัง
๒) กักขัง
๓) นำไป โดยวิธีทรมาน เช่น ลากไป ผูกมัด เป็นต้น
๔) เล่นสนุก
๕) ผจญสัตว์ เช่น เอาปลากัดกัน ชนไก่ เป็นต้น

องค์ปาณาติบาตมีองค์ ๕ คือ
๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสัญญิตา ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตตัง จิตคิดจะฆ่าให้ตาย
๔. อุปักกโม ทำความพยายามฆ่า
๕. เตน มรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้อนี้จะขาด ต่อเมื่อทำครบองค์ทั้ง ๕ ข้อนี้.


สิกขาบทที่ ๒
อทินนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อป้องกันการทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของกันและกัน โดยหวังจะให้เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ เว้นจากการ เบียดเบียน กันและกัน การประพฤติผิดเช่นนี้ ได้ชื่อว่าประพฤติผิดธรรม เป็นบาป ทรัพย์ ที่คนอื่นไม่ได้ให้ ถือเอาโดยอาการเป็นโจรกรรม มีกำหนดดังนี้

๑. ทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของ ที่มีเจ้าของ ทั้งที่มีวิญญาณ และไม่มีวิญญาณ
๒. ทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของที่ไม่ใช่ของใคร แต่มีผู้รักษาหวงแหน เป็นสมบัติกลาง
๓. ทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของที่เป็นของในหมู่อันไม่พึงแบ่ง ได้แก่ ของสงฆ์ ของส่วนร่วม

ในสิกขาบทนี้ศีลขาดไปด้วยเจตนา ถ้าไม่มีเจตนาศีลด่างพร้อย โดยอาการถือเอาทรัพย์สมบัติหรือสิ่งของอื่นท่านห้ามไว้ ๓ ประการ คือ
๑. โจรกรรม ประพฤติเป็นโจร
๒. ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
๓. กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม

โจรกรรม ทางศีลธรรมท่านแบ่งออกเป็น ๑๔ วิธีด้วยกัน คือ
๑. ลัก ขโมย ย่องเบา ตัดช่อง คืองัดแงะ
๒. ฉก ร่วมถึงการวิ่งราว ตีชิง
๓. กรรโชก แสดงอำนาจ
๔. ปล้น
๕. ตู่ คือ กล่าวตู่ว่าเป็นของตัวเอง
๖. ฉ้อโกง
๗. หลอก ได้แก่ กิริยาที่พูดปด
๘. ลวง ได้แก่ กิริยาที่กระทำลวง
๙. ปลอม
๑๐.ตระบัด ยืมมาแล้วไม่ส่งคืน
๑๑. เบียดบัง
๑๒. ลักลอบ ได้แก่ลักลอบของหนีภาษี
๑๓. สับเปลี่ยน
๑๔.ยักยอก

ความเลี้ยงชีวิตอนุโลมโจรกรรม ได้แก่การแสวงหาทรัพย์พัสดุในทางไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่นับเข้าในอาการเป็นโจร มีดังนี้
๑) สมโจร การกระทำการอุดหนุนโจรกรรม
๒) ปลอกลอก การคบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์ ด้วยหวังทรัพย์ของคนอื่นฝ่ายเดียว
๓) รับสินบน

กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม
๑) ผลาญ เช่น เผาบ้าน ฟันโค เป็นต้น
๒. หยิบฉวย การถือเอาทรัพย์พัสดุของผู้อื่นด้วยความมักง่าย
ความเป็นกรรมในสิกขาบทในข้อนี้ มีโทษหนักเบาตามชั้นกัน โดยวัตถุ เจตนา และประโยค ดังนี้
- โดยวัตถุ ถ้าถือเอาที่ทำการโจรกรรมมีค่ามาก มีโทษมาก
- โดยเจตนา ถ้าถือเอาโดยโลภ มีเจตนากล้า ก็มีโทษมาก
- โดยประโยค ถ้าถือเอาโดยการฆ่า หรือทำลายทรัพย์ข้าวของ ก็มีโทษมาก

องค์แห่งอทินนาทาน ๕ ประการ คือ
๑. ปรปริคคหิตัง ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒. ปรปริคคหิตสัญญิตา ตนก็รู้ว่าของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๓. เถยยจิตตัง จิตคิดจะลัก
๔. อุปักกโม พยายามเพื่อจะลัก
๕. เตน หรณัง นำของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้อนี้จะขาด ต่อเมื่อการกระทำครบองค์ทั้ง ๕ ข้างต้นนี้.

สิกขาบทที่ ๓
กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย
ศีลข้อนี้ ท่านบัญญัติ ด้วยหวังปลูกความสามัคคี สร้างความเป็นปึกแผ่น ป้องกันความแตกร้าวในหมู่มนุษย์ และทำให้ไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน คำว่า “กาม” ในที่นี้หมายถึง กิริยาที่รักใคร่กันในทางประเวณี หมายถึง “เมถุน” คือการส้องเสพกามระหว่างชายหญิง

การผิดในกาม หมายถึง การเสพเมถุนกับคนที่ต้องห้าม ดังจะได้อธิบายดังต่อไปนี้
หญิงที่ต้องห้ามสำหรับชาย มี ๓ ประเภท คือ
๑.หญิงมีสามี ที่เรียกว่า ภรรยาท่านได้แก่ หญิง ๔ จำพวก คือ
๑.๑ หญิงที่แต่งงานกับชายแล้ว
๑.๒ หญิงที่ไม่ได้แต่งงาน แต่อยู่กินกับชายอย่างเปิดเผย
๑.๓ หญิงที่รับสิ่งของ มีทรัพย์ เป็นต้น ของชายแล้วอยู่กับเขา
๑.๔ หญิงที่ชายเลี้ยงเป็นภรรยา
๒. หญิงที่ญาติรักษา คือ มีผู้ปกครอง ไม่เป็นอิสระแก่ตน เรียกว่า หญิงอยู่ในพิทักษ์รักษาของท่าน คือ หญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือ หญิงมีมารดาบิดารัก หรือญาติรักษา
๓. หญิงที่จารีตประเพณีรักษา ได้แก่หญิงที่เป็นเทือกเถาเหล่ากอกัน หญิงที่ทางศาสนารักษา เช่น นางภิกษุณี หรือแม่ชี, หญิงที่กฎหมายบ้านเมืองรักษาคุ้มครอง

ชายต้องห้ามสำหรับหญิง มี ๒ ประเภท คือ
๑. ชายอื่นนอกจากสามี เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงที่มีสามีแล้ว
๒. ชายที่จารีตห้าม เช่น นักพรต นักบวช เป็นต้น
กล่าวโดยความเป็นกรรมจัดว่ามีโทษหนักเบาเป็นชั้นต่างกันโดยวัตถุ เจตนา ประโยค ดังนี้
๑. โดยวัตถุ ถ้าเป็นการทำชู้ หรือ ล่วงละเมิดในวัตถุที่มีคุณ มีโทษมาก
๒. โดยเจตนา ถ้าเป็นไปด้วยกำลังราคะกล้า มีโทษมาก
๓. โดยประโยค ถ้าเป็นไปโดยพลการ มีโทษมาก

องค์แห่งกาเมสุมิจฉาจาร มีองค์ ๔ คือ
๑. อคมนียวัตถุ วัตถุอันไม่ควรถึง (มรรคทั้ง ๓)
๒. ตัสมิง เสวนจิตตัง จิตคิดจะเสพในวัตถุอันไม่ควรถึงนั้น
๓. เสวนัปปโยโค ทำความพยายามในอันที่จะเสพ
๔.มัคเคน มัคคัปปฏิปัตติ มรรคต่อมรรคถึงกัน
ในกามเมสุมิจฉาจารนี้ ผู้ที่เสพเองเท่านั้นที่ผิดศีลข้อนี้ ส่วนการใช้คนอื่นให้ทำแก่คนอื่นนั้น ไม่เป็นการผิดกาเมสุมิจฉาจาร แต่การใช้ให้คนอื่นทำกาเมสุมิจฉาจารแก่ตนนั้น เป็นการผิดโดยแท้.

สิกขาบทที่ ๔
มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายประโยชน์ของกันและกัน ด้วยการพูด คือ ตัดประ โยชน์ทางวาจา และรักษาวาจาของตนให้เป็นที่เชื่อถือของคนอื่น

ในสิกขาบทนี้ ท่านห้ามเป็นข้อใหญ่ ๓ ประการ คือ
๑. มุสา ๒. อนุโลมมุสา ๓. ปฏิสสวะ
การกระทำตามข้อ ๑ ศีลขาด กระทำตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ศีลด่างพร้อย
มุสาวาท การพูดเท็จ คือ การโกหก หมายถึง การแสดงออกด้วยเจตนาบิดเบือนความจริง ให้คนหลงเชื่อแสดงออกได้ ๒ ทาง คือ
๑. ทางวาจา ด้วยการพูด
๒.ทางกาย ด้วยการแสดงอาการ ขีดเขียนเป็นต้น

กิริยาที่เป็นมุสาวาทท่านแสดงไว้ ๗ อย่าง คือ
๑. ปด
๒.ทนสาบาน
๓. ทำเล่ห์กระเท่ห์
๔. มารยา
๕. ทำเลส
๖. เสริมความ
๗. อำความ

อนุโลมมุสา คือ เรื่องที่พูดนั้นไม่จริง แต่ผู้พูดมิได้มุ่งจะให้ผู้ฟังหลงเชื่อ แยกประเภท ๒ อย่าง คือ
๑. เสียดแทง กิริยาที่ว่าให้ผู้อื่นให้เจ็บใจ
๒. สับปลับ ได้แก่ พูดปดด้วยคะนองวาจา

ปฏิสวะ ได้แก่ เดิมรับคำของคนอื่นด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลับใจ ไม่ทำตามที่รับนั้น แม้ไม่เป็นการพูดเท็จโดยตรง แต่ก็เป็นการทำลายประโยชน์ของคนอื่นได้ มีประเภทเป็น ๓ อย่าง คือ
๑. ผิดสัญญา
๒. เสียสัตย์
๓. คืนคำ

ถ้อยคำที่ไม่เป็นมุสา ๔ อย่าง คือ
๑. โวหาร
๒. นิยาย
๓. สำคัญผิด
๔. พลั้ง

องค์แห่งมุสาวาท ๔ อย่าง
๑. อภูตวัตถุ เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง
๒. วิวาทนจิตตัง จงใจจะพูดให้ผิด
๓. ตัชโชวายาโม พยายามพูดคำนั้นออกไป
๔. ปะรัสสะ ตะทัตถวิชานะนัง คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น.

สิกขาบทที่ ๕
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากการดื่มน้ำเมา
ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อให้คนรู้จักรักษาสติของตนให้บริบูรณ์ ศีลข้อ ๕ นี้ นับว่ามีความสำคัญที่สุดในเบญจศีล

น้ำเมา มี ๒ ชนิด คือ
๑. สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ภาษาไทยเรียกว่า เหล้า
๒. เมรัย น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น เป็นของหมักดอง เช่น เหล้าดิบ น้ำตาลเมา ของมึนเมาเสพติดต่างๆ เช่น ฝิ่น กัญชา ก็รวมเข้าในศีลข้อนี้ด้วย

ในปัจจุบันนี้มีสิ่งเสพติดให้โทษ ก็สงเคราะห์เข้าในศีลข้อนี้ด้วย คือ
๑. สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว
๒. เมรัย น้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น
๓. กัญชา เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง
๔. ฝิ่น เป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง
๕. มอร์ฟีน เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากฝิ่น
๖. เฮโรอีน เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากมอร์ฟีน
๗. โคเคน เป็นผลิตภัณฑ์จากมอร์ฟีน
๘. แลคเกอร์ ทินเนอร์ (กาว) ทำมาจากสารเคมี
สุรา เมรัย เสพทางการดื่ม ฝิ่น กัญชา เป็นต้น เสพโดยวิธีสูบบ้าง ฉีดเข้าไปในร่างกายบ้าง

โทษแห่งการดื่มน้ำเมามี ๖ อย่างคือ
๑. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์ ๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
๒. เป็นเหตุให้ก่อวิวาท ๕. เป็นเหตุประพฤติมารยาทที่น่าอดสู
๓. เป็นให้เกิดโรค ๖. ทอนกำลังปัญญา

โทษของการเสพฝิ่น ๔ สถาน
๑. เป็นเหตุให้เสียความสำราญของร่างกาย
๒. เป็นเหตุก่อวิวาท ให้เสียทรัพย์
๓. เป็นเหตุให้เสียความดี
๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
โทษเหล่านี้ ยิ่งหย่อนตามฟื้นเพของผู้เสพ

โทษของการเสพกัญชา
กัญชาเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ ทำมัตถลุงค์ (มันในสมอง) และเส้นประสาทให้เสียไป ตาลาย เห็นอะไรผิดไปจากความเป็นจริง
องค์แห่งสุราปานะ มีองค์ ๔ คือ
๑. มทนียัง น้ำเมา
๒. ปาตุกัมมยตาจิตตัง จิตคิดจะดื่มน้ำเมา
๓. ตัชโชวายาโม พยายามดื่มน้ำเมา
๔. ปีตัปปเวสนัง น้ำเมาล่วงลำคอลงไป

ศีลขาด
ศีลขาด คือ ศีลของผู้มีสมาทานศีลแล้ว แต่ไม่รักษาศีลนั้นให้ดี ล่วงละเมิดเป็นประจำ ทำให้ขาดต้นขาดปลาย หาที่บริสุทธิ์จริงได้ยาก เหมือนผ้าที่ขาดชายรอบทั้งผืน หรือขาดกลางผืนเลย

ศีลทะลุ
ศีลทะลุ คือ ศีลของผู้ที่ชอบล่วงละเมิดสิกขาบทกลาง ๆ แต่สิกขาบทต้นและปลายยังดีอยู่ เหมือนผ้าที่ทะลุเป็นช่องตรงกลางผืน

ศีลด่าง
ศีลด่าง คือ ศีลของผู้ที่ชอบล่วงละเมิดสิกขาบททีเดียว ๒ หรือ ๓ ข้อ เหมือน แม่โคด่างที่กระดำ กระ ด่างเลยไปทั้งตัว ดำบ้าง ขาวบ้าง

ศีลพร้อย
ศีลพร้อย คือ ศีลของผู้ชอบล่วงละเมิดศีลคราวละสิกขาบท หรือล่วงศีลคราวละองค์สององค์ คือ มีศีลบริสุทธิ์บ้าง ไม่บริสุทธิ์บ้างสลับกันไป
ศีลห้าประการนี้ เป็นวินัยในพระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้.

อุโบสถศีล
คำว่า อุโบสถ แปลว่า ดิถีวิเศษที่เข้าอยู่ ดิถีวิเศษเป็นที่เว้น มี ๓ อย่าง คือ
๑. นิคคัณฐอุโบสถ เป็นอุโบสถของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา คือ ตั้งเจตนางดเว้นเป็นบางอย่าง เช่น เว้นการฆ่าสัตว์ในทิศเหนือ แต่ฆ่าสัตว์ในทิศอื่น เป็นการรักษาตามใจชอบของตน

๒. โคปาลอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่อุบาสก อุบาสิกา สมาทานรักษาไว้เหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค คือ เวลาสมาทานแล้ว กลับไปพูดดิรัจฉานกถาต่าง ๆ เช่น พูดเรื่องการทำมาหากิน เรื่องทะเลาะกันภายในครอบครัว เป็นต้น

๓. อริยอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่เหมาะสม และประเสริฐสำหรับอุบาสก อุบาสิกา เมื่อสมาทานแล้ว ก็ตั้งใจรักษาศีลของตนให้มั่นคง ใจไม่ข้องแวะกับฆราวาสวิสัยสนทนาแต่ในเรื่องของพระธรรมวินัย ในเรื่องการบำเพ็ญบุญอย่างเดียว อริยอุโบสถ นี้ จึงเป็นอุโบสถที่นับว่าประเสริฐที่สุด.

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ