2008-12-24

โลกธรรม 8

โลกธรรม คือ ธรรมดาของโลก, เรื่องของโลก, ธรรมที่ครอบงำโลก หรือธรรมที่มีประจำโลก หมายถึง ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกและสัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมนี้ หรือทุกคนในโลกนี้ย่อมถูกโลกธรรมนี้กระทบทั้งนั้น ไม่มีใครพ้นไปได้เลย ยกเว้นพระอรหันต์ผู้อยู่เหนือโลกเท่านั้น
โลกธรรมมี 8 ประการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย
ฝ่ายแรกฝ่ายที่น่าปรารถนาและพึงพอใจ (อิฏฐารมณ์)
และฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนาหรือไม่พึงพอใจ (อนิฏฐารมณ์)

คู่ที่ 1 ได้ลาภ เสื่อมลาภ ลาภ หมายถึง การให้มาซึ่งสิ่งที่พึงพอใจ เช่น เงินทอง สิ่งของ บุคคล เป็นต้น เมื่อได้มาแล้วยังมีทุกข์ติดตามแอบแฝง ซ่อนเร้นมากับลาภนั้นอีก บางคนต้องเสียชีวิตเพราะมีลาภและป้องกันลาภ ครั้นเมื่อสิ่งที่ได้มาแล้วมีอันต้องวิบัติสูญหายไปหรือถูกแย่งชิงไป เช่น เสียเงินเสียทอง เสียที่อยู่อาศัย เสียสิ่งที่รักที่หวงแหน หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เรียกว่าเสื่อมลาภ จิตใจก็เป็นทุกข์

ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องโลกธรรมตามความเป็นจริง ย่อมมีพฤติกรรมเกี่ยวกับลาภในทางที่ผิด เช่น มุ่งแสวงหาในทางทุจริต เกิดความโลภหรือความต้องการไม่มีสิ้นสุด จึงก่อให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีไม่ถูกต้องเพื่อให้ได้มาซึ่งลาภที่ตนต้องการ และหากสูญหายไปก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เป็นทุกข์จนเกินเหตุ หากเข้าใจก็พึงแสวงหามาได้ตามกำลังความสามารถและสติปัญญาของตน ไม่โลภมาก หากสูญหายไปก็ถือว่าเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งหลายย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด ทำให้เกิดความสบายใจ เข้าใจกฎของธรรมชาติในข้อนี้ ดุจดังสังขารในขันธ์ 5 ที่ปรุงแต่งขึ้นมา ย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด

คู่ที่ 2 ได้ยศ เสื่อมยศ ยศ แปลว่า ความยิ่ง ความเด่น ซึ่งหมายถึง ความยิ่งของคน ความเด่นของคน ยิ่งด้วยความเป็นใหญ่ เรียกอิสริยยศ ยิ่งด้วยชื่อเสียงคุณความดี เรียก เกียรติยศ ยิ่งด้วยบริวาร พวกพ้อง เรียกบริวารยศ ทั้ง 3 ยศ หากมีความกระหายต้องการให้ได้ได้ยศมา ก็เกิดความวิตกกังวล เกิดความทุกข์ เพราะเกิดทั้งความโลภ เมื่อไม่ได้มาก็เกิดความโกรธ เมื่อมีแล้วก็เกิดความหลง ดังนั้นจะต้องเข้าใจว่ายศเหล่านี้มีวันเสื่อมสลายไปในที่สุด เรียกว่า เสื่อมยศ หากเราไม่เข้าใจหลักธรรมข้อนี้ก็จะเกิดความหลงมัวเมาเมื่อมียศ เกิดความวิตกกังวล คับข้องใจ และเป็นทุกข์เมื่อเสื่อมยศ เป็นต้น

คู่ที่ 3 สรรเสริญ นินทา สรรเสริญ ได้แก่การกล่าวขวัญถึงความดี จะต่อหน้าหรือลับหลังก็ตาม การได้ฟังคำสรรเสริญ คำยกย่องคำชมเชย ทำให้ใจเบิกบาน มีความสุข ในทางตรงกันข้าม หากใครถูกนินทา หรือการพูดให้ร้ายหรือพูดในทางที่ไม่ดีในที่ลับหลัง ก็เกิดความไม่พึงพอใจ เกิดความโกรธ ทั้งสองประการนี้ หากไม่เข้าใจหลักธรรมเช่นนี้ ก็เกิดความลุ่มหลงมัวเมา หลงระเริง ทำให้เกิดความลืมตัว ก่อให้เกิดความเห็นผิด หลงตนเอง เมื่อคนอื่นสรรเสริญ และเกิดความไม่พึงพอใจ และทุกข์ใจในที่สุดเมื่อถูกนินทา เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเข้าใจหลักธรรมนี้จะช่วยให้เกิดหลักของความอุเบกขา คือ ไม่แสดงอาการใด ๆ เมื่อถูกสรรเสริญ หรือนินทา ถือว่าเป็นธรรมดาของโลก

คู่ที่ 4 สุข ทุกข์ โลกธรรมคู่นี้เป็นคู่รวบยอด คือสภาพความเป็นอยู่ของคนเราเมื่อกล่าวโดยรวมยอดแล้วมี 2 สภาพคือ สุขและทุกข์เป็นสภาพที่มนุษย์เราจะต้องเผชิญทั้ง 2 ประการ ดังนั้นพึงเข้าใจว่าเราจะดำเนินวิถีชีวิตอย่างไรให้มีความสุขมากกว่าทุกข์ นั่นก็คือจะต้องใช้ปัญญาพิจารณาถึงความดับทุกข์ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาได้นำเสนอหลักของอริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น

สรุปก็คือโลกธรรมทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ เมื่อเกิดมาแล้ว มันไม่เที่ยง ไม่คงทนถาวร ไม่แน่นอน ย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด ดังนั้นจึงไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น จะก่อให้เกิดความทุกข์ในที่สุด


ที่มา : http://mediacenter.mcu.ac.th

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ