2008-11-11
กัณฑ์จุลพน
กัณฑ์จุลพน
สาระน่ารู้สู่ผู้สดับ
จุลพน หมายถึง ป่าที่มีต้นไม้น้อยๆ หรือป่าโปร่ง กัณฑ์จุลพน ประดับด้วยคาถา ๓๕ พระคาถา เป็นพระนิพนธ์ใน สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
เพลงประจำกัณฑ์ คือ เพลง “คุกพาทย์” หรือ “รัวสามลา” ประกอบกิริยาการแสดงอิทธิฤทธิ์ หรือการข่มขวัญ ซึ่งพรานเจตบุตรได้แสดงแก่ชูชก
ข้อคิดจากกัณฑ์จุลพน
มีอำนาจ แต่หากขาดปัญญา ย่อมถูกหลอกได้ง่าย
เนื้อความกัณฑ์จุลพนโดยย่อ
พรานเจตบุตร ซึ่งได้รับคำสั่งจากกษัตริย์เจตราษฏร์ ให้ทำหน้าที่เป็นนายด่านประตูป่า คอยห้ามมิให้ผู้ใดไปพบกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ เว้นแต่ราชทูตเท่านั้น รู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของชูชก จึงหลงเชื่อ ให้ที่พักอาศัยและเลี้ยงดูจนอิ่มหนำสำราญ
ครั้นรุ่งเช้าก็จัดเตรียมเสบียงให้ชูชก พร้อมทั้งนำชูชกไปยังต้นทางที่จะไปยังเขาวงกต และชี้บอกเส้นทางที่จะต้องผ่านว่า ต้องผ่าน เขาคันทมาทน์ อันอุดมด้วยไม้หอมนานาชนิด ถัดไปจะเห็นเขาสีเขียวคราม คือ เขาอัญชัน ซึ่งอุดมไปด้วยไม้ผลและสมุนไพรชนิดต่างๆ เดินต่อไปอีกสักครู่จะถึงสวนอัมพวันใหญ่ คือป่ามะม่วง
ถัดไปเป็นป่าตาล ป่ามะพร้าวกับต้นแป้ง จากนั้นจะเป็นป่าไม้ดอกนานาพันธุ์ ที่มีกลิ่นหอมตระหลบอบอวลไปทั้งป่า แล้วจะถึงสระอันอุดมไปด้วยสัตว์น้ำหลากหลายชนิด มีขัณฑสกรที่เป็นน้ำตาลที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นบนใบบัว และเป็นเครื่องยาอย่างดีที่หาได้ยาก
พรานเจตบุตร ยังได้แนะทางที่จะไปยังอาศรมของ พระอัจจุตฤาษี เพื่อให้ชูชกถามถึงหนทางที่จะไปยังพระอาศรมของ พระเวสสันดร ชูชกจำเส้นทางที่ พรานเจตบุตร บอกไว้ แล้วอำลาโดยทำประทักษิณ ๓ รอบ จากนั้นจึงออกเดินทางต่อไป
ตัวละครสะท้อนคุณธรรม
พรานเจตบุตร เป็นแบบอย่างของคนดี คนซื่อ แต่ขาดความเฉลียวฉลาดจึงถูกหลอกได้ง่าย
อานิสงส์การบูชากัณฑ์จุลพน
ผู้บูชากัณฑ์จุลพน แม้จะบังเกิดในปรภพใดๆ จะเป็นผู้สมบูรณ์ในสมบัติบริวาร จะมีอุทยานอันดารดาษดอกไม้หอมตลบไป แล้วจะมีสะโบกขรณี อันเต็มไปด้วยปทุมชาติ ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้เสวยทิพย์สมบัติในโลกหน้าสืบต่อไป
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com
ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com
No comments:
Post a Comment