2008-11-18

พระพุทธชินราช


พระพุทธชินราช (พิษณุโลก)
ชื่อเต็ม พระพุทธชินราช
ชื่อสามัญ หลวงพ่อใหญ่
ประเภท พระพุทธรูป
ศิลปะ ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย หมวดพระพุทธชินราช
ขนาด
ความกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว
ความสูง 7 ศอก
วัสดุ สำริด ปิดทอง
สถานที่ประดิษฐาน พระวิหาร วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก
ความสำคัญ พระพุทธรูปสำคัญ ของจังหวัดพิษณุโลก

พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จัดเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทยองค์หนึ่ง ถึงขั้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้ชลอมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่ทรงรับฟังคำทูลขอร้องของชาวพิษณุโลก ที่ว่าพระพุทธชินราชองค์นี้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง จึงทรงตัดสินพระทัยหล่อ พระพุทธชินราช(จำลอง) ขึ้นมาแทน

ประวัติพระพุทธชินราช
ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในปีใด แต่มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดารเหนือ คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ในรัชสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1(ลิ ไท) จากนั้นจึงมีการลงรักปิดทององค์พระเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรฐ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะ ปิดทองลงรักอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการบูรณะครั้งล่าสุดในรัชกาลที่ 9 พระพุทธชินราชนี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย หมวดพระพุทธชินราช ลักษณะขององค์พระเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขโนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน อยู่ในลักษณะปางมารวิชัย ด้านซ้ายและขวาขององค์พระ มียักษ์ 2 ตน คอยปกปักรักษาองค์พระอยู่ อีกทั้งยังมีพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกอยู่ด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีซุ้มเรือนแก้วที่คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาลักษณะเป็น รูปตัวเหรา ถือเป็นศิลปะที่สวยงามมากอย่าหนึ่ง พระพุทธชินราชประดิษฐานในวิหารลักษณะเก้าห้อง ซึ่งมีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ทำให้องค์พระสวยงามบริบูรณ์อย่างในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์ยังพบว่ากษัตริย์ในทุกๆสมัยของไทยให้ความเคารพและศรัทธา ต่อองค์พระพุทธชินราชมาอย่างต่อเนื่อง ทุกๆพระองค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ