โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง
๑. เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่ว ด้วยกาย วาจา ใจ.
๒. ประกอบสุจริต คือ ประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ.
๓. ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น
ทุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชั่วด้วยกาย เรียกกายทุจริต
๒. ประพฤติชั่วด้วยวาจา เรียกวจีทุจริต
๓. ประพฤติชั่วด้วย ใจ เรียกมโนทุจริต
กายทุจริต ๓ อย่าง
๑. ฆ่าสัตว์ ๒. ลักฉ้อ ๓. ประพฤติผิดในกาม
วจีทุจริต ๔ อย่าง
๑. พูดเท็จ ๒. พูดส่อเสียด ๓. พูดคำหยาบ ๔. พูดเพ้อเจ้อ
มโนทุจริต ๓ อย่าง
๑.โลภอยากได้ของเขา ๒. พยาบาทปองร้ายเขา ๓. เห็นผิดจากคลองธรรม
ทุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจไม่ควรทำ ควรละเสีย
สุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกกายสุจริต
๒. ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกวจีสุจริต
๓. ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกมโนสุจริต
กายสุจริต ๓ อย่าง
๑. เว้นจากฆ่าสัตว์ ๒.เว้นจากลักฉ้อ ๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
วจีสุจริต ๔ อย่าง
๑. เว้นจากพูดเท็จ ๒. เว้นจากพูดส่อเสียด ๓. เว้นจากพูดคำหยาบ ๔. เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
มโนสุจริต ๓ อย่าง
๑. ไม่โลภอยากได้ของเขา ๒. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๓. เห็นชอบตามคลองธรรม
สุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจควรทำ ควรประพฤติ.
อกุศลมูล ๓ อย่าง
รากเง่าของอกุศล เรียกอกุศลมูล มี ๓ อย่าง
๑. โลภะ อยากได้ ๒. โทสะ คิดประทุษร้ายเขา ๓. โมหะ หลงไม่รู้จริง
เมื่ออกุศลมูลเหล่านี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ดี มีอยู่ แล้วอกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรละเสีย เมื่อความโลภเกิดขึ้นแก่ผู้ใดก็จะทำให้ผู้นั้นทำทุจริตต่าง ๆ ได้เช่น ฉกชิงวิ่งราว
หรือ ปล้นสะดมเป็นต้นเมื่อมีโทสะก็จะทำให้ผู้นั้นเป็นคนดุร้ายขาดเมตตา ไม่พอใจต่อผู้ใดก็มุ่งแต่จะล้างผลาญเขา จึงเป็นเหตุให้ก่อเวรแก่กันและกัน เมื่อมีโมหะก็จะทำให้ผู้นั้นมืดมนไม่รู้จักสิ่งที่ควรไม่ควรสิ่งที่ผิด หรือชอบ เมื่อจะทำกิจการใด ๆ ก็จะทำไปตามความพอใจของตน อาจจะเป็นเหตุให้มีโทษมาถึงตัวก็ได้เพราะความโง่เขลาของกตัญญุตา นั่นเองฉะ นั้นท่านจึงกล่าวว่า โลภะ โทสะ โมหะเหล่านี้เป็นรากเง่าของอกุศล
กุศลมูล ๓ อย่าง
รากเง่าของกุศล เรียก กุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. อโลภะ ไม่อยากได้ ๒. อโทสะ ไม่คิดประทุษร้ายเขา ๓. อโมหะ ไม่หลง
ถ้ากุศลมูลเหล่านี้ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็ดี มีอยู่แล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็ เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรให้เกิดมีในสันดาน สัปปุริสบัญญัติ คือ ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้ ๓ อย่าง
๑. ทาน สละสิ่งของ ๆ ตนเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๒. ปัพพัชชา ถือบวช เป็นอุบายเว้นจากเบียดเบียนกันและกัน
๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข
ทานคือการให้สิ่งของต่าง ๆ ของตนเองแก่ผู้อื่นด้วยความพอใจที่ จะให้จึงเรียกว่าทานท่านจำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คืออามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น และธรรมทานคือการบอกกล่าว สั่งสอนชี้แจงให้คนอื่นรู้บาปบุญคุณโทษ จนถึงประโยชน์สูงสุด คือพระนิพพาน
ปัพพัชชา คือ การงดเว้น หมายถึงการงดเว้นจากการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
มาตาปิตุอุปัฏฐาน การปฏิบัติมารดาบิดา คือ การบำรุงท่านให้ได้รับความสุข เลี้ยงดูเอาใจใส่ท่านเมื่อคราวเจ็บไข้ ให้ของใช้สอยต่าง ๆ และประพฤติตามคำสอนของท่าน ให้สมกับที่ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็ก
ที่มา : www.watbk.org
No comments:
Post a Comment