2008-09-25

การอ่านภาษาบาลี

ภาษาบาลี
ภาษาที่ใช้ในการบันทึกคัมภีร์ของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท, ภาษามคธ ก็เรียก ผู้คนโดยทั่วไปที่ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ มักจะเรียกคู่กันไปว่า ภาษาบาลีสันสกฤต เนื่องจากภาษาทั้งสองมีคำศัพท์และไวยากรณ์ที่คล้ายคลึงกัน และมีอิทธิพลต่อภาษาไทยเป็นอย่างมาก
หลักไวยากรณ์บาลี เรียกว่า คัมภีร์ศัพทศาสตร์ หรือ คัมภีร์สัททาวิเสส

สระในภาษาบาลี
สระที่ใช้ในภาษาบาลีมี 8 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ เมื่อประกอบกับพยัญชนะ สระอะ จะไม่ปรากฏรูปแต่จะอ่านออกเสียงสระอะ เช่น วร อ่านว่า วะ-ระ

พยัญชนะในภาษาบาลี
พยัญชนะ ในภาษาบาลีมี 33 ตัว โดยแบ่งออกเป็นหมวดหรือวรรค ดังนี้
วรรค กะ ก ข ค ฆ ง
วรรค จะ จ ฉ ช ฌ ญ
วรรค ฏะ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
วรรค ตะ ต ถ ท ธ น
วรรค ปะ ป ผ พ ภ ม
เศษวรรค ย ร ล ว ส ห ฬและ ํ
พยัญชนะทุกตัว อ่านออกเสียง อะ เช่น กะ ขะ จะ ตะ ปะ

เครื่องหมายต่าง ๆ ในภาษาบาลี
1 ( ํ ) เรียกว่า นิคหิต เป็นวงกลมเล็ก ๆ ที่เขียนบนพยัญชนะอ่านออกเสียงแม่ กง คือใช้ ง สะกด เช่น ตํ = ตัง วิสํ = วิสัง
2 ( ฺ ) เรียกว่า พินทุ เป็นจุดที่เขียนไว้ใต้พยัญชนะตัวใด พยัญชนะตัวนั้นเป็นตัวสะกด ไม่ออกเสียง เช่น มะยงฺ = มะ ยัง สิกฺขา = สิก ขา บางครั้งใช้ พินทุ เพื่อเป็นตัวควบกล้ำในกรณีนี้ให้อ่านออกเสียงกึ่งมาตรา เช่น พฺยาธิ = พยา ธิ

การอ่านภาษาบาลี
1. ภาษาบาลีมีสระอะ (ะ) ลดรูป แม้ไม่มีรูปก็ต้องอ่านออกเสียง
ภควา อ่านว่า ภะ - คะ - วา
สุคติ อ่านว่า สุ -คะ - ติ

2. ภาษาบาลีมีพยัญชนะสังโยค คือ ตัวพยัญชนะที่ซ้อนอยู่หลังพยัญชนะอื่น ทำหน้าที่เป็นตัวสะกด เมื่อซ้อนแล้วจะมีจุดทึบวางไว้ข้างใต้เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า เป็นตัวสะกด
โหนฺตุ อ่านว่า โหน - ตุ
มหนฺตา อ่านว่า มะ - หัน - ตา
สุขิตตฺตา อ่านว่า สุ - ขิ - ตัต - ตา
องฺควรสฺส อ่านว่า อัง - คะ - วะ - รัส - สะ
หากคำนั้นมีสระ (อา อิ อี อุ อู เอ โอ) ผสมอยู่ด้วย จะอ่านเป็นตัวสะกดไปเลย แต่หากไม่มีสระปรากฏรูปให้เห็นอยู่ เวลาอ่าน ให้อ่านเสมือนว่ามี ไม้หันอากาศและตัวสะกดตัวนั้น

3. ภาษาบาลีมี นิคคหิต (อํ) คือ เครื่องหมาย วงกลมโปร่ง ที่เหนือตัวอักษร นิคคหิต วางไว้เหนืออักษรใด เสมือนมี ไม้หันอากาศและ ง ตามหลังอักษรตัวนั้น จึงอ่านว่า
อํ อ่านว่า อัง
ปรํ อ่านว่า ปะ - รัง
ชีวิตํ อ่านว่า ชี - วิ - ตัง
องฺคํ อ่านว่า อัง - คัง

4. ภาษาบาลี มีการอ่านออกครึ่งเสียง เพราะเป็น อัฑฒสระ
กตฺวา อ่านว่า กัต - ตวา ( เสียง ตะ หน้า วา ออก กึ่งมาตรา )
พฺยาธิ อ่านว่า พยา - ธิ ( เสียง พะ หน้า ยา ออกกึ่งมาตรา )
พฺราหฺมณ อ่านว่า พราม - มะ - ณะ ( เสียง พะ หน้า รา ออกเสียงกึ่งมาตรา )

5. ภาษาบาลี มี สระอิ มาควบคู่กับ นิคคหิต (อํ)(อ่านเสมือนว่า มี สระอิ + ง)เช่น อึ อ่านว่า อิง ไม่ใช่ อึ และมีรูปเหมือน สระ อึ ในภาษาไทย

ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงควรอ่านและเขียนได้บ้างตามสมควร เพื่อจะได้ศึกษาหลักธรรมได้เข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้
การที่จะเก่งในการอ่านภาษาบาลีนั้น ต้องอาศัยการฝึกฝนจึงจะอ่านได้คล่อง นำไปสู่การรู้ความหมายของคำเหล่านั้น โดยอาจฝึกอ่านจาก พุทธศาสนสุภาษิต ต่างๆ

อ้างอิงที่มา : วิกิพจนานุกรม

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ