ธูป เทียน และดอกไม้
ใน การประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาทั้งงานมงคลและงานอวมงคล เราจะต้องมีเครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัยที่ถือเป็นอามิสบูชา 3 อย่าง คือ ธูป เทียน และดอกไม้ ผู้เขียนเชื่อว่าคงมีคนส่วนหนึ่งที่รู้ความหมายของการบูชาพระด้วยธูปเทียน และดอกไม้ แต่คนส่วนใหญ่คงไม่เคยรู้ความหมายของเรื่องราวเหล่านี้เลย
โดยทั่วไปแล้ว “ธูป” เป็นสัญลักษณ์แห่งความหอม เพราะธูปทำมาจากไม้หอมหลากหลายชนิด เมื่อจุดแล้วจะมีกลิ่นหอมจรุงใจ ความหอมนั้นทำให้เกิดความสงบ
ส่วน “เทียน” เป็นสัญลักษณ์แห่งความสว่าง เพราะแสงเทียนนั้นขับไล่ความมืด ในทางธรรมนั้นแสงเทียนเป็นเสมือนปัญญา
สำหรับ “ดอกไม้” เป็นสัญลักษณ์แห่งความงาม เพราะดอกไม้ไม่ว่าจะขึ้นหรือเจริญเติบโตที่ไหนก็ตาม มักจะคงความงดงามสดชื่นเสมอ ความงามนั้นเปรียบเหมือนความสะอาด
เมื่อรวมความหมายของ ธูป เทียน และดอกไม้ เข้าด้วยกันแล้ว ก็จะเห็นภาพโดยรวมว่าหมายถึง ความสะอาด สว่าง และสงบ
ถ้าดูให้ลึกและละเอียดลงไปก็จะพบว่า เครื่องสักการะทั้ง 3 อย่างนี้ ล้วนแต่มีความหมายและมีเรื่องราวน่าสนใจด้วยกันทั้งสิ้น กล่าวคือ
ธูปใช้สำหรับบูชาพระพุทธเจ้า
เทียนใช้สำหรับบูชาพระธรรม
และดอกไม้ใช้สำหรับบูชาพระสงฆ์
ธูป เราใช้บูชาพระพุทธเจ้า นิยมจุดบูชาครั้งละ 3 ดอกเป็นอย่างน้อย การจุดธูปบูชานี้มีหลายคนเข้าใจว่า เป็นการบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น ธูปเป็นการบูชาพระพุทธเจ้าเพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณของพระองค์ที่ยิ่งใหญ่ 3 ประการคือ พระปัญญาธิคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ
ที่เราบูชาพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงมีพระปัญญาอันสูงสุด ทรงใช้ปัญญาอันสูงสุดนั้นตัดทำลายกิเลสจนหมดสิ้น
เมื่อพระองค์ทรงตัดกิเลสได้แล้ว จึงเป็นเหตุให้ทรงพระคุณประการที่สอง คือพระวิสุทธิคุณ คำว่า วิสุทธิ มีความหมายว่า สะอาด บริสุทธิ์ หมดจด ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง
แล้วที่สุด พระองค์ก็ทรงพระคุณอันประเสริฐข้อที่สาม คือ พระมหากรุณาธิคุณ เพราะหลังจากที่พระองค์ทรงตรัสรู้เมื่อมีพระชนมายุ 35 ปีแล้ว พระองค์ไม่ได้ทรงนิ่งเฉยอีกต่อไป ทรงเห็นว่าพระธรรมที่พระองค์ทรงบรรลุนั้นเป็นโลกุตรธรรม เป็นธรรมขั้นสูง ปุถุชนที่มีกิเลสมากมายในจิตใจยากที่จะบรรลุได้ จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเทศนาสั่งสอนโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย
นอกจากการจุดธูปเพื่อบูชาพระพุทธคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง 3 ประการของพระพุทธเจ้าแล้ว มีบางคนที่เห็นต่างจากนั้นโดยบอกว่าธูปทั้ง 3 ดอกนี้จุดเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า 3 ประเภท คืออดีตสัมพุทธะคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบันสัมพุทธะคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจจุบัน และอนาคตสัมพุทธะคือสมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้าทั้งหลายในอนาคต
ส่วนเทียนนั้น เราใช้สำหรับบูชาพระธรรม นิยมใช้เทียนขนาดใหญ่พอเหมาะกับเชิงเทียน จุดบูชาครั้งละ 2 เล่ม หมายความว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มี 2 อย่างคือ พระวินัยสำหรับฝึกหัดกายและวาจาให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และพระธรรมสำหรับอบรมจิตใจให้สงบระงับจากความชั่ว เทียนเล่มหนึ่งบูชาพระวินัย อีกเล่มหนึ่งบูชาพระธรรม ซึ่งก็คือคำสอนของพระพุทธองค์ 84,000 พระธรรมขันธ์ เป็นพระไตรปิฎกหนึ่งตู้นั่นเอง
เทียนในอีกความหมายหนึ่งมีว่า โดยปกติคนเราจุดเทียนขึ้นมา ณ สถานที่ใด ก็เกิดแสงสว่างขึ้น ณ ที่นั้น เทียนจึงเป็นเครื่องขจัดความมืดในสถานที่นั้นให้หายหมดไป เปรียบเสมือนพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ผู้ใดได้ศึกษาพระธรรมจนเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นแล้ว ก็ย่อมขจัดความมืดคือ โมหะและความโง่เขลาเบาปัญญาในจิตใจของผู้นั้นได้ ทำให้เกิดแสงสว่างคือการเกิดปัญญาขึ้นในจิตใจ
สำหรับดอกไม้นั้น เราใช้บูชาพระสงฆ์ มีความหมายว่า ผู้ที่มาบวชเป็นพระสงฆ์ ต่างก็มาจากชาวบ้าน มาจากร้อยพ่อพันแม่ มีอายุ ฐานะ ชาติ ตระกูล อุปนิสัยใจคอ การศึกษา มารยาท มีความหยาบ และความละเอียดที่แตกต่างกันไป พอมาบวชได้ถือพระธรรมวินัยเดียวกัน ปฏิบัติตรงกัน เป็นระเบียบเรียบร้อย ย่อมสวยงามน่าศรัทธากราบไหว้ เหมือนกับดอกไม้ที่จัดบนโต๊ะบูชา ที่ช่างผู้ชำนาญการจัดดอกไม้เก็บดอกไม้หลากสีนานาพันธุ์มามากมาย เอามาจัดใส่พานแจกัน ตกแต่งให้เข้ารูปสวยงามน่าชม พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเหมือนช่างผู้ชำนาญการจัดดอกไม้ ได้ทรงวางพระธรรมวินัยคือ ศีล 227 ข้อไว้เป็นแบบแผนให้พระสงฆ์สาวกเหล่านั้นได้ถือปฏิบัติ ทำให้พระสงฆ์มีระเบียบเรียบร้อยน่าเคารพน่าสักการะบูชา
ดอกไม้สำหรับบูชาพระสงฆ์ นิยมใช้ดอกไม้ที่มีลักษณะเพียบพร้อม 3 ประการคือ มีสีสวย มีกลิ่นหอม และกำลังสดชื่น ดอกไม้นี้ควรจัดเปลี่ยนให้สดอยู่เสมอ เพราะจะนำพาความสดชื่น ความเจริญรุ่งเรืองมาให้
ในเรื่องลำดับของการบูชาพระรัตนตรัย ก็มีที่ถกเถียงกันอยู่บ้างว่า “จุดธูปเทียน” หรือ “จุดเทียนธูป” กันแน่ ต่างฝ่ายต่างก็งัดเหตุผลมาหักล้างกัน ข้างฝ่ายที่ใช้คำว่า จุดเทียนธูป ก็บอกว่าพระธรรมเกิดก่อนพระพุทธ และเป็นหลักธรรมชาติที่มีอยู่ในโลกเนิ่นนานแล้ว พระพุทธเคารพพระธรรม ดังนั้นการบูชาก็ต้องจุดเทียนบูชาพระธรรมก่อน จึงจุดธูปตาม (ผู้เขียนเห็นว่าโดยส่วนใหญ่เราก็ทำกันอย่างนี้ แต่คงเพราะว่าการจุดเทียนก่อน ทำให้เกิดความสะดวกในการจุดธูป และเพราะเราไม่รู้เหตุผลของเรื่องเหล่านี้ คือเห็นใครทำก็ทำตาม ๆ กันมาจนเป็นความเคยชิน)
แต่ข้างฝ่ายที่ใช้คำว่า จุดธูปเทียน ก็บอกว่า ในเมื่อพระรัตนตรัยเรียงลำดับจากพระพุทธมาก่อน พระธรรม และพระสงฆ์มาทีหลัง การบูชาพระรัตนตรัยก็ต้องบูชาตามลำดับจากพระพุทธ ไปหาพระธรรมและพระสงฆ์ อีกอย่างหนึ่งแม้พระธรรมจะมีอยู่จริงและมีประจำโลกมาเนิ่นนาน แต่ก็เป็นหลักธรรมชาติที่ไม่มีใครค้นพบมาก่อน พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ค้นพบ หรือที่เรารู้จักกันว่าพระองค์ทรงตรัสรู้ หลังจากนั้นพระธรรมจึงค่อยปรากฏให้มนุษย์ได้รู้จัก จึงยืนยันกันว่าที่ถูกต้อง เราจะต้องจุดธูปเพื่อบูชาพระพุทธองค์ก่อน แล้วจึงตามด้วยการจุดเทียนเพื่อบูชาพระธรรม จากนั้นจึงก้มกราบ
ส่วนดอกไม้บูชาพระสงฆ์นั้นจะจัดเข้าที่ไว้เรียบร้อยแล้ว คงวางไว้เฉย ๆ ไม่ต้องทำอะไร การถวายดอกไม้บูชาพระสงฆ์ซึ่งจัดไว้อย่างสวยงามแล้วนั้น เพียงกล่าวคำถวายบูชาว่า อิเมหิ นานาวัณณะ คันธปุปเผหิ สังฆัง ปูเชมะ ก็พอ
เมื่อดูน้ำหนักตามเหตุและผลแล้ว ก็พอสรุปได้ว่าผู้รู้จะถวายอามิสบูชาพระรัตนตรัยตามหลักการ “จุดธูปเทียน” แต่ที่เราพบเห็นโดยทั่วไปมักจะใช้หลักการ “จุดเทียนธูป” เพราะความไม่รู้ โดยถือปฏิบัติต่อ ๆ กันมาชนิดไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ที่มาที่ไป และคิดว่าเพื่อความสะดวกอย่างนั้นมากกว่า
ไม่น่าเชื่อเลยว่า แค่ ธูป เทียน และดอกไม้ ที่เราบูชาพระอยู่ทุกวันก็มีหลักการ มีความหมาย และมีเรื่องราวดี ๆ ให้ระลึกถึงได้มากมายขนาดนี้ ผู้เขียนหวังว่าเมื่อท่านผู้อ่านจุดธูป เทียน และถวายดอกไม้ เพื่อบูชาพระรัตนตรัยในครั้งต่อไป ท่านคงได้หยุดคิดและระลึกถึงเรื่องราวเหล่านี้บ้างไม่มากก็น้อย
การจุดธูปบูชา หรือ ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถือปฏิบัติกันมายาวนานนับพันๆ ปีแล้ว ลองดูสิว่าที่ผ่านๆ มา เราใช้ธูปสักการะกันถูกต้องตามจำนวนรึเปล่า
ธูป 1 ดอก ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ศพ เจ้าที่ วิญญาณธรรมดา ที่ไม่ได้ขึ้นชั้นเทพ
ธูป 2 ดอกใช้บูชาเจ้าที่
ธูป 3 ดอก ใช้บูชาพระพุทธเจ้า
ธูป 5 ดอก ใช้บูชาพระรัตนตรัย บูชาธาตุทั้งห้า ทิศทั้งห้า พระภูมิ หรือกุมารทอง
ธูป 7 ดอก ไหว้พระพรหม บูชาพระอาทิตย์ ถือคติคุ้มครองทั้ง 7 วันในสัปดาห์
ธูป 8 ดอก บูชาเทพเจ้าของชาวฮินดู
ธูป 9 ดอก บูชาแก้ว 9 ประการ พระพุทธคุณ ทั้งเก้า บูชาขอพรพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 พระเทพารักษ์ เกจิอาจารย์ เทพเจ้าหรือเทวดาต่างๆ เช่น พระแม่นางกวัก, พระภูมิเจ้าที่, พระแม่อุมาเทวี, ปู่ฤาษี
ธูป 10 ดอก ใช้บูชาเจ้าที่ตามความเชื่อของชาวจีนบางกลุ่ม
ธูป 12 ดอก บูชาพระโพธิสัตว์กวนอิม บูชาพระคุณของแม่
ธูป 16 ดอก บูชาเทพชั้นครู บวงสรวง หรือพิธีกลางแจ้งที่มีการอัญเชิญเทวดา ที่สำคัญหมายถึงสวรรค์ 16 ชั้น
ธูป 19 ดอก บูชาเทวดาทั้ง 10 ทิศ
ธูป 21 ดอก บูชาพระคุณของพ่อ
ธูป 32 ดอก ใช้สวดชุมนุมเทวดาทั้ง 4 ทิศ
ธูป 39 ดอก ใช้บูชาบนบานศาลกล่าวองค์เทพองค์พรหม
ธูป 108 ดอก บูชาสิ่งสูงสุดทั่วทั้งโลกทุกชั้นฟ้า
พึงระลึกไว้เสมอว่า การกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพื่อขอพรก็จะไม่เป็นผลอะไร หากคุณเองยังไม่ได้พยายามอย่างที่สุดและหาทุกหนทาง เพื่อจะช่วยเหลือตนเอง...
ที่มา : ลานธรรม
No comments:
Post a Comment