2009-11-12

ปาราชิก

ปาราชิก สันนิษฐานว่าแปลว่า “ผู้แพ้” อาจหมายถึง “ผู้แพ้แก่วิถีชีวิตการเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา” ปาราชิกเป็นอาบัติขั้นที่ร้ายแรงที่สุด ภิกษุไม่ว่ารูปใด ถ้าหากอาบัติถึงขั้นปาราชิกแล้ว จะสิ้นสภาพการเป็นภิกษุทันที แม้ว่าจะยังครองผ้าเหลือง หรือปฏิบัติตนอย่างภิกษุอื่นๆ อยู่ก็ตาม ภิกษุที่รู้ตนเองว่าอาบัติปาราชิกแล้ว สามารถลาสิกขาไปใช้ชีวิตอยู่อย่างฆราวาสทั่วไปได้ แต่หากยังคงดื้อครองผ้าเหลืองหลอกให้ผู้คนกราบไหว้อยู่อีก ก็จะยิ่งเป็นบาปหนาที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

อาบัติปาราชิกมี ๔ ประการ ได้แก่ การเสพเมถุน การลักทรัพย์ การฆ่ามนุษย์ และการอวดอัตริมนุสธรรม

๑. การเสพเมถุน คือ การร่วมประกอบกิจกรรมทางเพศ ไม่ว่าจะกระทำกับผู้หญิงหรือผู้ชาย หรือกระทำกับสัตว์ก็ตาม ปาราชิกข้อการเสพเมถุน บางทีก็เรียกกันว่า ปฐมปาราชิก แปลว่า “ปาราชิกข้อแรก”

๒. การลักทรัพย์ คือ การนำทรัพย์ของผู้อื่นไปเป็นของตนโดยเจตนา ในเมืองไทยกำหนดว่า การลักทรัพย์มีมูลค่าตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไป เป็นการผิดหรือเป็นอาบัติขั้นปาราชิก การเจตนาแอบอ้างความคิดหรือผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน หรือการเบียดบังเอาเงินในกองทุน ที่มีผู้ศรัทธาถวายเป็นทานเพื่อใช้ในกิจของสงฆ์ หรือกิจของศาสนามาใช้ส่วนตัว ก็ถือว่าเป็นอาบัติปาราชิกเช่นกัน

๓. การฆ่ามนุษย์ คือ การเจตนาทำให้มนุษย์ถึงแก่ความตาย ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ไม่ว่าจะลงมือฆ่าเองหรือใช้ให้คนอื่นฆ่าให้ก็ตาม ถือเป็นความผิดปาราชิกข้อที่ ๓ ทั้งสิ้น

๔. การอวดอุตริมนุสธรรม คือ การพูดอวดผู้อื่นว่าตนได้บรรลุธรรมะระดับสูง เช่น บรรลุโสดาบัน บรรลุอรหันต์ เป็นต้น ไม่ว่าตนจะได้บรรลุธรรมตามที่ตนได้อวดอ้างไปจริงหรือไม่ก็ตาม

อาบัติปาราชิก หากผิดแม้แต่เพียงข้อเดียว ก็ถือว่าภิกษุผู้อาบัติสิ้นสภาพการเป็นภิกษุแล้ว จะไม่สามารถกลับมาบวชได้อีก แม้จะไม่มีใครล่วงรู้หรือจับได้ก็ตาม การกราบไหว้บูชาภิกษุที่อาบัติปาราชิก นอกจากจะไม่เป็นบุญเป็นกุศลแล้ว ยังผิดมงคลที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้ที่ว่า บูชาบุคคลที่ควรบูชาอีกด้วย

พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ 606

วิเคราะห์ปาราชิก

[๑,๐๓๕] คำใดที่เรากล่าวไว้ว่า
ปาราชิก ดังนี้ ท่านจงฟังคำนั้น ดังจะกล่าว
ต่อไป บุคคลเป็นผู้เคลื่อนแล้ว ผิดพลาด
แลเหินห่างจากสัทธรรม อนึ่ง แม้สังวาสก็
ไม่มีในผู้นั้น เพราะเหตุนั้น เราจึงเรียก
อาบัตินั้นว่า ปาราชิก.

พระวินัยปิฎก ปริวาร เล่ม ๘ - หน้าที่ 619

คำอธิบายจากอรรถกถา

[วิเคราะห์ปาราชิก]

บรรดาบุคคลปาราชิก อาบัติปาราชิก และสิกขาบทปาราชิก ชื่ออาบัติ
ปาราชิกนี้ใด อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว, บุคคลผู้ต้องอาบัติปาราชิกนั้น
ย่อมเป็นผู้พ่าย คือ ถึงความแพ้ เป็นผู้เคลื่อน ผิด ตก อันความละเมิดทำ
ให้ห่างจากสัทธรรม. เมื่อบุคคลนั้นไม่ถูกขับออก (จากหมู่) ก็ไม่มีสังวาส
ต่างโดยอุโบสถและปวารณาเป็นต้นอีก. ด้วยเหตุนั้น ปาราชิกนั่น พระผู้มี
พระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น คือ เพราะเหตุนั้น อาบัติปาราชิกนั่น พระผู้มี
พระภาคเจ้าจึงตรัส ว่า ปาราชิก.

ก็ในบทว่า ปาราชิก นี้ มีความสังเขปดังนี้:-

บุคคลย่อมเป็นผู้พ่ายด้วยอาบัติปาราชิกนั้น เพราะเหตุนั้น อาบัติ
ปาราชิกนั่น ท่านจึงกล่าวว่า ปาราชิก.

ที่มา : บ้านธรรมะ / มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (www.dhammahome.com)

2 comments:

สำนึกผิด said...

ผมเคยบวช 19 วัน แล้วทำผิด ปาราชิกข้อแรก โดยการที่ชายอีกคนมาทำให้อสุจิเคลื่อนออกโดยปาก ผมไม่ได้ปรงอาบัติกับพระท่านใด...

เพิ่งมาทราบตอนหลังว่าผิดร้ายแรงมาก ตกนรก..

ท่านพอจะมีวิธีแก้ให้ผมทราบได้ไหม...

จาก

สำนึกผิด..

Sakda Karnwigit said...

" ภิกษุไม่ว่ารูปใด ถ้าหากอาบัติถึงขั้นปาราชิกแล้ว จะสิ้นสภาพการเป็นภิกษุทันที แม้ว่าจะยังครองผ้าเหลือง หรือปฏิบัติตนอย่างภิกษุอื่นๆ อยู่ก็ตาม ภิกษุที่รู้ตนเองว่าอาบัติปาราชิกแล้ว สามารถลาสิกขาไปใช้ชีวิตอยู่อย่างฆราวาสทั่วไปได้ "

ดังนั้นเมื่อภิกษุต้องอาบัตินี้แล้ว แก้ไขไม่ได้ ปลงอาบัติไม่ได้ ต้องสึกอย่างเดียว สึกไปเป็นฆราวาสได้ แต่ไม่สามารถบวชได้อีกแล้ว

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ