2009-06-17

พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปรุณมีเพ็ญเดือน ๖ ขณะมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา กาลนั้น บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวง ที่ประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้น ต่างก็เศร้าโศกร้ำไรรำพันปริเทวนาการ คร่ำครวญถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก พระอานนท์มหาเถระเจ้าได้แสดงธรรมีกถาปลุกปลอบบรรเทาจิตบริษัทให้เสื่อมสร่าง จากความเศร้าโศกตามควรแก่วิสัย และควรแก่เวลา

ครั้นสว่างแล้ว พระอนุรุทธัมหาเถระเจ้าก็มีเถระบัญชาให้พระอานนท์รีบเข้าไปในเมืองกุสินารา แจ้งข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อมัลลกษัตริย์ได้สดับข่าวปรินิพพาน กำสรดโศกด้วยอาลัยในพระบรมศาสดาเป็นกำลัง จึงดำรัสสั่งให้ประกาศข่าวปรินิพพานแก่ชาวเมืองให้ทั่วนครกุสินารา แล้วนำเครื่องสักการบูชานานสุคนธชาติพร้อมด้วยผ้าขาว ๕๐๐ พับ เสด็จไปยังอุทยานสาลวัน ทำการสัการบูชาพระสรีระพระบรมศาสดาด้วยบุปผามาลัยสุ คันธชาติเป็นอเนกประการ

มวลหมู่มหาชนเป็นอันมากแม้จะอยู่ในที่ไกล เมื่อได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระบรมศาสดา ต่างก็ถืออนานาสุคนธชาติมาสักการ บูชามากมายสุดจะคณาเวลาค้ำก็ตามชวาลาสว่างไสวทั่วทั้งสาลวัน ประชาชนต่างพากันมาไม่ขาดสายตลอดเวลา ๖ วันไม่มีหยุด พากันรีบรุดมาทำการสักการบูชา ด้วยความเลื่อมใสถวายความเคารพอันสูงใน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ครั้นวันที่ ๗ ได้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพขึ้นประดิษฐานบนเตียบมาลาอาสน์ ซึ่งตกแต่งด้วยอาภรณ์อันวิจิตร แล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปโดยทางทิศอุดร เข้าไปภายในพระนครกุสารา ประชาชนพากันสโมสรเข้าขบวนแห่ตามพระพุทธสรีระศพสุดประมาณ เสียงดุริยางค์ดนตรีแซ่ประสานกับเสียงมหาชน ดังสนั่นลั่นโกลาหลเป็นอัศจรรย์ ทั้งดอกไม้ทิพย์มณฑารพ ดอกไม้อันเป็นของทิพย์ในสรวงสวรรค์ตกโปรยปรายละลิ่วลงจากฟากฟ้า ดาดาษทั่วเมืองกุสินาราร่วงหล่นลงมาสักการบูชาพระบรมศาสดา ขบวนมหาชนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพ ได้ผ่านไปในวิถทางท่ามกลางพระนครกุสินารา ประชาชนทุกถ้วนหน้าพากันสักการบูชาทั่วทุกสถาน ตลอดทางที่พระพุทธสรีระศพแห่ผ่านไปตามลำดับ

ครั้นเมื่อขบวนอัญเชิญผ่านมาถึงหน้าบ้านของนางมัลลิกา ผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดีซึ่งล่วงลับไปแล้ว นางมัลลิกาได้ขอร้องแสดงความประสงค์จะบูชาด้วยอาภรณ์มหาลดาปสาธน์อันสูงค่า มหาศาล มหาชนผู้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพก็วางเตียงมาลาอาสน์ลง นางมัลลิกาถวายอภิวาท เชิญเครื่องมหาลดาปสาธน์มาสวมพระพุทธสรีระศพเป็น เครื่องบูชา ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาสเป็นที่เจริญตาเจริญใจแล้วมหาชนก็อัญเชิญ พระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้นออกจากประตูเมืองทางทิศบูรพา ไปสู่กุฎพันธเจดีย์

ครั้นถึงยังจิตกาธานอันสำเร็จด้วยไม้จันทน์หอมงามวิจิตร ก็จัดการห่อพระพุทธสรีระศพด้วยทุกุลพัสตร์ภูษา ๕๐๐ ชั้น แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานในหีบทองซึ่งประดิษฐบนจิตกาธานทำการสักการบูชาแล้ว กษัตริย์มัลลราชทั้ง ๘ องค์ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวงก็นำเอาเพลิดจุดเพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธ สรีระศพพรสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระเพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์แม้จะพยายามจุด เท่าใดก็ไม่บรรลุผล มัลลกษัตริย์มีความสงสัยจึงได้เรียนถามพระอนุรุทธะมหาเถระเจ้าว่า

"ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุใดเพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น"
พระอนุรุทธะมหาเถระกล่าวตอบว่า "เทวดาต้องการให้คอยท่านพระมหากัสสะเถระ หากยังมาไม่ถึงตราบใด ไฟจะไม่ติดตราบนั้น ขณะนี้พระมหากัสสะเถระกำลังเดินทางมาใกล้จะถึงอยู่แล้ว

เวลานั้นพระมหากัสสปะเถระเจ้าพาภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ เดินทางจากเมืองปาวา มายังเมืองกุสินาราครั้นถึงยังพระจิตกาธานที่ประดิษฐาน พระพุทธสรีระศพพระบรมศาสดาแล้ว ก็ทำจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กระทำประทักษิณเวียนพระจิตกาธานสามรอบแล้ว เข้าสู่ทิศเบื้องพระยุคคลบาท น้อมถวายอภิวาทและตั้งอธิฐานจิต

ครั้นพระมหากัสสปะเถระเจ้ากับพระสงฆ์บริวาร ๕๐๐ และมหาชนทั้งหลาย กราบนมัสการพระบรมยุคลบาทโดยควรแล้ว ขณะนั้นเสียงโศกาปริเทวนาการของมวลเทพดาและมนุษย์ ซึ่งได้หยุดสร่างสะอื้นแล้วแต่ต้นวัน ก็ได้พลันดังสนั่นขึ้นอีกเสมอด้วยวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ขณะนั้น เตโชธาตุก็บันดาลติดพระจิตกาธานขึ้นเองด้วยอานุภาพเทพยดา เพลิงได้ลุกพวยพุ่งโชตนาเผาพระพุทธสรีระศพ พร้อมคู่ผ้า ๕๐๐ ชั้นและเครื่องอาภรณ์มหาลดาปสาธน์ กับหีบทองและจิตกาธานจนหมดสิ้น ยังมีสิ่งซึ่งเพลิงมิได้เผาให้ย่อยยับไปด้วยอนุภาพพุทธอธิฐานดังนี้ ผ้าห่อหุ้มพระสรีระชั้นใน ๑ ผืน ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระภายนอก ๑ ผืน ทั้งสองนี้แตกฉานการะจัดกระจาย ส่วนพระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ทั้ง ๒ และพระอุณหิสปัฎ (กระบังหน้า) ๑ พระบรมธาตุทั้ง ๗ นี้ยังปกติดีมิได้แตกกระจัดกระจาย

อ่านต่อเรื่อง 3 เดือนก่อนปรินิพพาน : พุทธโอวาทก่อนปรินิพพาน

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ