2009-01-05

พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

พระมหากัสสปะ เป็นบุตรของกปิลพราหมณ์ ตระกูลกัสสปะในบ้านมหาติฏฐะ แคว้นมคธ ชื่อเดิมของท่านคือ “ปิปผลิ” แต่คนทั่วไปมักเรียกท่านตามวงศ์ตระกูลว่า “กัสสปะ” เมื่อท่านอายุได้ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคลกับนางภัททกาปิลานี ซึ่งเป็นสาวงามวัย ๑๖ ปี ธิดาของพราหมณ์ตระกูลโกลิยะ ณ เมืองสาคลนคร แคว้นมคธ

* ปิปผลิมาณพถูกแปลงสาร
เมื่อปิปผลิมาณพ อายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้ปรึกษากันว่าจะหาภรรยาให้แก่บุตรชาย จึงได้มอบเงินและทองให้แก่พราหมณ์ ๘ คน เพื่อสืบแสวงหาสาวงานที่มีฐานะเสมอกัน พราหมณ์เหล่านั้นเที่ยวสืบแสวงหาไปตามเมืองต่าง ๆ มาจนถึงสาคลนคร ได้พบธิดาของ โกลิยพราหมณ์นามว่า “ภัททกาปิลานี” วัย ๑๖ ปี เป็นที่ถูกอกถูกใจยิ่ง จึงสู่ขอกับบิดามารดาของนาง ตกลงแล้วได้มอบสิ่งของเงินและทองหมั้น กำหนดวันอาวาหมงคลแล้วกลับไปแจ้งข่าวสารแก่กปิลพราหมณ์

ปิปผลิมาณพ ได้ทราบข่าวสารนั้นแล้วรู้สึกไม่สบายใจ เพราะตนไม่มีความปรารถนาจะแต่งงาน จึงหลบเข้าไปในห้อง เขียนจดหมายบรรยายความประสงค์ของตนให้นางทราบว่า “ตนไม่ปรารถนาจะแต่งงาน ขอให้นางจงแต่งงานกับชายที่มีชาติตระกูลเสมอกัน และอยู่ครองชีวิตคู่ด้วยความสุขสำราญเถิด ส่วนข้าพเจ้าจะออกบวช” เมื่อเขียนเสร็จแล้ว ก็มอบให้คนใช้สนิทนำไปส่งให้แก่นางภัททกาปิลานี แม้นางภัททกาปิลานีก็มีใจตรงกัน และได้เขียนจดหมายซึ่งมีใจความเหมือนกัน มอบให้คนรับใช้นำไปส่งให้แก่ปิปผลิมาณพ บังเอิญคนถือจดหมายทั้งสองฝ่ายมาพบกันระหว่างทาง ทักทายปราศรัยถามไถ่กิจธุระของกันและกัน แล้วนำจดหมายทั้งสองฉบับออกอ่าน ทราบความโดย ตลอดแล้วฉีกทำลายทิ้งแล้วเขียนจดหมายขึ้นมาใหม่ บรรยายความรักแก่กันและกันแล้วนำไปส่งให้แก่เจ้านายของตน การอาวาหมงคลระหว่างคนทั้งสองจึงเกิดขึ้น

* สภาพชีวิตการครองคู่
ภายหลังจากแต่งงานกันแล้ว การครองคู่ของคนทั้งสองนั้นไม่เหมือนสามีภรรยาคู่อื่น ๆ เพราะสักแต่ว่าอยู่ร่วมห้องกันเท่านั้น ต่างก็ไม่มีจิตคิดจะร่วมสังวาสกัน แม้เวลาจะขึ้นเตียงนอนก็ขึ้นกันคนละข้าง มีแจกันดอกไม้ตั้งอยู่ตรงกลางเตียง ตลอดระยะเวลาที่ทั้งสองอยู่ร่วมกันนั้น มิได้สัมผัสถูกต้องกันเลยจึงไม่มีบุตรหรือธิดาสืบสกุล

เมื่อบิดามารดาถึงแก่กรรมแล้ว ทรัพย์สมบัติและหน้าที่การงานทุกอย่างจึงเป็นภาระของสองสามีภรรยา และเนื่องจากตระกูลทั้งสองเป็นตระกูลมหาเศรษฐีมีทรัพย์มาก เมื่อรวมสองตระกูลเข้าเป็นตระกูลเดียวกันแล้วทรัพย์สมบัติก็ยิ่งมากมายมหาศาล มีสัตว์เลี้ยงและคนงานจำนวนมาก สองสามีภรรยาต้องบริหารสั่งการทุกอย่าง จนกระทั่งวันหนึ่ง ในขณะที่ปิปผลิกำลังตรวจดูทาสและกรรมกรทำงานอยู่ในไร่นา ได้เห็นนกกาจิกกินสัตว์น้อยมีไส้เดือนเป็นต้น ก็รู้สึกสงสารและสลดใจที่สัตว์เหล่านั้นต้องตายเพราะตนเป็นเหตุ ส่วนนางภัททกาปิลานี ก็ให้คนนำเมล็ดถั่วงาออกมาตากที่ลานหน้าบ้าน เห็นหมู่นกกามาจิกกินตัวหนอนและแมลงต่าง ๆ ก็เกิดความสงสารและสลดใจเช่นกัน เมื่อสองสามีภรรยามีโอกาส อยู่กันตามลำพังได้สนทนาถึงเรื่องความในใจของกันและกันแล้ว จากนั้นทั้งสองก็มีความคิดตรงกันว่า “ผู้อยู่ครองเรือน แม้จะไม่ได้ลงมือทำการงานเอง แต่ก็ต้องคอยรับบาปที่ทาสและกรรมกรทำให้” จึงเกิดความเบื่อหน่ายเพศฆราวาส พร้อมใจกันสละทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้ญาติและบริวาร

ส่วนทั้งสองสามีภรรยาพากันออกบวช จัดหาผ้ากาสาวพัสตร์และบริขารพากันปลงผม แล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ อธิฐานเพศบรรพชิตบวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลกแล้วเดินร่วมทางกันไป พอถึงทางสองแพร่งจึงแยกทางกัน ปิปผลิไปทางขวา ส่วนนางภัททกาปิลานี ไปทางซ้าย นางเดินทางไปพบสำนักปริพาชกแล้วได้เข้าไปขอบวชในสำนักนั้น เนื่องด้วยขณะนั้น พระผู้มีพระภาคยังมิได้ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อเมื่อพระนางปชาบดีโคตรมีได้บวชแล้ว นางจึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระเถระ ศึกษาพระกรรมฐาน บำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

* อุปสมบทด้วยวิธีโอวาท ๓ ข้อ
ปิปผลิ เดินทางไปตามลำดับ ได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับที่ภายใต้ร่มไทรระหว่างกรุงราชคฤห์กับนาลันทา เห็นพุทธจริยาน่าเลื่อมใสแปลกกว่านักบวชอื่น ๆ ที่ตนเคยพบมา ปลงใจเชื่อว่าต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน จึงน้อมกายกราบถวายบังคมแทบพระบาท กราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ ประทานการอุปสมบทด้วยวิธีให้รับโอวาท ๓ ข้อ เรียกว่า “โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา” โอวาท ๓ ข้อนั้นคือ
๑) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักตั้งความละอายและความเกรงใจไว้ในภิกษุทั้งที่ เป็นพระเถระผู้เฒ่า ผู้มีพรรษาปานกลาง และทั้งผู้บวชใหม่
๒) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักฟังธรรม บทใดบทหนึ่งอันประกอบด้วยกุศลด้วยความตั้งใจฟังโดยเคารพ และพิจารณาจดจำเนื้อความธรรมบทนั้น
๓) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจะไม่ละสติไปในกาย คือ พิจารณากายเป็นอารมณ์ โดยสม่ำเสมอ

* ได้รับยกย่องในทางผู้ทรงธุดงค์
เมื่อท่านอุปสมบทแล้วทำความเพียรไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล หลังจากอุปสมบทได้ ๘ วัน พุทธบริษัททั้งหลายรู้จักท่านในนาม “พระมหากัสสะ” ท่านได้ช่วยรับภารธุระอบรมสั่งสอนพระภิกษุและพุทธบริษัทอื่น ๆ จนมีภิกษุเป็นบริวารจำนวนมาก ท่านมีปกติสมาทานธุดงค์ ๓ ประการ อย่างเคร่งครัด คือ
๑) ถือการนุ่งห่มบังสุกุลเป็นวัตร
๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๓) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

เพราะการปฏิบัติในธุดงค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้อย่างเคร่งครัด พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ทรงธุดงค์ นอกจากนี้ พระบรมศาสดายังทรงยกย่องท่านในทางอื่น ๆ อีกหลายประการ กล่าวคือ
ครั้งหนึ่ง ท่านติดตามพระพุทธองค์ไปประทับที่ภายใต้ร่มไม้ต้นหนึ่ง ท่านได้พับผ้าสังฆาฏิของท่านเป็น ๔ ชั้นแล้วปูถวายให้พระพุทธองค์ประทับนั่งพระพุทธองค์ตรัสว่า “กัสสปะ ผ้าสังฆาฏิของเธอนุ่มดี” “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์ทรงใช้สอยเถิด พระเจ้าข้า” “กัสสปะ แล้วเธอจะใช้อะไรทำสังฆาฏิเล่า ?” “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อข้าพระองค์ได้รับจากพระองค์ ก็จะใช้เป็นสังฆาฏิ พระเจ้าข้า” ครั้นแล้ว พระบรมศาสดาได้ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ ซึ่งเก่าคร่ำคร่าให้แก่ท่านแล้วทรงยกย่องท่านอีก ๔ ประการคือ:-
๑) กัสสปะ มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอด้วยตถาคต เป็นผู้มักน้อยสันโดษภิกษุทั้งหลายควรถือเป็นแบบอย่าง
๒) กัสสปะ เมื่อเธอเข้าไปใกล้ตระกูลแล้ว ชักกายและใจออกห่างประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคย ไม่คะนองกาย วาจา และใจ ในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลนั้น ตั้งจิตเป็นกลางว่า “ผู้ใคร่ลาภจงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญจงได้บุญ ตนได้ลาภแล้วมีจิตเป็นฉันใด ผู้อื่นก็มีใจเป็นฉันนั้น”
๓) กัสสปะ มิจิตประกอบด้วยเมตตา กรุณา แสดงธรรมแก่ผู้อื่น
๔) ทรงแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิกับท่านไปใช้สอย ทรงสอนภิกษุให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ โดยยกพระมหากัสสปะขึ้นเป็นตัวอย่าง

* พระเถระขับล่านางเทพธิดา
ครั้งหนึ่งพระเถระพักอยู่ที่ถ้ำปิปผลิ เข้าฌานสมาบัติอยู่ ๗ วัน ออกจากฌานแล้วเข้าไปบิณฑบาต ในบ้านหญิงสาวคนหนึ่งเห็นพระเถระแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใส ได้นำข้าวตอกใส่บาตร พระเถระแล้วตั้งความปรารถนา ขอเข้าถึงส่วนแห่งธรรมที่พระเถระบรรลุแล้ว พระเถระกล่าวอนุโมทนาแก่เธอแล้วกลับยังที่พัก

ฝ่ายนางกุลธิดานั้นมีจิตเอิบอิ่มด้วยทานที่ตนถวาย ขณะเดินกลับบ้านถูกงูพิษกัดตาย และได้ไปเกิดเป็นเทพธิดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นามว่า “ลาชา” (ลาชา = ข้าวตอก) มีวิมานทอง ประดับด้วยขันทองห้อยอยู่รอบ ๆ วิมาน ในขันนั้นเต็มด้วยข้าวตอกทองเช่นกัน นางมองดูสมบัติทิพย์ที่ตนได้แล้วก็ทราบว่าได้มา เพราะถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นบุญเพียงเล็กน้อย นางต้องการที่จะเพิ่มผลบุญให้มากยิ่งขึ้น จึงลงจากเทวพิภพเข้าไปปัดกวาดเสานาเสานะและบริเวณที่พักของพระเถระ จัดตั้งน้ำใช้น้ำฉันเสร็จแล้วกลับยังวิมานของตน พระเถระคิดว่ากิจเหล่านี้คงจะมีพระภิกษุหรือสามเณรมาทำให้ ในวันที่สองที่สาม นางเทพธิดามาทำเหมือนเดิม แม้พระเถระก็คิดเช่นเดิม แต่พระเถระได้ยินเสียงไม้กวาดและเห็นแสงสว่างจากช่องกลอนประตูจึงถามว่า “นั่นใคร ?” “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันเป็นเทพธิดาชื่อลาชา เป็นอุปัฏฐายิกาของท่าน”

พระเถระคิดว่า หญิงผู้เป็นอุปัฏฐากของเราชื่ออย่างนี้ไม่มี จึงเปิดประตูเห็นนางเทพธิดากำลังปัดกวาดอยู่ จึงสอบถามทราบความโดยตลอดตั้งแต่ต้นแล้ว จึงกล่าวห้ามว่า “กิจที่เธอทำแล้วก็ถือว่าแล้วกันไป ต่อแต่นี้เธอจงอย่างมาทำอีก เพราะในอนาคต จะมีพระธรรมกถึกยกเอาเหตุนี้เป็นตัวอย่างอ้างแก่พุทธบริษัททั้งหลาย ว่า “พระมหากัสสปะมีนางเทพธิดามาปฏิบัติใช้สอย ดังนั้น เธอจงกลับไปเถิด” นางเทพธิด้านอ้อนวอนช้ำแล้วช้ำเล่าว่า ขอพระคุณเจ้าอย่างทำให้ดิฉันประสบหายนะเลย ขอให้ดิฉันได้ครองสมบัติทิพย์นี้ตลอดกาลนานเถิด พระเถระเห็นว่านางเทพธิดาดื้อดึงไม่ยอมฟังคำ จึงโบกมือพร้อมกล่าวขับไล่นางออกไป นางลาชาเทพธิดาไม่สามารถดำรงอยู่ได้ จงเหาะขึ้นไปบนอากาศยืนประนมมือร้องไห้เสียดายที่ไม่มีโอกาสทำทิพยสมบัติของตนให้ถาวรได้

* พระมหากัสสปะเถระ เป็นประธานปฐมสังคายนา
ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ยินดีในการอยู่ป่า มักน้อย สันโดษ ประวัติของท่านจึงไม่ค่อยโดดเด่นเป็นที่รู้จักกันมากนัก จวบจนสมัยที่พระบรมศาสดาปรินิพพานได้ ๗ วัน ขณะที่ท่าน กำลังเดินทางพร้อมด้วยภิกษุบริวารของท่านเพื่อไปเข้าเฝ้าประบรมศาสดา ได้ทราบข่าวจากอาชีวกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ทำให้ภิกษุทั้งหลายที่เป็นปุถุชนพากันร่ำไห้เสียใจ รำพึงรำพันถึงพระบรมศาสดา รำพึงรำพันถึงพระบรมศาสดา แต่มีภิกษุวัยชรานามว่า สุภัททะพูดห้ามปรามภิกษุเหล่านั้นมิให้ร้องไห้โดยกล่าว่า “ท่านทั้งหลาย อย่าร้องไห้เสียใจไปเลย พระพุทธองค์ปรินิพพานเสียได้ก็ดีแล้ว ต่อไปนี้พวกเราพ้นจากอำนาจของพระศาสดาแล้ว จะทำอะไรก็ย่อมได้ ไม่มีใครมาบังคับว่ากล่าวห้ามปรามพวกเราอีกแล้ว”

พระเถระ ได้ฟังคำของพระสุภัททะแล้วเกิดความสังเวชสลดใจว่า “พระพุทธองค์ ปรินิพพานได้เพียง ๗ วัน ยังมีผู้กล่าวจ้วงจาบล่วงเกินพระธรรมวินัยถึงเพียงนี้ ต่อไปภายหน้าก็คงจะหาผู้เคารพในพระธรรมวินัยได้ยากยิ่ง” ด้วยคำพูดของพระสุภัททะเพียงเท่านี้ หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ท่านได้ชักชวนพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ ประชุมกันทำปฐมสังคายนารวบรวมพระธรรมวินัยตั้งไว้ เป็นหมวดหมู่ เป็นตัวแทนองค์พระบรมศาสดาปกครองหมู่สงฆ์ต่อไป
สาระสำคัญของปฐมสังคายนา
๑) พระมหากัสสปะเถระ เป็นประธาน มีหน้าที่ซักถามเกี่ยวกับพระธรรมวินัย
๒) พระอุบาลี เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับขอบัญญัติพระวินัย
๓) พระอานนท์ เป็นผู้ชี้แจงเกี่ยวกับพระสูตร และพระอภิธรรม
๔) กระทำที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แห่งภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์
๕) พระเจ้าอชาตศัตรู เป็นองค์ศาสนูปถัมภ์
๖) กระทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จ

* ชีวิตในบั้นปลาย
ในคัมภีร์พระสาวกนิพพานกล่าว่า พระมหากัสสปะเถระ เมื่อทำหน้าที่เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนาแล้ว ได้พักอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ดำรงอยู่ถึง ๑๒๐ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ๑ วัน ท่านได้ตรวจดูอายุสังขารของท่าน แล้วทราบว่าจะอยู่ได้อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น ท่านจึงประชุมบรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่าน แล้วให้โอวาทเป็นครั้งสุดท้าย สั่งสอน ภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนมิให้เสียใจกับการจากไปของท่าน ให้พยายามทำความเพียรและอย่าประมาท แล้วพระเถระก็เข้าไปถวายพระพรลาพระเจ้าอชาตศัตรู จากนั้นท่านได้พาหมู่ภิกษุไปยังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต แสดงอิทธิปาฏิหาริยิ์ และให้โอวาทแก่พุทธบริษัทแล้ว อธิษฐานจิต ขอให้ภูเขาทั้ง ๓ ลูกมารวมเป็นลูกเดียวกัน ซึ่งในภูขาทั้ง ๓ ลูกนั้นมีภูเขาเวภารบรรพตสถานที่ทำปฐมสังคายนารวมอยู่ด้วย แล้วท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ณ ที่นั้น

ท่านยังอธิษฐาน ขอให้สรีระของท่านยังคงสภาพเดิมไม่สูญสลาย จนกระทั่งพระศาสนา พระศรีอริยเมตไตร ซึ่งพระองค์จะพาหมู่ภิกษุสงฆ์มายังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพตแล้ว ยกสรีระของพระเถระวางบนพระหัตถ์ขวาชูขึ้นประกาศสรรเสริญคุณของพระเถระแล้ว เตโชธาตุก็จะเกิดขึ้นเผาสรีระของท่านบนฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอริยเมตไตรพุทธเจ้านั้น

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ