พระทีปังกรพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าในอดีตที่มีหลักฐานกล่าวถึงทั้งทางฝ่ายเถรวาทและมหายาน นามของพระองค์หมายถึงผู้ยังแสงสว่างให้เกิดขึ้น ชื่ออื่นๆของพระองค์ได้แก่ พระสมันตประภาพุทธเจ้า พระประทีปประภาพุทธเจ้า พระสมาธิประภาพุทธเจ้า หรือพระปัจฉิมพุทธะทีปังกร
ในอดีตกาลมีพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร ๒ พระองค์ จึงเรียกพระองค์แรกว่า พระปุราณทีปังกร (ปุราณ มาจากคำว่า โบราณ แปลว่า อดีต) และเรียกพระองค์หลังว่า พระปัจฉิมทีปังกร
พระประวัติ
ในทางเถรวาทได้กล่าวถึงประวัติของพระทีปังกรพุทธเจ้าไว้ว่า เมื่อศาสนาพระสรนังกรพุทธเจ้าอันตรธานไป ในสารมัณฑกัปเดียวกัน มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติเป็นองค์ที่ ๔ และเป็นองค์สุดท้ายของกัป พระนามว่า "ทีปังกร"
พระทีปังกรพุทธเจ้า ประสูติเป็นทีปังกรราชกุมาร แห่งราชวงศ์กษัตริย์แห่งรัมมวดีนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุเทพ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสุเมธาเทวี ทีปังกรราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง ชื่อว่า หังสา โกญจา และมยุรา เหมาะสมตามฤดูทั้ง ๓ ทรงมีพระมเหสีนามว่า ปทุมาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๐๐,๐๐๐ นาง วันหนึ่ง ทีปังกรราชกุมารเสด็จประพาสอุทยาน ทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางปทุมาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า อุสภักขันธกุมาร จึงได้เสด็จออกบรรพชาในราชอุทยานนั้นด้วยคชยาน ๘๔,๐๐๐ เชือก มีผู้ออกบรรพชาตามจำนวนโกฏิหนึ่ง หลังจากทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๑๐ เดือน ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ พระองค์ก็นำบริษัทเข้าไปบิณฑบาตข้าวปายาสในนคร ตอนเย็นทรงปลีกจากคณะ ทรงรับหญ้า ๘ กำ จากอาชีวกชื่อ อานันทะ และนำมาปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ใต้ต้นเลียบ (ต้นมะกอก) ปราบพระยามารกับพลมารนับอสงไขย และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนนั้น พระทีปังกรพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระภิกษุผู้บรรพชาตามจำนวนโกฏิหนึ่ง ที่สุนันทาราม ทำให้พระภิกษุโกฏิหนึ่งนั้นสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล
ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระทีปังกรพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
* วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐ โกฏิ
* วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่ อุสภักขันธกุมาร ราชโอรส ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
* วาระที่ ๓ แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
พระทีปังกรพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
* ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวกและเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ณ สุนันทาราม
* ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐ โกฏิ ณ นารทกูฏ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรมานนารทยักษ์พร้อมบริวารหมื่นหนึ่ง ให้อยู่ในโสดาปัตติผล และทรงบวชมนุษย์ ๑๐๐ โกฏิที่นำมาพลีกรรมยักษ์ด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภิกษุเหล่านั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดภายใน ๗ วัน
* ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ณ ภูเขาสุทัสสนะ
พระทีปังกรพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
* พระอัครสาวก คือ พระสุมังคละเถระ และพระติสสะเถระ
* พระอัครสาวิกา คือ พระนันทาเถรี และพระสุนันทาเถรี
* พระอุปัฏฐาก คือ พระสาคตะเถระ
พระทีปังกรพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพานที่นันทาราม หลังจากนั้นพุทธศาสนาของพระองค์ก็ดำรงอยู่ต่อมานานถึง ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงอันตรธานไป
ความเกี่ยวข้องกับพระพุทธโคดม
ในศาสนาของพระทีปังกรพุทธเจ้า พระโคตมพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นสุเมธดาบส ได้นอนทอดตนเป็นสะพานเหนือเปือกตมให้พระพุทธเจ้าข้ามไป จึงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า พระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูโคตมพุทธเจ้า
ความเชื่อของฝ่ายมหายาน
ในอุโบสถของฝ่ายมหายาน จะสร้างพระรูปของพระทีปังกรอยุในตำแหน่งของพระพุทธเจ้าในอดีตของพระพุทธแห่ง ตรีกาล ชาวจีนเชื่อว่าวันสมภพของพระองค์คือ วันที่ 22 เดือนแปดจีน หลักฐานที่กล่าวถึงพระองค์ในพระสูตรของฝ่ายมหายานได้แก่
* พุทธมูลจริยาสูตร กล่าวว่าเมื่อทรงอุบัติขึ้น ได้เกิดมหาประทีปดวงใหญ่ขึ้นเอง ซึ่งประทีปนี้อาจเป็นสัยลักษณ์ถึงปัญญาญาณของพระพุทธเจ้า
* วิมลเกียรตินิทเทสสูตร กล่าวถึงประทีปที่เกิดในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้าสามารถจุดต่อประทีปอื่นๆได้เป็นจำนวนพัน เปรียบได้กับการที่พระโพธิสัตว์ได้ สืบต่อภาระหน้าที่ในการสั่งสอนสรรพสัตว์ให้เข้าถึงโพธิญาณ และกล่าวว่าเหตุที่มีประทีปเกิดขึ้นพร้อมพระทีปังกร เพราะครั้งหนึ่งได้เติมน้ำมันประทีปจุดบุชาพระพุทธเจ้าทุกวันโดยไม่ย่อท้อ
* ฉปารมิตาสูตร กล่าวว่าพระทีปังกรเคยอุทิศร่างกายต่างประทีปจุดบุชาพระพุทธเจ้า จึงได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าในกาลต่อไป
* อาคมสูตรและมหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ กล่าวว่าพระทีปังกรเป็นผู้ประทานพุทธพยากรณ์แก่พระศากยมุนีพุทธเจ้า
สรุปสาระสำคัญ พระปัจฉิมทีปังกรพุทธเจ้า
ฉายา : ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญษอันรุ่งเรือง
ความสูง : ๘๐ ศอก
รัศมี : แผ่ซานออก ๑๐ โยชน์โดยรอบ
บำเพ็ญบารมี : ๑๖ อสงไขยแสนกัป
วรรณะ : กษัตริย์
พุทธบิดา:พระเจ้าสุเทวัจฉะ
พุทธมารดา :พระนางสุเมธา
พระนคร : รัมมวดี
ใช้ชีวิตฆราวาส : ๑๐,๐๐๐ ปี
มเหสี : ปทุมา
ยานพาหานะที่ใช้ออกบวช : ทรงประทับบนหลังช้างออกบวช
ระยะเวลาการทำความเพียร : ๑๐ เดือน จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ต้นไม้ตรัสรู้ :ที่โคนต้น ปิปผลิ (ต้นไม้เลียบ)
บัลลังก์สูง : ๕๓ ศอก (บัลลังก์ที่ประทับนั่งในวันตรัสรู้)
อายุขัย : ๑๐๐,๐๐๐ ปีจึงปรินิพพานที่สวนนันทาราม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ board.palungjit.com
No comments:
Post a Comment