2009-05-17

พระสุมงคล (ช้างปาลิไลยกะ) กัณฑ์ที่ ๕ ตอนที่ 1

( ภควา โภ สาริปุตฺต ติสฺสสฺส พุทฺธสฺส สาสนกาเล อติกฺกนฺเต ตตฺถ กปฺเป
หตฺถีปาลิเลยฺโย อนาคเต สุมงฺคโล นาม พุทฺโธ ภวิสฺสตีติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )

( อนุสนธิ พระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องมาโดยลำดับ บัดนี้จะได้วิสัชนา ในประวัติกาลแห่งองค์สมเด็จศรีสรรเพ็ชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า สุมงคลต่อไป ดำเนินความว่า )

ภควา อันว่าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเรา ตรัสพระสัทธรรมเทศนาว่า เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระนามว่า พระติสสะสัพพัญญูพุทธเจ้า เสด็จล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานสิ้นกาลช้านานแล้วฯ ในลำดับนั้น อันว่าช้างปาลิไลยหัตถีตัวรี้ก็เป็นพระบรมโพธิสัตว์สร้างพระบารมีมาเป็นอันมาก จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระสุมงคลในอนาคตกาล พระสุมงคลทศพลญาณเจ้านั้น

- มีพระองค์สูงได้ ๖๐ ศอก
- พระชนมายุมีประมาณแสนปีเป็นกำหนด
- ไม้กากะทิงเป็นพระศรีมหาโพธิ
- ประดับด้วยพระพุทธรัศมีรุ่งเรืองสว่าง ดังสีทองเป็นอันงามประดุจกลางวัน
- แล้วจะบังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ต้นหนึ่ง ห้อยย้อยไปด้วยสิ่งของเครื่องประดับ มีประการต่างๆด้วยพระพุทธานุภาพ

ฝูงมนุษย์ทั้งหลายในพระศาสนาของพระสุมงคล มิได้กระทำซึ่งกสิกรรม วาณิชกรรม ได้อาศัยซึ่งต้นกัลปพฤกษ์นั้น ประพฤติเลี้ยงชีวิตแห่งอาตมา มนุษย์ทั้งหลายมีความผาสุกสบาย ขวนขวายแต่การเล่นเต้นรำแต่งตัวอยู่เป็นนิจ เสมอเหมือนเทพบุตร เทพธิดา ซึ่งได้ทิพยสมบัติในสวรรค์เทวโลกฯ สมเด็จพระสุมงคลทศพลญาณเจ้า ก่อสร้างพระบารมีมาทั้ง ๑๐ ประการ จึงสำเร็จแก่พระพุทธสมบัติเห็นปานดังนี้ฯ อันว่ากองพระบารมีครั้งหนึ่ง พระองค์กระทำมาแต่ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์อยู่นั้น ปรากฏเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่งยอดอย่างเอกอุดมทานฯ

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร แต่กาลก่อนล่วงลับไปแล้วช้านาน ช้างปาลิไลยตัวนี้เป็นพระบรมโพธิสัตว์ บังเกิดเป็นสมเด็จพระบรมจักรพรรตราธิราช ทรงพระนามว่าพระเจ้ามหาปนาทบรมจักร ในภัทรกัปป์อันนี้ และมีแก้ว ๗ ประการคือ

- จักรแก้ว ๑
- นางแก้ว ๑
- แก้วมณีโชติ ๑
- ช้างแก้ว ๑
- ม้าแก้ว ๑
- ปรินายกแก้ว ๑
- คฤหบดีแก้ว ๑

สมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักร ได้เสวยศิริราชสมบัติอยู่ในทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒ พันเป็นบริวาร พระองค์ทรงพระสำราญอบู่เป็นปรกติ มาจนถึงกาลสมเด็จพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดในโลก กาลครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรได้ทรงทราบว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าได้ตรัสในโลกแล้ว

จึงตรัสประกาศสั่งจักรแก้วว่า ดูก่อนจักรแก้วผู้เจริญ ท่านจงไปยังท้องพระมหาสมุทรถือเอาซึ่งดวงแก้วมณีมาให้แก่เรา จักรแก้วนั้นก็ไปยังท้องพระมหาสมุทร ดุจดังว่ามีจิตวิญญาณ นำเอาแก้วมณีมาถวายฯ

แล้วอยู่มาภายหลังพระองค์จึงตรัสสั่งช้างแก้วว่า ดูก่อนช้างแก้วผู้เจริญท่านจงไปที่ฉัตรทันต์สระ แล้วพาช้างแก้วมาให้แก่เราฯ ครั้งนั้นช้างแก้วก็เหาะไปยังฉัตรทันต์สระ พาเอาช้างชาติฉัตรทันต์ทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่นมาถวายฯ
แล้วพระองค์จึงสั่งกับม้าแก้วว่า ดูก่อนม้าแก้วผู้เจริญท่านจงไปยังท่าสินธพนที แล้วพาม้าแก้วทั้งหลายมาให้แก่เรา ม้าแก้วนั้นก็เหาะไปในอากาศ ถึงริมฝั่งสินธพนที แล้วพาม้าแก้วมาถวายฯ

แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งนางแก้วพระราชมเหสีนั้นว่า ภทฺเท ดูก่อนเจเาผู้มีพักตร์อันเจริญ เจ้าจงไปยังแว่นแคว้นอุดรกุรุทวีปพานางแก้วทั้งหลายมาให้แก่เราฯ ขณะนั้นนางแก้วผู้เป็นพระราชมเหสีก็เหาะไปยังอุดรกุรุทวีป พาเอานางแก้วทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่นมาถวายฯ
แล้วพระองค์จึงตรัสสั่งแก้วมณีโชติว่า ดูก่อนแก้วมณีโชติผู้เจริญ ท่านจงไปยังเขาวิบุลบรรพต นำเอาแก้วมณีมาให้แก่เราฯ อันว่าแก้วมณีโชติก็เลื่อนลอยไปยังเขาวิบุลบรรพตพาเอาแก้วมณีทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่นดวงมาถวายฯ

แล้วพระองค์ตรัสสั่งปรินายกขุนพลแก้วของพระองค์ว่า ดูก่อนปรินายกแก้วผู้เจริญ ท่านจงไปยังอุดรกุรุทวีป และอมรโคยานทวีป และบุพพวิเทหทวีป ทั้ง ๓ ถอดเอาดวงแก้วในยอดเขากัมพูฉัตรมาให้แก่เราฯ ฝ่ายขุนพลแก้วผู้เป็นปรินายกรับพระราชโองการแล้ว ก็เหาะไปยังทวีปทั้ง ๓ จึงถอดเอาดวงแก้วมณีที่ยอดเศวตฉัตรแห่งมหากษัตริย์ผู้เสวยศิริราชสมบัติในทวีปทั้ง ๓ มาถวายฯ

แล้วพระองค์ก็ตรัสสั่งคฤหบดีแก้วผู้เป็นขุนคลังว่า ดูก่อนคฤหบดีแก้ว ท่านจงไปในโสฬสมหานครใหญ่ทั้ง ๑๖ เมืองนั้น นำเอาดวงแก้วมณีมาให้แก่เราฯ คฤหบดีแก้วก็เหาะไปในโสฬสมหานคร ครั้นถึงแล้วได้ทัศนาการเห็นสมเด็จพระพุทธกุกกุสนธสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จยับยั้งอยู่ในพระวิหารในกาลนั้น คฤหบดีแก้วก็มิได้รู้จักซึ่งสมเด็จพระกุกกุสนธเจ้า ว่าเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทโธ จึงเข้าไปยังสำนักกุกกุสนธเจ้าแล้วถามว่า มณว ดูก่อนมาณพผู้เจริญ ตัวท่านนี้มีนามชื่อไร จึงมีรูปโฉมงามบริสุทธิ์เป็นอันดีฯ

อ่านต่อ พระสุมงคล (ช้างปาลิไลยกะ) กัณฑ์ที่ ๕ ตอนที่ 2

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ