2009-05-17

พระสุมงคล (ช้างปาลิไลยกะ) กัณฑ์ที่ ๕ ตอนที่ 2

ครั้งนั้นสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีแก้ว เราหรือมีนามชื่อว่าพระศาสดาจารย์ คฤหบดีจึงถามอีกว่าฯ ดูก่อนมาณพผู้เจริญท่านมีนามชื่อว่าศาสดาจารย์ด้วยเหตุเป็นดังฤาฯ จึงทรงพระมหากรุณาตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีแก้ว เราชื่อพระศาสดาจารย์นั้นเพราะเหตุประกอบไปด้วยอาจริยคุณ ๓๑ ประการฯ คฤหบดีจึงถามว่า คุณ ๓๑ ประการแห่งท่านปรากฏเป็นประการใด จึงได้ชื่อว่าอาจริยคุณฯ สมเด็จพระกุกกุสนธเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนคฤหบดีแก้ว คุณเป็นอาทิคือ อิติปิ โส ภควา นี่แหละเป็นคุณแห่งเรา ปรากฏกิตติศัพท์ไปทั่วโลก จึงมีนามว่า พระศาสดา จริยคุณทั้ง ๓๑ ประการฯ เมื่อคฤหบดีแก้วได้สดับพระพุทธวจนะดังนั้น จึงจารึกเอาพระ อิติปิ โส ภควา เป็นอาทิ ลงไว้ในแผ่นทองเป็นตัวอักษรเสร็จแล้ว จึงถามพระผู้ทรงพระภาคเจ้าว่า ดูก่อนมาณพผู้เจริญ ท่านรู้คุณวิเศษมีประมาณเท่านี้แลหรือ หรือว่าคุณวิเศษอย่างอื่นยังมีอยู่เป็นประการใดฯ จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่าดูก่อนคฤหบดีแก้ว อันว่าคุณวิเศษอย่างอื่นแห่งเรามีอยู่เป็นอันมากฯ คฤหบดีแก้วก็ให้พระกุกกุสันธเจ้าแสดงต่อไปฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนา ทรงแสดงซึ่งคุณในกายคตาสติกัมมัฏฐาน บอกอาการ ๓๒ มี เกศา โลมา เป็นอาทิ ให้แก่คฤหบดีแก้ว คฤหบดีแก้วก็จารึกพระรูปพระโฉมของสมเด็จพระกุกกุสนธเจ้าอันงาม พร้อมด้วยทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะเป็นอันดีลงในแผ่นทอง แล้วจึงกำหนดพระองค์สูงประมาณ ๖๐ ศอก ลงในแผ่นทองทั้ง ๒ เสร็จแล้ว คฤหบดีแก้วก็เหาะนิวัตตนากลับมายังสำนักสมเด็จพระบรมจักรมหาปนาทถวายซึ่งแผ่นพระสุวรรณบัตร ให้ทอดพระเนตรพระรูปพระโฉมของสมเด็จพระกุกกุสนธเจ้า กับทั้งตัวอักษรที่จารึกพระพุทธคุณมานั้นฯ

ฝ่ายสมเด็จพระบรมจักรมหาปนาททอดพระเนตรพระอักษร ซึ่งจารึกพระพุทธคุณในแผ่นพระสุวรรณบัตรนั้นฯ ทรงอ่านแล้วก็มิได้ทรงรู้จักว่าเป้นพระพุทธคุณจึงตรัสถามพราหมณ์ปุโรหิตว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ อันว่าอักษรที่คฤหบดีจารึกมานั้น จะเป็นพระพุทธคุณจริงแลหรือประการใด ฝ่ายว่าพราหมณ์ปุรหิตนั้น เป็นผู้ทรงคุณวิชชาไสยศาสตร์ จึงกราบทูลว่า มหาราชข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐอันว่าอักษรนี้เป็นคุณอันวิเศษแน่แล้ว เป็นยอดคุณทั้งปวงสิ้น ก็คุณวิเศษอย่างอื่นๆนั้นจะได้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้หาบ่มิได้ อักษรนี้เป็นพระพุทธคุณเที่ยงแล้ว สมเด็จพระบรมจักรมหาปนาทำด้ทรงฟังพราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลดังนั้น ก็ทรงพระโสมนัส ปิติ ปลาบปลื้มพระทัย สลบลงกับที่ฯ ครั้นพระองค์ฟื้นสมประดีแล้ว ตรัสถามพราหมณ์ปุโรหิตว่า ดูก่อนท่านอาจารย์ เราได้ฟังว่า คุณวิเศษนี้เป็นพระพุทธคุณจริงดังนั้นหรือประการใด ปุโรหิตก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ อันว่าคุณวิเศษนี้ พระองค์อย่าได้สงสัยในพระกมลหฤทัยเลย เป็นพระพุทธคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเที่ยงแท้แล้ว ครั้นได้ทรงสดับฟังพราหมณ์ปุโรหิตกราบทูลซ้ำอีกดังนั้น พระองค์ทรงปิติ ปลื้มพระทัย สลบลงอีกครั้งหนึ่งเป็นคำรบ ๒ แล้วพระองค์ก็ฟื้นขึ้น จึงตรัสถามปุโรหิตอีกว่ารูปภาพที่คฤหบดีแก้ววาดเขียนมานี้ เป็นอย่างพระพุทธรูปจริงหรือประการใด ปุโรหิตก็กราบทูลว่าพระรูปพระโฉมที่คฤหบดีแก้ววาดเขียนมานี้ คือ พระรูปพระโฉมของสมเด็จพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้ พระองค์อย่าได้สงสัยเลยฯ สมเด็จพระบรมจักรมหาปนาทได้ทรงฟังว่าเป็นพระพุทธรูปของสมเด็จพระพุทธเจ้าจริงแน่ ก็สลบสิ้นสติสมปฤดีไปอีกครั้งหนึ่งเป็นคำรบ ๓ ฯ

ครั้นได้พระสติขึ้นมา จึงตรัสแก่คฤหบดีแก้วว่า บัดนี้เราได้ฟังประพฤติเหตุแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอันเป็นดวงแก้วหาค่ามิได้ เพราะเหตุตัวของท่านอันเราใช้ไป เครื่องสักการบูชาสิ่งอื่นหาควรจะกระทำสักการบูชาแก่ท่านไม่ ด้วยท่านมีความชอบครั้งนี้แก่เราเป็นที่สุด เราจะยกสมบัติจักรพรรดิอันยิ่งในมนุษย์โลกนี้ กระทำสักการบูชาแก่ตัวท่าน ตรัสประภาษสรรเสริญคฤหบดีแก้วดังนี้แล้ว จึงอภิเษกคฤหบดีแก้วให้เสวยศิริราชสมบัติจักรวรรดิยศ ยกให้เป็นบำเหน็จความชอบแก่คฤหบดีแก้ว ในครั้งนั้นคฤหบดีแก้วก็ตั้งอยู่ในศิริราชสมบัติบรมจักร เสวยอิสริยยศสมบัติสืบต่อไปฯ

ส่วนสมเด็จพระบรมจักรมหาปนาทนั้นแต่พระองค์เดียว ก็เสด็จบทจรไต่เต้าไปตามมรรคาหนทางโดยทิศาภาค ในที่สถิตแห่งสมเด็จพระบรมครูกุกกุสนธเจ้านั้นฯ ครั้นไปถึงมหานิโครธไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ก็ทรงประทับนั่งอาศัยอยู่ใต้ต้นไทรนั้นพอหายเหนื่อยเป็นอันดีแล้ว ก็ยกอัญชลีประนมถวายนมัสการลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์อันได้สดับว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ ทรงกระทำอธิษฐานปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม ความปิติโสมนัสแห่งข้าพระพุทธเจ้าบังเกิดมีในพระองค์แล้ว ด้วยเดชะความสัตยืนี้ขอให้เครื่องอัฏฐบริขาร ๘ ประการ อันเป็นทรัพย์มรดกแห่งพระภิกษุสงฆ์ จงเลื่อนลอยมายังสำนักแห่งข้าพระพุทธเจ้า ครั้งนั้นสมเด็จพระกุกกุสนธสัพพัญญูทรงทราบวาระน้ำจิตแห่งบรมจักรมหาปนาท ปรารถนาจะบรรพชาบวชในพระพุทธศาสนา จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนอัฏฐบริขาร ๘ ประการ บัดนี้บุคคลมีชื่อโน้น ปรารถนาจะทรงบรรพชา ท่านจงไปยังสำนักแห่งบุคคลผู้นั้นเถิดฯ ขณะนั้นเครื่องอัฏฐบริขารทั้ง ๘ ประการ ก็ลอยมาตกลงตรงพระพักตร์แห่งสมเด็จพระเจ้ามหาปนาทด้วยพุทธานุภาพฯ

ครั้นสมเด็จพระบรมจักรมหาปนาท ทรงเห็นเครื่องอัฏฐบริขาร ๘ ประการพร้อมแล้ว ด้วยพระเดชานุภาพแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ก็ทรงยกเครื่องอัฏฐบริขารขึ้นทูนเหนือพระเศียรเกล้าแล้วออกพระวาจาว่า ดูก่อนอัฏฐบริขาร ๘ ประการผู้เจริญ เราอาศัยซึ่งท่านจักใคร่ออกจากสังสารทุกข์ ให้ได้พบเห็นพระนิพพานอันประเสริฐสุดโลกวิสัย ตรัสเท่านั้นแล้วก็เปลื้องเครื่องราชอาภรณ์ของพระองค์ออกจากพระสรีรกาย ทรงสบง จีวร สังฆาฏิ คาดกายพันมั่นคง ทรงบรรพชาเป็นพระภิกษุภาวะเสร็จแล้ว จึงเอาพระมงกุฎแก้ววางลงในฝ่าพระหัตถ์ตรัสว่า ดูก่อนมงกุฏแก้ว ท่านจงไปยังสำนักแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า กราบทูลแจ้งประพฤติเหตุข่าวศาสน์แก่พระองค์ว่า บัดนี้พระเจ้ามหาปนาทบรมจักร เสียสละศิริราชสมบัติออกทรงบรรพชาในพระพุทธศาสนาแล้ว มีความปรารถนาเพื่อจะมายังสำนักสมเด็จพระทศพลญาณ ท่านจงไปกราบทูลศาสน์แด่องค์สมเด็จพระพุทธองค์ด้วยประการดังนี้ฯ พระองค์ทรงพระอธิษฐานฉะนี้แล้ว มงกุฏแก้วก็ลอยเลื่อนไปในอากาศเวหาประดุจว่าพระยาสุวรรณราชหงส์ลงยังสำนักแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่แทบฝ่าพระบาท กราบทูลประพฤติเหตุดังนั้นแก่สมเด็จพระกุกกุสนธ ประดุจดังว่ามีจิตวิญญาณ สมเด็จพระบรมโลกุตตมาจารย์ก็มีพระพุทธฎีการับว่าสาธุฯ

ลำดับนั้นพระยามหาปนาทซึ่งทรงเพศเป็นภิกษุ ก็เที่ยวโคจรบิณฑบาตไปตามบ้าน ได้อาหารพอเป็นยาปนมัตต์ บริโภคสำเร็จแล้วก็เจริญพระกัมมัฏฐานอยู่ในที่อันสมควร พิจารณาซึ่งพระพุทธคุณมีพระ อิติปิ โส ภควา เป็นอาทิ และพระกายคตาสติกัมมัฏฐาน มีเกศาเป็นต้น เจริญไปด้วยความอุตสาหะดังนั้น ยังโลกียฌานให้บังเกิดขึ้นในขณะนั้นแล้วเหาะไปโดยอากาศเวหาถึงสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้า ได้ทัศนาการพระรูปพระโฉมของสมเด็จพระกุกกุสนธ อันประดับไปด้วยพระทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะ และพระอสีตยานุพยัญชนลักษณะ งามบริบูรณ์พร้อมทุกประการ ก็บังเกิดความปิติเต็มตื้นซาบทั่วสรรพางค์ ตลอดสิ้นสกลกายก็สลบลงในที่นั้น สมเด็จพระภควันตบพิตรเจ้าก็ทรงเอาอุทกวารีมาประพรมลงเหนือพระอุระ ก็ฟื้นสมปฤดีขึ้นมา แล้วถวายนมัสการกราบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์แทบพระบาท กราบทูลอาราธนาให้สมเด็จพระพุทธองค์ทรงประทานพระสัทธรรมเทศนาฯ

ครั้งนั้นสมเด็จพระกุกกุสนธบรมทศพลญาณ ก็ทรงประทานพระสัทธรรมเทศนาว่า ดูก่อนภิกษุ ท่านจงพิจารณาซึ่งสภาวธรรมที่จะนำตนไปสู่พระนิพพานเถิด มีพระพุทธบรรหารตรัสดังนี้ ฝ่ายพระเจ้ามหาปนาทบรมพุทธางกูรได้ทรงสดับกระแสพระพุทธฎีกาตรัสเป็นนัย ดังนั้นพระองค์ก็มีปิติซาบซ่านทั่วสกลกาย จึงทรงพระอธิษฐานเด็ดพระเศียรเกล้าด้วยเล็บของพระองค์ ทรงกระทำสักการบูชาแทบพระบาทมูลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ฝ่ายพระเศียรเกล้านั้นจึงกราบทูลพระกรุณาว่า ภนเต ภควา ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเจ้า พระองค์ได้โปรดฝูงสัตว์ทั้งหลายก่อนข้าพระบาท ข้าพระบาทก็มีความปรารถนาเป็นเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อภายหลัง ด้วยผลศีลทานของข้าพระบาทในครั้งนี้ ขอเชิญองค์อัครมุนีผู้ทรงพระภาคเจ้าจงเสด็จเข้าสู่พระนิพพานก่อนข้าพระบาทเถิด ข้าพระบาทขอตามเสด็จพระพุทธองค์เจ้าเข้าสู่พระนิพพานต่อภายหลัง พอขาดคำลงแล้วพระเจ้ามหาปนาทก็ดับขันธ์สิ้นชีวิตอินทรีย์ ไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์ เสวยทิพยศิริสมบัติเป็นสุขสถาพร ไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า จะได้ตรัสเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าพระสุมงคลฯ

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ฝูงสัตว์ทั้งหลายไม่ได้มรรคและผลธรรมวิเศษในศาสนาพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีพระตถาคตเป็นต้น มีพระติสสะเป็นปริโยสานแล้ว ก็ให้มหาชนปรารถนาไปให้พบเห็นพระศาสนาช้างปาลิไลยหัตถี ที่ได้เป็นพระบรมจักรมหาปนาทนี้ ซึ่งจะได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลทรงพระนามว่า พระสุมงคลสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะได้มรรคและผลธรรมอันวิเศษสิ้นสังสารทุกข์ทั้งปวง เข้าสู่พระอมตะมหานครนิพพานฯ แสดงมาด้วยเรื่องราวช้างปาลิไลยหัตถีบรมโพธิสัตว์เป็นคำรบ ๑๐ ก็สิ้นความยุติแต่เพียงนี้ฯ

จบ พระสุมงคล (ช้างปาลิไลยกะ) กัณฑ์ที่ ๕

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ