2009-02-11

พระพุทธบาทสระบุรี จังหวัดสระบุรี



พระพุทธบาท สระบุรี ประดิษฐานอยู่ที่เขาสุวรรณบรรพต อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ตามคติของชาวลังกาทวีป ถือว่าเป็นบริโภคเจดีย์ เนื่องจากเชื่อว่า เป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาเหยียบไว้บนเขาสุวรรณบรรพต พบในสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2163-2171 โดยพรานบุญเป็นผู้ไปพบเห็นความศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถทำให้เนื้อที่บาดเจ็บจากการยิงของตน หายจากบาดเจ็บได้ และตัวพรานบุญเอง เมื่อนำน้ำจากรอยพระบาทมาลูบตัว ก็ทำให้กลากเกลื้อนที่ตนเป็นอยู่หายไปได้

พระเจ้าทรงธรรม ได้เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นจริง จึงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเป็นมหาเจดีย์สถาน มีพระมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท พร้อมทั้งสร้างวัดให้พระภิกษุอยู่ดูแลรักษารอยพระพุทธบาทนี้ ให้ช่างชาวฮอลันดาทำถนนจากท่าเรือ ตรงไปยังเขาสุวรรณบรรพต ชาวบ้านเรียกว่าถนนฝรั่งส่องกล้อง เพราะมีการนำเครื่องมือวางแนวถนนแบบใหม่ คือกล้องวัดทิศทางและระดับ มาใช้ในการตัดถนน ทำให้ถนนสายนี้สร้างได้เป็นแนวตรง จากท่าเรือไปยังพระพุทธบาท ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
พระเจ้าทรงธรรม ยังได้ทรงอุทิศที่ดินและวางรากฐานอื่น ๆ อีกหลายประการ เพื่อให้พระพุทธบาทแห่งนี้ดำรงอยู่ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของพุทธศาสนิกชน ตลอดไปชั่วกาลนาน
ได้เกิดมีเทศกาลนมัสการพระพุทธบาท ในกลางเดือนสาม และกลางเดือนสี่ เป็นประจำปี ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา
พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาอีกหลายพระองค์ ได้เสด็จมาทรงสักการะบูชา และสมโภชพระพุทธบาทนี้เป็นนิจ บางพระองค์ก็ทรงปฏิสังขรณ์และสถาปนาวัตถุสถานเพิ่มเติม อาทิ พระเจ้าปราสาททองได้สร้างพระตำหนักที่ประทับขึ้นที่ธารทองแดง เพื่อใช้เวลาเสด็จมานมัสการพระพุทธบาทให้ชื่อว่า ตำหนักธารเกษม กับให้ขุดบ่อน้ำ พร้อมทั้งสร้างศาลาราย ตามริมถนนไปสู่พระพุทธบาท เพื่อให้ใช้เป็นที่พักของผู้ที่มานมัสการ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างถนนเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินจากลพบุรี ถึงเขาสุวรรณบรรพต ให้สร้างอ่างแก้วและกำแพงกันน้ำตามไหล่เขา เพื่อชักน้ำฝนไปลงอ่างแก้ว ให้ประชาชนใช้บริโภค
ในรัชสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี หรือพระเจ้าเสือ (พ.ศ. 2246-2251) ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระมณฑป และดัดแปลงจากเดิมที่มียอดเดียวให้เป็นห้ายอด ในรัชสมัยสมเด็จพระภูมินทราธิบดี หรือพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) ได้ให้เอากระจกเงาแผ่นใหญ่ประดับฝาผนังข้างในพระมณฑป และปั้นลายปิดทองประกอบตามแนวที่ต่อกระจก ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2 หรือพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) ก็ได้มีการปฏิสังขรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสร้างบานประตูของมณฑปเป็นบานประตูประดับมุก จำนวน 8 บาน
ล่วงมาถึงรัชกาลสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร หรือพระเจ้าเอกทัศน์ (พ.ศ. 2301-2310) เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2509 พวกจีนอาสา จำนวน 300 คน ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสวนพลู ได้พากันไปยังพระพุทธบาท แล้วลอกทองคำที่หุ้มพระมณฑป และแผ่นเงินที่ปูลาดพื้นพระมณฑปไป แล้วเผาพระมณฑปเสีย เพื่อปกปิดการกระทำของตน

ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จไปอำนวยการปฏิสังขรณ์พระมณฑป พระองค์ได้ทรงมีพระราชศรัทธา รับแบกตัวลำยองเดรื่องบนหนึ่งตัว แล้วเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่ท่าเรือ ไปจนถึงพระพุทธบาท นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ยอดเยี่ยม เป็นที่ปรากฏแก่มหาชนในการทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา
พระมหากษัตริย์ในพระราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ ต่อมาก็ได้ทรงทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุต่าง ๆ ของพระพุทธบาท ให้อยู่ในสภาพที่ดีเลิศอยู่ตลอดมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระมกุฏภัณฑเจดีย์ที่อยู่ใกล้พระมณฑปองค์หนึ่ง และสร้างเครื่องบนพระมณฑปใหญ่ กับสร้างพระมณฑปน้อย ทั้งให้เปลี่ยนแผ่นเงินปูพื้นพระมณฑป เป็นเสื่อเงินและได้ทรงยกยอดพระมณฑป พร้อมทั้งบรรจุพระบรมธาตุ ที่พระมกุฏภัณฑเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. 2403
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้เสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท 4 ครั้ง ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง และซ่อมผนังข้างในพระมณฑป สร้างบันไดนาคทางขึ้นพระมณฑป จากเดิมที่มีอยู่สองสายเป็นสามสาย และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้เสด็จไปยกยอดพระมณฑป เมื่อปี พ.ศ. 2450

ที่มา : หอมรดกไทย

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ