หลักกาลามะสูตร
ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกถึงนิคมเกส ปุตตะของพวกเจ้ากาลามะ ชาวกาลามะได้พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลถามว่า ได้มีสมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งมายังเกสปุตตนิคม ได้สำแดง เชิดชู วาทะของตนฝ่ายเดียว แต่กระทบกระทั่งดูหมิ่นเหยียดหยามวาทะของฝ่ายอื่น ให้เห็นว่าเป็นฝ่ายต้อยต่ำ ต่อมามีสมณะและพราหมณ์อีกพวกหนึ่งได้มาสำแดง เชิดชูวาทะของตนฝ่ายเดียวโดยกระทบกระทั่ง ดูหมิ่น เหยียดหยามวาทะของฝ่ายอื่นว่าเป็นฝ่ายต้อยต่ำเช่นเดียวกัน พวกตนจึงสงสัยว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ได้ว่าพวกตนสมควรเชื่อใคร และสมณะและพราหมณ์เหล่านั้นใครพูดจริง พูดเท็จอย่างไร
พระพุทธเจ้า ได้ตรัสต่อชาวกาลามะทั้งหลายให้ใช้หลักวินิจฉัยด้วยตนเอง โดยมิให้ปลงใจเชื่อถือ ด้วยเหตุ ๑๐ ประการ ดังต่อไปนี้
(๑) มา อนุสสะเวนะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะได้ยินได้ฟังอยู่เนือง ๆ
(๒) มา ปรัมปรายะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะเป็นไปตามประเพณีสืบ ๆ กันมา
(๓) มา อิติกิรายะ อย่าเชื่อถือตามคำที่เขาเล่าลือกัน
(๔) มา ปิฏะกะสัมปะทาเนนะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะตรงกับตำรา
(๕) มา ตักกะเหตุ อย่าเชื่อถือเพราะคาดคะเนเอา
(๖) มานะยะเหตุ อย่าเชื่อถือเพราะมีนัยเทียบเคียงกันได้
(๗) มา อาการะปริวิตักเกนะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะคิดไปตามอาการที่ได้เห็น
(๘) มา ทิฏฐินิชฌานักขันติยา อย่าเชื่อถือเพียงเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎี
(๙) มา ภัพพะรูปะตายะ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะคนพูดน่าเชื่อถือ
(๑๐) มา สะมะโณ โนคะรูติ อย่าเชื่อถือเพียงเพราะผู้พูดเป็นสมณะหรือครูอาจารย์
พระ พุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้เชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งใน ๑๐ ประการดังกล่าวข้างต้น แต่ให้ใช้สติปัญญาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และโดยที่ปฐมเหตุแห่งการที่ท่านเทศนาหลักกาลามะสูตรดังกล่าว ก็เนื่องจากความแตกต่างในหลักธรรมที่มีผู้สอนผิดแผกกันไป ท่านจึงให้ไตร่ตรองว่า หลักธรรมใดที่เป็นอกุศล มีโทษ ผู้คนติเตียน กระทำอย่างสม่ำเสมอแล้วไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเอง หรือผู้อื่น ให้ปล่อยทิ้งไปไม่ควรเก็บมาเป็นอารมณ์
แต่ถ้าหลักธรรมใด เป็นกุศล ไม่มีโทษ ผู้คนสรรเสริญ กระทำอย่างสม่ำเสมอแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ และนำความสุขมาให้แก่ตน ก็ให้พึงรับมาปฏิบัติได้ หลักการดังกล่าวได้ผ่านพ้นมาสองพันห้าร้อยกว่าปี แต่ถ้าไตร่ตรองดูให้ดี จะเห็นได้ว่ายังสามารถนำมาใช้ได้ในยุคปัจจุบัน และใช้ได้กับทั้ง ศาสนจักร และอาณาจักร
จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ ชื่อ อังคุตตรนิกาย ทุติยปัณณาสก์ หมวด ๕๐ ที่ ๒
ที่มา : www.ranthong.com
No comments:
Post a Comment