เทศน์มหาชาติ
เรียบเรียงโดย อาจารย์วัฒนะ บุญจับ *
การเทศน์มหาชาติเป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่ามีมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังหลักฐานปรากฏตามความในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ ๓ หรือ จารึกนครชุมซึ่งจารึกไว้ในสมัยพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ ๑) เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ ว่า“ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่า พระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย”
งานเทศน์มหาชาตินี้ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินแล้วโดยทั่วไปนิยมจัดงานสองวันคือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์วันหนึ่งและวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง
ระยะเวลาจัดงานอาจทำในวันขึ้น ๘ ค่ำกลางเดือน ๑๒ หรือในวันแรม ๘ ค่ำก็ได้ซึ่งในช่วงนี้น้ำเริ่มลดและข้าวปลาอาหารกำลังอุดมสมบูรณ์ จึงพร้อมใจกันทำบุญทำทานและเล่นสนุกสนานรื่นเริง แต่ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า “งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลาง บางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มีงานเทศน์มหาชาตินั้นจะทำในกาลพิเศษจะทำในเดือนไหนก็ได้ไม่จำกัดฤดูกาล โดยมากเพื่อเป็นการหาเงินเข้าวัดบางแห่งนิยมทำกันในเดือน ๑๐ส่วนทางดินแดนล้านนาทางภาคเหนือจะเรียกการเทศน์มหาชาติว่า “การตั้งธรรมหลวง”ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนยี่เพง (ยี่เป็ง) คือ วันเพ็ญเดือน ๑๒
เรื่องที่นำมาใช้ในการเทศน์มหาชาตินั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ส่วนการที่เรียก มหาเวสสันดรชาดกว่า “มหาชาติ” นั้นเนื่องด้วยเวสสันดรชาดกนี้ เป็นเรื่องใหญ่และยืดยาวท่านจึงจัดรวมไว้ในมหานิบาติชาดก คือรวมเรื่องใหญ่ ๑๐ เรื่อง เรียกว่า “ทศชาติ”แต่เหตุที่อีก ๙ เรื่องไม่เรียกว่ามหาชาติเช่นเดียวกับเวสสันดรชาดกนั้นข้อนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า พุทธศาสนิกชนชาวไทย ตลอดจนประเทศใกล้เคียง นับถือกันมาแต่โบราณว่า
เรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำคัญกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๐ อย่าง คือ
๑) ทานบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน ช้างม้า ราชรถ พระกุมารทั้งสองและพระมเหสี
๒) ศีลบารมี ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ระหว่างทรงผนวชอยู่ ณ เขาวงกต
๓) เนกขัมมบารมี ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลาที่ประทับ ณ เขาวงกต
๔) ปัญญาบารมี ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ทรงผนวช
๕) วิริยะบารมี ทรงปฏิบัติธรรมมิได้ย่อหย่อน
๖) สัจจะบารมี ทรงลั่นวาจายกสองพระกุมารให้ชูชก เมื่อพระกุมารหลบหนี ก็ทรงติดตามมาให้
๗) ขันติบารมี ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่างๆ ขณะที่เดินทางมายังเขาวงกต และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั่น แม้เมื่อทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณ พระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
๘) เมตตาบารมี เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฏร์ มาทูลขอช้างปัจจัยนาเคนทร์ เพราะเมืองกลิงคราษฏร์ฝนแล้ง ก็ทรงพระเมตตาประทานให้ และเมื่อชูชกมูลขอสองพระกุมาร โดยอ้างว่าตนได้รับความยากลำบากต่างๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
๙) อุเบกขาบารมี เมื่อทรงเห็นสองพระกุมารถูกชูชกเฆี่ยนตี วิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือพระองค์ก็ทรงบำเพ็ญอุเบกขา คือ ทรงวางเฉยเพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
๑๐) อธิษฐานบารมี คือ ทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จโพธิญาณเบื้องหน้าแม้จะมีอุปสรรคก็มิได้ทรงย่อท้อ จนพระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่างๆเพราะตระหนักในน้ำพระทัยอันแน่วแน่ขอพระองค์
ดังนั้น จึงเรียกพระชาติสำคัญนี้ว่า “มหาชาติ”
ส่วน พันเอกพระสารสาส์นพลขันธ์ (เยรินี) กล่าวว่า
พระโพธิสัตว์ในกำเนิดพระเวสสันดร ได้สร้างแบบของมนุษย์ผู้ก้าวถึงขั้นสูงสุด แห่งการดำเนินในทางวิวัฒนาการ อันนำไปสู่ความเต็มเปี่ยมทางจริยธรรมและความรู้ เหมาะแก่การข้ามพ้นโอฆะห้วงสุดท้าย
ซึ่งจะแยกออกเสียได้จากการเกิดเป็นเทวดา เพราะเหตุนี้กำเนิดสุดท้ายจึงได้นามว่า “มหาชาติ”คือเป็นพระชาติที่บำเพ็ญบารมีขั้นสูงสุดนั่นเอง
เวสสันดรชาดกนี้ คัมภีร์ธัมมบทขุททกนิกายกล่าวว่า เป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่น และมวลหมู่พระประยูรญาติที่นิโครธารามมหาวิหาร ในนครกบิลพัสดุ์ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา และพระวงศ์ศากยะเพราะปรารภฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุ จึงตรัสเวสสันดรชาดกในที่นี้
มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ประกอบด้วย
๑. กัณฑ์ทศพร ๑๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ สาธุการ
๒. กัณฑ์หิมพานต์ ๑๓๔ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ ตวงพระธาตุ
๓. กัณฑ์ทานกัณฑ์ ๒๐๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ พญาโศก
๔. กัณฑ์วนปเวศน์ ๕๗ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ พญาเดิน
๕. กัณฑ์ชูชก ๗๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ เซ่นเหล้า
๖. กัณฑ์จุลพน ๓๕ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ คุกพาทย์
๗. กัณฑ์มหาพน ๘๐ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ เชิดกล้อง
๘. กัณฑ์กุมาร ๑๐๑ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ โอดเชิดฉิ่ง
๙. กัณฑ์มัทรี ๙๐ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ ทยอยโอด
๑๐. กัณฑ์สักกบรรพ ๔๓ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ กลม
๑๑. กัณฑ์มหาราช ๖๙ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ กราวนอก
๑๒. กัณฑ์ฉกษัตริย์ ๓๖ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ ตระนอน
๑๓. กัณฑ์นครกัณฑ์ ๔๘ คาถา เพลงประจำกัณฑ์คือ กลองโยน
มหาชาติในสมัยปัจจุบันแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑. มหาชาติประยุกต์ ท่านพระครูพิศาลธรรมโกศล (หลวงตาแพรเยื่อไม้) วัดประยูรวงศาวาส
เป็นผู้คิดและให้คำๆ นี้เมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้ว จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้ผู้ฟังได้ประโยชน์ คือ ฟังรู้เรื่อง เข้าใจ ได้สาระ ไม่ง่วงน่าเบื่อหนาย อีกทั้งประหยัดเวลาในการแสดง
๒. มหาชาติทรงเครื่อง มี ๓ ลักษณะ คือ มีการปุจฉา-วิสัชชนา ถาม- ตอบในเรื่องเทศน์ มีการสมมติหน้าที่ เช่น องค์โน้นเป็นพระเวสสันดร องค์นี้เป็นพระนางมัทรี ในเทศน์มีแหล่ ทั้ง แหล่นอก แหล่ใน มิใช่ว่าแต่ทำนองประจำกัณฑ์เท่านั้น
แหล่นอก หมายถึง แหล่นอกบทนอกเนื้อความจากหนังสือเป็นการเพิ่มเติมเข้ามา
แหล่ใน หมายถึง แหล่ในเรื่อง เนื้อความตามหนังสือที่ยอมรับกันเช่น ฉบับวชิรญาณ ฉบับกระทรวงศึกษาธิการ
๓. มหาชาติหางเครื่อง มีการแสดงประกอบที่เรียกว่า บุคลาธิษฐาน มีเฉพาะฆราวาสล้วนๆ เช่น เอาชูชกมาออกฉาก แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านนิยมหาลิเกมาแสดง แล้วนิมนต์พระมาเทศน์ประกอบ
No comments:
Post a Comment