2009-06-15

แสดงอิทธานุภาพสยบคณาจารย์ใหญ่นักบวชชฏิล

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกชุดแรกจำนวน ๖๐ องค์ออกเผยแผ่ พระพุทธศาสนา อันมีพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ พระยสะ และภิกษุอดีตสายบุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีทั้งสี่รวมเป็น ๕ องค์ พร้อมด้วยภิกษุอดีตสหายของพระยสะ ซึ่งเป็นชาวชนบทอีก ๕๐ องค์แล้วพระบรมศาสดาได้เสด็จถึงไร่ฝ้าย ระหว่างทางจากป่าอิสิปตนมฤคทายวันมา ยังตำบลอุรุเวลา ทรงแสดงธรรมโปรดมาณพ ๓๐ คนในราชตระกูลแห่งราชวงค์โกศลซึ่งเรียกว่า "ภัททวัคคีย์" ได้ดวงตาเห็นธรรมทรงประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ แล้วทรงสั่งสอนให้บรรลุอริยผลเบื้องสูงทรงส่งไปประกาศพระศาสนาเช่นเดียวกับ พระสาวก ๖๐ องค์แรกพระอริยสงฆ์คณะนี้ได้กราบทูลลาเดินทางไปยังเมืองปาวา

จากนั้นพระบรมศาดาทรงเสด็จตรงไปยังตำบลอุรุเวลา อันตั้งอยู่ในเขตเมืองราชคฤห์ ราชคฤห์มหานครนั้นเป็นครหลวงแห่งแคว้นมคธเป็นเมืองที่คับคั่งด้วยผู้คน เจริญวิทยาความรู้ตลอดจนการค้าขายเป็นที่รวมอยู่แห่งคณาจารย์เจ้าลัทธิมาก มาย

ในบรรดาคณาจารย์ใหญ่ ๆ นั้นท่านอุรุเวลกัสสปเป็นคณาจารย์ใหญ่ผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวนครราชคฤห์เป็นอันมาก ท่านอุรุเวลกัสสปเป็นนักบวชจำพวกชฏิล ท่านมีพี่น้องด้วยกัน ๓ คน ออกบวชจากตระกูลกัสสปโคตท่านอุรุเวบเป็นพี่ชายใหญ่มีชฏิล ๕๐๐ เป็นบริวาร ตั้งอาศรมสถานที่พนาสณฑ์ ตำบลอุรุเวลา ต้นแม่น้ำเนรัญชราตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่าอุรุเวลกัสสป

ส่วนน้องคนกลางมีชฏิลบริวาร ๓๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถัดเข้าไปอีกตำบลหนึ่ง จึงได้นามว่า นทีกัสสป ส่วนน้องคนเล้กมีชฏิลบริวาร ๒๐๐ ตั้งอาศรมสถานอยู่ที่คุ้งใต้แห่งแม่น้ำเนรัญชรานั้นต่อไปอีกตำบลหนึ่ง ซึ่งมีนามว่า ตำบลคยาสีสะ จึงได้นามว่า คยากัสสป ชฏิลคณะนี้ทั้งหมดมีลัทธิหนักในการบูชาเพลิง

จากนั้นพระบรมศาสดาเสด็จไปถึงอาศรมสถานของท่านอุรุเวลกัสสป ในเวลาเย็น ทรงรับสั่งขอพักแรมด้วยสัก ๑ ราตรี อุรุเวลกัสสปรังเกียจ ทำอิดเอื้อนไม่พอใจให้พัก เพราะเห็นพระศาสดาเป็นนักบวชต่างลัทธิของตน พูดบ่ายเบี่ยงว่า ไม่มีที่ให้พัก ครั้นพระบรมศาสดาตรัสขอพักที่โรงไฟ ซึ่งเป็นสถานที่บูชาเพลิงของชฏิลด้วยเป็นที่ว่าง ไม่มีชฏิลอยู่อาศัย ทั้งเป็นที่อยู่ของนาคราชดุร้ายด้วย อุรุเวลกัสสปได้ทูลว่า พระองค์อย่างพอใจพักที่โรงไฟเลย ด้วยเป็นที่อยู่ของพระยานาคมีพิษร้ายแรง ทั้งดุร้ายที่สุด จะเป็นอันตรายถึงชีวิต เมื่อ พระบรมศาสดารับสั่งยืนยันว่า นาคราชนั้นจะไม่เบียดเบียนพระองค์เลย ท่านอุรุเวลกัสสปจึงได้อนุญาตให้เข้าไป พักแรก

ลำดับนั้น พระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปในโรงไฟประทับนั้งดำรงพระสติต่อพระกัมมัฏฐานภาวนา ฝ่ายพญานาคเห็นพระบรมศาสดาเสด็จเข้ามาประทับในที่นั้นก็มีจิตคิดขึ้งเคียด จึงพ่นพิษตลบไป ในลำดับนั้น พระบรมศาสดาก็ทรงพระดำริว่า ควรที่ตถาคตจะแสดงอิทธานุภาพให้เป็นควันไปสัมผัสมังสฉวี และเอ็นอัฐิแห่งพญานาคนี้ระงับเดชพญานาคให้เหือดหาย แล้วก็ทรงสำแดงอิทธาสังขารดังพระดำรินั้น พญานาคมิอาจจะอดกลั้น ซึ่งความพิโรธได้ ก็บังหวนควันพ่นพิษเป็นเพลิงพลุ่งโพลงขึ้น พระบรมศาสดาก็สำแดงเตโชกสิณสมาบัติบันดาลเปลวเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ และพลิงทั้งสองฝ่ายก็บังเกิดขึ้นแสดงแดงสว่างดุจเผาฟลาญซึ่งโรงไฟน้นให้เป็น เถ้าธุลี ส่วนชฎิลทั้งหลายก็แวดล้อมโรงไฟนั้น ต่างเจรจากันว่า พระสมณะนี้มีสิริรูปงามยิ่งนักเสียดายที่เธอมาวอดวายเสียด้วยพิษแห่งพญานาค ในที่นี้
ครั้นล่วงสมัยราตรีรุ่งเช้า พระบรมศาสดาก็กำจัดฤทธิ์เดชพญานาคให้อันตรธานหาย บันดาลให้นาคนั้นขดกายลงในบาตร แล้วทรงสำแดงแก่อุรุเวลกัสสป ตรัสบอกว่า พญานาคนี้สิ้นฤทธิ์เดชแล้ว อุรุเวลกัสสปเห็นดังนั้นก็ดำริว่า พระสมณะนี้มีอานุภาพมาก ระงับเสียซึ่งฤทธิ์พญานาคให้อันตรธานพ่ายแพ้ไปได้ ถึงดังนั้นไซร้ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา อุรุเวลกัสสปมีจิตเลื่อมใสในอิทธิปาฏิหาริย์จึงกล่าวว่า ข้าแต่สมณะ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าอยู่ ณ อาศรมของข้าพเจ้าเถิดข้าพเจ้าจะถวายภัตตาหารให้ฉันทุกวันเป็นนิตย์

พระบรมศาสดาก็เสด็จประทับยังพนาสณฑ์ตำบลหนึ่งใกล้อาศรมแห่งอุรุเวลกัสสปชฏิล นั้น ครั้นสมัยราตรีเป็นลำดับ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ก็ลงมาสู่สำนักพระบรมโลกนาถ ถวายอภิวาทและยืนอยู่ใน ๔ ทิศ มีทิพยรังสีสว่างดุจกองเพลิงก่อไว้ทั้ง ๔ ทิศ ครั้งเวลาเช้าอุรุเวลกัสสปจึงเข้าไปสู่สำนักพระบรมศาสดาทูลว่า นิมนต์พระสมณะไปฉันภัตตาหารเถิด ข้าพเจ้าตกแต่งไว้ถวายเสร็จแล้ว แต่เมื่อคืนนี้เห็นรัศมีสว่างไปทั่วพนัสมณฑลสถาน บุคคลผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์จึงปรากฏรุ่งเรืองในทิศทั้ง ๔ พระบรมศาสดาจึงตรัสบอกว่า " ดูกรกัสสป นั้นคือท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ ลงมาสู่สำนักตถาคตเพื่อฟังธรรม" อุรุเวลกัสสปได้สดับดังนั้นก็ดำริว่า พระมหาสมณองค์นี้มีอานุภาพมาก ท้าวจาตุมหาราชยังลงมาสู่สำนัก ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

ครั้นรัตติกาลสมัย ท้าวสหัสสนัยน์ก็ลวมาสู่สำนักพระบรมศาสดาถวายนมัสการแล้วยืนอยู่ที่อันควร ข้าหนึ่ง เปล่งรัศมีสว่างดุจกองอัคคีใหญ่ไพโรจน์ยิ่งกว่าราตรีก่อน ครั้นเพลารุ่งเช้ากัสสปชฏิลทูลอาราธนาให้ฉันภัตตาหารแล้วทูลถามว่า เมื่อคืนนี้มีผู้ใดมาสู่สำนักพระองค์ จึงมีรัศมีสว่างยิ่งกว่าราตรี ก่อน พระบรมศาสดตรัสบอกว่า " ดูกรกัสสปเมื่อคืนนี้ท้าวโกสีย์สักเทวราชลงมาสู่สำนักตถาคต เพื่อจะฟังธรรม"ชลิฏได้สดับดังนั้นก็ดำริเห็นเป็นอัศจรรย์ดุจนัยก่อน

ครั้นเข้าสมัยอีกราตรีหนึ่งถัดมา ท้ายสหัมบดีพรหมก็ลงมาสู่สำนักพระบรมศาสดา เปล่งรัศมีสว่างยิ่งขึ้นไปกว่าสองราตรีก่อน ครั้นรุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปก็ไปทูลอาราธนา ฉันภัตตาหารแล้วทูลถามอีกพระบรมศาสดาตรัสบอกว่า "เมื่อคืนนี้ท้าวสหัมบดีพรหมลงมาสู่สำนักตถาคต" กัสสปดาบวก็ดำริดุจนัยก่อน

ในวันรุ่งขึ้นชนชาวอังครัฐทั้งหลายจะนำเอาขาทนียโภชนียาหารเป็นอันมากมาถวาย แด่อุรุเวลชฏิล อุรุเวลชฏิล จึงดำริแต่ในราตรีว่ารุ่งขึ้นมหาชนจะนำเอาอเนกนานาหารมาสู่สำนักอาตมา หากพระสมณะรูปนี้สำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ลาภสักการะก็จะบังเกิดแก่เธอเป็นอัน มากอาตมาจักเสื่อมสูญจากสรรพสักการบูชา ทำไฉน ณ วันพรุ่งนี้อย่าให้เธอมาสู่ที่นี้ได้

พระบรมศาสดาทรงทราบความดำริของชฏิลด้วยเจโตปริยญาณ(ญาณหยั่งรู้ใจผู้อื่น) ครั้นเพลารุ่งเช้าก็เสด็จออกไปสู่อุตตรกุรุทวีปทรงปิณฑบาตรได้ภัตตาหารแล้ว ก็เสด็จมากระทำภัตตกิจยังฝั่งอโนดาต แล้ทรงยับยั้งอยู่ ณ ทิวาวิหารในที่นั้น ต่อมาเพลาสายัณหสมัยจึงเสด็จมาสู่วณสณฑ์สำนัก ครั้นรุ่งขึ้นกัสสปชฏิลไปทูลอาราธนาเสวยภัตตาหารและทูลถามว่า "วานนี้พระองค์ไปแสวงหาอาหารในที่ใด ไฉนไม่ไปสู่สำนักข้าพเจ้า ข้าพเจ้าระลึกถึงพระองค์อยู่" จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสบอกว่าระน้ำจิตของชฎิลที่วิตกนั้นให้แจ้งทุกประการ อุรุเวลกัสสปได้สดับก็ตกใจดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีอำนาจมากแท้ เธอล่วงรู้จิตอาตมาถึงดังนั้น แต่ก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์ดังอาตมา
ในกาลนั้น ผ้าบังสุกุลจีวรบังเกิดแก่พระบรมศาสดา พระองค์เสด็จไปซักผ้าบังสุกุลซึ่งห่อศพนางปุณณาทาสี ที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นกษัตริย์เสด็จ จากขัตติยราชสกุลอันสูงด้วยเกียรติศักดิ์ ทรงตรัสรู้เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ ลดพระองค์ลงมาซักผ้าห่อศพนางปุณณทาสีที่ทอดทิ้งอยู่ในป่าช้า เพื่อทรงใช้เป็นผ้าจีวรทรงเช่นนี้ เป็นยะที่สุดวิสัยของเทวดาและมนุษย์ซึ่งอยู่ในสถานะเช่นนั้นจะทำได้ มหาปฐพีใหญ่ก็กัมปนาทหวั่นไหวเป็นมหัศจรรย์ถึง ๓ ครั้ง ตลอดระยะทางที่พระบรมศาสดาทรงพระดำริว่าตถาคตจะซักผ้าบังสุกุล ณ ที่ใด?

ขณะนั้น ท้าวสหัสสนัยน์อมรืนทราธิราชทรงทราบในพุทธปริวิตจึงเสด็จลงมาขุดสระโบกขรณี ด้วยพระหัตถ์ในพื้นศิลา สำเร็จด้วยเทวฤทธิ์ให้เต็มไปด้วยอุทกวารี แล้วกราบทูลให้ซักผ้าบังสุกุลในที่นั้น ขณะที่ทรงซักก็ทรงพระดำริว่า จะทรงขยำในที่ใดดี ท้าวโกสีย์ก็นำเอาแผ่นศิลาใหญ่เข้าไปถวาย ทรงขยำด้วยพระหัสถ์จนหายกลิ่นอสุภ แล้วก็ทรงพระดำริว่าจะห้อยผ้าบังสุกุลจีวรในที่ใดดี ลำดับนั้นรุขเทพยดาซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ไม้กุ่มบก ก็น้อมกิ่งไม้ลงมาถวายให้ทรงห้อยตากจีวรครั้นทรงห้อยตากแล้วก็ทรงพระจินตนา ว่า จะแผ่พับผ้าในที่ใด ท้าย สหัสสนัยน์ก็ยกแผ่นศิลาอันใหญ่มาทูลถวายให้แผ่ผ้ามหาบังสกุลนั้น

เพลารุ่งเช้าอุรุเวลกัสสปไปเผ้าพระบรมศาสดา เห็นสระและแผ่นศิลาทั้งสอง ซึ่งมิได้ปรกกฏมีในนั้นมาก่อน และกิ่งไม้กุ่มน้อมลงมาเช่นนั้น จึงทูลถาม พระบรมศาสดาตรัสบอกความทั้งปวงให้ทราบ เมื่อกัสสปได้ฟังก็สะดุ้งตกใจดำริว่า พระสมณะองค์นี้มีเดชานุภาพมากยิ่งนักแม้ท้าวมัฆวานยังลงมากระทำไวยาวัจกิจถาวย แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนอาตมา

ครั้นวันรุ่งขึ้นในวันถัดเป็นลำดับ กัสสปชฏิลไปทูลนิมต์ฉันภัตตาหาร จึงตรัสว่า "ท่านจงไปก่อนเถิด ตถาคตจะตามไปภายหลัง" เมื่อส่งชฏิลไปแล้ว จึงเสด็จเหาะไปนำเอาผลหว้าใหญ่ประจำทวีปในป่าหิมพานต์มา แล้วก็เสด็จมาถึงโรงไฟก่อนหน้าชฎิลจะมาถึง ครั้นชฏิลทูลถามว่า พระองค์มาทางใดจึงถึงก่อน พระศาสดาจึงตรัสประพฤติเหตุแล้วตรัสว่า " ดูกรกัสสป ผลหว้าประจำทวีปนี้มีวรรณสัณฐานสุคันธรเอมโอช ถ้าท่านปรารถนาจะบริโภคก็เชิญตามปรารถนา"

ในวันต่อมาได้ทรงทำปาฏิหาริย์เช่นนั้นอีก ๔ ครั้ง คือ ทรงส่งอุรุเวลกัสสปมาก่อนแล้ว เสด็จเหาะไปเก็บผลมะม่วงครั้งหนึ่งเก็บผลขามป้อมครั้งหนึ่ง เก็บผลส้มในป่าหิมพานต์ครั้งหนึ่งเสด็จขึ้นไปดาวดึงสเทวโลกนำเอาผลไม่ ปาริฉัตรตกครั้งหนึ่ง เสด็จมาถึงก่อน คอยท่าอุรุเวลกัสสปอยู่ที่โรงไฟ ให้ชฏิลเห็นเป็นอัศจรรย์ใจทุกครั้ง

วันหนึ่งชฏิลทั้งหลายปรารถนาจะก่อไฟมิอาจผ่าฟืนออกได้จึงดำริว่า ที่เป็นดังนี้เพราะฤทธิ์พระสมณะทำโดยแท้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถามครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า ท่านจงผ่าฟืนออกได้จึงดำริว่า ที่เป็นดังนี้เพราะฤทธิ์พระสมณะทำโดยแท้ พระบรมศาสดาจึงตรัสถามครั้นทราบความแล้วก็ตรัสว่า ท่านจงผ่าฟืนตามปรารถนาเถิดในทันใดนั้น ชฏิลก็ผ่าฟืนออกตามประสงค์

วันหนึ่งชฏิลทั้ง ๕๐๐ ปรารถนาจะบูชาเพลิง ก่อเพลิงไม่ติดจึงคิดปริวิตกเหมือนหนหลัง พระพุทธเจ้าตรัสถามทราบความแล้วก็ทรงอนุญาตให้ก่อเพลิงได้ เพลิงก็ติดขึ้นทั้ง ๕๐๐ กองพร้อมกันในขณะเดียวชฏิลทั้งหลายบูชาเพลิงสำเร็จแล้ว จะดับเพลิง เพิงก็ไม่ดับจึงดำริดุจหนก่อน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้ดับเพลิงเพลิงก็ดับพร้อมกัน ทั้ง ๕๐๐ กอง

วันหนึ่งในเวลาหนาว ชฏิลทั้งหลายลงอาบน้ำดำผุดขึ้นลงในแม่น้ำเนรัญชรา พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า เมื่อชฏิลขึ้นจากน้ำจะหนาวมากจึงทรงนิรมิตเชิงกราน ๕๐๐ อันมีเพลิงติดไว้ทั้งสิ้น ครั้นชฏิลทั้งหลายขึ้นจากน้ำหนาวจัดก็ชวนกันเข้าผิงไฟที่เชิงกราน แล้วก็คิดสันนิษฐานว่าพระมหาสมณะคงจะนิรมิตไว้ให้เป็นแน่ น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

วันหนึ่ง มหาเมฆตั้งขึ้นมิใช่ฤดูกาล บันดาลให้ฝนตกลงมาเป็นอันมาก กระแสน้ำเป็นห้วงใหญ่ท่วมไปในที่ทั้งปวงโดยรอบบริเวณนั้นฝ่ายอุรุเวลกัส สปนั้นคิดว่า พระมหาสมณะนี้น้ำจะท่วมเธอหรือไม่ท่วมประการใด จึงลงเรือพร้อมกับชฏิลทั้งหลายรีบพายไปดูโดยด่วน ถึงสถานที่ซึ่งพระบรมศาสดาทรงสถิตก็เห็นน้ำสูงขึ้นเป็นกำแพงอยู่โดยรอบแล เห็นพระบรมศาสดาเสด็จจงกรมอยู่ในพื้นภูมิภาคปราศจากน้ำ จึงส่งเสียงร้องเรียก พระพุทธเข้าขานรับว่า "กัสสป ตถาคตอยู่ที่นี้" แล้วก็เสด็จเหาะขึ้นไปบนอากาศเลื่อนลอยลงสู่เรือของกัสสปชฏิล กัสสปชฏิก็ดำริว่า พระมหาสมณะนี้มีฤทธิ์เป็นอันมาก แต่ถึงมีอานุภาพมากอย่างนั้นก็ยังไม่เป็นพระอรหันต์เหมืออาตมา

แท้จริง ตั้งแต่พระพุทธเจ้าเสด็จจากป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในวันแรมค้ำหนึ่ง เดือนกัตติกมาส (เดือน ๑๒) มาประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาจนตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลาจนตราบเท่าถึงวันเพ็ญเดือน ๒ เป็นเวลาสองเดือน ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลกัสสปโดยอเนกประการ แต่อุรุเวลกัสสปก็ยังมีสันดานกระด้าง ถือตนว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อย่างนั้น ด้วยทิฐิอันกล้ายิ่งนัก จึงทรงพระดำริว่า ตถาคตจะยังให้ชฎิลสลดจิตคิดสังเวชตนเอง

พระบรมศาสดาจึงมีพระวาจาตรัสแก่อุรุเวลกัสสปว่า "กัสสปตัวท่านมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งทางปฏิบัติของท่านก็ยังห่างไกลมิใช่ทางมรรคผลอันใด ไฉนเล่าท่านจึงถือตนว่าเป็นพระอรหันต์ เท็จต่อตนเองทั้ง ๆ ที่ท่านก็รู้ตัวดีว่า ตัวยังมิได้บรรลุโมกขธรรมอันใดยังทำตนลวงคนอื่นว่าเป็นพระอรหันต์อยู่อีก กัสสป! ถึงเวลาอันควรแล้วที่ท่านจะสารภาพ แก่ตัวของท่านเองว่า ท่านยังมิได้เป็นพระอรหันต์ ทั้งยังมิได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นพระอรหันต์ด้วย กัสสป! แล้วท่านจะได้เป็นพระอรหันต์ในกาลไม่นาน"

เมื่ออุระเวลกัสสป ได้สดับพระโอวาทก็รู้สึกตัวละอายแก่ใจซบเศียรลงแทบพระ ยุคลบาทแล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์ขอพรรพชาอุปสมบทในสำนักพระองค์ ขอถึงพระองค์ และพระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง"

พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า "กัสสป ! ตัวท่านเป็นอาจารย์ยิ่งใหญ่เป็นประธานแก่หมู่ชฏิล ๕๐๐ ท่านจงชี้แจงให้ชฏิลบริวารยินยอมพร้อมกันก่อน แล้วตถาคตจึงจะยอมให้บรรพชาอุปสมบท"

อุรุเวลกัสสป ก็กราบถวายบังคมลามายังอาศรมและบอกกับชฏิลผู้เป็นศิษย์ ศิษย์ก็ยินยอมพร้อมกันจะบรรพชาในสำนักพระบรมศาสดาทั้งสิ้น แล้วชฏิลทั้งหลายก็พร้อมใจกันลอยเครื่องบริขารและเครื่องตกแต่งผม ชฎา สาแหรก คาน เครื่องบูชาเพลิง ทั้งน้ำเต้า หนังเสือ ไม้สามง่ามลงในแม่น้ำทั้งสิ้น แล้วก็พากันมาเฝ้าพระบรมศาสดา ถวายอภิวาทแทบพระยุคลบาท ทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระบรมศาสดาก็ทรงพระกรุณาโปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเสมอกัน

ครั้นนั้น ท่านนทุกัสสปผู้เป็นน้องกลาง เห็นเครื่องบริขารทั้งปวงลอยน้ำมาก็ดำริว่า ชรอยอันตรายจะมีแก่ดาบสทั้ง ๓๐๐ อันเป็นศิษย์มาสู่สำนักของท่านอุรุเวลกัสสป ถามเหตุนั้น ครั้นทราบความแล้วก็เลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องดาบสบริขารลงในแม่น้ำนั้น แล้วพากันเข้าถวายอัญชลีทูลขอบรรพชา พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาด้วยกันทั้งสิ้น

ฝ่ายคยากัสสปผู้เป็นน้องคนสุดท้อง เห็นเครื่องบริขารของพี่ชายลอยน้ำลงมาก็จำได้ จึงส่งศิษย์ไปสืบความ เมื่อรู้เหตุแล้วก็พาดาบสทั้ง ๒๐๐ อันเป็นศิษย์ไปสู่สำนักของอุรุเวลกัสสป ไปถามความทราบกระจ่างแล้วเลื่อมใส ชวนกันลอยเครื่องบริขารลงในกระแสชลแล้วเข้าทูลขอบรรพชาต่อพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาก็โปรดประทานอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา

พระพุทธเจ้าทรงเสด็จดำเนินพาภิกษุสงฆ์ ๑,๐๐๐ นั้นไปสู่ตำบลคยาสีสะ ตรัสพระธรรมเทศนาอาทิตตปริยายสูตร อันเป็นพระสูตรแสดง อายตนะภายใน อายตนะภายนอกวิญญาณ สัมผัส เวทนาเป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟคือ ราคะ โทสะ โมหะ เพื่ออนุโลมตามอัธยาศัยของปุราณชฏิลที่นิยมบูชาไฟเป็นวัตร โปรดภิกษุทั้ง ๑,๐๐๐ นั้นให้บรรลุพระอรหัตด้วยกันทั้งสิ้น

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ