หลังจากศาสนาของ พระโกณฑัญญะพุทธเจ้าอันตรธานไป เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติถึงอสงไขยหนึ่ง เรียกว่า ภาละอสงไขย ล่วงมาถึงสารมัณฑกัปหนึ่ง จึงมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้น ๔ พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกในสารมัณฑกัปนี้ทรงพระนามว่า พระมังคละพุทธเจ้า
พระประวัติ พระมังคลพุทธเจ้า
พระมังคละพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นมังคละราชกุมาร ในวงศ์กษัตริย์แห่งอุตตระนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าอุตตระ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางอุตตรา มังคละราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๙,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง ชื่อ ยสวา รุจิมา และสิริมา ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า พระนางยสวดี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๐,๐๐๐ นาง วันหนึ่ง พระมังคละทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา เมื่อพระนางยสวดีเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า สีลวากุมาร จึงได้เสด็จออกบรรพชาด้วยม้าปัณฑระ มีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๓ โกฏิ
มังคละราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่ ณ บ้านอุตตรคาม เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางอุตตรา ธิดาของอุตตรเศรษฐี และรับหญ้า ๘ กำจากอุตตระอาชีวก ปูลาดใต้ต้นนาคะ (ต้นกากะทิง) เป็นโพธิบัลลังก์ ทรงเอาชนะเหล่ามารด้วยพระบารมี และได้ตรัสรู้เป็นพระวิริยาธิกะพุทธเจ้าในคืนนั้น พระมังคละพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระภิกษุผู้บรรพชาตามจำนวน ๓ โกฏิ ที่ชัฏสิริวัน สิริวัฒนนคร ทำให้พระภิกษุ ๓ โกฏินั้นสำเร็จเป็นพระอริยบุคล
ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระมังคละพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่พระเจ้าสุนันทะ ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐ โกฏิ
พระมังคละพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ มีคู่อัครสาวกเป็นประธาน
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ณ อุตตราราม
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐ โกฏิ มีพระเจ้าสุนันทะซึ่งออกบวชเป็นประธาน
พระมังคละพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระสุเทวะเถระ และพระธรรมเสนะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสีวลาเถรี และพระอโสกาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระปาลิตะ
พระมังคละพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๘ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไปทั่วหมื่นโลกธาตุ พระรัศมีนี้รุ่งเรืองกว่าพระพุทธเจ้าองค์ใดๆ เมื่อพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพานที่พระวิหารอุตตราราม พระศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่นาน ๙๐,๐๐๐ ปีจึงอันตรธานไป
ความเกี่ยวข้องกับพระพุทธโคดม
ในสมัยของพระมังคละพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ได้เสวยพระชาติเป็น สุรุจิพราหมณ์ มีจิตเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงเดินทางไปยังสำนักของพระพุทธเจ้า และขออาราธนาให้พระพุทธองค์พร้อมทั้งเหล่าพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ไปรับภัตตาหารบิณฑบาตที่บ้านของตนเอง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา แต่เมื่อกลับไปบ้านก็พบว่าบ้านตนช่างคับแคบนัก พระอินทร์จึงแปลงกายเป็นช่างก่อสร้าง พระบรมโพธิสัตว์บอกว่าอาจสร้างไม่เสร็จภายในหนึ่งวัน พระอินทร์แปลง ย้อนถามว่าถ้าตนทำได้เสร็จก่อนกำหนดท่านจะให้ค่าจ้างไหม พระโพธิสัตว์ตอบว่า อะไรก็ได้ แม้ชีวิตก็จะให้ แล้วพระโพธิสัตว์ก็เข้าไปในบ้าน พระอินทร์ก็เนรมิตศาลาใหญ่พร้อมอาสนะเสร็จ ก็เรียกพราหมณ์ให้ออกมาดู พระโพธิสัตว์เห็นเข้าก็ดีใจอย่างยิ่งแล้วเข้าไปในบ้านเพื่อเอาค่าจ้างมาให้ แต่พอออกมาช่างก่อสร้างก็หายไป
วันต่อมาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยเหล่าพระภิกษุสงฆ์ก็เดินทางมารับบิณฑบาต พระโพธิสัตว์อาราธนาให้อยู่จนครบ ๗ วันพระพุทธองค์ก็ทรงรับอาราธนา เมื่อครบ ๗ วันพระพุทธองค์ทรงประทานภัตตานุโมทนากถา แล้วทรงทราบด้วยพระญาณว่าพราหมณ์นั้นมีบุญมาก และหวังพระสัพพัญญุตญาณจึงทรงตรัสว่า
"ท่านสุรุจิพราหมณ์ท่านนี้ กาลล่วงไปในอนาคตกำหนดได้ 2 อสงไขยเศษอีกแสนกัป จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงนามว่าพระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปนั้น"
สุรุจิโพธิสัตว์มีความปีติยินดีมาก หลังจากนั้นไม่นานพระโพธิสัตว์มีความเบื่อหน่ายในโลก จึงออกบวชในพระพุทธศาสนา ศึกษาพระไตรปิฏก และเจริญพระกรรมฐาน จนสำเร็จอภิญญา หลังสิ้นอายุขัย ไปเกิดเป็นพระพรหมอยู่บนพรหมโลก
สรุปสาระสำคัญ พระมังคลพุทธเจ้า
ฉายา : ผู้เป็นบุรุษประเสริฐ
ความสูง : ๘๘ ศอก
รัศมี : แผ่ซ่านออกไปเหลือประมาณ
บำเพ็ญบารมี :๑๖ อสงไขยแสนกัป
วรรณะ : กษัตริย์
พุทธบิดา: พระเจ้าอุตตระ
พุทธมารดา: พระนางอุตตราเทวี
พระนคร : อุตตระ
ใช้ชีวิตฆราวาส : ๙,๐๐๐ ปี
มเหสี ยสวดี
บุตร สีวละ
ยานพาหานะที่ใช้ออกบวช : ทรงม้าออกบวช
ระยะเวลาการทำความเพียร : ๘ เดือนจึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
ต้นไม้ตรัสรู้ : ที่โคนต้นนาคะ (กากะทิง หรือ บุนนาค)
บัลลังก์สูง : ๕๗ ศอก
อายุขัย : ๙๐,๐๐๐ ปีจึงปรินิพพานที่สวน เวสสภู
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และ board.palungjit.com
No comments:
Post a Comment