อสีติมหาสาวก คือ พระภิกษุสาวกผู้ใหญ่ 80 รูป หรือ พระสาวกผู้ยิ่งใหญ่ 80 รูป หรือ พระสาวกสำคัญ 80 รูป ของพระพุทธเจ้า
ความหมาย ของคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ ตามรูปศัพท์ คำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ เป็นคำสมาสประกอบด้วยคำ ‘อสีติ’ และ ‘มหาสาวก’ คำว่า ‘อสีติ’ เป็นปกติสังขยา คือ จำนวนนับตามปกติ แปลว่า ‘80’ ส่วน ‘มหาสาวก’ ประกอบด้วยคำว่า ‘มหา’ ซึ่งเป็นคุณศัพท์แปลว่า ใหญ่,มาก, สำคัญ และคำว่า ‘สาวก’ ซึ่งเป็น คำนามกิตก์ ประกอบรูปมาจากธาตุ ‘สุ’ (ในความหมายว่าฟัง)+ปัจจัย ณฺวุ มีรูปศัพท์ ว่า ‘สาวก’ แปลว่า ผู้ฟัง ในที่นี้หมายถึง ภิกษุผู้บรรลุธรรมชั้นสูงสุดคืออรหัตผล
ดังนั้นคำว่า ‘อสีติ’ และ ‘มหาสาวก’ เมื่อรวมเข้าด้วยกันเป็นคำสมาส เป็น ‘อสีติมหาสาวก’ จึงแปลว่า พระสาวกผู้ใหญ่ 80 รูป หรือ พระสาวกผู้ยิ่งใหญ่ 80 รูป หรือ พระสาวกสำคัญ 80 รูป
ที่มาของคำว่า “อสีติมหาสาวก”
ในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ พบแต่คำว่า ‘พระสาวกเถระผู้มีชื่อเสียง’ แต่พบคำว่า ‘อสีติมหาสาวก’ ปรากฏอยู่ในหนังสืออรรถกถาต่างๆ คือ อรรถกถาธรรมบท สุมังคลวิลาสินี และ ปรมัตถทีปนี ส่วนรายนามของพระอสีติมหาสาวก ในพระไตรปิฎก มีกล่าวไว้ครบทั้ง 80 องค์แต่กล่าวไว้ในที่ต่างๆกัน ส่วนมากกล่าวไว้ในพระสุตตันตปิฎก ในอรรถกถาธรรมบทก็มีบ้าง ในปรมัตถทีปนีกล่าวไว้ครบเช่นเดียวกับในพระไตรปิฎก
หลักการเลือกพระอสีติมหาสาวก
หลักการเลือกพระสาวก 80 รูปแล้วจัดเป็นพระอสีติมหาสาวก จากการเลือกพระสาวกแล้วจึงจัดเป็นพระมหาสาวกก่อน โดยยึดถือคุณธรรม และความสามารถ คือความชำนาญในอภิญญาสมาบัติและความแตกฉานใน ปฏิสัมภิทาเป็นหลัก โดยไม่เกี่ยวกับพรรษา และอายุ และด้วยเหตุนี้เองจึงปรากฏว่าได้จัดฆราวาสที่เป็นพระอรหันต์เข้าเป็นพระ มหาสาวกด้วย 1 ท่านคือพระพาหิยะ ส่วนการคัดเลือกแล้วจัดให้เป็นพระอสีติมหาสาวกนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวินิจฉัยไว้โดยทรงเสนอเกณฑ์สำหรับพิจารณา ไว้ว่า พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นเอตทัคคะสงเคราะห์พระปัญจวัคคีย์ 4 พระองค์เข้าด้วย พระอุรุเวลกัสสปะ สงเคราะห์พระกัสสปะน้องชายอีก 2 พระองค์เข้าด้วย พระโมฆราชเป็น เอตทัคคะสงเคราะห์พระคณะเดียวกัน อีก 15 พระองค์เข้าด้วย อีกเกณฑ์หนึ่ง สงเคราะห์พระสาวกผู้มีชื่อระบุไว้ในเริ่มประกาศพุทธศาสนา แต่ไม่ได้ระบุอยู่ในจำนวน เอตทัคคะ คือ พระยสะกับพระสหายอีก 4 พระองค์ โดย 2 เกณฑ์นี้ได้พระสาวก เอตทัคคะ 41 พระสาวกสหจรแห่ง เอตทัคคะ ๒๓ พระองค์ ในเริ่มแรกประกาศพระพุทธศาสนา 1 สหจร 4 รวมเป็น 69 พระองค์ อีก 11 พระองค์เป็นพระสาวกที่จัดเข้าโดยหาเกณฑ์มิได้ แต่มีนามระบุอยู่ในช่วงกลางของการประกาศพระพุทธศาสนาบ้าง ในช่วงท้ายของการประกาศพระพุทธศาสนาบ้าง จากหลักการเลือกที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงวินิจฉัยไว้นี้ สรุปได้ว่า
1. กำหนดเอาพระสาวกผู้เป็นเอตทัคคะเป็นหลัก แล้วรวมพระสหจรในกลุ่มของท่านเข้าด้วยนี้เป็นเกณฑ์แรก ส่วนเกณฑ์ที่ 2 กำหนดเอาพระสาวกผู้มิได้เป็นเอตทัคคะ แต่มีชื่อระบุไว้ในปฐมโพธิกาล ตามหลักการเลือกนี้ เกณฑ์แรก ได้พระสาวก 64 รูป เกณฑ์ที่ ๒ ได้พระมหาสาวกอีก 5 รูป รวมเป็นได้พระมหาสาวก 69 รูป
2. ที่เหลืออีก 11 รูปนั้น จัดเข้าโดยไม่มีหลักเกณฑ์ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงวินิจฉัยว่า คงเป็นด้วยต่างอาจารย์ต่างเลือกกันจัดเข้าตามมติของตน เพื่อให้ครบ จำนวน 80 จึงต่างรายชื่อกัน”
อนึ่ง ในการเลือกพระสาวกแล้วจัดเข้า เป็นพระอสีติมหาสาวกนั้น ยังมีข้อที่น่าศึกษาเพิ่มเติมคือ เกิดมีขึ้นในยุคใด จากเหตุผลที่กล่าวมานี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะมีเค้ามาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว โดยเห็นได้จากคำเรียกที่ว่า ‘พระสาวกเถระ ผู้มีชื่อเสียง’ ซึ่งเท่าที่ระบุนามไว้ ก็เป็นอสีติมหาสาวกทั้งหมด แต่มาเด่นชัดขึ้นในยุคสมัยของพระอรรถกถาจารย์ในลังกา
ทั้งนี้เพราะธัมมปทัฏฐกถา ก็ดี สุมังคลวิลาสินี ก็ดี ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีคำว่า “มหาสาวก” และ ‘อสีติมหาสาวก’ ปรากฏอยู่ล้วนเป็นคัมภีร์ที่แต่งขึ้นในลังกา หรือในยุคที่การศึกษาพระพุทธศาสนาในลังกากำลังรุ่งเรือง โดยพระอรรถกถาจารย์ผู้มีชื่อเสียงคือพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ. 900-1000 พุทธศาสนิกชนในยุคนั้นและยุคต่อมาทั้งพระและฆราวาส ต่างนิยมยกย่องในตัวพระอสีติมหาสาวกมาก คัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า
พระเจ้าพุทธทาสแห่งลังกามีพระราชบุตร 8 องค์ล้วนทรงสุรภาพแกล้วกล้าการรณรงค์สงคราม ทรงขนานนามพระกุมารนั้นตามพระอัชฌาสัยของพระองค์ให้คงนามพระอสีติมหาสาวก ทั้งหลาย พระเจ้าพุทธทาสองค์นี้ ได้แวดล้อมด้วยพระราชบุตรทั้งหลายอันทรงพระนามตาม พระอสีติมหาสาวกว่า สารีบุตร เป็นอาทิ พระองค์ทรงรุ่งเรืองอยู่ ดูประหนึ่งว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น
พระอสีติมหาสาวก ตอนที่ 2
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
No comments:
Post a Comment