2009-02-08

พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง



พระธาตุลำปางหลวง ประดิษฐานอยู่ที่วัดลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร องค์พระธาตุเจดีย์สูง ๒๒ วา ๒ ศอก ฐานกว้างด้านละ ๑๒ วา ก่อด้วยอิฐถือปูน ฉาบด้วยแผ่นทองเหลือง ทองแดง ตลอดทั้งองค์
ตามประวัติกล่าวว่า พระมหากัสสปเถระ และพระเมติยะเถระ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ มาจากประเทศอินเดีย เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช โปรดให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ นำไปประดิษฐานในอาณาจักรต่าง ๆ
ตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบพระเกศาธาตุให้ชาวลัวะผู้หนึ่งชื่อกอน ลั๊วะกอนได้สร้างพระสถูปเจดีย์สูงเจ็ดศอก เพื่อบรรจุพระเกศาธาตุไว้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๘ ได้มีพระอรหันต์สององค์คือ พระกุมารกัสสปะ ได้นำเอาพระอัฐิธาตุพระนลาตข้างขวา และพระเมฆิยะ ได้นำเอาอัฐิธาตุลำคอ มาบรรจุไว้ในพระสถูปเจดีย์ไว้อีก พระสถูปเจดีย์องค์นี้ได้มีการสร้างเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง สำหรับองค์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ได้สร้างเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๓๐๙ โดยเจ้าเมืองหาญศรีธัตถะมหาสุรมนตรี ซึ่งพระเจ้าดิลกปนัดดาเจ้านครเชียงใหม่ ได้ส่งมากินเมืองลำปางในครั้งนั้น
เรื่องราวจากศิลาจารึก พอประมวลเหตุการณ์ตามลำดับได้ดังนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๙๒ เจ้าเมืองหาญแต่ท้อง (ราชบุตรหมื่นด้งนคร) มากินเมืองนครลำปาง ได้ขอพระราชานุญาติ จากพระยาติโลกรัตนะ เจ้านครเชียงใหม่ เพื่อทำการประดิษฐานพระเจดีย์ ไว้เหนือพระบรมสารีริกธาตุ ที่ลัมภะกัปปะนคร กว้าง ๙ วา สูง ๑๕ วา ก่อด้วยอิฐถือปูน



ปี พ.ศ. ๒๐๑๙ เจ้าหมื่นคำเป๊ก เจ้านครลำปาง ได้ให้สร้างกำแพง สร้างวิหาร และให้หล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง อัญเชิญไว้ในพระวิหาร สร้างศาลา ขุดบ่อน้ำและตัดถนนในบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์
ปี พ.ศ. ๒๐๓๙ เจ้าเมืองหาญศรีธัตถมหาสุรมนตรี มากินเมืองลำปาง ได้ชักชวนผู้คน ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ทำการก่อฐานพระมหาธาตุกว้าง ๑๒ วา เป็นจำนวนดินและอิฐหนึ่งล้านก้อนเศษ มีรายละเอียดประมาณปูนที่ใช้มูลค่า การก่อสร้าง และมีการนำเอาทองคำมาใส่พระมหาธาตุหลายครั้ง รวมแล้วได้ หมื่นสามพันสองร้อยหกบาท
ปี พ.ศ. ๒๐๔๐ ได้มีการหล่อพระล้านทอง ต่อมาเจ้าเมืองหาญศรีทัต ก็ให้หล่อพระทองขึ้นอีกองค์หนึ่ง ใช้ทองหนักสามหมื่นทอง แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในวิหารด้านเหนือ วิหารด้านตะวันตกไว้พระสีลา พระพุทธเจ้าองค์หลวง อยู่ในบริเวณด้านใต้ และได้ก่อพระมหาธาตุกว้าง ๑๒ วา สูง ๒๕ วา พระราชครูเจ้า นำฉัตรทองคำมาใส่ยอดพระมหาธาตุ
ปี พ.ศ. ๒๑๔๕ มหาอุปราชพระยาหลวงนครชัยบุรี ได้ชักชวนผู้มีจิตศรัทธา นำทองคำแสนก่ำมาบูชาพระมหาธาตุ และได้สร้างฉัตรใส่ยอดพระมหาธาตุ มหาพละปัญโญ และพระเจ้าหลวงป่าต้นกับบรรดาพระสงฆ์ รวมทั้งฝ่ายฆราวาสได้หล่อจำลอง ใส่ยอดพระมหาธาตุ
ปี พ.ศ. ๒๓๗๕ บรรดาพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า เห็นว่าฉัตร และยอดของพระมหาธาตุถูกมหาวาตภัยหักลงมา จึงได้แต่งทูตไปกราบถวายบังคมทูตกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาทราวดีฝ่ายใต้ จึงได้พระราชทานแก้วและทองดี จากนั้นได้สร้างฉัตรในปะฐะมะ ในชั้นถ้วยทุติยะขึ้นใหม่ใหญ่กว่าเดิม เพิ่มเติมฉัตรอีกสองชั้น จากของเดิมที่มีอยู่ห้าชั้น
มีงานประเพณีประจำปี ปีละสามครั้ง มีมาแต่ครั้งโบราณกาลคือ
เดือนยี่เป็ง (เดือนสิบสอง) เป็นประเพณีนมัสการพระบรมธาตุ
วันปากปี วันที่ ๑๖ เมษายน เป็นประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุและพระแก้วมรกต
เดือนหกเหนือเป็ง เป็นประเพณีนมัสการพระพุทธบาท

ที่มา : หอมรดกไทย

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ