วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด ราชวรวิหาร
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลกว่า "The Marble Temple" เพราะพระอุโบสถ พระระเบียง ประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี ประกอบกับเป็นวัดที่มีความวิจิตรงดงามด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ จึงมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศสนใจเข้าชมจำนวนมากทุกวัน
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๐,๕๖๖ ตารางวา ๑๔ ตารางศอก ตั้งอยู่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างถนนสายใหญ่คือ ถนนพระรามที่ ๕ ถนนศรีอยุธยา ถนนราชดำเนินนอก และถนนพิษณุโลก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้นด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ และวางแบบแปลนแผนผังแยกสัดส่วนเป็นเขตพุทธาวาส สังฆาวาส และที่ธรณีสงฆ์สำหรับผู้อุปัฏฐากภิกษุสามเณรอยู่อาศัย ในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีสนามหญ้าและปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น กุฏิที่อยู่ของภิกษุสามเณร เป็นระเบียบ ปลอดโปร่ง ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง
พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐานในพระอุโบสถ
ประวัติเดิม
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เดิมเป็นวัดโบราณ มีชื่อว่า "วัดแหลม" หรือ "วัดไทรทอง" ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด จนถึงปี พ.ศ.๒๓๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ จึงปรากฏชื่อขึ้นในประวัติศาสตร์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ ประเทศราชของไทย ได้ก่อการกบฎยกทัพมาตีไทย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าพนมวัน พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย กับเจ้าจอมศิลา ต้นราชสกุล พนมวัน) เป็นผู้บัญชาการกองทัพในส่วนการรักษาพระนคร โดยทรงตั้งกองบัญชาการอยู่ในบริเวณ "วัดแหลม" หรือ "วัดไทรทอง" นี้
เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินี พระขนิษฐภคินี และพระกนิษฐภาดา ร่วมเจ้าจอมมารดาอีก ๔ พระองค์ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น ประมาณปี พ.ศ.๒๓๗๐-๒๓๗๑ แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ ๕ องค์ รายด้านหน้าวัดเป็นอนุสรณ์
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดเบญจบพิตร" ซึ่งมีความหมายว่าเป็นวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์ หรือวัดที่เจ้านาย ๕ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น
เริ่มสถาปนา
ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างพระราชอุทยาน เป็นที่ประทับแรมสำราญพระราชอิริยาบถในวันสุดสัปดาห์ จึงโปรดเกล้าฯให้จัดซื้อที่บริเวณด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง ระหว่างคลองสามเสนกับคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นที่สวนและทุ่งนา ตามราคาจากราษฎร ด้วยพระราชทรัพย์สำหรับใช้จ่ายการในพระองค์ พระราชทานนามว่า "สวนดุสิต"
โปรดเกล้าฯให้เริ่มลงมือตัดไม้ ปรับพื้นที่เพื่อสร้างสวนดุสิต เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๑ และได้ทำการสืบมาจนกระทั่งถึงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒ จึงได้เสด็จเถลิงพลับพลาเป็นครั้งแรก
การสร้างสวนดุสิต ได้ใช้พื้นที่ของวัดดุสิต หรือวัดดุสิดาราม ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม มีภิกษุอยู่เพียง ๑ รูป เป็นที่สร้างพลับพลา และที่วัดร้างอีกวัดหนึ่งตัดเป็นถนนภายในสวนดุสิตด้วย ประกอบกับมี "วัดเบญจบพิตร" ที่ชำรุดทรุดโทรมอยู่ใกล้เขตพระราชฐานด้านทิศใต้ด้วย จึงมีพระราชดำริที่จะทรงทำ "ผาติกรรม" สถาปนาวัดขึ้นใหม่ โดยมีพระราชประสงค์สำคัญคือ
๑. เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก เมื่อทรงใช้ที่วัดสร้างพระราชอุทยาน ก็ทรงทำ "ผาติกรรม" สร้างวัดขึ้นทดแทนตามประเพณี โดยสร้างเพียงวัดเดียว แต่ทำให้เป็นพิเศษ วิจิตรงดงาม สมควรที่จะเป็นวัดอยู่ใกล้เขตพระราชฐาน
๒. เป็นที่แสดงแบบอย่างทางการช่างของสยามประเทศ โดยโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถพร้อมพระระเบียงอย่างวิจิตรงดงามด้วยแบบอย่างศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ
๓. เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณสมัยและปางต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้ประชาชนเห็นเป็นแบบอย่าง ภายในพระระเบียง ซุ้มมุขหลังพระอุโบสถ และซุ้มมุขด้านนอกพระระเบียง
๔. เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาชั้นสูงซึ่งทรงเรียกว่า "คอเลซ" (College) เป็นการเกื้อกูลแก่คณะสงฆ์มหานิกาย
๕. เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งพระองค์ โดยเมื่อสถาปนาขึ้นแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเบญจมบพิตร" ซึ่งหมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ กับได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ว่า เมื่อพระองค์สวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ให้นำพระสรีรางคารไปบรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้โปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคารตามพระราชประสงค์
เมื่อเริ่มการสถาปนา โปรดเกล้าฯให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างในวัดเดิมทั้งหมด ปรับพื้นที่ก่อสร้าง สังฆเสนาสน์สำหรับพระสงฆ์สามเณรอยู่อาศัยได้ ๓๓ รูป เท่ากับปีที่ทรงครองราชสมบัติ โดยทรงมอบหมายให้ เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา เมื่อครั้งเป็น เจ้าหมื่นเสมอใจราช) เป็นผู้รับผิดชอบ กับโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอุโบสถชั่วคราว เป็นอาคารไม้หลังคามุงจาก เพื่อทำสังฆกรรมไปพลางก่อน
วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒ ซึ่งเป็นวันเสด็จเถลิงพลับพลาประทับแรมที่สวนดุสิตครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตร ทรงประเคนประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่วิสุงคามสีมา แก่สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ สมเด็จพระวันรัต อ่านประกาศพระบรมราชูทิศในที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งปรากฏข้อความในประกาศพระบรมราชูทิศตอนหนึ่งว่า
"....ทรงพระราชทานนามวัด วัดเบญจมบพิตร แสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์…."
จึงถือได้ว่า วันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๔๒ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสถาปนาวัดเบญจมบพิตรขึ้น แล้วได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นลำดับมา
ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่อการก่อสร้างสังฆเสนาสน์แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์ในขั้นแรก จึงโปรดให้แห่พระสงฆ์สามเณร ๓๓ รูป ซึ่งโปรดให้คัดเลือกได้แล้ว และให้รวมฝึกอบรมอยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ไปอยู่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๔๓ และในคราวนี้เองได้พระราชทานที่วัดเพิ่มเติม และสร้อยนามต่อท้ายชื่อวัดว่า "ดุสิตวนาราม" เรียกรวมกันว่า "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม"
ในส่วนพระอุโบสถถาวร และพระระเบียง โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ต้นราชสกุล จิตรพงศ์) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เป็นสถาปนิกเขียนแบบแปลนแผนผัง และเริ่มการก่อสร้างต่อไปพร้อม ๆ กับการก่อสร้างเสนาสนะอื่น ๆ
พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล บุตรพระยาราชสงคราม ทัด) ช่างก่อสร้างฝีมือดีที่สุดในขณะนั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างมาตามลำดับ จนถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต การก่อสร้างสังฆเสนาสน์อื่น ๆ ยังไม่แล้วเสร็จครบถ้วนตามแผนผัง ที่ทรงวางไว้ การประดับตกแต่งพระอุโบสถบางส่วนและสังฆเสนาสน์บางแห่ง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชประสงค์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงดำเนินการต่อมา โดยโปรดเกล้าฯให้ยกช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ขึ้น และเมื่อหินอ่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีเข้ามาถึงแล้ว ก็โปรดเกล้าฯให้ประดับในส่วนที่ยังค้างอยู่จนเรียบร้อย กับให้ช่างกรมศิลปากรเขียนผนังภายในพระอุโบสถด้วยสีน้ำมัน เป็นลายไทยเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาว ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรและพระระเบียงที่ประดับตกแต่งแล้ว จึงวิจิตรงดงามสมบูรณ์แบบด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณอย่างน่่าอัศจรรย์ยิ่ง ส่วนพระอุโบสถไม้ชั่วคราวหลังเดิม โปรดเกล้าฯให้รื้อไปสร้างเป็นพระอุโบสถวัดวิเวกวายุพัด บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม นับจำเดิมแต่กาลที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาขึ้น จนถึงรัชกาลปัจจุบันได้รับพระมหากรุณาธิคุณอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์มาโดยตลอด อนึ่ง เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้มอบหมายให้กรมการปกครองจัดพิธีเสกทำน้ำพระพุทธมนต์ขึ้นที่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เพื่อทูลเกล้าฯถวายเป็นน้ำสรงอภิเษกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในการพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒
เว็บไซต์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร
ที่มา : dhammathai.org
No comments:
Post a Comment