2009-02-02

รูปแบบของพัดยศ

พัดยศ มีชื่อเรียกและลักษณะแตกต่างกันไปตามศักดิ์
รูปลักษณะและการเรียกชื่อพัดยศของไทยที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 4 แบบได้แก่

1 พัดหน้านาง สำหรับพระเปรียญ และพระฐานานุกรมบางตำแหน่ง
2 พัดพุดตาน สำหรับพระครูสัญญาบัตรและพระฐานานุรูปบางตำแหน่ง
3 พัดเปลวเพลิง สำหรับหระครูสัญญาบัตรที่เป็นเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง (ชั้นเอก)
4 พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สำหรับพระราชาคณะทุกชั้น ถึงขั้นสมเด็จพระราชาคณะ


* พัดหน้านาง เชื่อกันว่าได้แบบอย่างมาจากลังกา เป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด ใบพัดเป็นรูปไข่ หรือคล้ายเค้าหน้าของสตรี มีด้ามตรงกลาง ยาวประมาณ 70 เซนติเมตร พัดหน้านางส่วนมากมักจะเป็นพัดรอง พัดเปรียญธรรมทุกชั้น และพัดยศฐานานุกรมบางตำแหน่ง


* พัดพุดตาน ใบพัดมีลักษณะวงกลม แต่ริมขอบหยักเป็นแฉกรวม 16 แฉกคล้ายกลีบดอกบัวบาน หรือดอกพุดตานบาน เป็นพัดที่ทำด้วยโครงเหล็กหุ้มแพร หรือผ้าสักหลาดกำมะหยี่ สีเดียวกันบ้าง สลับสีบ้าง ตามชั้นของสมณศักดิ์ ส่วนมากเป็นพัดของพระครูสัญญาบัตร หรือพัดของพระครูฐานานุกรมบางตำแหน่ง


* พัดเปลวเพลิง มีลักษณะเป็นพัดยอดแหลม ใบเป็นแฉกคล้ายเปลวเพลิง ด้ามงายอดงา (แต่ปัจจุบันพัดยศทุกชั้น ได้มีพระบรมราชานุญาตให้ทำด้วยพลาสติกผสมเรซินทั้ง หมดแล้ว เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมกันลงนามในสัตยาบรรณที่จะป้องกันรักษาสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ใกล้จะ สูญพันธุ์) สำหรับพัดเปลวเพลิงใช้เฉพาะพระครูสัญญาบัตร ที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอกเท่านั้น


* พัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ คำว่าข้าวบิณฑ์ แปลตามตัวว่า ก้อนข้าว คือ ข้าวสุกที่เขาปั้นเป็นก้อนใส่ลงในกรวย สอดไว้กับพุ่มดอกไม้ หรือกระทงขั้นบายศรี ใช้เซ่นไหว้บูชาในพิธีกรรมบางอย่าง อีกอย่างหนึ่งคำว่าข้าวบิณฑ์เป็นชื่อของลายไทยชนิดหนึ่งมีลักษณะเป็นพุ่ม ช่วงล่าง เรียวแหลมขึ้นไปช่วงบน ส่วนพัดแฉกทรงพุ่มข้าวบิณฑ์นั้น ใบพัดมีลักษณะส่วนล่างเป็นพุ่มและเรียวแหลมขึ้นไปถึงส่วนยอดเหมือนลายข้าว บิณฑ์ของไทย หรือคล้ายดอกบัวตูมขอบนอกคล้ายกลีบบัวที่ประกบแนบอยู่กับดอก มีกลีบอย่างน้อย 5-9 กลีบ มีการปักลายไทยชนิดต่างๆ ด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง ทองแล่ง และอุปกรณ์การปักอื่น ๆ อย่างประณีตสวยงามตามความสูงต่ำของชั้นสมณศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน พัดแฉกเป็นของสำหรับพระราชาคณะตั้งแต่ชั้นสามัญขึ้นไป จนถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะ


นอกจากนี้ยังมี พัดยศเปรียญ อันเป็นเครื่องหมายสำหรับพระภิกษุผู้สอบได้บาลีเปรียญ 3 ประโยคขึ้นไป และมีคำเป็นเครื่องสมณศักดิ์ว่า "พระมหา" เวลาทรงตั้งเรียกว่า "ทรงตั้งเปรียญ" ไม่ใช้คำว่า "พระราชทานสมณศักดิ์ - พัดยศ" สำหรับผู้สอบได้ประโยค ป.ธ.3. ทรงพระราชทานให้สมเด็จพระสังฆราชทรง ตั้ง โดยประทานประกาศนียบัตร พัดยศ ชื่อว่า ทรงตั้งแล้ว ส่วนผู้สอบได้ประโยค ป.ธ.6 ถึงประโยค ป.ธ.9 จะเสด็จพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศ และไตรจีวรด้วยพระองค์เอง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ลักษณะพัดยศเปรียญเป็นพัดหน้านาง ประโยค ป.ธ.3 - ป.ธ.5 มีพื้นสักหลาดสีแดงปักดิ้นเลื่อมมีเลขประโยคอยู่ตรงกลางพัด ประโยค ป.ธ.6 - ป.ธ.8 มีพื้นสักหลาดสีเหลืองด้ามสีดำ ปักดิ้นเลื่อมมีเลขประโยคอยู่ตรงกลาง ประโยค ป.ธ.9 พื้นสักหลาดสีเหลืองด้ามสีขาว ปักดิ้นเลื่อมตรงกลางว่าง ไม่มีเลขประโยคกำกับ

ท่านสามารดูรายละเอียดพัดยศแต่ละชนิดได้ที่ หอมรดกไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และหอมรดกไทย

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ