2009-02-14

พุทธศาสนาในประเทศไทย ก่อนสมัยสุโขทัย

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีความเป็นมาก่อนสมัยสุโขทัย มีความเป็นมาดังนี้

สมัยทวาราวดี
พระโสณะ และพระอุตตระได้เดินทางจากชมพูทวีปเข้ามาประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิในบริเวณที่เรียกว่า "แหลมทอง" หรือ ในจดหมายเหตุของหลวงจีนเหี้ยนจัง เรียกว่า "ทวาราวดี" เป็นจุดแรก โดยมีข้อสันนิษฐานว่า ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น

พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในสมัยนี้ เป็นนิกายเถรวาทดั้งเดิม โดยพุทธศาสนิกชนมีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการะบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในประเทศอินเดียที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้น โดยศิลปะในยุคนี้ เรียกว่า ศิลปะทวารวดี

สมัยอาณาจักรอ้ายลาว
พระพุทธศาสนาในยุคนี้เป็นแบบมหายาน ในสมัยขุนหลวงเม้า กษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว ก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยบริเวณที่ราบสูงโคราชในปัจจุบัน ได้รับเอาพระพุทธศาสนามหายาน ผ่านมาทางประเทศจีนโดยการนำของพระสมณทูตชาวอินเดียมาเผยแผ่ ในคราวที่พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ 4 ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร พระสมณทูตได้เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเซียกลาง พระเจ้ามิ่งตี่ กษัตริย์จีนทรงรับพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ในจีน และได้ส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรอ้ายลาว คณะทูตได้นำเอาพระพุทธศาสนามาด้วย ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง 77 มีราษฎร 51,890 ครอบครัว หันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายานเป็นครั้งแรก

สมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13)
อาณาจักรศรีวิชัยในเกาะสุมาตราเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กษัตริย์ศรีวิชัยทรงนับถือพุทธศาสนาแบบมหายาน พระพุทธศาสนาแบบมหายานจึงได้แผ่เข้ามาสู่ภาคใต้ของไทย ดังหลักฐานที่ปรากฏ คือ เจดีย์พระบรมธาตุไชยา พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช และรูปหล่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ 15)

ในสมัยกษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจนั้น ได้แผ่อาณาเขตขยายออกมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย ในราว พ.ศ. 1540 และได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่าง ๆ ในดินแดนดังกล่าวขึ้นหลายแห่ง เช่น

* เมืองลพบุรี ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวารวดี ส่วนข้างใต้
* เมืองสุโขทัย ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวารวดี ส่วนข้างเหนือ
* เมืองศรีเทพ ปกครองหัวเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก
* เมืองพิมาย ปกครองเมืองที่อยู่ในที่ราบสูงตอนข้างเหนือ

เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนี้เมืองลพบุรีหรือละโว้ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด กษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมัน ทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่ฝ่ายมหายานในสมัยนี้ผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนในอาณาเขตต่าง ๆ ดังกล่าว จึงได้รับพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิม กับแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ด้วย ทำให้มีผู้นับถือพระพุทธศาสนาทั้ง 2 แบบ และมีพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน และภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาหลักของศาสนาพราหมณ์ และพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในด้านภาษา และวรรณคดีไทยตั้งแต่บัดนั้นมา สำหรับศาสนสถานที่เป็นที่ประจักษ์พยานให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทยครั้งนั้น คือ พระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นก็เป็นแบบขอม ถือเป็นศิลปะอยู่ในกลุ่ม ศิลปสมัยลพบุรี

สมัยเถรวาทแบบพุกาม
ในสมัยที่พระเจ้าอนุรุทธิ์มหาราช กษัตริย์พุกามเรืองอำนาจ ทรงรวบรวมเอาพม่ากับมอญเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง ละโว้ และทวารวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

ส่วนชนชาติไทย หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวสลายตัว ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ถึงประมาณ พ.ศ. 1299 ขุนท้าวกวาโอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้สถาปนาแคว้นโยนกเชียงแสนในสุวรรณภูมิ หลังจากนั้นคนไทยก็กระจัดกระจายอยู่ทั่วภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของ ประเทศไทยปัจจุบัน เมื่อกษัตริย์พุกาม (กัมพูชา) เรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตอำนาจของขอม ก็ได้รับทั้งศาสนาและวัฒนธรรมของเขมรไว้ด้วย ส่วนทางล้านนาก็ได้รับอิทธิพลจากขอมเช่นเดียวกัน คือ เมื่ออาณาจักรพุกามของกษัตริย์พม่าเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ ดังเห็นว่ามีปูชนียสถานแบบพม่าหลายแห่ง และเจดีย์ที่มีฉัตรอยู่บนยอด และฉัตรที่ 4 มุมของเจดีย์ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากพุกามแบบพม่า

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ