2009-02-10

พระบรมธาตุขามแก่น จ.ขอนแก่น


พระบรมธาตุขามแก่น ประดิษฐาน ณ วัดเจติยภูมิ อยู่ที่ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น อยู่ห่างจากตัวจังหวัดออกไปประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
ตามตำนานกล่าวว่า ภายใต้เจดีย์บรรจุพระอังคารของพระพุทธเจัา มีเรื่องเล่าว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน พระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ร่วมกับประชาชนชาวเมือง ได้สร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นที่จังหวัดนครพนม คือพระธาตุพนม ในครั้งนั้นกษัตริย์แห่งโมริยวงศ์ ได้ทรงทราบเรื่องมีศรัทธา ที่จะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้า ไปบรรจุร่วมกับพระบรมสารีริกธาตุในพระธาตุพนม จึงได้เดินทางไปนครพนม พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๙ องค์

ระหว่างทาง เมื่อมาถึงสถานที่แห่งหนึ่ง มีตอมะขามขนาดใหญ่ตอหนึ่ง ผุเหลือแต่แก่น จึงได้อัญเชิญภาชนะที่ บรรจุพระอังคารวางไว้บนตอไม้มะขามดังกล่าว แล้วพักแรมอยู่ ณ ที่นั้นหนึ่งคืน รุ่งขึ้นก็ออกเดินทางต่อไป เมื่อไปถึงสถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมจึงทราบว่า ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถบรรจุพระอังคารที่นำมาได้ จึงพากันเดินทางกลับ เมื่อมาถึงตอมะขามดังกล่าวปรากฎว่า ตอที่เหลือแต่แก่นนั้นกลับงอกขึ้นมาใหม่ มีกิ่งก้านสาขาและใบเขียวชอุ่ม เป็นที่น่าอัศจรรย์ กษัตริย์โมริยวงศ์พระองค์นั้น จึงโปรดให้สร้างพระปรางค์ครอบ ตอมะขามดังกล่าว แล้วบรรจุพระอังคารธาตุเอาไว้ภายในพระปรางค์ และให้ชื่อว่า พระธาตุขามแก่น

พร้อมทั้งสร้างวัดขึ้นคู่เคียงกับพระธาตุ ต่อมาเมื่อพระอรหันต์ทั้ง ๙ องค์ ที่ร่วมเดินทางมาด้วย ดับขันธปรินิพพาน ก็ได้นำพระธาตุของท่าน มาบรรจุไว้ในพระธาตุเจดีย์องค์เล็ก ที่สร้างขึ้นไว้อีกองค์หนึ่ง ใกล้กับพระธาตุเจดีย์องค์เดิม และเรียกกันว่า พระธาตุน้อย


พระธาตุขามแก่นได้มีการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ต่อมาภายหลัง และได้เปลี่ยนรูปร่างเป็นเจดีย์ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ต่อมาได้มีชาวบ้านมาตั้งหลักแหล่งบริเวณใกล้พระธาตุเกิดเป็นหมู่บ้านใหญ่ ขึ้นตามลำดับ มีชื่อว่าบ้านขาม ตามชื่อของตอมะขามดังกล่าว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๒ จึงได้ไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านบึงบอน ให้ชื่อว่า เมืองขามแก่น ตามชื่อพระธาตุขามแก่น ต่อมาชื่อนี้ได้แปรเปลี่ยนไปเป็นขอนแก่น ดังที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

ที่มา : หอมรดกไทย

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ