2009-02-27

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 15 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ฯ (อยู่ ญาโณทโย)


สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2506 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 2 พรรษา สิ้นพระชนมเมื่อปี พ.ศ. 2508 พระชนมายุ 91 พรรษา

พระองค์มีพระนามเดิมว่า อยู่ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2417 ที่อำเภอบางกอกใหญ่ ธนบุรี ได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักของบิดา ต่อมาได้มาศึกษาที่วัดสระเกศ จนได้บรรพชาเป็นสามเณร จึงได้ศึกษาภาษาบาลี มูลกัจจายน์
พ.ศ. 2433 และ 2436 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค และ 4 ประโยค ตามลำดับ
พ.ศ. 2437 ทรงอุปสมบทที่วัดสระเกศ
พ. ศ. 2411,2443,2444 และ 2445 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรม ได้เป็นเปรียญ 5,6,7,8 และ 9 ประโยคตามลำดับ ทรงเป็นเปรียญ 9 ประโยค เมื่อพระชนมายุ 28 พรรษา และเป็นเปรียญ 9 ประโยคองค์แรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ จึงได้รับพระมหากรุณา ให้นำรถยนต์หลวงมาส่งถึงอารามเป็นพิเศษ และได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อได้เปรียญ 9 ประโยคแล้ว พระองค์ก็ทรงดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสนามหลวง สอบไล่พระปริยัติธรรมตลอดมา
พ.ศ. 2451 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระปิฎกโกศล
พ.ศ. 2462,2468 เป็นแม่กองธรรมสนามจังหวัดนครราชสีมา
พ.ศ. 2464 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที และเป็นแม่กองธรรมสนามจังหวัดกาญจนบุรี
พ.ศ. 2465,2467 เป็นแม่กองธรรมจังหวัดภูเก็ต
พ.ศ. 2466 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเวที
พ.ศ. 2467 เป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงเหนือ จังหวัดธนบุรี
พ.ศ. 2470 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเจดีย์ และเป็นกรรมการเถรสมาคม
พ.ศ. 2488 ได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนา เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

พระองค์ ทรงอุปถัมภ์ส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกบาลี และนักธรรม ให้เจริญก้าว หน้ายิ่งขึ้น เป็นองค์อุปภัมภ์กิตติมศักดิ์ของมหาจุฬาราชวิทยาลัย ตั้งแต่เริ่มเปิดการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2490 ตลอดมา ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง วัดสระเกศ) จนสำเร็จเรียบร้อยดังที่เห็นอยู่ปัจจุบัน เป็นปูชนียสถานที่เริ่มสร้างมาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศรีสง่าแก่กรุงเทพมหานครมาจวบถึงปัจจุบัน

ที่มา : หอมรดกไทย

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ