อุคคตะ เกิดในตระกูลเศรษฐี หมู่บ้านหัตถิคาม บรรดาญาติได้ขนานนามว่า “อุคคตกุมาร” เมื่อเจริญวัยขึ้นมาได้รับการศึกษาตามสมควรแก่ฐานะ อยู่ครองชีวิตในฆราวาสวิสัยจวบจนบิดาล่วงลับไปได้รับตำแหน่งเศรษฐีแทนบิดาเพราะดำรงอยู่ในตำแหน่งเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก อันเป็นมรดกมาจากบิดาและบรรพบุรุษ ท่านจึงมีความคิดว่าบิดามารดาบรรพบุรุษของเราหาทรัพย์มาเก็บสะสมไว้ ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ เมื่อยามมีชีวิตอยู่ก็ไม่ใช่ให้เกิดประโยชน์กับตนการมีทรัพย์สมบัติมากมายอย่างนี้จะมีประโยชน์อะไร เราควรจะแสวงหาความสุขสนุกสำราญด้วยการใช้จ่ายทรัพย์เหล่านี้จะดีกว่า
เมื่อคิดดังนี้แล้ว ท่านก็ให้บริวารจัดหาสุรารสเลิศและหญิงสาวมาฟ้อนรำขับร้อง ห้อมล้อมตนอยู่ตลอดวันและคืน โดยมิได้ทำกิจการงานอื่นใด
สมัยนั้น พระบรมศาสดาพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จเที่ยวจาริกเทศนาสั่งสอนเวไนยสัตว์ไปตามคามนิคมน้อยใหญ่ เสด็จมาถึงบ้านหัตถิคามแล้วเข้าไปประทับ ณ อุทยานชื่อนาคราวนะ
* ต้นคดปลายตรง
ขณะนั้น อุคคตเศรษฐี มีหญิงสาวฟ้อนรำขับร้องบำเรออยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์ ท่องเที่ยวแสวงหาความสำราญไปตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วยอาการอันมึนเมาเพราะสุรา พวกบริวารพาเข้าไปในอุทยานนาคราวนะนั้น ครั้นได้แลเห็นพระพุทธองค์ก็เกิดหิริโอตตัปปะ ความมึนเมา สร่างซาหายไปในฉับพลันรวบรวมสติให้มั่นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบถวายบังคมแล้วนั่งลง ณ ที่อันสมควรแก่ตน
พระบรมศาสดา ได้ทอดพระเนตรอุคคตเศรษฐี ด้วยพระทัยประกอบด้วยมหากรุณาธิคุณ ทรงทราบว่าเศรษฐีนี้มีอุปนิสัยแห่งอริยมรรคอยู่ จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรด เมื่อจบลงแล้ว เศรษฐีดำรงอยู่ในอริยภูมิสำเร็จเป็นพระอนาคามี
ตั้งแต่นั้นมา อุคคตเศรษฐีก็กล่าวกับสาวนักฟ้อนทั้งหลายว่า “พวกเธอจงรับทรัพย์จำนวนเหล่านี้แล้วไปดำเนินชีวิตตามความพอใจเถิด” และเศรษฐีเองก็มีจิตยินดีตั้งมั่นอยู่ในการรักษาศีล ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์โดยไม่มีกำหนดประมาณแม้ในราตรีหนึ่งได้มีเทวดาองค์หนึ่งมาแจ้งแก่เศรษฐีว่า
“ท่านเศรษฐี ภิกษุรูปโน้นมีวิชชา ๓ ภิกษุรูปโน้นมีอภิญญา ๖ ภิกษุรูปนั้นมีศีล ภิกษุรูปนั้นทุศีล”
แม้จะได้ยินมาอย่างนี้และตนเองก็ทราบดีมาก่อนแล้วแต่ท่านก็ยังขวนขวายถวายไทยธรรมด้วยจิตประกอบด้วยศรัทธาสม่ำเสมอในภิกษุเหล่านั้น
ด้วยคุณธรรมประจำจิตของอุคคตเศรษฐี ดังกล่าวนี้ พระบรมศาสดาขณะที่ประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงสถาปนาอุคคตเศรษฐี ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่ายผู้ให้ของเจริญจิต คือ ผู้อุปัฏฐากภิกษุสงฆ์
No comments:
Post a Comment